×

14 จุดเด่น โมเดลเศรษฐกิจสีจิ้นผิง (Xinomics)

06.11.2023
  • LOADING...
Xinomics

ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง แม้ว่าจะเป็นการสานต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนจากผู้นำในยุคก่อนหน้า แต่โมเดลเศรษฐกิจในยุคสีจิ้นผิงมีลักษณะแตกต่างไปจากโมเดลการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนแบบเดิมในหลายด้าน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนมาเน้นแนวทาง ‘จีนทำ จีนใช้ จีนเจริญ’ ด้วยบทบาทชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อลดการพึ่งพาโลกและดึงให้โลกต้องพึ่งพาจีน 

 

บทความนี้จึงศึกษาวิเคราะห์ ‘โมเดลเศรษฐกิจสีจิ้นผิง’ หรือ ‘สีโนมิกส์’ (Xinomics) ว่ามีเหตุจูงใจและมีจุดเด่นในการปรับโครงสร้างเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจจีนอย่างไรบ้าง

 

เริ่มจากเหตุจูงใจที่เกิดจากแรงกดดันของบริบทสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักหน่วง ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งจุดอ่อนของโมเดลเศรษฐกิจจีนแบบเดิมที่ต้องพึ่งพาภาคต่างประเทศมากเกินไป ทำให้ในยุคสีจิ้นผิง จีนจำเป็นต้องปรับทิศทางและจุดเน้นของโมเดลเศรษฐกิจจีนที่แตกต่างไปจากในยุคก่อนหน้านี้ เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนอย่างจริงจัง หันมาเน้นสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน ลดการพึ่งพาภาคต่างประเทศ เน้นรักษาเสถียรภาพ และมุ่งสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศ และนำโมเดลเศรษฐกิจวงจรคู่ (Dual Circulation Model) มาเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศ เน้นทั้งการหมุนเวียนภายใน (Internal Circulation) ควบคู่ไปกับการหมุนเวียนภายนอก (External Circulation) เพื่อลดการพึ่งพาโลก แต่จะดึงให้โลกต้องพึ่งพาจีน 

 

นับตั้งแต่ปี 2013 ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเริ่มเข้ามาบริหารประเทศจีน มาจนถึงวันนี้ จีนสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยโมเดลการพัฒนารูปแบบใหม่ตามแนวทางสีโนมิกส์ในหลายด้าน จีนสามารถลดสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP และค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศต่อ GDP รวมทั้งการยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนจีนให้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว สีจิ้นผิงทำได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ยังคง ‘ติดกับดักรายได้ปานกลาง’ มานานหลายทศวรรษ 

 

หากเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนในยุคก่อนสีจิ้นผิงเข้ามาบริหารประเทศในปี 2012 ตัวเลขรายได้เฉลี่ย GDP per Capita ของจีนอยู่ที่ 6,283 ดอลลาร์ต่อคน แต่ต่อมาภายในปี 2021 ตัวเลขรายได้เฉลี่ยนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว มาอยู่ที่ระดับ 12,556 ดอลลาร์ต่อคน จึงเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อและขยายกลุ่มชนชั้นกลางจีนได้มากถึง 400 ล้านคน ตลอดจนการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ แนวทางสีโนมิกส์จะไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจเก็งกำไร และไม่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณ แต่เน้นเติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ ไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจตีโป่งแบบฉาบฉวย แต่ส่งเสริมภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการผลิตสินค้านวัตกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ มีการขับเคลื่อนสังคมจีนสู่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาออกแบบนโยบาย แก้ปัญหาได้แม่นยำและตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาเงินหยวนดิจิทัลให้ประชาชนจีนได้นำไปทดลองจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันได้สำเร็จ 

 

ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจีนล้วนให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้า เน้นการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีของจีนเอง มีการให้แรงจูงใจและส่งเสริมคนเก่งที่มีทักษะสูง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและมุ่งสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีในระดับโลก 

 

นอกจากนี้ ลักษณะเด่นของแนวทางสีโนมิกส์จะเน้นการเมืองนำเศรษฐกิจ โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามามีบทบาทชี้นำอย่างชัดเจน ในแวดวงวิชาการจึงเริ่มใช้คำเรียกระบบแบบจีนว่า ‘ทุนนิยมโดยรัฐที่มีพรรคเป็นใหญ่’ (Party-State Capitalism) กลไกรัฐและกลไกพรรคเข้ามามีบทบาทในการจัดระเบียบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เน้นการปราบคอร์รัปชันและขจัดความยากจน ช่วยให้ชาวจีนยากไร้ในชนบทจำนวน 98.99 ล้านคนหลุดพ้นจากเส้นแบ่งความยากจนได้สำเร็จตามเป้าหมาย รวมทั้งความพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ด้วยแนวคิดรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) 

 

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนเป็นผลจากการมีผู้นำที่กล้าตัดสินใจเลือกแนวทางพัฒนาที่ต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและบริบทของจีน และไม่หยุดนิ่งในการปรับเปลี่ยนโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและบริบทที่เปลี่ยนไป จากโมเดลแบบเดิมที่เคยเน้นส่งเสริมการส่งออก ปรับมาเป็นโมเดลเศรษฐกิจวงจรคู่ เน้นการบริโภคและใช้ศักยภาพของเศรษฐกิจภายในของจีนเป็นแรงขับเคลื่อนควบคู่ไปกับการหมุนเวียนภายนอกประเทศ 

 

ในด้านการต่างประเทศ สีจิ้นผิงผลักดันข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) มาตั้งแต่ปี 2013 เพื่อแสวงหาความร่วมมือและสร้างแนวร่วมในการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก และภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ไม่แน่นอน จีนมีการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ อย่างเข้มข้น และมีนโยบายที่แข็งกร้าวกับสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า ‘การทูตนักรบหมาป่า’ (Wolf Warrior Diplomacy) เน้นการตอบโต้กับสหรัฐฯ แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน รวมทั้งย้ำจุดยืนในประเด็นจีนเดียว และการรวมชาติกับไต้หวัน 

 

จากการเกาะติดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจจีนในยุคสีจิ้นผิงมานานนับ 10 ปี ผู้เขียนจึงได้เขียนหนังสือโมเดลเศรษฐกิจสีจิ้นผิง : Xinomics’ เพื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบและแนวทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในยุคสีจิ้นผิง และทิศทางในอนาคต โดยสรุปลักษณะเด่นของแนวทางสีโนมิกส์ 14 ข้อ ดังนี้ 

 

  1. แนวทางสีโนมิกส์ไม่เน้นเติบโตแต่เน้นมั่นคง และเน้น ‘เสถียรภาพต้องมาก่อน’ (Stability First) เช่น ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งความมั่นคงทางสาธารณสุข โดยเฉพาะหลังจากเกิดการระบาดของโควิด ทำให้จีนหันมาเน้นการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง 
  1. แนวทางสีโนมิกส์ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนเพื่อเน้นภาคการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น (Consumption-driven Economy) ลดการพึ่งพาภาคต่างประเทศ และใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเศรษฐกิจภายในและตลาดขนาดใหญ่ของจีน 
  2. แนวทางสีโนมิกส์ลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หันมาเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของจีนเอง โดยทุ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) อย่างเต็มที่ รวมทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 
  1. แนวทางสีโนมิกส์เน้นการขจัดความยากจนแบบตรงจุด (Targeted Poverty Alleviation) เพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของชาวจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมพอกินพอใช้รอบด้าน (‘สังคมเสี่ยวคัง’ ในภาษาจีนกลาง) 
  1. แนวทางสีโนมิกส์เน้นการสร้างความเป็นเมืองให้ชนบท (Urbanization) กระจายความเจริญสู่ชนบท เน้นสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้ชาวจีนในชนบท รวมทั้งการฟื้นฟูชนบท (Rural Revitalization) เพื่อให้คนจีนในชนบทไม่ต้องโยกย้ายมาทำงานหรือกระจุกตัวในเมืองใหญ่ เมื่อชาวชนบทจีนมีรายได้สูงขึ้นก็จะขยับขึ้นเป็นกลุ่มชนชั้นกลางจีนที่จะเป็นพลังการบริโภคระลอกใหม่ของจีนต่อไป 
  1. แนวทางสีโนมิกส์เน้นลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ด้วยการผลักดันแนวคิดรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) เพื่อให้ผู้ที่มีความมั่งคั่งมากกว่าควรต้องแบ่งปันและช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้กว่า และเพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่มีความรุ่งเรืองร่วมกัน 
  1. แนวทางสีโนมิกส์เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมคนเก่งที่มีทักษะสูง (Talent) ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทั้งที่เป็นคนเก่งทักษะสูงที่อยู่ในจีนและในต่างประเทศ 
  1. แนวทางสีโนมิกส์เน้นการยกระดับและพัฒนาภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ไม่เน้นเศรษฐกิจฉาบฉวย และไม่สนับสนุนเศรษฐกิจเก็งกำไร เช่น ห้ามการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ และห้ามทำธุรกรรมเงินคริปโตทุกชนิด 
  1. แนวทางสีโนมิกส์เน้นการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะธนาคารกลางของจีนได้พัฒนา ‘เงินหยวนดิจิทัล’ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทดลองนำไปจับจ่ายใช้สอย (Retail Central Bank Digital Currency: CBDC) จนสำเร็จเป็นประเทศแรกของโลก 
  1. แนวทางสีโนมิกส์เน้นพัฒนาประเทศมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Data-Driven Economy) และนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Analytics) เพื่อมาออกแบบนโยบายได้อย่างแม่นยำและตรงจุดมากขึ้น 
  1. แนวทางสีโนมิกส์เน้นพัฒนาภาคเกษตรที่ทันสมัย ด้วยการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่ล้ำหน้า (AgriTech) เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้กลับถิ่นเกิดเพื่อพัฒนาภาคเกษตรที่ทันสมัยในท้องถิ่นบ้านเกิดของตน 
  1. แนวทางสีโนมิกส์เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดการสร้างมลพิษ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV อย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
  1. แนวทางสีโนมิกส์ไม่ใช่แนวทางสู่การเป็นรัฐสวัสดิการที่เน้นการแจกเงินหรือแจกสิ่งของให้ประชาชนจนไม่ยอมทำงาน เฝ้ารอคอยการช่วยเหลือจากรัฐ สีจิ้นผิงมองว่าจะกลายเป็นปัญหาติดกับดักของรัฐสวัสดิการ (Trap of Welfarism) 
  1. แนวทางสีโนมิกส์เน้นกระตุ้นการแข่งขันในภาคธุรกิจ ลดการครอบงำทางธุรกิจของทุนขนาดใหญ่ พร้อมไปกับการกำกับดูแลและยึดมั่นในกฎหมาย (Rule of Law) มีการนำกฎหมายมาใช้จัดระเบียบทุนและกำกับดูแลกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ 

 

ในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจวงจรคู่ในยุคสีจิ้นผิง มีทั้งการหมุนเวียนภายในควบคู่ไปกับการหมุนเวียนภายนอก โดยทั้งสองวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนขับเคลื่อนไปด้วยกันและเน้นสร้างพลังการบริโภค เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นแกนหลัก ผ่านการเพิ่มอำนาจซื้อของชนชั้นกลางจีน และใช้ศักยภาพด้านอุปสงค์ของตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ภายในของจีน ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากการเป็นตลาดใหญ่เพื่อดึงดูดภาคเศรษฐกิจภายนอก ให้หันมาพึ่งพาพลังการซื้อหรือการนำเข้าของจีน เพื่อให้ประเทศต่างๆ ต้องพึ่งพารายได้จากการค้าขายกับตลาดขนาดใหญ่ของจีนให้มากขึ้น 

 

จึงชัดเจนว่า ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจวงจรคู่ จีนไม่ได้มุ่งเพื่อปิดประเทศหรือโดดเดี่ยวตัวเอง ในทางตรงข้าม จีนยังคงให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เพื่อใช้ภาคเศรษฐกิจภายนอกเป็นแรงเสริมในการขับเคลื่อนพลวัตของเศรษฐกิจภายในของจีน และเพื่อดึงดูดให้ต่างประเทศหันมาพึ่งพาพลังซื้อจากตลาดผู้บริโภคจีนมากขึ้น ทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป 

 

ตัวอย่างแนวทางการส่งเสริมการหมุนเวียนภายในประเทศ เช่น การเพิ่มบทบาทของการบริโภคภายในประเทศ และการส่งเสริมความเป็นเมือง (Urbanization) การสร้างงานสร้างรายได้ในชนบทจีน การส่งเสริมการจ้างงานคนรุ่นใหม่ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อม SMEs และการปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมและการบริโภค รวมทั้งการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศในเชิงลึกให้มากขึ้น ผลักดันการปฏิรูปด้านอุปทาน เพื่อปรับรูปแบบการจัดหาสินค้าและบริการภายในประเทศให้ทันสมัย และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ 

 

สำหรับตัวอย่างแนวทางการส่งเสริมการหมุนเวียนภายนอก เช่น การขยายความร่วมมือและจัดทำความตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ การเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับจีน และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น โดยหวังว่าการเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจภายนอกจะเป็นแรงเสริมในการขับเคลื่อนพลวัตของเศรษฐกิจภายในของจีน ตลอดจนการดึงให้ต่างประเทศหันมาพึ่งพาจีนมากขึ้น ทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ 

 

นอกจากนี้ เพื่อทำความเข้าใจโมเดลจีนอย่างถ่องแท้ ไม่ควรจะมองผ่านเครื่องมือหรือมุมมองแบบตะวันตกเท่านั้น ในหนังสือ ‘โมเดลเศรษฐกิจสีจิ้นผิง : Xinomics’ จึงได้ปรับประยุกต์นำแนวคิดทางตะวันออกในเรื่องธาตุทั้ง 5 มาวิเคราะห์โมเดลจีน และนำแนววิเคราะห์ PEST Analysis มาร่วมวิเคราะห์ เพื่อพิจารณาจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่เฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วย 

 

โดยสรุป สีจิ้นผิงเป็นผู้นำจีนที่เชิดชูบทบาทชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง ด้วยแนวทางสีโนมิกส์ทำให้ระบบแบบจีนในยุคนี้ถูกเรียกว่า ‘ทุนนิยมโดยรัฐที่มีพรรคเป็นใหญ่’ (Party-State Capitalism) กลไกรัฐและกลไกพรรคเข้ามามีบทบาทในการจัดระเบียบกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญ และยังได้มีการบรรจุ ‘ความคิดสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนในยุคใหม่’ (Xi Jinping Thought on Socialism with Chinese Characteristics for a New Era) ไว้ในรัฐธรรมนูญประเทศจีนตั้งแต่ปี 2018 ทำให้ ‘ความคิดสีจิ้นผิงฯ’ กลายเป็นข้อผูกพันตามกฎหมายในประเทศจีน และระบุชัดเจนว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนคือสถาบันที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด พรรคคอมมิวนิสต์จีนใหญ่กว่ากองทัพจีน ใหญ่กว่ารัฐบาลจีน และใหญ่กว่าทุกองค์กรบนแผ่นดินจีน กลไกพรรคฯ เข้าไปแทรกซึมและแทรกตัวอยู่ในธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

 

อย่างไรก็ดี ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสีจิ้นผิง แม้ว่ารัฐบาลจีนจะสามารถปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจลดการพึ่งพาภาคต่างประเทศได้สำเร็จ แต่ก็ยังคงมีปัญหาทางเศรษฐกิจหลายด้านที่ค้างคายืดเยื้อมานาน และยังแก้ไขไม่สำเร็จ เช่น ปัญหาภาระหนี้ ทั้งที่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจจีน หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นจีน และหนี้ครัวเรือน รวมทั้งปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาโครงสร้างประชากร ตลอดจนปัญหาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเด็นเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาการก่อความไม่สงบของชาวมุสลิมอุยกูร์บางกลุ่มในซินเจียง รวมทั้งความขัดแย้งในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ระหว่างประเทศมหาอำนาจ  

 

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโจทย์ยากของสีจิ้นผิงและเป็นภารกิจหนักหน่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องเร่งจัดการต่อไป เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ China Vision 2035 ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศจีนในระยะยาว โดยหวังจะสร้างให้จีนกลายเป็นประเทศสังคมนิยมที่มีความทันสมัย (Socialist Modernization) มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเกินใคร และเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกให้จงได้นั่นเอง

 

 

ภาพ: Getty Images, FOTOGRIN via ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising