นักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน จากข่าวเด็กติดถ้ำธรรมดา ต่อมาจึงพบว่านี่คือปฏิบัติการกู้ภัยที่ซับซ้อนและยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) ต้องคัดสรรอุปกรณ์จากทั่วโลก ระดมนักดำน้ำที่เก่งที่สุดจากทั่วทุกมุมโลก คิดเป็น 1 ใน 4 ของทีมดำนำ้ทั้งหมด ร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล พร้อมทีมงานหมุนเวียนรวมกว่าหมื่นชีวิตต่อสู้กับกระแสและระดับน้ำในถ้ำ รวมถึงเวลาชีวิตของทีมฟุตบอลหมูป่าทั้ง 13 คน
ตลอดภารกิจ 17 วัน แบ่งเป็นการค้นหาซึ่งต้องแข่งกับนาทีชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำ 10 วัน และการกู้ภัยซึ่งถูกบีบด้วยอากาศที่เบาบางข้างใน และกระแสน้ำที่มาพร้อมพายุฝนอีก 7 วัน ระหว่างนั้นเราได้สูญเสีย จ่าเอก สมาน กุนัน หรือจ่าแซม เจ้าหน้าที่หน่วยซีลนอกราชการผู้อาสาช่วยเหลือในภารกิจที่ถ้ำหลวง ซึ่งทุกคนพร้อมใจยกย่องเขาเป็น ‘วีรบุรุษถ้ำหลวง’
ดำนำ้เข้าถ้ำหลวงยากแค่ไหน
พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล บรรยายเหตุการณ์ตลอดภารกิจให้ฟังว่า หน่วยซีลชุดแรก 20 นายระดมพลมาด่วนจากสัตหีบ ถึงเชียงรายเกือบตี 2 ของคืนวันที่ 24 มิถุนายน หรือล่วงเข้าเช้าวันที่ 25 มิถุนายน
หน่วยซีลเริ่มปฏิบัติการทันทีตั้งแต่เวลาตี 4 ลุยดำนำ้เข้าไปในถ้ำจนถึงบริเวณสามแยก ซึ่งหน่วยกู้ภัยเดิมไม่สามารถเข้าไปได้
เมื่อซีลได้ทะลุช่องทางนั้นไปแล้วได้ดำน้ำจากสามแยกไปถึงหาดพัทยา แล้วก็พบรอยเท้าของทีมหมูป่า
ภารกิจดูเหมือนจะราบรื่น ไม่เกินศักยภาพของหน่วยซีล แต่แล้วฝนที่ตกลงมาหนักมากตลอดคืน ประกอบกับสภาพถ้ำที่มืดมาก ซีลต้องถอยออกมาจากสามแยก และถอยหนีน้ำมาเรื่อยๆ จนถึงบริเวณโถง 3
ผู้บัญชาการหน่วยซีลยอมรับว่าเมื่อได้รับรายงานอยู่ที่สัตหีบ เขานึกภาพไม่ออกจริงๆ ว่าปฏิบัติการครั้งนี้มันยากแค่ไหน จึงต้องเดินทางขึ้นเชียงรายไปดูด้วยตนเอง
“ลงไปตอน 6 โมงเย็น เข้าไปถึงโถง 3 สุดท้ายเราสู้น้ำไม่ได้ เราต้องถอยร่นออกจากถ้ำ ดูเวลาอีกทีก็ 10 โมงเช้า จึงได้เห็นความยากลำบาก”
ผ่านไป 7 วัน ความหวังพบหมูป่ายังริบหรี่
ผู้บัญชาการหน่วยซีลยอมรับว่าเราเพิ่มกำลังพลมาเรื่อยๆ แต่ก็สู้น้ำไม่ได้ ต้องถอยมาเรื่อยๆ จากโถง 3 จนถึงปากถ้ำ ช่วงนั้นความหวังเราเหลือน้อยมาก เพราะล่วงเข้าสู่วันที่ 7 และ 8 แล้วที่ยังไม่ทราบชะตากรรมของทั้ง 13 ชีวิต
แม้ความหวังเริ่มริบหรี่ แต่เราไม่ลดความพยายาม ประกอบกับหน่วยอื่นๆ ช่วยสูบน้ำ ถึงแม้จะลดลงไปแค่วันละ 1-2 เซนติเมตร
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการ ศอร. เปิดเผยว่า “คืนวันพุธที่ 27 มิถุนายน เราท้อจนไม่รู้จะท้ออย่างไร เราเสียพื้นที่ให้น้ำทั้งหมดในถ้ำตั้งแต่สามแยกจนถึงปากถ้ำภายใน 3 ชั่วโมง”
แม้จะท้อ แต่ทีมยังคงดำน้ำไปถึงโถง 3 จึงพบว่ายังมีที่ว่างพอจะตั้ง ‘กองบัญชาการส่วนหน้า’ แม้จากปากถ้ำไปถึงโถง 3 จะเข้าไปยากลำบาก แต่จำเป็นต้องสู้
สุดท้ายตัดสินใจว่าจะสู้กับน้ำ โดยเราต้องหาขวดอากาศจำนวนมากกว่า 400 ขวด และเราเริ่มวางขวดอากาศเป็นระยะๆ ทุก 25 เมตร
“แต่ละคนเอาขวดอากาศไปคนละ 3 ขวด ถ้าหมดก็เอาขวดอากาศเปลี่ยน เราจะเป็นมนุษย์น้ำ” คำสั่งจากผู้บัญชาการหน่วยซีล ณ เวลานั้น
และภารกิจการวางขวดอากาศนี้เองที่จ่าแซมรับหน้าที่ร่วมอยู่ด้วย และเขาได้สละชีวิตไปพร้อมกับภารกิจนี้
เบื้องหลังทีมดำน้ำอังกฤษพบ 13 ชีวิตทีมหมูป่า เด็กวิ่งลงมาหาทันที
ผู้บัญชาการหน่วยซีลยกเครดิตให้กับนักดำน้ำจากหลายประเทศที่มาช่วย ทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน อังกฤษ เยอรมนี ฟินแลนด์ เดนมาร์ก โดยเฉพาะกลุ่มสุดท้ายซึ่งเชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำโดยตรง
การวางแผนได้ประเมินว่าเมื่อทั้ง 13 ชีวิตไปถึงสามแยกแล้วน่าจะต้องเลี้ยวซ้าย เพราะพบรอยเท้าแล้วในบริเวณนั้น
“เราวางแนวเชือกไปเรื่อยๆ ทีละ 200 เมตร เวียนกันทีละประเทศ เมื่อแต่ละประเทศช่วยต่อระยะเข้าไป สุดท้ายนักดำน้ำจากอังกฤษรับระยะในช่วงนั้นและไปเจอน้องๆ ที่เนินนมสาว นักดำน้ำอังกฤษบอกว่าเมื่อไปถึงน้องๆ พวกเขาวิ่งลงมาหาเลย”
อากาศบาง ระดับน้ำเพิ่ม บีบให้ต้องเริ่มภารกิจนำ 13 ชีวิตพ้นถ้ำ
หลังการพบทั้ง 13 ชีวิต ทีม ศอร. ได้ส่งซีล 4 คน โดยหนึ่งในนั้นมี หมอภาคย์ หรือพันโทนายแพทย์ภาคย์ โลหารชุน และต่อมาก็ได้ส่งซีลลงไปอีก 3 คน
โดยช่วงแรก ศอร. ประเมินว่าทั้ง 13 คนสามารถอยู่ในถ้ำได้เป็นเดือนๆ
แต่ที่สุดแล้วก็พบข้อจำกัด เนื่องจากปริมาณออกซิเจนในถ้ำมีน้อยลงเหลือเพียง 15% ซึ่งปกติมนุษย์หายใจในระดับออกซิเจน 21% และหากระดับออกซิเจนต่ำกว่า 12% ทั้ง 13 ชีวิตจะอยู่ในภาวะโคม่า
นอกจากอากาศที่บางลง ฤดูฝนก็เคลื่อนเข้ามาโดยมิอาจต้านทานได้
ผู้บัญชาการ ศอร. กล่าวว่า “เราจะทำอย่างไรเมื่อน้ำเต็มถ้ำ 100% น้องๆ เริ่มซึมลงๆ เพราะอากาศเบาบาง
“การเจาะชั้นหินหนากว่า 500 เมตร และไม่รู้พิกัดว่าจะต้องเจาะตรงไหน จะใช้เวลากี่วัน ทั้ง 13 ชีวิตคงรอไม่ได้
“นั่นคือปัจจัยบีบให้เราต้องเร่งปฏิบัติการ เมื่อพื้นที่ 5×5 ตารางเมตร รวม 25 ตารางเมตรบนเนินนมสาว ถ้าน้ำท่วม 100% น้องจะอยู่ไม่ได้”
เปิดขั้นตอนนำหมูป่าพ้นถ้ำ ใช้กระบวนการลับ กันเด็กตื่นตระหนก
ปฏิบัติการนำทีมหมูป่า 13 ชีวิตออกจากถ้ำเริ่มขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม ในวันนั้นระดับน้ำบริเวณโถง 1, 2 และ 3 แทบจะไม่มี ส่วนช่วงอื่นของถ้ำก็มีระดับน้ำที่เริ่มลดลง หลังระดมการสูบน้ำตลอดเกือบ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร
ผู้บัญชาการหน่วยซีลเปิดเผยว่าการนำทั้ง 13 ชีวิตออกจากเนินนมสาวจนถึงโถง 3 ได้ใส่เว็ตสูทหนา 5 มิลลิเมตรกันความหนาว พร้อมหน้ากากฟูลเฟซ ต่อถังออกซิเจนแบบพิเศษซึ่งทำให้น้องๆ สามารถหายใจได้ตามปกติ และมีนักดำน้ำประกบคู่
“การลำเลียงออกมาใช้วิธีการบางอย่างโดยทีมดำน้ำกู้ภัยระดับโลกที่จะควบคุมไม่ให้น้องๆ ตื่นตระหนก โดยน้องๆ ลอยมานิ่งๆ ไม่ได้ว่ายน้ำร่วมกับนักดำนำ้ ซึ่งตรงนั้นต้องใช้วิธีการบางอย่างที่เปิดเผยไม่ได้ เพราะไม่สามารถก้าวล่วงทีมดำนำ้ระดับโลกได้ แต่เป็นวิธีการที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน”
เมื่อทีมหมูป่าถึงโถง 3 แล้ว ระยะทางจากโถง 3 มาถึงปากถ้ำสามารถเดินได้ จึงได้นำเด็กขึ้นเปล เพราะเส้นทางค่อนข้างยากลำบาก
โดยจากโถง 2 จนถึงปากถ้ำใช้วิธีร่วมกันชักรอกโดยทีมงานกว่า 100 ชีวิต และมีทีมแพทย์ตรวจสอบอาการเมื่อถึงจุดในแต่ละโถง
สำหรับการดำน้ำจริงๆ ประมาณ 40% ของระยะทางทั้งหมด โดย 350 เมตรแรกจากเนินนมสาวนั้น ทุกคนต้องดำน้ำตลอด
ส่วนลำดับว่าใครออกก่อนหลัง โค้ชเอกเป็นคนเลือกลำดับเด็กๆ ด้วยตนเอง แต่คนสุดท้ายไม่ใช่โค้ชเอก
ทีมหมูป่า 13 ชีวิตปลอดภัย ปิดภารกิจครั้งประวัติศาสตร์
ภารกิจลำเลียงทีมหมูป่า 13 ชีวิตทำต่อเนื่อง 3 วันติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 8-10 กรกฎาคม สองชุดแรกออกมาครั้งละ 4 คน ส่วนชุดสุดท้ายออกมา 5 คน
นายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เปิดเผยว่าทุกคนปลอดภัย เบื้องต้นต้องอยู่โรงพยาบาล 7-10 วัน และพักฟื้นที่บ้าน 30 วัน โดยคณะแพทย์จะติดตามประเมินอาการ
โดย 5 คนที่มาชุดล่าสุดฟื้นเร็วกว่าสองชุดแรก ทุกคนถอดสายน้ำเกลือแล้ว อาหารปรับระดับเกือบปกติ
ปิดภารกิจระดับโลก 17 วัน กับ 13 ชีวิต และอีก 1 วีรบุรุษผู้สละชีวิตที่ถ้ำหลวง
ขอขอบคุณภาพส่วนหนึ่งจาก: Thai NavySEAL / facebook