×

45 ปี 14 ตุลา มองคนเดือนตุลาอย่างเข้าใจอีกครั้ง

14.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ชวน มองคนเดือนตุลา ด้วยแว่นขาวหรือแว่นที่ไม่มีสีจากนักศึกษาสู่บทบาทต่างๆ ในวิกฤตความขัดแย้งเสื้อสี
  • คนเดือนตุลาไม่ได้เพิ่งแตกต่าง ทว่าคนเดือนตุลาไม่เคยมีความเป็นหนึ่งเดียวกันแต่แรกแล้ว

‘คนตุลาเปลี่ยนหรือเราเข้าใจผิดเอง’ คือคำถามในงานสัมมนา ‘หลัง 14 ตุลา’ เมื่อครั้งครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2556

 

ในช่วงการนำเสนอบทความของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อการรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็น ‘คนเดือนตุลา’

 

กนกรัตน์ เสนอถึงความสำเร็จของการสร้างประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ฉบับใหม่ ที่ตอกย้ำว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของความสำเร็จของขบวนการพฤษภาทมิฬ 35 และประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้กลายเป็น 2475, 2516, 2535

 

ก่อนปี 2519 กลุ่มนักศึกษาหลัง 2516 ได้รับการยกย่อง มีการจัดงานรำลึกอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2518 หลังจากมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าที่ถนนราชดำเนิน จากนั้นนักศึกษาประชาชนได้จัดขบวนเฉลิมฉลองเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังสี่แยกคอกวัวเพื่อวางพวงมาลาไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิต

 

สมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาเป็นประธานในพิธีการวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ 14 ตุลา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กล่าวรายงาน

 

 

แต่เพียง 1 ปีต่อมา ความรุนแรงโดยรัฐทำให้ประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษาหลัง 6 ตุลาคม 2519 กลับถูกจดจำคนละภาพกับ 14 ตุลาคม 2516

 

กนกรัตน์เสนอว่าในขณะที่คน 14 ตุลามีประวัติศาสตร์แห่งความสำเร็จและประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย คน 6 ตุลากลับพบว่าตัวเองถูกทอดทิ้งอยู่กับบาดแผล ความเจ็บปวดของประวัติศาสตร์ที่ล้มเหลว ภาพลักษณ์ของฝ่ายสุดโต่ง

 

จากภาพของงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ในปี 2518 แต่หลังจากนั้นช่วงต้นปี 2520 โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังป่าแตกใหม่ๆ งานฉลองถูกจัดแบบเล็กๆ ระหว่างกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต กลุ่มนิสิตนักศึกษา และเพื่อนนักกิจกรรม โดยเนื้อหาที่สื่อสารต่อสาธารณะเน้นเรื่ององค์ประกอบประชาธิปไตย โดยปิดซ่อนความเป็นซ้ายและความขัดแย้งต่างๆ ในช่วง 14 ตุลาเอาไว้

 

Photo: www.samkok911.com

 

จาก 2516 ถึง 2561 ใครเป็นใครในวันนี้

ในปีเดียวกันที่จัดงาน ‘หลัง 14 ตุลา’ มีภาพสำคัญที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนักได้เสนอเนื้อหาการปาฐกถาของ ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ และ ‘ธีรยุทธ บุญมี’ อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ ‘วันมหาวิปโยค’ 14 ตุลาคม 2516

    

นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้ง 2 ท่าน ได้กล่าวปาฐกถาในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสกสรรค์พูดเรื่องการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในประเทศไทย เนื้อหาหนักแน่น เคร่งขรึม มีบรรยากาศแห่งการต่อสู้เดือนตุลาอย่างเต็มเปี่ยม

    

แต่เมื่อถึงคราว ธีรยุทธ เรื่องการเมืองได้กลายเป็นเรื่อง ‘ขี้’ เพราะธีรยุทธ เลือกที่จะเปรียบเทียบให้เห็นว่าปัจจุบัน ระบบการเมืองการปกครองเป็นเรื่องสกปรกโสมม

 

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

วีรชนประชาธิปไตยเดือนตุลา หลังทศวรรษ 2520 ได้เข้าร่วมในพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเทพ หรือ พรรคมาร

 

จากงานศึกษาของกนกรัตน์ ได้ยกตัวอย่างนักการเมืองหลายคน เช่น อดิศร เพียงเกษ สังกัดพรรคมวลชน ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, สุธรรม แสงประทุม สังกัดพรรคก้าวหน้า พินิจ จารุสมบัติ พรรคเสรีธรรม ต่อมาเมื่อมีพรรคไทยรักไทยหลายคนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งระดับรัฐมนตรี ส.ส. บัญชีรายชื่อ คนเดือนตุลาก็อยู่ในลิสต์เลขตัวเดียว ไม่ว่า ภูมิธรรม เวชยชัย, เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์

 

นอกจากนั้นในการปฏิรูปการเมืองปี 2540 ที่ทำให้เกิดองค์กรอิสระ เกิดการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ คนเดือนตุลา เช่น จรัล ดิษฐาอภิชัย, สุนี ไชยรส ได้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรก

 

อีกแวดวงหนึ่งที่สำคัญคือ ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ที่กลับกลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของชนวนวิกฤตการณ์การเมืองตลอดทศวรรษที่ผ่านมาหลัง 2549

 

‘ประวัติศาสตร์ การเมืองภาคประชาชน: ความคิดและปฏิบัติการของนักกิจกรรมทางการเมือง ในปัจจุบันหลังป่าแตก’ คือวิทยานิพนธ์ของ อุเชนทร์ เชียงเสน ที่พยายามอธิบายภาคประชาชนที่เข้าไปมีส่วนจัดตั้งกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ทำให้การเคลื่อนไหวของสนธิ ลิ้มทองกุล เข้มแข็งและชอบธรรมมากขึ้น

 

 

ต้องไม่ลืมว่าในพันธมิตร หลายคนคือคนเดือนตุลา โดย สนธิ ลิ้มทองกุล ก็เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ส่วน พิภพ ธงไชย คือคนที่เคยเตรียมตัวเข้าป่าต่อสู้ตลอดชีวิต หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ กับกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาคือแกนนำรุ่นแรกของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

มาลีรัตน์ แก้วก่า เข้าป่าหลัง 6 ตุลาคม 2519 ต่อมาเป็นแกนนำรุ่นที่สองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ อมรเทพ อมรรัตนานนท์ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ต่อมาเป็นโฆษกเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2551

 

ประพันธ์ คูณมี เคยทำงานร่วมกับสหพันธ์นักศึกษาเสรี ซึ่งเป็นอีกองค์กรนักศึกษาที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แยกตัวออกมาตั้งต่างหากจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ประพันธ์เข้าร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีชื่อจัดตั้งว่า ‘สหายสงคราม’ โดยในช่วงปี 2549 เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีบทบาทเป็นโฆษกบนเวที หลังจากนั้นก็ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549

 

บุญส่ง ชเลธร หนึ่งใน ‘13 ขบถรัฐธรรมนูญ’ ในข้อหาคอมมิวนิสต์และปลุกปั่นการต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากการเดินแจกใบปลิวตามสถานที่ต่างๆ ก็แสดงออกถึงแนวคิดที่ให้การสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร การก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่

 

 

ทำไมคนเดือนตุลา ถึงมาเป็นพันธมิตร เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นหนึ่งในงานเสวนา 34 ปี 14 ตุลา ในหัวข้อ ‘เจตนารมณ์ 14 ตุลา กับสถานการณ์ปัจจุบัน’ ซึ่งปีนั้นคือ 1 ปี หลังการรัฐประหาร 19 กันยา วิจิตร ศรีสังข์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2517 กล่าวในเวทีนั้นว่า

 

“บางที คนอย่าง คำนูณ (สิทธิสมาน) หรือประพันธ์ (คูณมี) เขาอาจเข้าใจว่า กำลังสู้กับเผด็จการอยู่ก็ได้”

 

44 ปีเวียนมาบรรจบ วันที่ 14 ตุลาคม 2560 ในงานเปิดตัวหนังสือ ‘เรื่องของคนเดือนตุลา/ตุลา The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand’

 

กนกรัตน์ ขึ้นเวทีเสวนาอีกครั้ง เพื่อนำเสนอว่า คนเดือนตุลาไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พวกเขาเริ่มต้นจากการรวมตัวของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เริ่มต้นจากหลวมๆ ในการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการถนอม-ประภาส หลังประสบความสำเร็จในช่วง 14 ตุลา ความขัดแย้งต่างๆ ก็ขยายขึ้น จนมีทั้งกลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตย กลุ่มซ้ายใหม่ กลุ่มชาตินิยม-ราชานิยมกลุ่มเหมาอิสต์-คอมมิวนิสต์ กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย

 

กระทั่งการอธิบายว่า คนในพฤษภาทมิฬ คือ คนเดือนตุลา กลับไม่ใช่เช่นนั้นทั้งหมด เพราะช่วงแรกคนเดือนตุลาที่ผันตัวเองเป็นนักธุรกิจ ก็สนับสนุนการรัฐประหารของพลเอก สุจินดา จนกระทั่งเห็นว่าการที่ทหารพยายามอยู่ในอำนาจต่อไป อาจคุกคามอนาคตทางเศรษฐกิจของไทย จึงหันมาต่อต้านทหาร

 

และในช่วงการเคลื่อนไหวต่อต้านพลเอก สุจินดา คนเดือนตุลาก็มีความขัดแย้งในการแย่งชิงแกนนำ บางกลุ่มสนับสนุนการนำของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แต่อีกหลายคนที่เริ่มใกล้ชิดกับพรรคพลังธรรม ก็หันไปสนับสนุนการเคลื่อนไหวภายใต้ จำลอง ศรีเมือง

 

 

ปีนี้ ทั้งงานครบรอบ 6 ตุลา และ 14 ตุลา กนกรัตน์ ยังคงมีภารกิจถูกเชิญไปนำเสนองานที่เธอศึกษามาอีกหน ในงานครบรอบ 6 ตุลาคม ภายใต้หัวข้อ ‘มองเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยแว่นขาว’ เธอได้นำเสนอโดยไม่ได้ใช้แว่นโลกสวยมองว่า คนเดือนตุลาเป็นวีรบุรุษเปลี่ยนแปลงโลก แต่ก็ไม่ได้มองเป็นภัยคุกคามแบบฝ่ายอนุรักษ์หรือฝ่ายความมั่นคงมอง หรือกระทั่งไม่ใช้แว่นสีเทาที่พวกเขามองกันเองอย่างผิดหวังเมื่อต่างฝ่ายแสดงจุดยืนตรงกันข้ามกับตนเอง เป็นการมองจากคนนอกและอีกรุ่นหนึ่งที่สนใจและทำความเข้าใจพวกเขา

 

ท้ายที่สุดคนเดือนตุลา วันหนึ่งก็ต่างต้องจากไป แต่บทเรียนชีวิตจากคนเดือนตุลา ยังคงมีคุณค่าให้เรียนรู้อีกมากมายเพื่อป้องกันความผิดพลาด หรือเพื่อนำมาปรับใช้ร่วมสรรค์สร้างสังคมของคนรุ่นต่อๆ ไป

 

เพียงแต่เราอาจต้องมองคนตุลา ด้วยแว่นขาว

 

มองอย่างเข้าใจ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X