×

12 ข้อคิดน่าสนใจจาก วิษณุ เครืองาม ว่าด้วยสยามวิถี ผ่านกระแสบุพเพสันนิวาส

27.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS READ
  • ดร.วิษณุ เครืองาม สวมหมวก ‘ความเชี่ยวชาญ’ หลายใบ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมาย การเมือง หรือประวัติศาสตร์ แน่นอนว่ากระแสบุพเพสันนิวาสที่ปลุกประวัติศาสตร​์ให้ฟื้นคืนชีพ และการแสวงหาความรู้เรื่องราวในอดีตเพื่อมองปัจจุบัน ได้เป็นสายธารที่ไหลแรงในห้วงเวลานี้ และท่านไม่ต้องการให้มันเป็นเพียง ‘ไฟไหม้ฟาง’ เท่านั้น
  • สยามวิถีหนึ่งที่มองผ่านบุพเพสันนิวาสคือ การรัฐประหาร ยึดอำนาจ และ ความอิจฉาริษยาแย่งชิงในวงราชการ ดั่งที่ขุนนางไทยเกลียดฟอลคอน และนี่จึงเป็นมูลเหตุที่เราควรศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเรียนรู้ปัจจุบันอย่างเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

ปรากฏการณ์ ‘ออเจ้า’ กลายเป็นกระแสกันทั่วบ้านทั่วเมือง เมื่อละครแนวย้อนยุคที่ชื่อ ‘บุพเพสันนิวาส’ ได้นำเสนอฉากชีวิตและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของไทยในยุคอยุธยา ช่วงรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีตัวละครสำคัญอย่าง พี่หมื่นและแม่การะเกดเป็นตัวดำเนินเรื่อง ถูกถ่ายทอดผ่านการแสดงจากสองดาราดัง คือโป๊ปและเบลล่า ที่สามารถสวมบทบาทชนิดที่เรียกว่าตีบทแตก สร้างความนิยมจากประชาชนมหาศาล สามารถนำพาทุกคนไปค้นหาเรื่องราวระหว่างอดีตและปัจจุบันได้อย่างลงตัว

 

กระแสความนิยมในละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ไม่ได้หยุดอยู่ที่เรตติ้งละคร แต่ได้ขยายวงไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วงการหนังสือที่ผู้คนโหยหาที่จะอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ ตัวอย่างงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติล่าสุด ที่หนังสือแนวนี้สามารถโกยเม็ดเงินได้มหาศาล หรือสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออเจ้าทั้งหลายต่างมุ่งหน้าใส่ชุดไทยย้อนยุค ชักภาพกันเนืองแน่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้การท่องเที่ยวคึกคักจนฉุดไม่อยู่

 

กระแสการอยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง แต่จะอยู่ยาวนานเพียงใด เวลานี้หลายคงรู้สึกกันได้บ้าง แต่ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารข่าวสด เมื่อวันที่ 22 เมษายน สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ สโมสรศิลปวัฒนธรรมและข่าวสด จัดงาน ‘บุพเพฯ เสวนา ปรากฏการณ์ออเจ้ากับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์’ เพื่อมอบสาระและความบันเทิงให้แก่แฟนละครบุพเพสันนิวาส

 

โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชั้นนำระดับประเทศมาเป็นวิทยากร หนึ่งในนั้นคือ ‘ดร.วิษณุ เครืองาม’ รองนายกรัฐมตรี ที่มาเป็นองค์ปาฐกถาเปิดงานในหัวข้อ ‘สยามวิถีและความศิวิไลซ์ในสมัยพระนารายณ์’ และต่อไปนี้คือเรื่องราวแห่งสยามวิถี ผ่านคนในยุคโลกาภิวัตน์ที่ชื่อ ‘วิษณุ เครืองาม’

 

 

1.  ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์แต่คนไทยก็มีหน้าที่หาความรู้ในทางประวัติศาสตร์

ดร.วิษณุ บอกว่า แม้ตนเองจะไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่เป็นคนสนใจประวัติศาสตร์ ได้ศึกษาและรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ซึ่งการหาความรู้ในทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นหน้าที่ของคนไทยทั้งหลาย ดั่งพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่เคยรับสั่งเมื่อคราวเสด็จออกมหาสมาคมที่ศาลาดุสิดาลัยคราวหนึ่งว่า ประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องที่คนไทยควรจะเรียนรู้และทำความเข้าใจ อีกคราวหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่าประเทศนั้นก็เหมือนคน คือมีชีวิต เมื่อชีวิตหนึ่งหมดไป ก็จะมีชีวิตอื่นมาแทนที่ ประเทศก็จะมีการแทนที่สืบทอดไปหลายชั่วอายุคนเหมือนกับคนที่มีลูกมีหลานสืบทอดไปอีกหลายชั่วอายุคน

ถ้าหากว่าเราจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเรา ตระกูลของเรา แซ่ของเรา พ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตาทวดย้อนขึ้นไปเป็นใครมาจากไหนแล้วไซร้ เราก็จำต้องหาความรู้เกี่ยวกับประเทศของเราเอาไว้ คือย้อนไปถึงในอดีตให้ได้เท่าที่จะสืบค้นได้

 

 

2.  เรื่องทางประวัติศาสตร์มีวิธีคิด วิธีตีความแตกต่างกันออกไป

กล่าวเฉพาะสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หากเรายอมรับว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 28 ของกรุงศรีอยุธยา อยุธยาก็จะมีกษัตริย์ 34 พระองค์ แต่ถ้าหากว่าถือตามนักประวัติศาสตร์อีกหลายท่านที่ถือว่ากรุงศรีอยุธยามีพระมหากษัตริย์เพียง 33 พระองค์ พระนารายณ์ก็จะเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 27

 

จุดนี้ ดร.วิษณุ ชี้ให้เห็นว่า ในทางประวัติศาสตร์ ขนาดอยุธยามีกษัตริย์กี่พระองค์ก็ยังเป็นเรื่องเถียงกันเลย เพราะมีวิธีคิดวิธีตีความที่แตกต่างกันออกไป ส่วนตัวถือว่าอยุธยามีพระมหากษัตริย์ 34 พระองค์ เพราะนับขุนวรวงศาธิราชเข้าไปด้วย

 

 

3.  พระนารายณ์มหาราชของไทยที่เป็นที่รับรู้ในสังคมโลก

ดร.วิษณุ เล่าว่า เมื่อ10 ปีที่แล้วตนเองได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวฝรั่งเศสกับอาจารย์บวรศักดิ์ ทำให้ได้แรงบันดาลใจกลับมาเขียนหนังสือเรื่อง ข้ามสมุทร

 

เมื่อไกด์ฝรั่งเศสพูดถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทีไร ก็จะพูดถึงสมเด็จพระนารายณ์ของสยาม เล่าถึงคณะราชทูตสยามที่มายื่นพระราชสาส์นถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฝรั่ง แขกจีนที่ได้ฟังก็ตื่นเต้นกันใหญ่ แสดงว่าเรื่องราวของพระนารายณ์อยู่ในความรับรู้ของคนฝรั่งเศสและคนยุโรปอื่นๆ  

เพราะฉะนั้นเรื่องราวของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นมีตัวมีตนอยู่จริง มีความเป็นจริงที่สัมผัสได้เข้าใจได้ ท่านเป็นกษัตริย์อยู่ถึง 32 ปีถือว่านาน สำหรับอยุธยาที่เป็นราชธานีถึง 417 ปี เพราะฉะนั้นรัชสมัยนานถึง 32 ปีก็ถือว่ายาวนานมากที่สามารถจะทำอะไรได้เยอะ

สมเด็จพระนารายณ์ 32 ปี ก็บันดาลได้มากเช่นกัน เราย่องย่องให้ท่านเป็นมหาราช แต่หากไปดู มหาราชนั้นส่วนใหญ่ก็คือเป็นนักรบ ประกอบมหาวีรกรรม วีรกรรมนั้นถ้าไม่ได้มาจากการรักษาเอกราช ก็เป็นการป้องกันไม่ให้เสียเอกราช หรือมิฉะนั้นก็ได้มาจากการทำสงคราม

สมเด็จพระนารายณ์เป็นมหาราชที่ต่างไปจากมหาราชอื่น ท่านเป็นมหาราชเพราะเอาหลายอย่างมาประกอบกัน และวิธีรักษาเอกราชของท่านนั้นก็ไม่ใช่ว่าไปทำสงครามไปสู้กับเขา มหาวีรกรรมของท่านในการรักษาเอกราชไว้ คือใช้ชั้นเชิงทางการทูต ใช้วิธีเจรจาหลายอย่างซึ่งไม่ต่างจากครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงใช้

 

ระหว่าง 32 ปีนั้นท่านก็ผจญกับความพยายามจะปฏิวัติอยู่หลายครั้งจากคนอื่น ลักษณะเด่นของรัชสมัยจึงมีอยู่ 4 ประการ

ประการแรก เป็นรัชสมัยที่เริ่ม และ จบ แม้กระทั่งระหว่างกลางก็เต็มไปด้วยการปฏิวัติรัฐประหารสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง

สอง รัชสมัยนั้นมีการทำสงครามอย่างน้อยก็สงครามเชียงใหม่

สาม เป็นยุคสมัยที่วรรณคดีสโมสรเคยเสนอว่าเป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรม และ วรรณคดีมีความรุ่งโรจน์มาก

สี่ เป็นรัชสมัยที่ชาวต่างประเทศไปมาค้าขายคบค้าสมาคมกันมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และอาจไม่ปรากฏอีกหลังรัชสมัยนั้นเป็นร้อยปี ก่อนจะกลับมาปรากฏใหม่

 

ทำไมคนเหล่านั้นถึงกล้ามา แล้วทำไมเราถึงปล่อยให้เขาเดินเหินอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง คนไทยอาจมองว่าเพราะอย่างใดก็คือสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่าเสรีภาพ เสรีภาพในการค้าขาย เสรีภาพในการเดินทาง ในการเผยแพร่ศาสนา พอจับคำว่า เสรีภาพในการเผยแพร่ศาสนาขึ้นมา ไม่ยากเลยที่ฝรั่งจะยกนิ้วให้แล้วบอกยอมรับถ้าจะให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้เป็นพระเจ้ามหาราช เพราะฝรั่งเขาเห่อเสรีภาพอยู่แล้วโดยเฉพาะเสรีภาพในการนับถือศาสนา

 

 

4.  เรือสุริยาแห่งบุรพทิศ ข้ามสมุทร ยุคสมัยการติดต่อกับต่างประเทศ

ลักษณะเด่นของยุคสมเด็จพระนารายณ์ คือเป็นยุคที่เราถึงขนาดติดต่อกับต่างประเทศ เชิญพระราชสาส์นไปมาถึงกัน เดินทางไกลแลกเปลี่ยนทูต สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาถึง 27 พระองค์ไม่นึกและไม่กล้าจะทำ แต่สมเด็จพระนารายณ์กล้าทำ

คณะราชทูตของออกพระพิพัฒน์ราชไมตรี เดินทางไปฝรั่งเศสในปี 2224 ตอนนั้นเราไปกับเรือฝรั่งเศสชื่อ โซเลย์ดอเรียง (Le Soleil d’ Orient) แปลว่า พระอาทิตย์แห่งตะวันออก ซึ่ง ดร.วิษณุ เอ่ยว่าตนเองตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้เป็นนวนิยายอีกหนึ่งเรื่อง ตั้งชื่อและเขียนไปได้ครึ่งเล่ม ชื่อ ‘สุริยาแห่งบุรพทิศ’ คือ ชื่อเรือโซเลย์ดอเรียงที่นำเอาพระพัฒน์ราชไมตรีไปแล้วหายไปไม่ได้ข่าวจนสมเด็จพระนารายณ์ปรารภว่า สงสัยว่ามันจะไปมีเมียอยู่ฝรั่งเศสแล้วไม่กลับ จึงได้ตัดสินใจส่งคณะที่สองไปสืบข่าวว่าหายไปไหน

 

 

5.  การเดินทางของพ่อปาน ราชทูตคณะแรกของสยามที่ถวายพระราชสาส์นสำเร็จ

ดร.วิษณุ เล่าว่า คณะราชทูตไทยจะมีอยู่สามคน คือ ราชทูต อุปทูต ตรีทูต คนที่ได้เป็นราชทูต หรือถูกเลือกให้เป็นราชทูต คือ พ่อปาน หรือออกพระวิสูตรสุนทร เราก็ได้พ่อปาน พ่อปานเป็นน้องพ่อเหล็ก เหล็กเป็นเสนาบดีพระคลัง เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ผู้พี่ คนที่ถูกโบยจนตายในเรื่องบุพเพสันนิวาส มีตัวตนอยู่จริง

 

“เรื่องของโกษาเหล็กนั้นเป็นเรื่องใหญ่ จริงๆ เป็นละครได้อีกเรื่อง ท่านจำได้ไหม ในเพลงต้นตระกูลไทย หลายคนบอกคืออะไรต้นตระกูลไทยไม่เคยได้ยิน ก็เอาไว้รอเวลาเขายึดอำนาจ เขาจะเปิดเพลงนี้ท่านจะได้ยินเอง”

 

เพลงต้นตระกูลไทยในเพลงเขาจะระบุวีรบุรุษของไทยไว้หมด แล้วก็มีอยู่ตอนหนึ่งว่า เจ้าพระยาโกษาเหล็ก ท่านเป็นแม่ทัพชั้นเอก ของสมเด็จพระนารายณ์ แสดงว่าพ่อเหล็กก็มีตัวมีตนจริง

 

น่าสนใจว่าทำไมสมเด็จพระนารายณ์จึงเลือกพ่อปาน ในพงศาวดารบอก เพราะพ่อปานพูดภาษาฝรั่งเศสได้ สนใจใฝ่รู้ ถ้ามองในแง่ร้ายก็เป็นแผน เจ้าพระยาวิชเยนทร์ จะกำจัดพ่อปาน เพราะกะว่าไป เรือล่มแน่ หรือมิฉะนั้นก็คงสูญหาย

 

ตอนนั้นเป็นพระวิสูตรสุนทรเป็นราชทูต แล้วก็เลือกอุปทูตคือทูตคนที่สอง คือหลวงกัลยาณราชไมตรี คนที่สามเป็นตรีทูตหน้าที่มันจะต่างกันไปหมด ก็คือขุนศรีวิสารวาจา

 

 

6.  ที่มาของพระเอกใน ‘ข้ามสมุทร’ ขี้ข้าทูตผู้ไม่มีใครมานับญาติด้วย

ดร.วิษณุ เล่าอีกว่า ในพงศาวดารบอกว่านอกจากราชทูตทั้ง 3 คน ก็มีการเสาะแสวงหาคนร่วมคณะไปอีกมาก ตนเองจึงหยิบประโยคเดียวในพงศาวดารว่า เสาะแสวงหาคนร่วมไปอีกมาก ไปแต่งเป็นพระเอกในเรื่องข้ามสมุทร ซึ่งก็ได้ไปกับเขาด้วย แต่ตนเองสู้คุณรอมแพงไม่ได้ ที่กล้ายกคนที่เป็นราชทูต อุปทูต ตรีทูต ส่วนตนเองเอา ‘ขี้ข้าทูต’ มาเป็นพระเอก

 

นึกอยู่เหมือนกันว่าทำไมเราไม่เอาตัวอุปทูต ตรีทูต มาเป็นตัวเอกในหนังสือของ ตนเอง ก็นึกเอาว่า 3 คนนี้ต้องมีหัวนอนปลายตีนทั้งนั้น เขาต้องมีลูกมีหลานสืบมาจนถึงบัดนี้แน่ๆ

 

ขนาดตัวราชทูตโกษาปาน ใครไปเอาท่านมาแต่งสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เพราะท่านคือพระบรมราชบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรี โกษาปานมีลูกยี่สิบกว่าคน คนหนึ่งได้เป็นออกญาวงศาธิราช ออกญาวงศาธิราชนี้มีลูกในสมัยพระเจ้าเสือ ทำราชการเป็นพระยาราชนิกูล

 

เมื่อลำดับต้นสายปลายเหตุไปหมด พระยาราชนิกูลได้มีลูกคือ ทองดี ทองดีนี่วันนี้เรียกคุณทองดีไม่ได้ ต้องเรียกสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เพราะท่านเป็นพ่อของรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 4 ท่านถึงมีจดหมายไปถึงเซอร์จอห์น เบาว์ริง ว่าต้นตระกูลของเราสืบเชื้อสายมาจากโกษาปาน ในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษก็บอกราชวงศ์จักรี มีเชื้อสายมาจากโกษาปาน เพราะฉะนั้นโกษาปานมีลูกมีหลานที่เอามาแต่งเป็นนิยายส่งเดชไม่ได้

 

 

7.  สามก๊กรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์

เมื่อการเดินทางไปในฐานะราชทูตของสมเด็จพระนารายณ์ประสบความสำเร็จ ดร.วิษณุ อธิบายเหตุการณ์นี้ว่า สุดท้ายโกษาปานก็กลับมาได้ความดีความชอบ ตอนกลับมาฝรั่งเศสส่งทหารมาด้วยตั้ง 600 คน มีบาทหลวงมาด้วยเป็นอันมาก มีทั้งปืนใหญ่ ปืนไฟ เรือมากันหลายลำ ทหารตั้งเยอะ มีนายพลของฝรั่งเศสมาด้วย นายพลเดส์ฟาร์จ และนี่คือต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์หวาดหวั่น เพราะฉะนั้นการเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้นจึงมีสามก๊กใหญ่ยันกันอยู่ แล้วมีก๊กเล็กแซม นอกจากสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ก็คือก๊กเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ก๊กที่สองคือก๊กพระเพทราชา ก๊กที่สามก็คือก๊กเจ้าฟ้าอภัยทศ ซึ่งเป็นน้องพระนารายณ์แต่สมเด็จคนละแม่

 

 

8.  พระเพทราชา อีกหนึ่งสามัญชนผู้มากบารมี

ความได้เปรียบของพระเพทราชานั้น ที่จริงว่าไปแล้วเสียเปรียบเพราะท่านเป็นคนธรรมดาสามัญชนคนเลี้ยงช้าง เป็นเจ้ากรมพระคชบาล กรมช้างเทียบกับสมัยนี้ก็คือ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) แต่ท่านมีบารมีมาก สมเด็จพระนารายณ์ ก็รักใคร่เหมือนพี่เหมือนน้อง

 

ในพระราชพงศาวดารบอกสมเด็จพระนารายณ์เสด็จพิษณุโลก ม้าทรง ม้าพระที่นั่งของสมเด็จพระนารายณ์คึกมาก สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงลงจากม้าแล้วก็บอกให้พระเพทราชาขึ้นไปขี่ม้าบังคับม้า พระเพทราชาก็ขึ้นไปขี่ม้าบังคับม้า เอาผ้าปูสักหน่อยไม่กล้าก้าวล่วงพระราชอาสน์แล้วก็ควบม้า พอควบผ่านไปทางไหนทหารตกใจนึกว่าสมเด็จพระนารายณ์เสด็จ ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์สนิทสนมมากกับพระเพทราชา รักใคร่สนิทสนมไว้ใจ

 

 

9.  ยึดอำนาจ รัฐประหาร คือสยามวิถี

การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนารายณ์นั้น ก่อนท่านขึ้นมาเป็นกษัตริย์มีการยึดอำนาจ 2 ครั้ง หลังจากนั้นมาก็เข้าสู่รัชสมัยของพระองค์ท่าน การเข้าสู่อำนาจโดยยึดอำนาจ ว่าไปนั้นก็คือสยามวิถีชนิดหนึ่ง

 

เวลาที่จะยึดอำนาจนั้นเขาจะมีข้ออ้างเสมอที่ดีๆ ข้ออ้างนั้นก็คือว่าด้วยปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่า… สมัยก่อนเขาจะเติมประโยคต่อไปนี้เสมอว่า “ด้วยปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อนนั้นไม่ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมจรรยาสัมมาปฏิบัติ”

 

ชาวต่างชาติและเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กับความศิวิไลซ์สมัยพระนารายณ์ 

 

 

10.  ดีได้แต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ขุนนางไทยอิจฉาฟอลคอน

ดร.วิษณุ เล่าต่อว่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ตำแหน่งท่านยิ่งใหญ่ แต่ท่านไต่เต้ามาจากไม่มีอะไรเลย จะเรียกว่าไม่มีหัวนอนปลายเท่าก็ได้ กะลาสีเรือทำงานในเรือ ประเดี๋ยวเดียวเป็นพ่อค้า ทำงานการค้า การเดินเรือ แล้วมารับราชการเป็นหลวงสุรสาคร ขยับขึ้นอีกทีเป็นออกพระฤทธิ์กำแหง อีกทีเป็นพระยาวิชาเยนทร์ ออกญาวิชาเยนทร์ แล้วฉลาด ทำอะไรถูกใจสมเด็จพระนารายณ์หมด ถูกใจจนกระทั่งขุนนางไทยอิจฉา

 

จนพงศาวดารเขียนว่า พระนารายณ์ประชุมแล้วบอกว่าอย่าไปอิจฉาเลย เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เขามีสติปัญญาหลักแหลมเกินกว่าพวกเอ็งมากนัก อันนี้สาดน้ำมันในกองเพลิงเลยนะ ที่นั่งฟังอยู่ด้วย มีพระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ด้วย คำนี้ประโยคนี้เขียนอยู่ในพงศาวดารทุกเล่มเลยว่า ออกญาวิชาเยนทร์เขามีสติปัญญาหลักแหลมกว่าพวกเจ้ามากนัก ให้ทำอะไรก็ทำได้ เพราะว่าฝรั่งคุ้นกับศิลปวิทยาการ แต่ไทยไม่คุ้น

 

นอกจากนั้นยังเป็นคู่คิดให้พระนารายณ์อีกหลายเรื่อง ว่าควรจะคบกับใครไม่คบกับใคร สมเด็จพระนารายณ์เชื่อหมด รักมาก รักจนกระทั่งมีคนไปเขียนอะไรต่ออะไรกันใหญ่ว่า สงสัยผู้ชายสองคนสนิทกันรักกันขนาดนี้มันมีอะไรหรือเปล่า มาประกอบกับสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีพระราชโอรสด้วยก็เลยเขียนอะไรไปกันเยอะ

 

 

11.  ประวัติศาสตร์ไทย มีอะไรให้มองอีกมาก

ในช่วงท้ายของการปาฐกถา ดร.วิษณุ กล่าวสรุปว่า เรื่องราวของอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้นสนุกสนานมาก เรื่องราวในสมัยอยุธยา 417 ปีมีอะไรให้เขียนได้เยอะ ให้เรียนได้เยอะ แต่ถ้าคนไทยอ่านประวัติศาสตร์อยุธยา 417 ปี มองลงไปทีหนึ่งก็เห็นสงครามยุทธหัตถี เสียกรุงครั้งที่ 1 มองอีกที เสียกรุงครั้งที่ 2 อย่างอื่นไม่ค่อยจะเห็น ประวัติศาสตร์ไทยไม่ค่อยจะสอน ครูอาจารย์ไม่ค่อยจะได้เน้น คนไทยเรายุคนี้เกือบจะไม่รู้จักเลยว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นใคร

 

สำหรับตนเองนั้น มองว่าท่านยิ่งใหญ่เหลือเกินจนไม่แปลกว่าจะให้ท่านเป็นมหาราช เวลานั้นยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยิ่งใหญ่เพียงใด สมเด็จพระนารายณ์ก็ยิ่งใหญ่ตามเท่านั้น สิ้นรัชกาลพระนารายณ์ ทุกอย่างจบลงแล้วชะงักงันไปอีกนาน

 

 

12.  ขออย่าให้ความสนใจประวัติศาสตร์ เป็นเหมือนไฟไหม้ฟาง

“ต้องขอบคุณทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาสที่ทำให้ประวัติศาสต์ไทยมันโชติช่วงขึ้นมา กลัวอย่างเดียวเหมือนที่ท่านนายกฯ กลัวว่ามันจะเป็นไฟไหม้ฟางแล้วเงียบหาย เราไม่อยากให้จบ อยากให้ต่อ ผมดีใจ คุยกับท่านอาจารย์สุเนตร ท่านจะมีการวิจัยไม่อยากให้ปรากฏการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุม้วนเดียวจบ อยากให้มันยืดยาว ทำให้ความรู้สึกนึกคิดยังมีต่อไป คนไทยวันนี้มีความนึกคิดอย่างเดียวคือความอยากรู้อยากเห็นในประวัติศาสตร์ กระหายประวัติศาสตร์ มีต่อไปเถอะครับความรู้สึกนี้เพราะว่าเมื่อมีความอยากรู้มันก็จะเกิดความเข้าใจ และเมื่อมีความเข้าใจมันก็อยากจะเข้าถึง และเมื่อเข้าถึงก็อยากจะพัฒนา ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ เรารู้กันมานาน ศาสตร์พระราชาเรื่องนี้เอามาใช้กับเรื่องประวัติศาสตร์ไทยกัน ก็ขอยุติแต่เพียงเท่านี้” ดร.วิณุ กล่าวทิ้งทาย

 

Photo: จากสำนักพิมพ์มติชน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising