×

2010-2020 : ทศวรรษภาพยนตร์ที่หมุนไปตามเมืองจีน ใหญ่เหมือนจอ IMAX และเล็กเท่าเมนู Netflix

08.01.2021
  • LOADING...
ทศวรรษภาพยนตร์ที่หมุนไปตามเมืองจีน ใหญ่เหมือนจอ IMAX และเล็กเท่าเมนู Netflix

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • IMAX เหมือนจะเป็นหนทางเดียวที่จะชนโทรทัศน์ราคาถูก รวมถึงชนะสงครามโรงภาพยนตร์ vs สตรีมมิงเซอร์วิสด้วย แต่หลังจากโควิด-19 เป็นต้นมา สงครามนี้เหมือนจะค่อยๆ พ่ายแพ้ให้กับทีวีจอเล็กอันอบอุ่นที่บ้าน และหนังที่ส่งตรงผ่านอินเทอร์เน็ตและไหลไปลงในจอโทรศัพท์มือถือ
  • ความยาวนานของโควิด-19 นั้น ทำให้ผู้คนค่อยๆ คุ้นชินกับการดูหนังในสตรีมมิงมากขึ้นและมากขึ้น จนพวกเขาอาจจะจำได้ว่าวีคนี้มีอะไรมาใหม่ใน Netflix มากกว่ามีอะไรมาใหม่ที่โรงภาพยนตร์ สุดท้ายในวันที่โควิด-19 หายไป ไม่รู้ว่าทางฝั่งสตูดิโอและเจ้าของโรงหนังจะต้องใช้เวลาอีกเท่าไรในการเรียกคนกลับมาที่โรงเหมือนเดิม

10 ปีที่ผ่านมาของโลกภาพยนตร์มีความเปลี่ยนแปลงมากมายที่อาจจะทำให้คนดูหนังรู้สึกตัวแรงๆ หรือบางครั้งมันก็เนียนเข้ามาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก่อนที่เราจะไปสู่ปี 2021 อันเป็นการขึ้นทศวรรษใหม่ ผมเลยขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวให้ลองอ่านกันว่า 10 ปีที่ผ่านมา เราเจออะไรกันบ้าง และเราควรจะทำอย่างไรกันต่อไป หรือเราอาจจะเจออะไรกันต่อไป

 

 

จีนฮอลลีวูด 

คงมีอยู่วันหนึ่งที่คนในฮอลลีวูดมองไปที่ตัวเลขรายได้ภาพยนตร์ที่ฉายในประเทศจีนแล้วพบว่า ทำไมมันเยอะแบบนี้วะ อาจจะตามหลังบ็อกซ์ออฟฟิศอเมริกาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง และตามสไตล์นักธุรกิจ ถ้ารายได้มันเยอะขนาดนี้ ตลาดใหญ่ขนาดนี้ ทำไมเราไม่ไปทำธุรกิจกันที่โน้นล่ะ 

 

นั่นเริ่มเป็นที่มาของการที่ฝรั่งเริ่มบินไปหาชาวจีน เพื่อขอจับมือร่วมลงทุนในการสร้างภาพยนตร์ เพราะการแค่ส่งหนังฝรั่งเข้ามาฉาย หนังนำเข้าเหล่านั้นจะไปตกอยู่ในระบบโควตาที่จำกัดจำนวนซึ่งรัฐบาลเป็นคนกำหนดเอาไว้ ดังนั้นถ้ามาร่วมทุนกันไปเลย หนังเรื่องนั้นก็อาจจะรอดพ้นระบบโควตาและฉายได้ตามปกติในประเทศจีน

 

แน่นอนว่าประเทศจีนก็ไม่ง่าย กฎระเบียบมากมาย ระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด รวมถึงการที่ฝรั่งไม่รู้ว่ารสนิยมการดูหนังชาวจีนเป็นอย่างไรกันแน่ ดังนั้นการปรับตัว ปรับงาน และปรับหนังให้มีรสชาติแบบชาวจีนแผ่นดินใหญ่จึงเกิดขึ้น (ว่าง่ายๆ คือ จะขายของที่นั่นก็ต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของทาร์เก็ตที่นั่น และรวมถึงผู้คุมประตูที่นั่นด้วย) 

 

 

หนังที่ร่วมทุนกันระหว่างฮอลลีวูดและจีนเหมือนเป็นอาหารรสชาติใหม่ที่เราชาวไทยลองชิมแล้วอาจจะรู้สึกว่ามันแปลกลิ้นทีเดียว หนังอย่าง Kong: Skull Island, Pacific Rim: Uprising หรือ Terminator: Dark Fate ล้วนเป็นอะไรที่มีจังหวะแปลกๆ ฉากแอ็กชันที่รวดเร็วและยาวนานกว่าปกติ ตัวละครชาวจีนที่ไม่รู้มาทำอะไรในเรื่อง เหตุการณ์ต่างๆ ต้องไปเกิดที่เมืองจีน หรือตัวละครชาวจีนมีส่วนช่วยให้คอนฟลิคบางอย่างในเรื่องนั้นคลี่คลาย นั่นทำให้เราตรวจจับความธุรกิจและเงื่อนไขทางกฎระเบียบที่ผู้สร้างต้องทำตามได้อย่างชัดเจน จนหลังๆ รู้สึกว่ากลายเป็นหนังฮอลลีวูดอีกประเภทหนึ่งไปเลย เรียกว่าจีนฮอลลีวูดก็ไม่น่าผิดนัก เพราะมันคือส่วนผสมที่จีนนำหน้าฮอลลีวูด ไม่ใช่ฮอลลีวูดนำหน้าจีนเหมือนสมัยก่อน

 

แต่จริงๆ แล้วหลังจากปี 2020 ในวันเวลาแห่งโควิด-19 และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างอเมริกาและจีนนั้น การร่วมมือกันสร้างหนังแบบจีนฮอลลีวูดอาจจะไม่ได้มีอนาคตที่สวยงาม เรียบง่ายเหมือนแต่ก่อน เอาจริงๆ แล้วที่ผ่านมาก็มีหลายเรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไร รวมถึงชาวจีนเริ่มดูดความรู้จากชาวฮอลลีวูดแล้วเอาความรู้เหล่านั้นไปสร้างหนังจีนเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ ตลาดภาพยนตร์เมืองจีนนั้นสามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเองพอสมควร เพราะหลังจากที่ฮอลลีวูดโดนโควิด-19 อัดจนอ่วม เมืองจีนนั้นยังสามารถรอดตัวไปได้สบายๆ ดูจากหนังจีนเองที่ทำรายได้มหาศาลเหมือนเดิม ว่าง่ายๆ คือ ตลาดจีนสามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเองแม้จะไม่ต้องมีฮอลลีวูด กลายเป็นว่า จีนอาจจะไม่ได้ง้อฝรั่งเท่าไรแล้ว กับอีกอย่างคือ ฝรั่งจะเหลือรอดสักกี่รายหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่าบัลลังก์รุ่นใหญ่แห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกอาจจะสั่นสะเทือนจริงๆ ก็ในทศวรรษใหม่นี้เอง 

 

 

IMAX คัลเจอร์

IMAX จอยักษ์เคยเป็นเหมือนแค่ของเล่นในสวนสนุก จนวันหนึ่งบรรดาโทรทัศน์จอใหญ่ยักษ์มีราคาถูกลง ระบบเครื่องเสียงต่างๆ อยู่ในระดับที่คนธรรมดาซื้อหาได้ อัตราการไปโรงภาพยนตร์ของผู้คนก็เริ่มลดลง เป็นอีกครั้งที่บรรดาสตูดิโอผู้สร้างนั้นจะต้องหาทางดึงคนกลับมา เหมือนสมัยที่เครื่องเล่นวิดีโอเทปเป็นที่แพร่หลาย เลยเกิดการถ่ายทำหนังแบบจอกว้าง Widescreen สุดขีด เพื่อทำให้ผู้คนเห็นความต่างระหว่างจอโทรทัศน์แบบ 4:3 ที่คับแคบ กับความกว้างตระการตาของจอภาพยนตร์ 

 

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ผู้สร้างแต่ละรายเริ่มโปรโมตภาพยนตร์เรื่องใหม่ๆ ที่ถ่ายทำในระบบ IMAX และส่งคนทำหนังหรือผู้กำกับมาบอกผู้ชมไปเลยว่าคุณควรดูในระบบ IMAX เท่านั้น เพราะมันเป็นความตั้งใจทางด้านไดเรกชันและงานสร้างของผู้กำกับ และบ้านคุณไม่มีจอที่ใหญ่ขนาดนี้แน่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจโมเดลนี้น่าจะเป็นที่สนุกสนานของคนทำหนังไม่น้อย เพราะพวกเขาจะได้มีโอกาสถ่ายด้วยฟิล์ม 70 มม. และมีโอกาสที่จะได้เห็นหนังตัวเองในระบบ IMAX มากขึ้น

 

 

ผู้กำกับแบบคริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายทำหนังด้วยระบบฟิล์มและศรัทธาในการดูหนังในโรงภาพยนตร์ กลายมาเป็นหัวหอกของเรื่องนี้ หนังแบบ Dunkirk นี่เหมือนถูกสร้างมาเพื่อโฆษณาโรง IMAX เลยด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังมีหนังอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้ถ่ายแบบ 70 มม. แต่ก็ยังจะพาตัวเองมาฉายในโรง IMAX อยู่ดี ก็ถือเป็นความพยายามที่จะทำให้ตัวเองแตกต่างจากหนังที่ดูที่บ้าน รวมถึงต่างจากหนังในโรงปกติอีกต่างหาก ดังนั้นหลังๆ IMAX จึงไม่ใช่แค่ของเล่นอีกต่อไป แต่มันค่อยๆ กลายเป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนเริ่มจะถกเถียงกันทุกครั้งว่าหนังเรื่องนี้ต้องดูใน IMAX หรือไม่ (แต่ก่อนไม่เคยมีคำถามนี้เลย เพราะ IMAX เป็นเรื่องสิ้นเปลือง ดูจอไหนก็เหมือนกัน) หรือบางคนยินดีที่จะจ่ายแพงกว่าเพื่อที่จะได้ดูหนังที่ตัวเองชื่นชมในระบบที่ดีที่สุดเท่านั้น 

 

IMAX เหมือนจะเป็นหนทางเดียวที่จะชนโทรทัศน์ราคาถูก รวมถึงชนะสงครามโรงภาพยนตร์ vs สตรีมมิงเซอร์วิสด้วย แต่หลังจากโควิด-19 เป็นต้นมา สงครามนี้เหมือนจะค่อยๆ พ่ายแพ้ให้กับทีวีจอเล็กอันอบอุ่นที่บ้าน และหนังที่ส่งตรงผ่านอินเทอร์เน็ตและไหลไปลงในจอโทรศัพท์มือถือ

 

 

สตรีมมิง อิส นาว 

ความพยายามของชาวสตรีมมิงเซอร์วิสนับสิบปีประสบความสำเร็จในที่สุด เริ่มจาก Netflix ในฐานะผู้สร้างสายรองและเป็นแค่เจ้าของร้านเช่าหนังออนไลน์ จนพวกเขาเริ่มคิดการใหญ่ในการผลิตงานมาเป็นของตัวเองมากขึ้น มีการซื้อตัวผู้กำกับใหญ่ไปทำหนังให้ตัวเองเยอะขึ้นเรื่อยๆ ยอมลงทุนให้อิสระแก่ผู้สร้างมากมาย จนหลายๆ คนหลงรักการทำงานที่ Netflix กระทั่งมาถึงการขยับตัวครั้งใหญ่ของ Netflix ในการที่จะทำให้ออริจินัลคอนเทนต์ของตัวเองไม่ใช่หนังเกรดบีในระบบออนไลน์ เริ่มประสบความสำเร็จอย่างจริงจังกับหนังอย่าง Roma ที่พาตัวเองเข้ามาสู่สนามของออสการ์ได้สำเร็จ ท่ามกลางชาวอุตสาหกรรมภาพยนตร์พยายามจะเตะขัดขามากมายและตลอดเวลา 

 

ต่อด้วยการลงทุนผลิตงานงบร้อยล้านอย่าง The Irishman ที่ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในการสร้างแบรนดิ้งให้กับช่องทางของตัวเอง ซึ่งสุดท้าย แม้ว่าหนังอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด แต่ไม่มีใครที่จำ Netflix ไม่ได้ในฐานะผู้สร้างหนังรายใหม่ที่ทรงอิทธิพล ไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการสตรีมมิงเซอร์วิสอีกต่อไป ความสำเร็จนี้นำมาซึ่งคู่แข่งคนใหม่ๆ อย่าง Disney+ ที่รวมตัวกันซื้อหนังในค่ายของตัวเองกลับไปหมด และทำตามโมเดลของ Netflix ทุกอย่าง ยังไม่นับบรรดา HBO หรือ Amazon ที่ก็พยายามจะถีบตัวขึ้นมากันหมด สตรีมมิงเซอร์วิสจึงไม่ใช่แค่โรงหนังชั้นสองอีกต่อไป เพราะมันเริ่มกลายเป็นช่องทางปกติที่มาแทนโรงภาพยนตร์

 

 

แน่นอนว่าความรุ่งเรืองของสตรีมมิงเซอร์วิสคือความหวาดหวั่นของบรรดาโรงหนังและสตูดิโอสร้างหนังต่างๆ ที่อำนาจต่อรองจะค่อยๆ ลดลง แม้ว่าพวกเขาจะไม่ยอมในจุดนี้ พยายามจะไปบิลด์กันเรื่องโรง IMAX รวมถึงสร้างหนังที่เป็นชุดขนาดยาวอย่าง Avengers ที่บังคับคุณไปดูในโรงภาพยนตร์เท่านั้น เพราะทุกครั้งที่หนังออกมา มันจะกลายเป็นกระแสโลกที่ทุกคนต้องรีบไปดูที่โรง 

 

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 เปลี่ยนทุกสิ่ง พลิกคว่ำทุกอย่างทิ้งหมด คนไม่สามารถไปโรงหนังได้เป็นปีๆ วิกฤติการณ์นี้นำพาให้สตูดิโอผู้สร้างเองจำเป็นต้องฉายหนังที่โรงพร้อมสตรีมมิงเซอร์วิส หรือบางเรื่องก็ไม่เข้าโรง แต่ฉายด้วยช่องทางออนไลน์กันไปเลย นี่เป็นการเสียเปรียบครั้งยิ่งใหญ่ของโรงภาพยนตร์ที่พวกเขาไม่มีหนทางจะสู้ได้ 

 

ความยาวนานของโควิด-19 นั้น ทำให้ผู้คนค่อยๆ คุ้นชินกับการดูหนังในสตรีมมิงมากขึ้นและมากขี้น จนพวกเขาอาจจะจำได้ว่าวีกนี้มีอะไรมาใหม่ใน Netflix มากกว่ามีอะไรมาใหม่ที่โรงภาพยนตร์ สุดท้ายในวันที่โควิด-19 หายไป ไม่รู้ว่าทางฝั่งสตูดิโอและเจ้าของโรงหนังจะต้องใช้เวลาอีกเท่าไรในการเรียกคนกลับมาที่โรงเหมือนเดิม คำถามต่อมาคือ ถ้าเรียกแล้วคนจะกลับมาไหม และคำถามสุดท้ายคือ ถึงเวลานั้น จะยังมีโรงหนังเหลืออยู่กี่โรงที่ไม่เจ๊งไปเสียก่อน

 

สรุป

ทศวรรษที่ผ่านเป็นทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนถ่ายอำนาจเก่าที่อยู่มานานด้วยการ Disruption ของเทคโนโลยีที่ล้ำจัดจนเปลี่ยนชีวิตทุกคน (เอาจริงๆ ก็ไม่ใช่วงการหนังอย่างเดียว แต่มันคือทุกวงการ) รวมถึงพลังของประเทศใหม่ๆ ที่รุดหน้าเทียบเท่าหรือล้ำหน้าสหรัฐอเมริกา จนทำให้พวกเขาไม่สามารถนิ่งนอนใจได้อีกต่อไปในฐานะทั้งมหาอำนาจของโลกและผู้สร้างภาพยนตร์หลักๆ ของโลกใบนี้เช่นกัน ในขณะที่บางคนเสียโอกาส หลายๆ คนก็ได้โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เช่นกัน จะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลงหรือเปล่าคงไม่ใช่ เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่มีดีขึ้นหรือแย่ลง มันคือการเปลี่ยนแปลงเฉยๆ ที่ทุกคนต้องตัดสินใจเองว่าจะไหลไปกับมัน หรือยืนยันความเชื่อเดิมต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X