×

Exclusive Summary: ‘REITs ไทย’ เริ่มโดดเด่น เตรียมรับอานิสงส์แผนเปิดประเทศใน 120 วัน

22.06.2021
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • สัปดาห์ที่ผ่านมา Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาด ส่งผลต่อดัชนีเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น กระทบไปยังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะทองคำที่ปรับลดลงแรง
  • หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เริ่มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น หลัง Yield Curve เริ่มปรับลดความชันลง ทำให้นักลงทุนเริ่มสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนมายังหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
  • ตลาดหุ้นยุโรปยังเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจลงทุนมากที่สุดจาก Valuation ที่ยังต่ำ และอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS) ในปี 2021 และ 2022 มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น
  • REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะ REITs ไทย น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว Valuation ยังไม่แพง ได้รับอานิสงส์จากแผนการเปิดประเทศไทยภายใน 120 วัน

Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม จากปี 2024 เป็น 2023 บ่งชี้ว่าเป็นไปได้ที่จะลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ภายในปีนี้ตามที่ตลาดคาดการณ์ 

 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (2 ปี) พุ่งขึ้นแรง จาก 0.16% เป็น 0.21% ซึ่งแรงกว่าการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งผลให้ Yield Curve มีโอกาสเปลี่ยนไปเป็น Bear Flattener ซึ่งเป็นสัญญาณลบต่อตลาดหุ้นในอนาคต

 

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ทองคำ ปรับตัวลดลง หลังทราบผลการประชุมรวมถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 

 

บล.ไทยพาณิชย์ เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสสูงขึ้นนานกว่าตลาดคาด Fed จะเริ่มพูดเรื่องการยุติ QE มากขึ้น และยังมีโอกาสที่จะขยับเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรอบ (สมาชิก Fed 7 ใน 18 ราย มองว่ามีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022) ภาพดังกล่าวจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ดังนั้นจึงแนะนำให้นักลงทุนหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินทรัพย์ที่จะลงทุนมากขึ้น

 

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงแรง

ผลต่อเนื่องจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ตึงตัวมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งอุตสาหกรรมโลหะและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงแรง 

 

ทั้งนี้ บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ก่อนหน้านี้มีแรงเก็งกำไรค่อนข้างมากทำให้มีการปิดสถานะลง และจีนมีมาตรการควบคุมการเก็งกำไร ค่าเงินดอลลาร์ก็แข็งค่า แต่ในเชิงอุปสงค์และอุปทานยังเป็นภาพเดิมที่อุปทานขาดแคลน ดังนั้นหากค่าเงินดอลลาร์เริ่มนิ่ง ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากผลผลิตในเดือนมิถุนายน ได้รับผลกระทบจากลานีญา (La Niña) ส่วนอุตสาหกรรมโลหะยังมีอุปสงค์ในระยะยาวสนับสนุน

 

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง

ในช่วงเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงมิถุนายน ตัวเลขเศรษฐกิจชี้นำของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การบริโภค การจ้างงานนั้นออกมาต่ำกว่าที่คาค แต่ตลาดมองเป็นเรื่องดีจากนโยบายที่สนับสนุน แต่หากมองว่าตัวเลขการเติบโตของสหรัฐฯ นั้นดูเหมือนจะผ่านจุดสูงสุดในแง่การเติบโต เช่นเดียวกับจีนที่ตัวเลขการเติบโตนั้นชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา 

 

หากพิจารณารูปแบบผลตอบแทนของจีนที่เข้าสู่สภาวะการเติบโตที่ชะลอตัวลงหลังจากผานจุดสูงสุด เราจะพบว่าหุ้นกลุ่มเชิงรับอย่าง Healthcare, Consumer Staples และกลุ่มสาธารณูปโภคให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นกลุ่มเชิงวัฏจักร

 

สำหรับเหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  • การประกาศดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ของสหรัฐฯ พฤษภาคม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้านเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ใช้ในการพิจารณา

 

  • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ โดยตลาดคาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.10% และคงวงเงิน QE ที่ 8.75 แสนล้านปอนด์ 
  • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ กนง. แม้ตลาดคาดคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% แต่ต้องติดตามการประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทย (GDP) ชุดใหม่ หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3

 

มุมมองต่อตลาดต่างๆ

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

 

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดกลุ่มนี้มีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากการเกิด Sector Rotation หลัง Valuation ในบาง Sector ที่เริ่มตึงตัว และความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึง Bond Yield อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • Principal Global Opportunity Fund หรือ PRINCIPAL GOPP-A

กองทุน PRINCIPAL GOPP-A ลงทุนในกองทุน Morgan Stanley Investment Funds Global Opportunity Fund ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

 

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 การทยอยเปิดเมือง และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นจากแผนการลงทุนระยะยาวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งจะส่งผลบวกกับหุ้นกลุ่มวัฏจักรที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

 

นอกจากนี้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ได้รับอานิสงส์จากการที่เส้นอัตราผลตอบพันธบัตร (Yield Curve) มีแนวโน้มปรับลดความชันลง ทำให้นักลงทุนเริ่มสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนมายังหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • SCB US Equity DJI Fund

กองทุน SCBDJI(A) เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ โดยลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี Dow Jones Industrial Average ซึ่งประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่ 30 บริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจชั้นนำของประเทศ และผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ

 

 

ตลาดหุ้นยุโรป

 

ความน่าสนใจระดับ: 5

 

ตลาดหุ้นยุโรปมี Valuation ที่น่าสนใจ โดยอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS) ในปี 2021 และ 2022 มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น เศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการคลัง EU Recovery Fund ที่กำลังทยอยเบิกจ่าย และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย 

 

ล่าสุด EU เตรียมอนุมัติให้ชาวอเมริกันเดินทางเข้าประเทศได้ และใบรับรองโควิด-19 แบบดิจิทัลเพื่อการเดินทางเสรีช่วงฤดูร้อนเป็นปัจจัยบวกสำคัญ รวมถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนที่เด่นชัด และแผนการเปิดประเทศและการท่องเที่ยวช่วยหนุนการฟื้นตัวภาคบริการ

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • SCB European Equity Fund หรือ SCBEUEQ

กองทุน SCBEUEQ เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นทวีปยุโรป โดยลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี STOXX Europe 600 ซึ่งประกอบด้วยหุ้นในทวีปยุโรปจำนวน 600 บริษัท ทั้งหุ้นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่

 

 

  • MFC Continental European Equity Fund หรือ MEURO

กองทุน MEURO ลงทุนในกองทุน BGF Continental European Flexible Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นยุโรปภาคพื้น (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) โดดเด่นในการสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง รวมทั้งลงทุนแบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนสไตล์การลงทุนและขนาดของหุ้นได้ตามสภาวะตลาด

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

 

ระดับความน่าสนใจ: 4

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีความน่าสนใจจาก Valuation ที่เริ่มถูกเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้วอื่นๆ และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประเมินว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้วในหลายภูมิภาค และยังได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิตโลกที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ผลประกอบการของ บจ. มีแนวโน้มออกมาดี นอกจากนี้ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่าที่ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มส่งออกของญี่ปุ่น และแนวโน้มการจัดโตเกียวโอลิมปิกในระยะต่อไปจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศและเรียกคะแนนความเชื่อมั่นรัฐบาลให้ฟื้นตัว

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • SCB Japan Equity Fund หรือ SCBNK225

กองทุน SCBNK225 เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น โดยลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี Nikkei 225 ซึ่งประกอบด้วยหุ้นของบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ ของญี่ปุ่น จำนวน 225 บริษัท

 

 

ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่

 

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

เนื่องจากตลาดหุ้นในกลุ่มนี้ได้รับอานิสงส์จาก Regional Rotation ตามธีม Reflation Trade กิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่ทยอยฟื้นตัวตามการทยอยแจกจ่ายวัคซีน 

 

นอกจากนี้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังได้รับแรงหนุนจากการที่ดัชนีมีสัดส่วนกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) ค่อนข้างสูง แม้ว่าภูมิภาคลาตินอเมริกามีแนวโน้มเผชิญแรงกดดัน ประเด็นเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจ ตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเงินดอลลาร์ สรอ. ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลัง Fed ส่งสัญญาณจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นก็ตาม

 

 

ตลาดหุ้นจีน

 

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

ตลาดหุ้นจีนถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากทางการจีนมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการต่างๆ ที่สอดรับตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ขณะเดียวกันตลาดยังได้อานิสงส์จากการปรับปรุงดัชนี HSI และ HSCEI (เพิ่มสัดส่วนกลุ่ม New Economy) และ Valuation ของตลาดหุ้นจีนยังไม่แพงเมื่อเทียบตลาดหุ้นโลก 

 

นอกจากนี้เชื่อว่าทางการจีนจะไม่ใช้มาตรการควบคุมการผูกขาดตลาดในกลุ่ม Big Tech ที่เข้มงวดเกินไป จนส่งผลเสียต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามข้อพิพาทระหว่างจีนและชาติสมาชิกกลุ่ม G7 โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชนในซินเจียง เอกราชของฮ่องกงและช่องแคบไต้หวัน จะส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงสั้น

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • SCB China A-Shares Fund หรือ SCBCHA

กองทุน SCBCHA เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นจีน A-share โดยลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี CSI 300 ซึ่งประกอบด้วยหุ้นของบริษัทที่มีการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจำนวน 300 บริษัท คาดหวังผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนโดยรวมของหุ้นจีน A-share

 

 

  • SCB Active All China Equity Fund หรือ SCBCHINA

กองทุน SCBCHINA ลงทุนในกองทุน UBS (Lux) Equity SICAV – All China Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นจีน ทั้งที่ซื้อขายในประเทศจีน (Onshore) และนอกประเทศจีน (Offshore) เช่น ฮ่องกง มีความยืดหยุ่นในการเลือกลงทุน เน้นคัดเลือกหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตได้สูงในอนาคตจำนวน 20-50 บริษัท

 

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ: 3 

 

ความกังวลการแพร่ระบาดรอบใหม่ในไทยยังคงมีอยู่ และ Valuation ของตลาดหุ้นที่เริ่มตึงตัว รวมทั้งการฉัดวัคซีนที่ล่าช้าทำให้ตลาดหุ้นไทยถูกลดทอนความน่าสนใจลงไปบ้าง

 

อย่างไรก็ดีนักลงทุนคาดหวังต่อการทยอยเปิดเศรษฐกิจ การออกมาตรการกระตุ้น และการเร่งฉีดวัคซีนภายในประเทศ นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทย ยังมีสัดส่วนหุ้นกลุ่ม Value และ Cyclical ค่อนข้างสูง ทำให้ดัชนีได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง

 

การลงทุนทางเลือก

 

 

ทองคำ

 

ความน่าสนใจระดับ: 2

 

ราคาทองคำยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น รวมไปถึงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ Fed กลับมาใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเร็วกว่าที่คาด และจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

 

ราคาน้ำมัน 

 

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

ตลาดน้ำมันยังมีความน่าสนใจ โดยอุปสงค์น้ำมันที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นหลังการฉีดวัคซีนมีความคืบหน้า การทยอยเปิดประเทศ และกิจกรรมการเดินทางเริ่มฟื้นตัว และสต๊อกน้ำมันดิบลดลงมากกว่าคาด ทั้งนี้ OPEC+ คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันจะเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปีนี้ 

 

นอกจากนี้มติการประชุม OPEC+ จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น ประกอบกับนักลงทุนรอติดตามการประชุมกลุ่ม OPEC ในเดือนกรกฎาคม 2021

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • SCB Oil Fund หรือ SCBOIL

กองทุน SCBOIL ลงทุนในกองทุน Invesco DB Oil Fund ซึ่งลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) โดยมุ่งหวังผลตอบแทนจากการลงทุนให้ใกล้เคียงกับการลงทุนในน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI)

 

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

 

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

ตลาด REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น โดย REITs ไทย ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว Valuation ยังไม่แพง ได้รับอานิสงส์​จากแผนการเปิดประเทศไทยภายใน 120 วัน ช่วงเดือนตุลาคม ราคาปัจจุบันยัง Laggard REITs ต่างประเทศและหุ้นไทยอยู่มาก อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อและความล่าช้าในการฉีดวัคซีนยังเป็นปัจจัยกดดันราคาในระยะสั้น

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • SCB Property and Infrastructure Flexible Fund หรือ SCBPINA

กองทุน SCBPINA เป็นกองทุนที่คัดเลือกลงทุนใน Property Fund REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั้งของไทยและสิงคโปร์ โดยคัดเลือกกองทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) ที่มีโอกาสเติบโต มีสภาพคล่อง และคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ 

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

 

ความน่าสนใจระดับ: 2 

 

ราคา REITs ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเริ่มปรับขึ้นสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 จึงมองว่า Upside ค่อนข้างจำกัด รวมถึงในระยะสั้น Momentum เริ่มมีสัญญาณที่อ่อนแรงลง หลังตลาดได้รับ Sentiment เชิงลบจากความกังวลที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด 

 

ฝ่ายวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ ได้ปรับคำแนะนำเป็น ‘ขายทำกำไร’ ใน REITs ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ผลประกอบการของกลุ่มจะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากความคืบหน้าฉีดวัคซีนและการทยอยเปิดเมืองก็ตาม

 

ผู้เขียน

 

ศรชัย สุเนต์ตา, CFA 

กรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office, SCBS

 

สุกิจ อุดมศิริกุล

กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย

นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์

 

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ผู้อำนวยการอาวุโส

นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์

 

สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา

ผู้อำนวยการอาวุโส

นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์

 

ณัฏฐ์วริน ไตรภพสกุล

ผู้อำนวยการอาวุโส

นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์

 

เรวัฒิ เจริญเชื้อ

ผู้ช่วยนักวิเคราะห์

ฝ่ายวิจัยการลงทุน

 

รุ่งโรจน์ เสกสรรค์วิริยะ, CFA 

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office, SCBS

 

เกษรี อายุตตะกะ CFP®

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment office, SCBS

 

ดร.ธนพล ศรีธัญพงศ์ AFPTTM

ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment office, SCBS

 

จตุรภัทร ทนาบุตร 

ผู้จัดการ Chief Investment office, SCBS

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising