10 แบงก์ไทยโชว์กำไรไตรมาส 3 ปีนี้กว่า 4.2 หมื่นล้านบาท โต 43% จากงวดเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองที่ลดลง และการขยายตัวของสินเชื่อบางกลุ่มธุรกิจ ขณะที่งวด 9 เดือนแรกปีนี้ กำไรเติบโต 31% ทางด้านนักวิเคราะห์ระบุเป็นสัญญาณบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 และปีหน้า
THE STANDARD WEALTH รวบรวมผลการดำเนินการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย 10 แห่ง ซึ่งรายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/64 และงวด 9 เดือนแรกปี 2564 พบว่าธนาคารพาณิชย์ไทย 10 แห่ง มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/64 จำนวน 42,640 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 ในอัตรา 43.64% ขณะที่งวด 9 เดือนแรกปีนี้ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยมีกำไรรวม 140,535 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
โดยสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองลดลง ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง รายได้ค่าธรรมเนียมขึ้น และการขยายตัวของสินเชื่อ
ทั้งนี้ธนาคารที่มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/64 มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ SCB KBANK และ BBL ขณะที่ธนาคารที่มีอัตราการเติบโตของกำไรในไตรมาส 3 มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ CIMBT SCB และ BBL ตามลำดับ
KBANK คาดเศรษฐศกิจไตรมาส 4 เริ่มฟื้น
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/64 ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด และมาตรการควบคุมการระบาดที่มีความเข้มงวดในหลายพื้นที่ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศบางส่วนเผชิญภาวะหยุดชะงัก ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิดในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มทยอยฟื้นกลับมาได้บางส่วนในไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3/64 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน หลักๆ มาจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.23% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,936 ล้านบาท หรือ 17.38% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด
ผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2564 เติบโตขึ้น ปัจจัยสนับสนุนมาจากธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) ลดลง 28.28% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยงวด 9 เดือนของปีก่อนธนาคารและบริษัทย่อยได้ตั้งสำรองในระดับที่สูงเป็นจำนวนถึง 42,879 ล้านบาท ส่วนในงวด 9 เดือนของปีนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยจึงได้พิจารณาตั้งสำรอง รวมทั้งสิ้นจำนวน 30,752 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นระดับสำรองภายใต้หลักความระมัดระวัง
SCB เผยไตรมาส 3/64 กำไรโต 90%
อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร SCB กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/64 มีกำไรสุทธิ 8,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากความสามารถในการทำกำไรจากของธุรกิจที่ดีขึ้นและการตั้งเงินสำรองลดลง ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 21,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการเติบโตที่แข็งแกร่งของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 27,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
BBL รายได้มิใช่ดอกเบี้ยยังโต
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/64 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร จำนวน 6,909 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 552 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 3.4% จากการขยายตัวของปริมาณเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน
ทั้งนี้หากเทียบกับไตรมาส 3/2563 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเพิ่มขึ้น 2,892 ล้านบาท หรือ 72% โดยมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการบริหารต้นทุนเงินรับฝาก และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากธุรกิจหลักทรัพย์และการอำนวยสินเชื่อ รวมถึงกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด
สำหรับงวด 9 เดือนปี 2564 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารมีจำนวน 20,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,406 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 4.6% ส่วนใหญ่จากผลของการรวมธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ประกอบกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงจากการบริหารต้นทุนเงินรับฝาก และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์และการอำนวยสินเชื่อ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด
KTB สินเชื่อขยายตัว 9.6%
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB เปิดเผยผลประกอบการงวดไตรมาส 3/64 มีกำไร 5,054.97 ล้านบาท หรือ 0.36 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 65.4% จากงวดเดียวกันปี 63 ที่มีกำไร 3,057.13 ล้านบาท หรือ 0.22 บาทต่อหุ้น จากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลง 34.5% ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองและภาษีเงินได้ ลดลง 8.0% มาจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ลดลง 6.4%
งวด 9 เดือนปี 2564 มีกำไร 16,644.45 ล้านบาท หรือ 1.19 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 25.3% จากงวดเดียวกันปี 2563 ที่มีกำไร 13,279.16 ล้านบาท หรือ 0.95 บาทต่อหุ้น ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองและภาษีเงินได้ เท่ากับ 47,841 ล้านบาท ลดลง 11.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารและบริษัทย่อย (หลังหักรายได้รอตัดบัญชี) เท่ากับ 2,559,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% จากสิ้นปี 2563 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าภาครัฐ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อย
ส่วน NPLs Ratio-Gross อยู่ที่ 3.57% ลดลงจาก 3.81% ณ สิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี ผลจากการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
BAY ยืนเป้าหมายขยายสินเชื่อ 3-5%
เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAY กล่าวว่า งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโต 4.4% และ 4.2% ตามลำดับ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างต่อเนื่องผ่านหลายมาตรการเชิงรุก ตอกย้ำพันธกิจของธนาคารในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
กรุงศรียังคงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบาง เพื่อช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบจากโรคระบาด โดยยอดสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเป็น 233,617 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารได้สนับสนุนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดรวม 25,709 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564
“แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเปราะบางที่เพิ่มขึ้น แต่การเร่งฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในช่วงต้นไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นความต้องการสินเชื่อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 กรุงศรีจึงคงเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในปีนี้ ในกรอบล่างของ 3-5%”
TTB กำไรโต 45.7% แต่สินเชื่อหดตัว
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/64 มีกำไร 2,358.64 ล้านบาท หรือ 0.0245 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 45.7% จากงวดเดียวกันปี 63 ที่มีกำไร 1,618.90 ล้านบาท หรือ 0.0168 บาทต่อหุ้น
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 3/64 ลดลง 4.9% เทียบช่วงเดียวกันปี 2563 เนื่องจากสินเชื่อชะลอตัวและอัตราผลตอบแทนเงินให้สินเชื่อลดลง ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3.4% มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมลูกค้ารายย่อยเริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ว่ามีมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐจากวิกฤตโควิด รายได้ค่าธรรมเนียมกองทุนรวมมีสัญญาณการฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมสูงตามแนวโน้มตลาดที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์แอสชัวรันส์ค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อปรับตัวลดลง เนื่องจากยอดขอสินเชื่อเช่าซื้อรายใหม่ลดลงจากการชะลอการส่งมอบรถยนต์ในช่วงล็อคดาวน์
นักวิเคราะห์มองแนวโน้มกำไรไตรมาส 4 และปีหน้าสดใส
มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากผลประกอบการกลุ่มแบงก์ที่ทยอยประกาศออกมาส่วนใหญ่ดีกว่าคาดการณ์ ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4
ทั้งนี้เชื่อว่าในไตรมาส 4 ปีนี้ กำไรของกลุ่มธนาคารน่าจะดีขึ้นจากไตรมาส 3 ปีนี้ และไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากแนวโน้มการตั้งสำรองที่จะลดลง เพราะหลายธนาคารตั้งสำรองอย่างระมัดระวังอย่างมากในไตรมาสนี้ไปแล้ว ขณะที่ NPL ก็น่าจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ หลังจากที่กลุ่มธนาคารเผชิญกับความเสี่ยงจากโควิดที่กดดันเศรษฐกิจมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี
โดยก่อนหน้านี้ เคยมีการคาดการณ์กันว่า Gross NPL ของกลุ่มแบงก์มีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นไปถึง 9 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท แต่ข้อมูลพบว่ายังคงรักษาระดับอยู่ที่ 5 แสนล้านบาทเอาไว้ได้ เช่นเดียวกันกับ NPL/Loan ที่ยังอยู่ในระดับ 4%
ขณะเดียวกัน การขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาสที่ 4 ก็มีแนวโน้มขยายตัวได้ เนื่องจากประเทศไทยมีการเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เกือบ 100% หรือเกือบใกล้เคียงกับช่วงก่อนการเกิดวิกฤติโควิด
ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อของกลุ่มธนาคาร จะพุ่งเป้าไปที่มุมมองของผู้บริหารทางด้านการเติบโตของสินเชื่อ และความกังวลต่อ NPL รวมถึงนโยบายเชิงกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับการ Transformation การนำใช้ Technolgy และการสร้าง New Business
ฝ่ายวิจัย บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ระบุว่า ผลประกอบการของแบงก์ไตรมาส 3 ปีนี้ จะมีการเติบโตจากการตั้งสำรองที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว โดยมองกำไรโดยรวมอยู่ที่ 4.1-4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากงวดเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 18% จากไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนทั้งปี 2564 ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ว่ากำไรกลุ่มแบงก์จะอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท และอาจมีโอกาสไปแตะ 1.72-1.73 แสนล้านบาท หรือโตราว 20% และคาดว่ากำไรจะเพิ่มข้ึนต่อเนื่อง 7% ในปี 2565
ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์มากกว่าตลาด เพราะมีทิศทางฟื้นตัว ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ ซื้อขายยังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV) ต่ำเพียง 0.7 เท่า ซึ่งยังโอกาสที่ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ยังปรับขึ้นได้
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP