×

ครบรอบ 12 ปี อัลบั้ม Confessions on a Dance Floor ของ Madonna ที่เปลี่ยนภูมิทัศน์เพลงป๊อปแดนซ์

08.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • Confessions on a Dance Floor ทำให้มาดอนน่ากลับมาผงาดบนเวทีโลกอีกครั้ง หลังจากที่โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในอัลบั้มก่อนหน้านั้น American Life
  • โครงสร้างเชิงภาพลักษณ์ของ Confessions on a Dance Floor ถือได้ว่าเป็น ‘คอนเซปต์อัลบั้ม’ อย่างสมบูรณ์แบบ มาดอนน่าคิดทุกด้านของการมาร์เก็ตติ้ง เสื้อผ้า และการทำมิวสิกวิดีโอ
  • ซิงเกิลแรก Hung Up สร้างปรากฏการณ์ฮิตติดอันดับหนึ่งทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งเธอเลือกเอาเพลง Gimme! Gimmie! Gimme! ของ ABBA มาเป็น sample

 

     ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมดนตรีต่างประเทศกำลังเข้มข้นสุดๆ ในยุคนั้นการดาวน์โหลดเพลงและบทบาทของอินเทอร์เน็ตกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่สัดส่วนของคนซื้อซีดี (รวมถึงแผ่นผี) ก็ยังเยอะพอสมควร ซึ่งในปี 2005 เองก็มีอัลบั้มในตำนานหลายชุด ทั้ง The Emancipation of Mimi ของมารายห์ แครีย์ ที่ทำให้เธอกลับมาทวงบัลลังก์เจ้าแม่ชาร์ตเพลงอันดับหนึ่ง, อัลบั้ม X&Y ของ Coldplay ที่มีเพลงอมตะ Fix You และก็ยังมีอัลบั้มลำดับที่สองของคานเย เวสต์ ชื่อ Late Registration กับเพลง Gold Digger ที่หลายคนต้องคุ้นหู

     แต่ในปี 2005 ราชินีเพลงป๊อปอย่างมาดอนน่าได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และเปลี่ยนภูมิทัศน์เพลงป๊อปแดนซ์ด้วยผลงานอัลบั้ม Confessions on a Dance Floor ที่พาเธอกลับมาสู่จุดสูงสุด หลังจากโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากอัลบั้มก่อนหน้า American Life (2003) ที่ไปโฟกัสเนื้อหาการเมืองยุคประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และกลายเป็นอัลบั้มที่มียอดขายต่ำเป็นประวัติการณ์

 

สจวร์ต ไพรซ์ และมาดอนน่า

 

     อัลบั้ม Confessions on a Dance Floor เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 10 ของมาดอนน่าที่มาพร้อมซาวด์แดนซ์กลิ่นอายดิสโก้ยุค 70s และ 80s ผสมผสานเสียงสังเคราะห์ร่วมสมัยที่ดูลงตัว เรียกว่าเอามาเปิดใหม่ทุกวันนี้ก็ถือได้ว่าล้ำหน้า หนักแน่นในเชิงเนื้อหา และทำให้เห็นว่ามาดอนน่าเป็นศิลปินที่กำหนดคำว่า ‘วิวัฒนาการ’ ทั้งในเชิงคุณภาพดนตรีและภาพลักษณ์ ซึ่งสำคัญมากๆ สำหรับนักร้องเพลงป๊อป

     อัลบั้มนี้ได้โปรดิวเซอร์มือฉมังชาวอังกฤษอย่างสจวร์ต ไพรซ์ มาดูแลภาพรวม ก่อนหน้านั้นสจวร์ตเป็นนักดนตรีในคอนเสิร์ต Drowned World Tour ของมาดอนน่า และหลังจากความสำเร็จของอัลบั้มนี้เขาก็ได้ไปร่วมงานกับอีกหลายศิลปิน เช่น ไคลี มิโนก, The Killers และ Pet Shop Boys

     สำหรับการสร้างสรรค์เพลงในอัลบั้มนี้ มาดอนน่าอยากให้สจวร์ตทำเพลงที่ตัวเขาเองจะเปิดในคลับตอนไปเป็นดีเจ และแม้จะเป็นอัลบั้มเพลงแดนซ์ แต่ก็ไม่อยากให้ตีความตื้นๆ และอยากให้ไปศึกษาซาวด์ของเพลงแนวนี้แบบลึก ตั้งแต่เพลงแดนซ์ในตำนานยันเพลงแดนซ์ที่มีความเฉพาะกลุ่ม แต่อาจมีดีเทลพิเศษที่เอามาเติมแต่งในเพลงได้ โดยผลลัพธ์ของอัลบั้มนี้มี 12 เพลง ยาว 56 นาที และมีการตัดต่อเพลงให้เล่นติดกันเหมือนเพลงในคลับโดยไม่ต้องหยุดระหว่างจบเพลง

 

 

     โครงสร้างเชิงภาพลักษณ์ของ Confessions on a Dance Floor ถือได้ว่าเป็น ‘คอนเซปต์อัลบั้ม’ อย่างสมบูรณ์แบบ มาดอนน่าได้คิดถึงทุกด้านของการมาร์เก็ตติ้ง เสื้อผ้า และการทำมิวสิกวิดีโออย่างถี่ถ้วน โดยเธอได้แรงบันดาลใจหลักจากหนังดิสโก้สุดคลาสสิกเรื่อง Saturday Night Fever (1997) ของจอห์น ทราโวลตา และอิริยาบถต่างๆ ของดิสโก้ยุคปลาย 70s และต้น 80 เช่น คลับ Studio 54 ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งทำให้เราได้เห็นมาดอนน่าใส่ชุดแนบเนื้อออกกำลังกายแบบ Leotard สีฉูดฉาด แจ็กเก็ตไหล่กว้าง และโรลเลอร์เบลด

     ต่อมาในวันที่ 17 ตุลาคม 2005 ซิงเกิลแรก Hung Up ปล่อยออกมา ซึ่งก็สร้างปรากฏการณ์ฮิตติดอันดับหนึ่งทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และทำให้ทุกคนเชื่อมั่นว่ามาดอนน่ากลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้ง ถึงแม้มาดอนน่าจะบุกตลาดเพลงป๊อปแดนซ์ที่ทุกคนเลือกลงสนามเหมือนกัน แต่เธอมาพร้อมคุณภาพที่ทำให้ยังอยู่แถวหน้าและขับเคลื่อนแนวเพลงนี้

     ส่วนเพลง Hung Up มาดอนน่าได้เลือกเอาเพลง Gimme! Gimmie! Gimme! ของศิลปินกลุ่มในตำนานอย่าง ABBA มา sample ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ศิลปินกลุ่มนี้ยอม (และมีข่าวลือบอกว่ามาดอนน่าจ่ายเงินมหาศาล) ส่วนมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ก็ได้ผู้กำกับชาวสวีเดน โยฮัน เรนก์ มาทำให้ โดยทำออกมาในสไตล์สารคดีดิบๆ ถ่ายทำที่ลอนดอนและลอสแอนเจลิส ทั้งยังมีนักเต้นจากสารคดี Rize ของเดวิด ลาชาแปลล์ มาแจมด้วย ซึ่งเดวิดเองถูกวางให้กำกับวิดีโอนี้ตอนแรก แต่กลับมีปัญหาและคิดเห็นไม่ตรงกันกับมาดอนน่า จึงตัดสินใจขอไม่กำกับ

 

 

     อัลบั้ม Confessions on a Dance Floor ทำยอดขายสูงถึง 10 ล้านแผ่น และยังมีอีก 3 ซิงเกิลที่ตัดออกมา Sorry, Get Together และ Jump ซึ่งแต่ละวิดีโอก็สานต่อคอนเซปต์คล้ายๆ กับ Hung Up ส่วนการโปรโมตผลงานนี้ ถึงแม้มาดอนน่าจะเพิ่งประสบอุบัติเหตุจากการตกม้าก่อนอัลบั้มจะวางแผง แต่เธอก็ได้ไปโปรโมตอัลบั้มนี้ทั่วโลก และยังมีการแสดงที่งานแจกรางวัลแกรมมี่ในปี 2006 พร้อมกับวง Gorillaz ที่แฟนคลับตัวยงจะยังจำได้ ซึ่งในงานแกรมมี่ปีต่อมาอัลบั้มนี้ก็ชนะสาขา Best Dance/Electronic Album อีกด้วย

     สำหรับทัวร์คอนเสิร์ตอัลบั้มนี้ใช้ชื่อว่า Confessions Tour เปิดแสดงที่ลอสแอนเจลิสเป็นที่แรก และมีทั้งหมด 60 โชว์รอบโลก พร้อมทำเงินราว 231 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทุกวันนี้มาดอนน่าก็เป็นศิลปินเดี่ยวที่ทำเงินจากการออกทัวร์คอนเสิร์ตได้มากที่สุดตลอดกาล

 

     แน่นอน หลายคนอาจรู้สึกว่าอัลบั้ม Erotica (1992), Ray of Light (1998) หรือ Like a Prayer (1989) เป็นผลงานที่สร้างชื่อให้มาดอนน่าในฐานะศิลปินเบอร์ต้นๆ ของวงการมากกว่า แต่เรากลับมองว่าผลงานนี้เป็นอัลบั้มที่ทำให้เห็นจุดยืนของเธอที่บอกว่า แม้ตอนนี้มาดอนน่าจะเป็นผู้หญิงวัย 47 แต่เธอก็ยังทำเพลงได้เทียบเท่านักร้องบนชาร์ตคนอื่นที่อ่อนกว่าเป็นรอบ สองรอบ และทำให้เห็นว่าถึงแม้เธอจะไม่ได้ร้องเพลงเก่งที่สุด เต้นเก่งที่สุด เล่นดนตรีเก่งที่สุด แต่ถ้ามุ่งมั่นและไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง เธอก็เป็นที่สุดได้เหมือนกัน

 

https://youtu.be/2lGimcqEZno

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X