×

บทสรุป 10 ปี คดีมาบตาพุด เขตควบคุมมลพิษกับต้นทุนราคาสูงลิ่วที่สังคมต้องจ่ายกันเอง

18.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว วันที่ 1 ตุลาคม 2550 ตัวแทนประชาชนชาวมาบตาพุดจาก 11 ชุมชน รอบนิคมอุตสาหกรรม 27 คน รวมตัวกันยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ต่อศาลปกครองระยอง ฐานละเลยต่อหน้าที่ กรณีไม่ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม ลด และขจัดมลพิษ
  • แต่หลังจากนั้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด โดยปฏิเสธว่าไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จนกลายเป็นคดีที่ยืดเยื้อต่อเนื่องกว่าจะได้ข้อสรุปในอีก 10 ปีให้หลัง
  • ในความเป็นจริง แม้มาบตาพุดจะมีสถานะเป็นเขตควบคุมมลพิษมานานถึง 8 ปีแล้ว แต่จากข้อมูลสถานการณ์มลพิษอุตสาหกรรม ปี 2558-2559 ที่จัดทำโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ พบว่าพื้นที่เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จ.ระยอง และใกล้เคียง ยังคงมีปัญหาอยู่ในขั้น ‘วิกฤต’ และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นแต่อย่างใด

     ผ่านมาแล้ว 10 ปีเต็ม ในที่สุดวันนี้ (18 ตุลาคม 2560) มหากาพย์คดีสิ่งแวดล้อมพื้นที่ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง ก็เดินทางมาถึงบทสรุป เมื่อศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษากรณีที่ตัวแทนชาวบ้านมาบตาพุด 27 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยล่าช้าต่อหน้าที่ และขอให้ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

     แม้ในทางคดีจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะมาบตาพุดถูกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษไปแล้วตั้งแต่ปี 2552 แต่คดีสิ่งแวดล้อมประวัติศาสตร์นี้ก็ยังมีความสำคัญที่ต้องจับตามองในหลายแง่มุม

     การต่อสู้ตลอด 10 ปีมานี้กำลังบอกอะไรเราบ้าง นี่คือคำตอบ

 

Photo: Nicolas Asfouri/AFP

 

จุดเริ่มต้นมหากาพย์คดีมาบตาพุด 10 ปีกับการเรียกร้อง ‘เขตควบคุมมลพิษ’

     ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว วันที่ 1 ตุลาคม 2550 ตัวแทนประชาชนชาวมาบตาพุดจาก 11 ชุมชน รอบนิคมอุตสาหกรรม 27 คน รวมตัวกันยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ต่อศาลปกครองระยอง ฐานละเลยต่อหน้าที่ กรณีไม่ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม ลด และขจัดมลพิษ

     ถัดมาอีก 2 ปี ศาลปกครองระยองมีคำสั่งพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียงเป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จึงพิพากษาให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด เป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยให้ดำเนินการประกาศให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

Photo: Nicolas Asfouri/AFP

 

     แต่หลังจากนั้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด โดยปฏิเสธว่าไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จนกลายเป็นคดีที่ยืดเยื้อต่อเนื่องกว่าจะได้ข้อสรุปในอีก 10 ปีให้หลัง

     โดยระหว่างทางก่อนที่จะมีคำตัดสิน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ลงนามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 กำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลตำบลมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียงรวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ

     ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาออกมาในวันนี้ (18 ตุลาคม 2560) โดยเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าพื้นที่มาบตาพุดมลพิษร้ายแรงจริง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยต่อหน้าที่ ต้องประกาศเป็น เขตควบคุมมลพิษ แต่ให้จำหน่ายคดี เนื่องจากมีการออกประกาศแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์

 

Photo: Nicolas Asfouri/AFP

ถอดบทเรียนคดีมาบตาพุด ‘สิทธิ์ของประชาชนมีต้นทุนเสมอ’

     ในฐานะทนายความที่ติดตามคดีนี้มานาน แม้จะไม่ใช่ตัวแทนในการยื่นฟ้องในปี 2550 แต่ทนายอัมรินทร์ สายจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายประจำมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW ถือเป็นหนึ่งคนที่รู้เรื่องคดีนี้อย่างลึกซึ้ง

     ส่วนตัวเขามองว่าคดีมาบตาพุดถือเป็นคดีทางสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญ เพราะแม้ว่าคำพิพากษาล่าสุดจะไม่มีผลในทางปฏิบัติก็ตาม เนื่องจากมีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่มาบตาพุดถือเป็นตัวแทนของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่ ณ ยุคนั้นถูกนำมาชูเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศ แลกมากับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น

 

Photo: Sukree Sukplang/Reuters

 

     “คดีมาบตาพุดเป็นการตั้งคำถามถึงภาครัฐว่าสรุปแล้วรัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับการจัดสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีแค่ไหน เพราะถึงแม้จะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษไปแล้ว แต่สุดท้ายมันมีประสิทธิภาพในการลดมลพิษได้จริงไหม ขณะที่รัฐเองกำลังพยายามผลักดันอีกหลายๆ โครงการ โดยเฉพาะ EEC ที่เป็นส่วนขยายของมาบตาพุด คำถามคือแล้วประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าภาครัฐจะควบคุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ ในเมื่อแค่พื้นที่มาบตาพุดยังแก้ปัญหาไม่ได้เลย ทำไมประชาชนถึงจะต้องรู้สึกมั่นใจ หรือยอมรับได้หากจะเกิดโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่บ้านเกิดของพวกเขา”

     นอกจากนี้คดีมาบตาพุดยังเป็นตัวอย่างสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้สิทธิ์ของประชาชนมีต้นทุนที่สูงลิ่ว ทั้งในส่วนของการแสวงหาข้อมูลมาสนับสนุนการเรียกร้อง ซึ่งถือว่าทำได้ยากลำบากในยุคนั้น เนื่องจากต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ทำให้จำเป็นต้องระดมนักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการจากสาขาต่างๆ มาช่วยกัน ในภาวะที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐเมื่อ 10 ปีที่แล้วทำได้อย่างยากลำบากเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน ยังไม่นับรวมถึงต้นทุนเวลาที่ยืดยาวนับสิบปี

     “บทเรียนที่ได้จากคดีนี้คือ ภาครัฐควรทบทวนเรื่องการขยาย หรือส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ว่ารัฐเองมีความพร้อมที่จะจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมามากน้อยแค่ไหน ป้องกันปัญหาได้จริงไหม หรือของเดิมยังจัดการไม่ได้แล้วจะไปส่งเสริมให้เกิดพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งถ้าที่ผ่านมายังทำได้ไม่ดี การที่ชุมชนแต่ละพื้นที่จะออกมาคัดค้าน เป็นกังวล หรือไม่ไว้วางใจการพัฒนาของภาครัฐก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาเห็นปรากฏการณ์มาแล้วจากมาบตาพุด” ทนายอัมรินทร์ทิ้งท้าย

 

Photo: Sukree Sukplang/Reuters

 

เขตควบคุมมลพิษ กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังพอกพูนในมาบตาพุด

     การประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ถือเป็นความหวังครั้งใหญ่ของชาวมาบตาพุดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะนั่นหมายถึงภาครัฐยอมรับว่าพื้นที่แห่งนี้มีปัญหาจริงในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องตามมาด้วยแผนฟื้นฟู ลด และขจัดมลพิษที่จะมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่เข้มข้นกว่าพื้นที่ทั่วๆ ไป รวมทั้งยังมีผลต่อการอนุญาตโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต

     ซึ่งในความเป็นจริง แม้มาบตาพุดจะมีสถานะเป็นเขตควบคุมมลพิษมานานถึง 8 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าความฝันของชาวบ้านจะยังคงไม่เป็นจริง เพราะจากข้อมูลสถานการณ์มลพิษอุตสากรรม ปี 2558-2559 ที่จัดทำโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่สนับสนุนการจัดพิมพ์โดยสหภาพยุโรป และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พื้นที่เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จ.ระยอง และใกล้เคียง ยังคงมีปัญหาอยู่ในขั้น ‘วิกฤต’ และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นแต่อย่างใด

 

Photo: Nicolas Asfouri/AFP

 

     ปัญหาใหญ่ของเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง คือการตรวจพบสารเคมีอันตรายที่เป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOCs และสารประกอบกำมะถันในอากาศรวมทั้งหมด 20 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้มีสารที่รับรู้กันว่าเป็นสารก่อมะเร็ง 4 ชนิด ซึ่งจากการตรวจวัดปริมาณ VOCs ในบรรยากาศพื้นที่มาบตาพุด โดยกรมควบคุมมลพิษ ระหว่างปี 2558-2559 พบว่ามีสารมลพิษที่เกินมาตรฐานอยู่ 4 ชนิด ทั้งสารเบนซีน สาร 1, 3 บิวทาไดอีน สารคลอโรฟอร์ม และสาร 1, 2 ไดคลอโรอีเทน

     เช่นเดียวกับการตรวจวัดคุณภาพน้ำที่พบว่ามีการปนเปื้อนสาร VOCs และโลหะหนักในน้ำใต้ดินและน้ำบ่อตื้นหลายแห่ง ส่วนน้ำผิวดิน พบว่าแหล่งน้ำต่างๆ มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม 10 คลอง ส่วนเกณฑ์เสื่อมโทรมมากมี 5 คลอง เช่นเดียวกับการตรวจวัดโลหะหนักในแหล่งน้ำที่พบว่ามีสารหนูเกินค่ามาตรฐานบ่อยครั้งที่สุดใน 7 คลอง โดยคลองที่พบโลหะหนักหลายชนิดที่สุด มีการพบทั้งสารหนู โครเมียม แมงกานีส ตะกั่ว และสังกะสี ยังไม่รวมการตรวจตะกอนดินชายฝั่งทะเลที่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักหลายชนิด

     นอกจากนี้ในปี 2558 ยังเกิดปรากฏการณ์กรณีน้ำเสียคลองบางเบิดที่ชาวบ้านพบความผิดปกติของน้ำบริเวณปลายคลอง ที่มีลักษณะเป็นฟองสีน้ำตาลจำนวนมากลอยอยู่บนผิวน้ำ ซึ่งหลังจากนั้นมีการตรวจพบปริมาณสารทองแดง แมงกานีส สังกะสี ปรอท และสารหนู เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานน้ำผิวดิน

     ส่วนในปี 2559 ก็เคยเกิดปรากฏการณ์ปลาตายเกลื่อนหาดตากวนเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวประมงเปิดเผยว่าเหตุการณ์ปลาตายหมู่ครั้งนั้นไม่ใช่ความผิดปกติครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้น แต่เป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงมากที่สุดเท่าที่ชาวประมงหลายคนเคยจำความได้

     อีกตัวชี้วัดสำคัญที่เผยให้เห็นว่าปัญหามลพิษไม่ได้หายไปจากพื้นที่ควบคุมมลพิษมาบตาพุดก็คือ อัตราการเกิดโรคมะเร็งเกือบทุกชนิดของประชากรใน จ.ระยองสูงกว่าประชากรในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่และย่านใกล้เคียงยังคงขยายตัวและรุกคืบอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งการเกิดนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ การขยายโรงงานภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รวมไปถึงแนวนโยบายระดับชาติอย่างการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยังมีมาบตาพุดเป็นหนึ่งในเป้าหมายอีกด้วย

     หลักฐานเหล่านี้อาจบอกเรากลายๆ ว่า 10 ปีที่ผ่านมากับการเรียกร้องของชาวบ้านมาบตาพุดอาจเป็นเพียง 10 ปีที่สูญเปล่า ตราบใดที่รัฐบาลไม่ว่ายุคไหนๆ ยังคงให้ความสำคัญกับการเดินหน้าพัฒนาแต่ละเลยผลกระทบรอบตัวที่อาจจะเกิดขึ้น

     แต่ถึงอย่างนั้นคดีมาบตาพุดก็ยังถือเป็นประจักษ์พยาน และเป็นคดีบรรทัดฐานสำคัญในการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมระหว่างประชาชนกับภาครัฐต่อไปในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X