×

10 เรื่องเบื้องหลังที่รู้ก็ได้ไม่รู้ก็ได้ของ GDH จากปากคำของ จิระ มะลิกุล และวรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ในงาน Roundtable

05.07.2019
  • LOADING...

ในช่วงสุดสัปดาห์กลางหน้าฝนที่ท้องฟ้าแสนโหดร้าย THE STANDARD POP มีโอกาสไปนั่งหลบสายฝนที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดภายใต้โครงสร้างอาคารแห่งใหม่ของสมาคมฝรั่งเศสที่กำลังจัดงาน Roundtable อีเวนต์ที่เป็นตัวกลางจัดกิจกรรมเชื่อมระหว่างหนังแมส-อินดี้, ผู้กำกับรุ่นใหญ่-รุ่นใหม่ และคนทำหนังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ด้วยกัน 

 

หนึ่งในอีเวนต์ที่เรามีโอกาสเข้าร่วมคือช่วง Spotlight ที่ได้ ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์หนัง ชวน เก้ง-จิระ มะลิกุล และวรรณ-วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ สองโปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของค่าย GDH มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท GTH เมื่อ 15 ปีก่อน เบื้องหลังกระบวนการผลิต เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสนุกๆ ที่ส่งผลต่อหนังระดับปรากฏการณ์หลายเรื่องในทุกวันนี้

 

1. เป้าหมายแรกในการตั้งบริษัท GTH คือการดึงโมเดลสตูดิโอถ่ายทำของฮอลลีวูดมาใช้ที่ประเทศไทย แรกเริ่มตั้งใจเป็นบริษัทผลิตภาพยนตร์ที่รับโปรเจกต์จากที่อื่น โดยมีโปรดักชันเฮาส์ทำงานของตัวเองเป็นส่วนเสริม 

 

ปรากฏว่าโปรเจกต์ที่ได้รับส่วนใหญ่ยังไม่ได้คุณภาพตามที่ตั้งใจ จึงเริ่มเพิ่มจำนวนงานที่สร้างขึ้นเองมากขึ้น ช่วงแรกวางเป้าหมายไว้ที่ปีละ 8 เรื่อง แต่ค่อยๆ ลดลงเพื่อใช้เวลาในการดูแลผลงานแต่ละเรื่องให้ดีขึ้น

 

2. กระบวนการสร้างหนังจะเริ่มจากผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์เริ่มคิดคำ ประเด็น หรือไอเดียขึ้นมาได้ จนเข้าสู่ช่วงคิดไอเดีย เวลานี้จะถูกเก็บเป็นความลับ แต่ละคนแยกย้ายไปใช้เวลานานเท่าไรก็ได้เพื่อพัฒนาเป็นเรื่องย่อทรีตเมนต์ (บทหนังแบบโครงร่าง) เสนอที่ประชุมบอร์ดบริษัท (มี 8 คน แบ่งตามความถนัดแต่ละสาขา) เพื่อนำไปเขียนบทหนังแบบละเอียด ซึ่งจะตัดสินว่าหนังเรื่องนั้นจะได้สร้างหรือเปล่าจากขั้นตอนนี้ 

 

ด้วยความที่เก้งและวรรณเป็นโปรดิวเซอร์ที่อยู่ในทีมคิดคอนเทนต์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีสถานะเป็นสมาชิกบอร์ดพิจารณาด้วย เก้งพูดติดตลกบนเวทีว่าโปรเจกต์ไหนๆ ก็แทบจะผ่าน 100% เพราะเหมือนคิดโปรเจกต์ให้ตัวเองพิจารณา และชี้ชวนให้เห็นว่ามีความลักลั่นย้อนแย้งที่คล้ายกับการ ‘บริหาร’ อะไรสักอย่างในประเทศเราอยู่เหมือนกัน

 

3. วิธีการอ่านบทของเก้งคือการอ่านบทให้เหมือนกับการดูหนัง อ่านแบบไม่มีการกลับไปอ่านซ้ำถ้าไม่เข้าใจ และอ่านรวดเดียวตั้งแต่ต้นจนจบไม่ว่าบทจะยาวขนาดไหน จะได้รู้ว่าคนดูจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไปในทุกชั่วโมง 

 

ตอนอ่านบทเรื่อง เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ เก้งเครียดมากถึงขนาดต้องพักเพื่อไปซื้อเบียร์มาดื่ม ส่วนเจ้าของแชมป์บทที่มีการพัฒนาหลายครั้งที่สุดคือ น้อง.พี่.ที่รัก โดยทำสถิติไว้ที่ 30 ดราฟต์ 

 

บทหนังทุกเรื่องจะต้องผ่านตาของวรรณแบบไม่มีข้อยกเว้น เก้งบอกว่าการอ่านบทของวรรณเรียกได้ว่า ‘หินที่สุดในเอเชียอาคเนย์’ แล้ว

 

4. รายได้ของ GTH ติดบัญชีตัวแดงมาตลอดเวลา 7 ปีแรกที่เริ่มก่อตั้งบริษัท ถึงขนาดต้องกลับมาคุยกันว่าจะปิดบริษัทดีไหม จนกระทั่งมีเรื่อง รถไฟฟ้า มาหานะเธอ ที่ทำรายได้ไป 145.82 ล้านบาท ทำให้เริ่มมองเห็นตัวเลขสีเขียวในบัญชีขึ้นมา

 

รถไฟฟ้า มาหานะเธอ เริ่มคิดโปรเจกต์ตั้งแต่กีฬาโอลิมปิก ปี 2004 จนเวลาผ่านไปถึงโอลิมปิก ปี 2008 จึงพัฒนาโปรเจกต์ผ่านและเข้าสู่กระบวนการถ่ายทำ

 

5. พี่มาก..พระโขนง มีจุดเริ่มต้นจากการอยากขยายจักรวาลแก๊ง ‘คนกลาง’ และ ‘คนกอง’ ของ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ที่จะพาทั้ง 4 คนมาอยู่ในตำนานแม่นาคพระโขนง แต่ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น พี่มาก..พระโขนง หนังเรื่องนี้เคยตั้งชื่อโปรเจกต์ว่า ‘คนกอง The Movie’

 

ทีมพัฒนาบทหมกมุ่นอยู่กับการหามุกตลกและวิธีหักมุมให้เข้ากับเพื่อนสนิททั้ง 4 คนเป็นเวลา 1 ปีเต็ม แต่รู้สึกว่ายังไม่พอ จนมาประกอบกับความสงสัยของวรรณที่รู้สึกว่าทำไมพี่มากต้องตกใจทุกเวอร์ชัน กลัวลนลานจนเปลี่ยนจากพระเอกเป็นตัวประกอบทุกครั้งเมื่อรู้ว่าแม่นาคเป็นผี 

 

และมีน้องในทีมเขียนบทพูดขึ้นมาว่า จะเป็นอย่างไรถ้าพี่มากรู้ความจริงมาตลอด นี่เป็นการปลดล็อกสู่การตีความใหม่จากเดิมที่เวอร์ชันนี้ทุกคนจะเห็นว่ามากรักนาคขนาดไหน 

 

หนังทำรายได้ทั่วประเทศเป็นปรากฏการณ์ระดับ 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่ฐานคนดูของ GTH จะอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ แต่ พี่มาก..พระโขนง โดนใจคนจากทุกพื้นที่ในประเทศ ถึงขนาดมีคนรายหาได้เสริมจากการเหมารถสองแถวจัดทริปเพื่อพาผู้สูงอายุในต่างจังหวัดเข้ามาดูหนังในโรงหนัง

 

6. ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้ เริ่มต้นจากเก้งหนีไปทำงานเงียบๆ ที่ร้านกาแฟแล้วได้ยินคนนั่งสอนภาษาอังกฤษ โดยมีนักเรียนเป็นผู้ชายใส่ชุดช่างที่พูดภาษาอังกฤษได้แย่มาก แต่เก้งรู้สึกขำกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า ถึงขนาดโทรหาวรรณให้รีบมาหา เพราะเขาเจอ ‘เงินล้าน’ อยู่ตรงนี้ 

 

เก้งฝากเบอร์ให้พนักงานร้านติดต่อกลับถ้าครูสอนภาษาอังกฤษมาอีกครั้ง แล้วเขาก็ติดต่อมาจริงๆ แต่คนที่มาดันเป็นครูที่สอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติ ซึ่งเตรียมตัวมาให้ข้อมูลมาดีมากจนเก้งและวรรณที่นั่งฟังอยู่ไม่กล้าขัด ต้องนั่งฟังสิ่งที่เขาพูดเป็นเวลา 2 ชั่วโมงจนจบ และแอบเคลิ้มๆ ว่าหรือเราจะเปลี่ยนมาทำเรื่องครูสอนภาษาไทยกันดีนะ

 

7. เก้งบอกน้องในทีมกำกับเสมอว่าเราโชคดีที่มีโอกาสได้ทำหนัง หน้าที่ของเราคือทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อย่าเพิ่งคิดถึงเรื่องเงิน ให้เริ่มคิดว่าทำอย่างไรคนถึงอยากดู เพราะเขายังเชื่อว่าคนไทยอยากดูหนังดี เพียงแต่หนังดีก็ควรจะคุยกับเขาบ้าง ไม่อย่างนั้นหนังที่ดีจะกลายเป็นหนังที่สูงส่ง เข้าถึงยาก และไม่ทำเงิน สิ่งที่เป็นความฝันสูงสุดของเก้งมาตลอดคือการทำให้หนังที่ดีและหนังที่ทำเงินเป็นเรื่องเดียวกัน 

 

ในกระบวนการสร้าง พวกเขาไม่เคยคิดว่าจะทำหนังให้ใครดู ให้อิสระกับผู้กำกับในการสร้างผลงานตามตัวตนและรูปแบบที่ต้องการให้มากที่สุด แล้วค่อยมาคิดเรื่องกลุ่มคนดูในช่วงทำแผนการตลาดและโปรโมตหนัง

 

8. ทุกคนยังสามารถส่งผลงานเข้ามาที่ GDH ได้เสมอ เพียงแต่ไม่ต้องทำพรีเซนเทชันมาว่าหนังจะเป็นแบบไหน จะใช้ใครเป็นนักแสดง หนังจะเหมาะกับ GDH หรือเปล่า หนังจะทำเงินได้เท่าไร เพราะสิ่งที่ GDH ต้องการมีเพียงอย่างเดียวคือบทหนังที่ดีเท่านั้น 

 

นอกจากนั้นคุณไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้ามาหา GDH เพียงแค่ทำผลงานและสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด คุณภาพของผลงานจะทำให้ GDH เป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาคุณเอง

 

9. ยกตัวอย่างกรณีของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่เริ่มจาก 10 โมงของเช้าวันหนึ่ง เก้งและวรรณได้ดูหนังสั้นของบาสแล้วสนใจ จนเป็นฝ่ายเริ่มหาช่องทางติดต่อและฝากเบอร์ติดต่อให้บาสโทรกลับ ปรากฏว่าบาสรีบโทรกลับตั้งแต่ตอนเที่ยง เก้งและวรรณบอกว่าสนใจทำงานด้วย แต่บาสยังเรียนอยู่ที่นิวยอร์ก บาสรีบตอบกลับมาว่า “สิ่งที่ผมเรียนอยู่ไม่สำคัญหรอกครับ” แล้วรีบบินกลับมาทำหนังเรื่อง เคาท์ดาวน์ ใน 2 เดือนต่อมา 

 

ถึงแม้ว่า เคาท์ดาวน์ อาจจะไม่ใช่หนังที่เรียกว่าประสบความสำเร็จด้านรายได้แบบเต็มปาก แต่วรรณก็เชื่อว่าเราจำเป็นต้องมีหนังอย่าง เคาท์ดาวน์ เพื่อให้บาสมีโอกาสสร้างผลงานอย่าง ฉลาดเกมส์โกง ที่กลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ถึงขนาดฮอลลีวูดขอซื้อลิขสิทธิ์ในเวลาต่อมา

 

10. ช่วงสุดท้ายมีการถามโปรดิวเซอร์ทั้งสองคนว่าอยากเห็นการสนับสนุนอะไรจากรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้นบ้าง ด้วยความที่ GDH เป็นบริษัทที่ดำเนินงานด้วยตัวเองแทบทุกกระบวนการมาตั้งแต่วันก่อตั้งบริษัท GTH ทำให้ทั้งสองคนยังมองภาพไม่ออกว่าอยากเห็นการสนับสนุนแบบไหน เพียงแค่ทิ้งท้ายสั้นๆ ไว้ว่า

 

“อะไรก็ได้ แต่ขอให้ทำ สักอย่างก็ยังดี” 

 

หมายเหตุ: นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงาน Roundtable ที่ยังมีอีเวนต์เสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบุคคลทำงานที่อยู่ในทุกกระบวนการสร้างหนังทั้งไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่ ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับ 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว, พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับ กระเบนราหู, โสฬส สุขุม โปรดิวเซอร์ และพิมพกา โตวิระ โปรดิวเซอร์รุ่นใหญ่, ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์หนังชื่อดัง ฯลฯ 

 

งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 กรกฎาคม 2562 ที่สมาคมฝรั่งเศส สามารถติดตามกำหนดการของแต่ละกิจกรรมได้ที่ www.purinroundtable.org และเฟซบุ๊กเพจ @Purinpictures

 

 

 

ภาพ: Purin Pictures

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising