ที่กองบัญชาการกองทัพบก พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยถึงการนำทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คนซึ่งติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ในเขตวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ออกมาจากภายในถ้ำว่าได้มีการชี้แจงและสั่งการในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก หรือ นขต. ถึงการช่วยเหลือการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
ซึ่งขณะนี้กำลังพลในส่วนของกองทัพบกที่ไปสนับสนุนภารกิจช่วยโค้ชและเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำมีทั้งสิ้นประมาณ 1,256 คน ซึ่งถือว่ามีความเพียงพอ โดยเป็นการปฏิบัติงานภายในถ้ำร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือ นสร. เพื่อช่วยเหลือภารกิจการลำเลียงและขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ การสนับสนุนการระบายน้ำในพื้นที่รอบถ้ำ การเบี่ยงเบนทางน้ำ และการปฏิบัติภารกิจบนภูเขาร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการเพิ่มเติมเรื่องการสับเปลี่ยนกำลังเพื่อหมุนเวียนกำลังพลเข้าไปในกรณีที่กำลังพลบางส่วนมีความอ่อนล้า แต่กำลังพลส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ตามปกติ
สำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน โดยมี พลตรี สุภโชค ธวัชพีระชัย รองแม่ทัพภาคที่ 3 เข้าร่วมปฏิบัติงานด้วย ซึ่งก็ได้มีการรายงานเหตุการณ์ความคืบหน้าการปฏิบัติงานให้ตนได้รับทราบทุกวัน โดยเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาก็ได้รายงานว่ามีความขาดแคลนนักดําน้ําขั้นพื้นฐานเพื่อปฏิบัติงานส่วนหน้าในการลำเลียงขนอุปกรณ์เข้าไปภายในถ้ำ ซึ่งทางกองทัพบกก็ได้ส่งกำลังสนับสนุนเข้าไปปฏิบัติงานแล้ว โดยทางกองทัพบกจะเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องกำลังพลและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ขาดแคลน
สำหรับการนำทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ
- ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทั้งหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือหน่วยซีล และหน่วยสนับสนุน รวมถึงความพร้อมของยุทโธปกรณ์ ซึ่งขณะนี้ถือว่ามีความพร้อมแล้ว
- ความพร้อมของเด็กทั้งทางร่างกายที่ต้องได้รับการฟื้นฟูจนแข็งแรง เพราะการเดินทางออกจากถ้ำต้องใช้เวลา 5 ชั่วโมง ความพร้อมในการใช้เครื่องมือที่ต้องมีการเรียนรู้ และความพร้อมทางด้านจิตใจที่ต้องนิ่ง สามารถควบคุมสติได้ เพราะในบางช่วงเด็กอาจต้องดำน้ำด้วยตัวเอง
- สภาวะแวดล้อมเรื่องน้ำและอากาศ ซึ่งหากปริมาณเพิ่มมากขึ้นก็จะเป็นปัญหา แต่หากปริมาณน้ำลดลงก็จะเอื้อต่อการนำเด็กออกมาจากถ้ำ ส่วนเรื่องอากาศ ได้รับทราบว่าขณะนี้ในพื้นที่ก็ได้มีการหาทางเพิ่มขวดอากาศเข้าไปภายในถ้ำแล้ว
ขณะที่แนวทางการนำผู้ประสบภัยออกมาจากถ้ำนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางอุโมงค์หรือดำน้ำออกมาจากถ้ำก็มีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานหน้างานก็ต้องประเมินสถานการณ์ทุกอย่างทั้งความพร้อมของเด็กและสภาวะแวดล้อมก่อนตัดสินใจอยู่แล้ว
ส่วนการเสียชีวิตของ จ่าเอก สมาน กุนัน นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ ซึ่งเป็นนักทำลายใต้น้ำจู่โจม รุ่น 30 อายุ 38 ปี ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจภายในถ้ำหลวง ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ โดยจ่าเอก สมาน ได้ทุ่มเททั้งชีวิตสำหรับการทำงานครั้งนี้ เป็นอดีตข้าราชการที่มีจิตอาสาเข้ามาช่วยเหลือ
ขอยืนยันว่าทุกคนที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่มีความรู้และความสามารถ แต่ไม่ทราบว่าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นในช่วงเวลานั้นจึงทำให้เกิดความพลาดพลั้ง อยากให้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ว่าการทำงานในพื้นที่ห่างไกลซึ่งผู้ปฏิบัติงานพักผ่อนน้อย อาจเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นโดยที่เจ้าตัวเองก็ไม่รู้ตัว
ซึ่งได้พยายามเน้นย้ำกับกำลังพลว่าแม้ใจต้องการให้ความช่วยเหลือ คิดว่ายังไหว แต่ก็ขอให้ประเมินตัวเองด้วยความระมัดระวัง เพราะการดำน้ำและกระโดดร่มเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตราย