×

11 สภาวิชาชีพ ค้านร่างกฎหมายอุดมศึกษา ปลดล็อกมหา’ลัยเปิดหลักสูตรได้เอง ห่วงไร้มาตรฐาน-สอบไม่ผ่านใบวิชาชีพ

29.08.2018
  • LOADING...

วันนี้ (29 ส.ค. 61) ที่ห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์ สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย แพทยสภา, สภาการพยาบาล, สภาทนายความฯ, สภาเภสัชกรรม, ทันตแพทยสภา, สัตวแพทยสภา, สภาเทคนิคการแพทย์, สภากายภาพบำบัด, สภาวิศวกร, สภาสถาปนิก และสภาวิชาชีพบัญชี แถลงข่าวคัดค้านบางมาตราในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ…. ซึ่งเพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะส่งกลับให้ ครม. พิจารณาเพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

 

โดยสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย เห็นด้วยในหลักการของร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา แต่มีความห่วงใยและไม่เห็นด้วยในบางมาตรา ได้แก่ มาตรา 48 และมาตรา 64-66 โดยเฉพาะในมาตรา 64 สาระสำคัญคือ

 

ตัดอำนาจของสภาวิชาชีพในการรับรองและควบคุมหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา ในสาขาอาชีพนั้นๆ รวมถึงห้ามจัดการศึกษาซ้ำซ้อนกับการศึกษาที่สถาบันอุดมศึกษาจัดอยู่

 

อย่างไรก็ตาม สภาวิชาชีพยังมีอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งเมื่อผู้ที่จบการศึกษาในสาขาวิชาชีพนั้นๆ มาแล้วยังต้องมาสอบเพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

 

 

นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความฯ อธิบายว่าตามร่างกฎหมายใหม่อำนาจในการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพยังมีเหมือนเดิม แต่ข้อแตกต่างระหว่างกฎหมายเดิมกับร่างกฎหมายใหม่คือ เดิมมหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อจะเปิดหลักสูตรในสาขาวิชาชีพนั้นๆ สภาวิชาชีพจะเข้าไปดูแลและรับรองหลักสูตร หากไม่ผ่านมาตรฐานตามที่สภาวิชาชีพกำหนดก็จะเปิดหลักสูตรนั้นไม่ได้

 

“ร่างกฎหมายใหม่ จะบอกว่าเราไม่ต้องไปดูแลและรับรองหลักสูตรแล้ว แต่ให้เด็กเรียนจบมาเลยแล้วมาสอบทีเดียว ปัญหาที่เรากลัวก็คือเมื่อเราไม่ได้ดูแลควบคุมการเปิดหลักสูตร มหาวิทยาลัยอาจจะผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาชีพนั้นๆ ออกมามาก เมื่อมาสอบก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ว่าบัณฑิตอาจจะสอบไม่ได้ทั้งหมด เมื่อสอบไม่ได้จะทำอย่างไรเพราะเสียเวลาในการเรียนมาอย่างน้อย 4 ปี บางวิชาชีพเรียน 5-6 ปี ซึ่งจะเกิดการสูญเสียโอกาสและทรัพยากรมาก เพราะแต่ละวิชาชีพมีต้นทุนการเรียนที่สูง”

 

ยกตัวอย่างสาขาทางการแพทย์ที่การฝึกปฏิบัติของนักศึกษากับผู้ป่วยเป็นส่วนสำคัญในการศึกษา การรอให้เรียนจบแพทย์แล้วมาสอบวิชาชีพทีเดียวเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนมากในการควบคุมมาตรฐาน อีกทั้งการไม่มีสภาวิชาชีพแพทย์ไปควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอนตั้งแต่ต้น อาจทำให้เมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาแล้วไม่สามารถสอบผ่านเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพได้ อาจทำให้เกิดหมอเถื่อน คือเรียนจบหมอแต่สอบใบอนุญาตไม่ผ่าน ก็ต้องไปประกอบอาชีพแบบผิดกฎหมายอยู่ตามสถานพยาบาล

 

 

แหล่งข่าวในสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า เหตุผลสำคัญของเบื้องหลังการออกกฎหมายฉบับนี้เป็นผลมาจากปัญหาสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งขาดทุน เพราะจำนวนเด็กที่เข้าไปเรียนมีน้อยกว่าสาขาวิชาที่เปิดสอน

 

สาขาวิชาชีพถือเป็นสาขายอดนิยมที่หากเปิดหลักสูตรเมื่อไรก็มีนักศึกษาสมัครเรียนเต็มตลอด แต่ที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาไม่สามารถเปิดหลักสูตรเหล่านี้เองได้ เพราะต้องผ่านมาตรฐานการรับรองจากสภาวิชาชีพสาขานั้นๆ

 

การปลดล็อกให้มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรได้เอง จะทำให้สถาบันการศึกษาที่ไม่มีมาตรฐานใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ ขณะที่ผลเสียจะเกิดขึ้นกับเยาวชนและประเทศในอนาคต เกิดปัญหาขาดความเชื่อมั่นในตัวบุคลากรทางวิชาชีพต่างๆ โดยเฉพาะวงการแพทย์ของไทย ซึ่งได้รับความเชื่อถือในมาตรฐานระดับสากลมาโดยตลอด

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X