วันนี้ (26 มีนาคม) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการตั้งจุดตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ โดย ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร, พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ทั้งนี้ จากการประชุมหารือระหว่างกรุงเทพมหานครและกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้กำหนดตั้งจุดตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ เพิ่มเติม 5 จุด รวมจุดตรวจคัดกรองฯ ทั้งสิ้น 12 จุด ประกอบด้วย
จุดที่ 1 บริเวณสะพานข้ามคลองประปา หน้าห้างบิ๊กซีแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่
จุดที่ 2 แยกใต้ด่วนมหานคร ถนนสุวินทวงศ์ เขตหนองจอก
จุดที่ 3 บริเวณปากซอย 39 ถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก เขตประเวศ
จุดที่ 4 หน้าปั๊มเอสโซ่ ถนนสุขุมวิท เขตบางนา
จุดที่ 5 หน้าศูนย์โตโยต้าราชพฤกษ์ ถนนราชพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน
จุดที่ 6 ใต้สะพานภูมิพล ถนนสุขสวัสดิ์ เขตราษฎร์บูรณะ
จุดที่ 7 หน้าปั๊ม ปตท. ซอย 92 ถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน
จุดที่ 8 หน้ามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ถนนเพชรเกษม เขตหนองแขม
จุดที่ 9 บริเวณหน้าคลังสินค้า ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดอนเมือง
จุดที่ 10 หน้าตึกเนชั่น ถนนบางนา-ตราด
จุดที่ 11 ทางยกระดับบูรพาวิถี ด่านบางจาก เขตพระโขนง
จุดที่ 12 ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ด่านดอนเมือง 1 เขตดอนเมือง
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ 24 ชั่วโมง โดยจุดที่ 1-7 เริ่มปฏิบัติงาน 08.00 น. วันที่ 26 มีนาคม ส่วนจุดที่ 8-12 ซึ่งเป็นจุดที่กรุงเทพมหานครและกองบัญชาการ ตำรวจนครบาล หารือเพื่อจัดตั้งเพิ่มเติม จะเริ่มปฏิบัติงาน 08.00 น. วันที่ 27 มีนาคม เป็นต้นไป
พร้อมมอบหมายผู้บริหารกรุงเทพมหานคร แบ่งการรับผิดชอบจุดตรวจคัดกรองฯ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต เป็น 3 โซน ดังนี้ กลุ่มเขตกรุงธนใต้และกรุงธนเหนือ ดูแลโดย ศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก และกรุงเทพเหนือ ดูแลโดย สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ กรุงเทพกลาง ดูแลโดย ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
สำหรับการตั้งด่านครั้งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำด่านปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคัดกรองผู้เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยจะคัดกรองผู้ที่ไม่สบาย เช่น ตัวร้อน ไอ จาม ซึ่งเป็นโรคโควิด-19 เพื่อนำเข้าสู่การดูแลรักษา อันเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ และลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ โดยในแต่ละด่านจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก สน. ในพื้นที่ จำนวน 8 คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตในพื้นที่หรือสำนักเทศกิจ จำนวน 4 คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตในพื้นที่ จำนวน 2 คน เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคง (กอ.รมน.) จำนวน 1 คน เจ้าหน้าที่ อปพร. เขต จำนวน 2 คน และเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิต่างๆ เพื่อนำส่งผู้ป่วย โดยศูนย์เอราวัณ จะเป็นหน่วยงานผู้บริหารจัดการการนำส่งต่อไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์