×

อานิสงส์แจกเงิน 10,000 บาท ช่วยดันเงินฝากกลุ่มต่ำกว่า 50,000 บาทในปี 67 โต 4.84%

26.03.2025
  • LOADING...

สคฝ. รายงานสถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองสิ้นปี 2567 มีจำนวนรวมกว่า 99.25 ล้านราย เติบโต 4.75% หรือ 4.50 ล้านราย และจำนวนเงินฝากรวม 16.32 ล้านล้านบาท เติบโต 1.40% หรือ 0.22 ล้านล้านบาท จากปี 2566 

 

ดร.มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA เปิดเผยในงานแถลงข่าวรายงานสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ประจำปี 2567 และการดำเนินงานยุทธศาสตร์ ระบุว่า สถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองปี 2567 พบว่าอัตราการเติบโตของจำนวนเงินฝากรวมในกลุ่มผู้ฝากที่เงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาทต่อบัญชี เพิ่มขึ้น 4.84% จากปีก่อน ทั้งนี้ ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในผู้ฝากกลุ่มนี้มีผลมาจากโครงการเงินช่วยเหลือภาครัฐ จากโครงการแจกเงิน 10,000 บาทให้กับประชาชน

 

ส่งผลให้เงินฝากในเดือนกันยายน 2567 พุ่งขึ้น 6.83% สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเดือนเดียวกัน ที่เติบโต 2.50% ในขณะที่ผู้ฝากกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรองลงมาอยู่ที่ 2.70% ซึ่งคาดว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในบัญชีประเภทเงินฝากประจำ เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการนำเงินมาพักเพื่อรอความชัดเจนของสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของเงินฝากกลุ่มนี้ยังคงเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 2566 

 

ภาพ: สถิติจำนวนผู้ฝากเงินและจำนวนเงินฝากในระบบปี 2567 

 

คาดจำนวนเงินฝากปี 2568 โต 1-3% ตามภาวะเศรษฐกิจ

 

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเงินฝากในปี 2568 นี้คาดว่าจะเติบโตอยู่ระหว่าง 1-3% จากสิ้นปี 2567 ที่มียอดเงินฝากรวม 16.32 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากยังมีปัจจัยกระทบที่ไม่แน่นอนจากทั้งภายในและนอกประเทศ

 

สำหรับสถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ณ สิ้นปี 2567 รวมกว่า 99.25 ล้านราย คิดเป็นอัตราเติบโต 4.75% หรือ 4.50 ล้านรายและจำนวนเงินฝากรวม 16.32 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต1.40% หรือ 0.22 ล้านล้านบาท

 

อย่างไรก็ดีหากดูสถิติข้อมูลของผู้ฝากเงินทั้งระบบในปี 2566 ของคนไทยในระบบพบว่า มีเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 203,698 บาทต่อบัญชี มีอัตราการเติบโตติดลบ 2.49% จากปี 2565 ขณะที่กลุ่มผู้ฝากเงินคนไทยส่วนใหญ่มีเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 3,533 บาทต่อบัญชี มีอัตราการเติบโตติดลบ 10.44% จากปี 2565 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่เริ่มลดลงในช่วงปี 2566

 

ภาพ: ดร.มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

 

“ส่วนแนวโน้มจำนวนเงินฝากในอนาคตจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงคงสามารถฟันธงได้ยากมาก เพราะขึ้นกับหลายปัจจัย ทั้งนโยบายดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัจจัยเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมทั้งโปรดักต์การลงทุนใหม่ๆ ที่ประชาชนจะนำเงินออกไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน” ดร.มหัทธนะกล่าว

 

มีระบบพร้อมรองรับคืนเงินผู้ฝากเงินภายใน 7 วัน

 

ปัจจุบันผู้ฝากเงินภายใต้สถาบันการเงินในระบบทั้งจำนวน 35 แห่งที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนจาก DPA ภายใต้วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงินอยู่ที่ 97.46 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 98.20% ของผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ สะท้อนอันดับความสามารถในการคุ้มครองผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ในเอเชียและอันดับที่ 31 ของโลก และเพื่อให้ DPA มีความพร้อมในการเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย สร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ DPA จึงได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานภายใต้แนวคิด READY & Prompt มุ่งสู่ยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (ปี 2566-2570) ‘DPA พร้อม’ โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพองค์กร 

 

ทั้งในด้านการจ่ายเงินคุ้มครองและการชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้ผู้ฝากเงินได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ดี DPA ตั้งเป้าการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากส่วนใหญ่ภายใน 7 วันทำการสำหรับผู้ฝากที่ผูกบัญชี Prompt Pay กับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 

 

ภาพ: ภาพรวมเงินฝากในระบบที่ได้รับการคุ้มครอง

 

โดยจากผลศึกษาและเก็บข้อมูลสถิติในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2566 ของสมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศพบว่า ค่าเฉลี่ยของจำนวนวันในการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากสามารถทำได้เร็วขึ้นจาก 28 วันเหลือเพียง 14 วัน และพบว่ามีเหตุการณ์สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตรวม 13 สถาบันการเงิน ที่สถาบันประกันเงินฝากในต่างประเทศดำเนินการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากส่วนใหญ่ได้ภายใน 7 วันทำการ ทั้งนี้ คำว่าผู้ฝากส่วนใหญ่นั้นจะต้องครอบคลุมผู้ฝากสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 75 %

 

จากภารกิจของของ DPA มีการเตรียมความพร้อมด้านการคุ้มครองเงินฝากของไทย จึงยิ่งมีความสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่แน่นอนใดๆ ขึ้นจนส่งผลกระทบถึงขั้นสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต DPA จะสามารถปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเตรียมความพร้อมรองรับการคุ้มครองเงินฝากการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่คาดว่าจะประกาศรายชื่อในปีนี้ และเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในปีหน้า

 

นอกจากยังเตรียมพร้อมมีการซักซ้อม ด้านการจ่ายเงินคุ้มครองและการชำระบัญชีบนพื้นฐานข้อมูลเสมือนจริงของสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นประจำทุกปี รวมถึงการบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากให้มีการเติบโต มั่นคง และปลอดภัย ซึ่งมีเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุน (Yield) ปี 2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.20% เพิ่มจากปี 2567 ที่ทำได้ 2.17% ถือเป็นระดับ Yield สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยเน้นการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล เงินฝากสถาบันการเงินภาครัฐที่ได้รับการคุ้มครองเงินต้น ปัจจุบันมูลค่าเงินกองทุนฯ อยู่ที่ 146,466.49 ล้านบาท ซึ่งเป็น ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 

 

ภาพ: JHK2303 / Shutterstock

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising