×

12 จังหวัดเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค รัฐสั่งทุกหน่วยเดินหน้าบรรเทาแล้ง

โดย THE STANDARD TEAM
02.05.2019
  • LOADING...

วานนี้ (1 พ.ค.) พล.อ. ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2562 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ว่า

 

ขณะนี้หลายพื้นที่ยังมีภาวะเสี่ยงประสบภัยแล้งอยู่ จึงได้สั่งการ กำชับ และเน้นย้ำทุกหน่วยงานซักซ้อมแผนปฏิบัติการของหน่วยงานรับผิดชอบเป็นรายพื้นที่ ทั้งพื้นที่ที่ประกาศภัยแล้งแล้ว 5 จังหวัด รวมถึงพื้นที่เสี่ยงแล้งและขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะ เพื่อการอุปโภคเป็นเป้าหมายแรก จากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ซึ่ง สทนช. ได้วิเคราะห์จากข้อมูลน้ำฝนของกรมอุตุฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2562 ร่วมกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำผิวดินต่างๆ คาดว่า จะมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำสำรองสำหรับการผลิตน้ำประปาจำนวน 12 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อยุธยา ชัยนาท อ่างทอง และภาคตะวันตก 1 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ซึ่งขณะนี้ สทนช. ได้จัดทำข้อมูลและแผนที่แสดงแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ให้หน่วยงานใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อใช้ในการวางแผนแก้ไขพื้นที่ขาดแคลนน้ำด้วย

  

ขณะเดียวกัน ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนงานการแก้ไขปัญหาประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทั้งระยะสั้น โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินการจัดหาน้ำแจกจ่ายในพื้นที่ประสบภัย โดยใช้รถบรรทุกน้ำ แจกจ่ายน้ำดื่ม จัดซื้อภาชนะบรรจุสำรองน้ำ ซ่อมแซมขุดบ่อบาดาล ซ่อมแซมถังเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ก่อสร้างและซ่อมแซมระบบกระจายน้ำ และระยะกลาง เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการเพิ่มความจุ แหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำอื่นๆ รวมโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการมีจำนวนทั้งสิ้น 144 โครงการ งบประมาณ 1,200 ล้านบาท สามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักได้ 28.12 ล้านลูกบาศก์เมตร

  

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤต และให้จังหวัดเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประกาศภัยแล้ง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นศูนย์กลางการอำนวยการ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะต้องจัดหมวดหมู่การช่วยเหลือ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยและการประปาส่วนภูมิภาคพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรองในการผลิตน้ำประปา เพื่อการอุปโภค-บริโภค รวมถึงให้หน่วยงานพิจารณาโครงการที่จะสามารถช่วยเหลือบรรเทาปัญหาด้านภัยแล้ง ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป

 

โดยให้ สทนช. นำสภาพปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/62 มาวางแผนปรับปรุงร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งการวางแผนการเพาะปลูกที่ไม่มีการระบุพื้นที่ด้านการเกษตร ขอบเขตที่ชัดเจน โดยให้ประกาศพื้นที่การเพาะปลูกให้ชัดเจนในระดับตำบล ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน ทั้งในเขตชลประทาน กรมชลประทาน และกรมการส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ และนอกเขตชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมการส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ การวางแผนการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ไม่ได้ระบุแหล่งน้ำที่ใช้ การบริหารจัดการน้ำมีการใช้น้ำมากกว่าแผนที่กำหนด ต้องมีการระบุแหล่งน้ำที่อยู่นอกเขตชลประทานให้ชัดเจน โดยมีผู้รับผิดชอบดำเนินการนอกเขตชลประทาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทยและกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งนำพื้นที่ภัยแล้งที่อยู่ในพื้นที่เกาะมาพิจารณาวางแผนบริหารจัดการ เพื่อลดปัญหาภัยแล้งในปีถัดไปด้วย

 

นอกจากหารือเพื่อติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือและการแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันยับยั้งการประกาศพื้นที่ภัยแล้งไม่ให้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2562 ตามปฏิทินการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2562 โดยกำหนดมาตรการเป็นรายพื้นที่และสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดในแหล่งเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย โดยนำเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ที่ปรับปรุงใหม่สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบตั้งแต่กลางเดือนนี้เป็นต้นไป เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนตามที่ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลแหล่งน้ำไว้แล้ว ทั้งแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง เล็ก โดยนำปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาการเก็บกักน้ำร่วมด้วย เช่น สภาพอากาศ การคาดการณ์แนวโน้มของพายุ สถานการณ์ฝนและน้ำท่า ทั้งแม่น้ำในประเทศและระหว่างประเทศ

 

โดยกำหนดสถานีหลัก (Key Station) ที่เป็นพื้นที่ที่มีนัยสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนจากข้อมูลย้อนหลังที่ผ่านมา และกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำเชิงป้องกัน รวมถึงสถานการณ์น้ำระหว่างประเทศ คือ แม่น้ำโขงที่ได้มีการประสานงานภายใต้กรอบทวิภาคีและพหุภาคีในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำกับจีนและลาวในช่วงฤดูฝน โดยจีนจะรายงานข้อมูลน้ำ 2 ครั้ง/วัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ผ่านทางระบบสารสนเทศของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC-IS) ขณะที่ลาวได้เริ่มการใช้งานเขื่อนไซยะบุรี (กั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง) จะรายงานข้อมูลการบริหารจัดการน้ำให้ฝ่ายไทยทราบผ่านทางระบบสารสนเทศของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC-IS) นอกจากนี้ลาวได้ติดตั้งสถานีวัดน้ำเพิ่มเติมบริเวณรอยต่อประเทศจีนและลาว ซึ่งจะทำให้ไทยมีข้อมูลเพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการน้ำด้วย

 

“รองนายกฯ มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือและสิ่งก่อสร้าง กำจัดวัชพืชเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงสิ้นเดือนเมษายน และแผนบริหารจัดการน้ำ การเตรียมการด้านบริหารจัดการน้ำหลากรายจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำหลากรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในช่วงก่อนฤดูฝนสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยเบื้องต้น สทนช. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ขอให้จัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมรายจังหวัด ประกอบด้วย ความพร้อมของอาคารรับน้ำที่ตรวจสอบแล้ว วัชพืชกีดขวางทางน้ำ จุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยหรือน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมรายชื่อผู้รับผิดชอบที่สามารถติดต่อได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ด้วย” นายสมเกียรติกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising