ผลสำรวจความเชื่อมั่นเอเดลแมน (Edelman Trust Barometer) เผยว่าคนส่วนใหญ่ใน 11 ประเทศสนับสนุนให้รัฐบาล ‘เน้นรักษาชีวิตคน’ มากกว่าเปิดให้ ‘ระบบเศรษฐกิจเดินหน้า’ หลังกระทบหนักจากมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่
ระหว่างวันที่ 15-23 เมษายนที่ผ่านมา บริษัทด้านการสื่อสารระดับโลกอย่างเอเดลแมน (Edelman) ได้สอบถามความคิดเห็นประเด็นความเชื่อมั่นต่อองค์กรต่างๆ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากประชาชนรวมมากกว่า 13,200 คนในหลายประเทศทั่วโลก
ผู้เข้าร่วมแบบสำรวจ 67% สนับสนุนว่า “รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการช่วยชีวิตคนให้ได้มากที่สุด แม้หมายความว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าลงมาก” ในทางตรงกันข้าม 1 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมแบบสำรวจเห็นว่า “การรักษางานและเปิดให้เศรษฐกิจกลับมาดำเนินต่อไปเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลควรจะสนใจมากขึ้น แทนการทุ่มทุกมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชน”
ผลสำรวจนี้ศึกษากลุ่มตัวอย่างประมาณ 1,200 คนในแต่ละประเทศ ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย ฝรั่งเศส เยอรมนี เม็กซิโก สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐอเมริกา
ผลสำรวจที่น่าสนใจคือ 2 ใน 3 ของชาวญี่ปุ่นเทความสำคัญให้เรื่องสาธารณสุขมากกว่าเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับผู้เข้าร่วมแบบสำรวจจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และแคนาดา ที่ให้ความสำคัญกับสาธารณสุขมากกว่าเกิน 70% ขณะเดียวกัน แม้จะมีการประท้วงต่อต้านการปิดเมืองในสหรัฐอเมริกา แต่ชาวอเมริกัน 66% ยังสนับสนุนให้ควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ดี
สำหรับกลุ่มตัวอย่างจากจีนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด ถึงจะยังให้น้ำหนักต่อสุขภาพมากกว่าเศรษฐกิจ แต่ผู้สนับสนุนมีเพียง 56% ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในบรรดา 11 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ
รายงานระบุต่อไปว่า หากเทียบกับผลสำรวจเดียวกันในช่วงมกราคมที่ผ่านมา การแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วยให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นแทบทุกประเทศเว้นเพียงญี่ปุ่น โดยคะแนนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11 จุด เฉลี่ยรวม 65% นับว่ามากที่สุดจากการศึกษาในรอบ 20 ปีของบริษัทแห่งนี้
เสียงสนับสนุนภาครัฐสวนทางกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่มองว่า ภาคธุรกิจยังทำงานไม่ดีพอกับความต้องการในสถานการณ์ตอนนี้ โดยจากผลสำรวจ มีเพียง 29% เห็นว่ากลุ่มธุรกิจทำงานได้ดีแล้ว
ยอมปิดเมือง ติดตามการเคลื่อนไหว ดีกว่าติดเชื้อ
สำหรับนโยบายในลักษณะ ‘สุขภาพเหนือเสรีภาพ’ อย่างการคุมเข้มการเดินทางถือเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง โดยเฉลี่ยมีเพียง 27% ที่คัดค้านและมองว่ารัฐบาลไม่ควรจำกัดการเดินทางของประชาชน
ด้านความเห็นต่อนโยบายติดตามตัว ชาวจีน 91% ยอม ‘ให้ข้อมูลสุขภาพและให้ข้อมูลการเคลื่อนไหว’ แก่รัฐบาลมากกว่าปกติ เพื่อช่วยให้ติดตามและควบคุมการแพร่ระบาด เช่นเดียวกับอีก 7 ประเทศที่ยอมรับมาตรการเดียวกันนี้ในอัตราส่วนที่ลดหลั่นลงมาเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ชาวญี่ปุ่น 56% และชาวฝรั่งเศส 53% เลือกที่จะไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกาแบ่งออกความเห็นต่อประเด็นนี้ครึ่งต่อครึ่ง
ตระหนักเหลื่อมล้ำจากโรคระบาด
ไม่เพียงประเด็นทางเลือกระหว่างสุขภาพหรือปากท้อง และความเชื่อมั่นต่อองค์กรต่างๆ เท่านั้น ผลสำรวจนี้เผยอีกว่า คนส่วนใหญ่ 64% เห็นว่า “การแพร่ระบาดช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงช่องว่างระหว่างคนรวยและชนชั้นแรงงาน จำเป็นต้องกระจายรายได้และความมั่งคั่งในประเทศให้เท่าเทียมมากขึ้น” และกลุ่มตัวอย่าง 67% มองว่า “คนที่มีระดับการศึกษาน้อยกว่า มีรายได้น้อยกว่า และมีทรัพยากรน้อยกว่าต้องแบกรับภาระอย่างสาหัส ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบาก ความเสี่ยงติดโรค และต้องเสียสละอย่างมากในช่วงโรคระบาด”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: