×

จับตา 16 จังหวัด เหนือ-อีสานเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง หวั่นพายุลูกใหม่กระทบซ้ำ และระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
02.09.2019
  • LOADING...
น้ำท่วม

ศูนย์อำนวยการน้ำฯ เร่งระดมหน่วยงานเกี่ยวข้องลดการระบายน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ลุ่มน้ำภาคเหนือ-อีสาน เพื่อลดผลกระทบ 16 จังหวัดริมแม่น้ำ หลังประเมินเสี่ยงท่วมซ้ำจากอิทธิพลพายุลูกใหม่และระดับน้ำโขงที่สูงขึ้น

 

สำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจว่า จากการติดตามสถานการณ์พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. อยู่ห่างเมืองฮานอย 400 กม. ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กม./ชม. กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม. คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) ส่งผลให้ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก ‘โพดุล’  

  

ดังนั้น จากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์ฯ ได้ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำในพื้นที่เสี่ยง ทั้งที่ประสบปัญหาจากพายุโพดุล และที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากพายุลูกใหม่ ปรับลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง โดยมีการวิเคราะห์เส้นทางน้ำที่ปัจจุบันยังประสบปัญหาน้ำท่วมและมีความเสี่ยงที่น้ำล้นตลิ่งช่วงวันที่ 3- 6 กันยายนนี้ ใน 16 จังหวัดบริเวณภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ แม่น้ำยม จังหวัดแพร่, ลำน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์, แม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก, ลำน้ำเข็ก จังหวัดพิษณุโลก, แม่น้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์, ลำน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี, แม่น้ำสงคราม จังหวัดสกลนคร, ลำน้ำยัง จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร, ลำเซบาย จังหวัดยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี, แม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร, โขงเจียม แนวโน้มเพิ่มขึ้น ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง 

 

สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศจากอิทธิพลของพายุโพดุลระหว่างวันที่ 29 สิงหาคมถึงปัจจุบัน พบว่ามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจำนวน 38 แห่ง รวม 2,500 ล้าน ลบ.ม. แยกตามรายภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 849 ล้าน ลบ.ม., ภาคกลาง 57 ล้าน ลบ.ม., ภาคอีสาน 706 ล้าน ลบ.ม., ภาคตะวันออก 52 ล้าน ลบ.ม., ภาคตะวันตก 695 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 140 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแหล่งน้ำที่มีน้ำเพิ่มขึ้นจนพ้นวิกฤต มีน้ำอยู่ในเกณฑ์ 30-60% จำนวน 1 แห่งคือ เขื่อนแม่มอก และมี 2 แห่งที่ต้องเฝ้าระวังน้ำมาก ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์และหนองหาร รวมทั้งคาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงระยะ 1-3 วันข้างหน้าอีกประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 744 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้แหล่งน้ำขนาดกลาง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 141 แห่ง พ้นวิกฤต มีน้ำเพิ่มขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์ 30-60% จำนวน 29 แห่ง ซึ่งปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำมากขึ้นนี้จะใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับสำรองเพื่อการอุปโภค-บริโภค และเป็นต้นทุนในฤดูแล้งหน้าต่อไป 

  

อย่างไรก็ตาม ยังมีแหล่งน้ำอีก 13 แห่งที่ยังมีน้ำไหลเข้าน้อยและอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน, เขื่อนจุฬาภรณ์, เขื่อนอุบลรัตน์, เขื่อนลำนางรอง, เขื่อนมูลบน, เขื่อนลำพระเพลิง, เขื่อนลำแซะ, คลองสียัด, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, เขื่อนกระเสียว, บึงบอระเพ็ด และเขื่อนทับเสลา

  

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนขนาดใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งพบว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น ศูนย์ฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ทางภาคเหนือปรับลดการระบายน้ำลง เพื่อควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 500 ล้าน ลบ.ม./วินาที เพื่อป้องกันผลกระทบกับพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดอ่างทอง อยุธยาได้ ซึ่งล่าสุดกรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ที่ 397 ลบ.ม./วินาที

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising