ด้วยความท้าทายจากยอดขายคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (PCs) ที่ดำดิ่ง บวกกับภาวะความเป็นผู้นำของ สตีฟ บัลเมอร์ ซีอีโอคนก่อนหน้าผู้ยึดติดกับความสำเร็จสมัยเก่า และมองข้ามเทคโนโลยีใหม่ที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคกับการมุ่งหน้าสู่ยุคของสมาร์ทโฟน ส่งผลให้บิ๊กเทคเจ้าอื่นอย่าง Apple และ Google เข้ามาจับเทรนด์การใช้งานอุปกรณ์ขนาดเล็กแบบพกพาได้ก่อน จนทิ้งห่าง Microsoft ออกไปอย่างไม่มีเหลียวหลังในช่วงต้นทศวรรษ 2010
ตัดภาพมาในวันนี้ เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ สัตยา นาเดลลา ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัท Microsoft นับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2014 โดยตลอดระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษ เขาได้พลิกฟื้นบริษัทที่ครั้งหนึ่งถูกตราหน้าว่า ‘ตกยุคไปแล้ว’ ตลอดการบริหารของซีอีโอคนเก่า ให้หันไปสู่ทิศทางใหม่จนมูลค่าในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นราว 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 10 เท่าตัว จนก้าวขึ้นมาสู่บริษัทมูลค่าสูงสุดของโลก ณ ปัจจุบันที่ 3.019 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจาก companiesmarketcap.com ณ วันที่ 29 เมษายน 2024)
สัตยาใช้กลยุทธ์อะไรเพื่อกอบกู้ Microsoft ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง? มีบทเรียนไหนที่ผู้นำธุรกิจในวันนี้สามารถที่จะเรียนรู้จากความสำเร็จของเขาได้?
ปีเตอร์ โคฮาน นักธุรกิจและนักเขียนชาวอเมริกัน ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงภาวะความเป็นผู้นำของสัตยา ที่นำ 3 แนวคิดจากหนังสือของเขา Goliath Strikes Back มาเล่าว่าทำไมชายคนนี้ถึงสามารถพา Microsoft กลับคืนสู่สังเวียนเทคโนโลยีอีกครั้ง แต่ต้องบอกว่า 2 แนวคิดแรกคือตัวเร่งความสำเร็จ และตัวสุดท้ายคือตัวทำลาย
1. สร้างอนาคต (Create the Future)
ทักษะการมองการณ์ไกลและการให้องค์กรโฟกัสที่การสร้างอนาคต เป็นสิ่งสำคัญที่นักธุรกิจหลายคนให้คุณค่า เพราะผู้นำที่มีทักษะนี้จะเข้าใจว่าลูกค้าต้องการสิ่งใดและมองขาดว่าเทคโนโลยีรูปแบบไหนจะเข้ามาแทนที่ของเดิม ซึ่งอินไซต์ตรงนี้จะถูกนำไปคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับโลกแห่งอนาคต
2. เป็นผู้ตามที่ขยับตัวเร็ว (Fast Follower)
ผู้นำองค์กรที่ขยับตัวเร็วแม้จะเป็นเพียงผู้ตาม แต่พวกเขาก็ได้ใช้วิธีนี้กอบกู้บริษัทที่เกือบจะล้มลงมาแล้วหลายครั้ง หลังจากที่ผู้ก่อตั้งคนเก่านั้นเลือกที่จะส่งไม้ต่อให้กับผู้นำคนใหม่ โดยผู้นำที่ขยับตัวเร็วเลือกมององค์กรจากมุมของพนักงานกับลูกค้าเพื่อเรียนรู้ถึงปัญหาและความเปลี่ยนแปลง แทนที่จะให้น้ำหนักส่วนใหญ่ไปกับการพยายามลดต้นทุน
3. เอาหัวมุดทราย (Head in the Sand)
ผู้นำองค์กรที่ติดกับดักความสำเร็จเดิมและเมินการมาถึงของสิ่งใหม่ ดังวลีที่ว่า “เอาหัวมุดทราย” ย่อมต้องเจอกับความเสี่ยงของการโดนทิ้งไว้ข้างหลังเมื่อสภาพแวดล้อมของโลกเปลี่ยนไป เพราะนอกจากผู้นำที่มีทัศนคตินี้จะพยายามกีดขวางบุคลากรของตัวเองในการประดิษฐ์สิ่งใหม่แล้ว พวกเขายังมักที่จะถูกครอบงำโดยสิ่งที่เคยทำได้ดีในอดีตโดยการชื่นชมผู้เห็นชอบและลงโทษผู้เห็นต่างในหนทางใหม่
ในบริบทของ Microsoft การที่ผู้นำคนเก่า สตีฟ บัลเมอร์ พยายามผลักดันยัดเยียดสิ่งที่บริษัทมีให้กับลูกค้าส่งผลให้บริษัทตกขบวนเทคโนโลยี ในขณะที่ Apple และ Amazon เลือกที่จะทำสิ่งที่ต่างออกไป นั่นคือการหันหัวธุรกิจไปลงทุนในสมาร์ทโฟนและคลาวด์ นอกจากนั้นเขายังสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่อยู่บนพื้นฐานการแก่งแย่งชิงดีภายใน ซึ่งทำให้สถานการณ์บริษัทตลอดระยะเวลาการบริหารของเขาช่วงปี 2000-2014 ไม่ค่อยสู้ดี ถึงขั้นที่นิตยสาร Vanity Fair เคยพาดหัวข่าวว่า ‘Microsoft’s Lost Decade’
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของสัตยาด้วยกลยุทธ์การบริหารองค์กรแบบผู้ตามที่ขยับตัวเร็ว แทนที่การบริหารแบบเดิมทำให้องค์กรถูกขับเคลื่อนด้วยแนวความคิดใหม่ที่ถูกสนับสนุนด้วยวิธีการบริหารองค์กรแบบยืดหยุ่น เปิดรับความเห็นต่าง และมีความเป็นหนึ่งเดียวในทีมทำงาน พร้อมทั้งปรับโครงสร้างองค์กรให้พร้อมคว้าโอกาสในคลื่นลูกใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ผ่านการลงทุนธุรกิจคลาวด์
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่เร่งให้ Microsoft ก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกนั้น คือการประกาศร่วมมือกับ OpenAI ที่มี แซม อัลต์แมน ผู้เป็นซีอีโอที่กำลัง ‘สร้างอนาคต’ ด้วย AI ซึ่งนี่เป็นหนึ่งตัวอย่างของการเป็นผู้ตามที่ขยับตัวเร็ว เนื่องจาก Microsoft สามารถประหยัดทรัพยากรที่ตัวเองมีโดยการให้บริษัทข้างนอกลองเสี่ยงและประดิษฐ์นวัตกรรมขึ้นมา ก่อนที่ตนจะเข้าไปต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกับเทคโนโลยีใหม่
เรื่องราวการความเป็นผู้นำของสัตยาทำให้เขาถูกโหวตให้เป็นซีอีโอที่ถูกมองข้ามมากที่สุดในปี 2023 จากการทำโพลของนิตยสาร Fortune ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทัศนคติของเขากับการบริหารธุรกิจสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน ทั้งพนักงาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท และคนทำธุรกิจอีกมากมาย ที่พิสูจน์ว่าการปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ แม้เราจะไม่ใช่ที่หนึ่งแต่การเป็นผู้ตามที่ขยับเร็วก็สามารถสร้างผลสำเร็จได้ เพราะการอยู่นิ่งเฉยเท่ากับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกับการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
อ้างอิง: