×

10 สตาร์ทอัพและบริษัทชั้นนำที่กำลังพลิกโฉมอนาคต

15.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • รู้จักกับสตาร์ทอัพและบริษัทชั้นนำที่กำลังมาแรง และมีบทบาทสำคัญในแวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรมโลก ครอบคลุมทั้งอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีการเกษตร ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์บนบล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ บริการ On-demand ระบบขนส่ง และยานอวกาศ

     เราเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะรู้จักสตาร์ทอัพรุ่นบุกเบิกที่ผลักดันโมเดลธุรกิจแบบสตาร์ทอัพให้เป็นกระแสโด่งดังไปทั่วโลกอย่าง Uber กับ Airbnb ที่เติบโตเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน แต่ใช่ว่าเส้นทางของธุรกิจเหล่านี้จะมุ่งไปสู่ความสำเร็จ ดังประโยคยอดฮิตที่ว่า

     ‘90% ของสตาร์ทอัพล้มเหลว’

     สตาร์ทอัพจำนวนมากกวาดเงินระดมทุนได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ แต่ไปไม่รอดในระยะยาว เช่น Beepi เว็บซื้อขายรถมือสองที่ระดมทุน 5 ครั้ง เป็นจำนวนเงินกว่า 148 ล้านดอลลาร์จาก 35 นักลงทุน แต่ขาดทุนหนักและปิดตัวต้นปี 2017

     ปีนี้ THE STANDARD ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพที่ทรงอิทธิพลบนเวทีธุรกิจ จากการรวบรวมแหล่งข้อมูล รายงานวิจัย และบทสรุปวิเคราะห์เทรนด์จากสถาบันชั้นนำ โดยพิจารณาทั้งในแง่มูลค่าธุรกิจ นวัตกรรม ศักยภาพการแข่งขัน และแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจในแต่ละหมวดอุตสาหกรรม บางรายเป็นธุรกิจใหม่มาแรง บางเจ้าผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทใหญ่ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจระดับประเทศ

     และนี่คือ 10 สตาร์ทอัพที่เราอยากให้คุณทำความรู้จัก

 

Photo: DiDi Chuxing

  1. DiDi Chuxing

     ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ (Ride-hailing) รายนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเคยเอาชนะคู่แข่งระดับโลกอย่าง Uber จากศึกชิงตลาดในจีน จนยอมถอยทัพให้ DiDi เข้าซื้อและควบรวมธุรกิจ Uber China มาแล้ว

     Cheng Wei ผู้ก่อตั้งบริษัทเป็นนักธุรกิจหนุ่มชาวจีนที่เคยทำงานอีคอมเมิร์ซกับ Alibaba นาน 8 ปี และดำรงตำแหน่งรองประธานของ Alipay บริษัทลูกที่ให้บริการชำระเงินออนไลน์ ปี 2012 เขาเปิดตัวสตาร์ทอัพ DiDi Dache โดยพัฒนาแอปฯ เรียกรถแท็กซี่ ต่อมาถูกควบรวมกับบริษัทคู่แข่ง Kuaidi Dache ซึ่งมี Alibaba Group หนุนหลังอยู่ จนกลายเป็นผู้นำตลาดในจีนแต่เพียงผู้เดียว
นอกจากจะเป็นธุรกิจบริการเรียกรถที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจาก Uber แล้ว DiDi ยังติด 5 อันดับแรกของสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก ประมาณ 50 พันล้านดอลลาร์ จากรายงานโดย CB Insights, TechCrunch และ Crunchbase

     กลยุทธ์เด็ดที่ DiDi งัดมาสู้กับ Uber ก็คือ การขยายธุรกิจผ่านการลงทุน แทนที่จะบุกตลาดเอง ก็ตั้งตัวเป็น ‘บริษัททุน’ อัดฉีดเม็ดเงินสนับสนุนธุรกิจแชร์รถรายใหญ่ระดับภูมิภาค เช่น Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Lyft ในอเมริกา, Ola ในอินเดีย, 99 ในบราซิล และ Taxify ที่เจาะตลาดในกลุ่มประเทศแถบยุโรป แอฟริกา และเม็กซิโก ซึ่งล้วนแต่เป็นคู่แข่งสำคัญของ Uber ทั้งสิ้น และกำลังจับตาตลาดใหม่ในลาตินอเมริกาอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นแผนการที่ชาญฉลาดทีเดียว ที่สำคัญ DiDi ยังมีพันธมิตรใหญ่คอยสนับสนุน อาทิ Apple, Bank of Communications ธนาคารใหญ่ในจีน, Foxconn และ SoftBank
     โฆษกบริษัทเคยให้สัมภาษณ์กับ Forbes ว่า “คุณสามารถครองตลาดในประเทศและก้าวสู่ระดับโลกได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งวิธีนี้จะนำไปสู่การผนึกกำลังความร่วมมือครั้งใหญ่”

     ปีนี้ DiDi ยังมุ่งพัฒนา AI หวังยกระดับบริการและพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ แข่งกับ Uber พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะขยายตลาดสู่ระดับโลกในเร็วๆ นี้ ซึ่งเราน่าจะได้เห็นการเปิดศึกอันดุเดือดระหว่างสองเจ้านี้กันอีกครั้งแน่นอน

 

Photo: JD.com

  1. JD.com

     ดูเหมือนว่าคู่แข่งของ Alibaba จะไม่ได้มีแค่ Amazon เท่านั้น เพราะเวลานี้ JD.com หรือ Jingdong ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น ‘Amazon แห่งเมืองจีน’ กำลังเร่งเครื่องแข่งกับ Alibaba แบบเต็มสูบ

     Richard Liu เริ่มทำธุรกิจ JD.com ปี 1998 ก่อนจะยื่นขาย IPO เข้าตลาดหุ้น Nasdaq ในอเมริกาปี 2014 ทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงกว่า 7,300 ล้านดอลลาร์ และติดอันดับ 15 บริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงสุดในปีนั้น โดย Liu กล่าวว่าเป้าหมายต่อไปของบริษัทก็คือ ล้มยักษ์ใหญ่ Alibaba ให้ได้นั่นเอง ซึ่งการขยายอาณาจักรในช่วง 2-3 ปีต่อมาก็ยิ่งตอกย้ำว่าเขาเอาจริง
     เช่น ก่อตั้งบริษัทย่อย JD Finance เปิดแพลตฟอร์มระดมทุนหุ้นเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพและฟินเทคจีน, พัฒนา Mobile Commerce สำหรับแอปพลิเคชันแชตของ Tencent, ซื้อ Farfetch ธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์ที่กำลังมาแรง แข่งกับ Tmall ตลาดอีคอมเมิร์ซ B2C ในเครือ Alibaba นอกจากนี้ยังใช้ระบบบล็อกเชนแทร็กข้อมูลฟาร์มผู้ผลิตเนื้อสัตว์เพื่อรับรองความปลอดภัย

 

 

     แต่ที่สร้างอิมแพกต์มากที่สุดคือ การผนึกกำลังที่ลงตัวกับ Walmart ค้าปลีกยักษ์ในอเมริกา เพราะ JD.com เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซอยู่แล้ว ทั้งยังมีความรู้ด้านข้อมูลและเทคโนโลยี จึงตอบโจทย์ความต้องการของ Walmart ที่พยายามจะขยายตลาดออนไลน์ และเข้าถึงลูกค้าทุกช่องทาง (Omnichannel) ขณะเดียวกัน JD.com ก็มี Walmart เป็นซัพพลายเชนรายใหญ่ป้อนสินค้าเข้าตลาดของตัวเองให้ลูกค้าชาวจีนได้มหาศาล

     ปัจจุบัน JD.com ลงทุนในเทคโนโลยี Internet of Things และ Big Data และเพิ่งเปิดตัวศูนย์คัดแยกสินค้าที่ใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบเป็นแห่งแรก เพื่อรองรับออเดอร์ทางออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 9,000 รายการ/ชั่วโมง คำถามก็คืออีคอมเมิร์ซรายนี้จะเดินเกมอย่างไรในการแข่งขันตลาดโลก

 

Photo: SpaceX

  1. SpaceX

     SpaceX บริษัทสำรวจอวกาศเอกชนที่น่าจับตามองมากที่สุดในเวลานี้ ไม่ใช่แค่เพราะเป็นบริษัทที่ก่อตั้งด้วยเงินทุนส่วนตัวของ อีลอน มักส์ ซีอีโอ Tesla แต่ยังมีความมุ่งมั่นทะเยอทะยานเหนือกว่าที่สตาร์ทอัพหรือบริษัททุนรายไหนในตอนนั้นจะกล้าฝันถึง และค่อยๆ เปลี่ยนมันให้เป็นความจริง SpaceX ยังได้เซ็นสัญญากับ NASA อนุมัติให้ปฏิบัติภารกิจส่งมนุษย์อวกาศเดินทางไป-กลับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ของวงการธุรกิจเอกชนด้านอวกาศ

     หลังจากเกิดเหตุระเบิดที่ฐานปล่อยจรวดระหว่างการทดสอบเมื่อกันยายนปีที่แล้ว SpaceX ก็กลับมากู้วิกฤตได้สำเร็จอีกครั้ง ด้วยการปล่อยจรวดฟัลคอนไนน์ (Falcon 9) สู่วงโคจร และกลับมาลงจอดบนฐานอย่างปลอดภัย สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการนำจรวดกลับมาใช้งานอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการขนส่งทางอวกาศได้มหาศาล ส่งผลให้ลูกค้าภาครัฐและเอกชนสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำเงินได้ราวๆ 7,000 ล้านดอลลาร์

     เช่น โครงการปล่อยชุดดาวเทียมสื่อสารอิริเดียมขึ้นสู่วงโคจรต่ำ Iridium Next และรับจ้างปล่อยดาวเทียมสอดแนมให้กับกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งปกติแล้วจะถูกผูกขาดโดยบริษัท United Launch Alliance เท่านั้น

 

 

     รายงานวิจัยหนึ่งของนาซาและแอร์ฟอร์ซ ได้ประเมินงบการสร้างของจรวดฟัลคอนไนน์ ตั้งแต่ร่างแบบแรกจนถึงการปล่อยจรวดครั้งแรก คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 440 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบสร้างจรวดของนาซา พิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทเอกชนที่มีขนาดเล็กกว่าก็แซงหน้าองค์กรระดับโลกในการแข่งขันผลิตเทคโนโลยีจรวดได้สำเร็จ

     ทว่า อีลอน มักส์ มีภารกิจและเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือการส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร ด้วยยานอวกาศท่องเที่ยวที่รองรับผู้โดยสารได้มากถึง 5 แสนที่นั่ง เขาเพิ่งเปิดตัวชุดอวกาศโฉมใหม่ของ SpaceX ที่มีดีไซน์สุดล้ำ และจะเริ่มภารกิจดาวอังคารในปี 2018

 

Photo: WeWork

     4. WeWork

     ในยุคที่ใครๆ ก็พากันเปิดโคเวิร์กกิ้งสเปซสุดฮิป รองรับชาวฟรีแลนซ์ที่ออกมาทำงานนอกบ้าน WeWork ไปไกลกว่านั้นด้วยการขยายธุรกิจจากการให้เช่าพื้นที่ออฟฟิศเล็กๆ ในบรูกลิน ไปสู่คอมมูนิตี้ที่เปิดให้แชร์พื้นที่ทำงานและออฟฟิศมากถึง 160 สาขา 38 เมืองทั่วโลก และกำลังเดินหน้าสร้างอาณาจักรอย่างมุ่งมั่น

     Miguel McKelvey และ Adam Neumann สองผู้ก่อตั้ง WeWork กล่าวว่าไอเดียตั้งต้นของพวกเขาก็คือ การสร้างคอมมูนิตี้ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันและทำงานร่วมกันจริงๆ เมื่อธุรกิจขยับขึ้นสู่ตลาดโลก พวกเขาปรับจุดยืนจากธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซ มาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาและออกแบบการใช้พื้นที่ออฟฟิศให้กับบริษัทใหญ่อย่าง IBM และไมโครซอฟท์ โดยมองว่าการจัดการพื้นที่ออฟฟิศก็ถือเป็นบริการแบบหนึ่ง (Office Space as a service)

     ปีที่แล้ว บริษัทระดมทุนเงินได้ถึง 690 ล้านดอลลาร์สำหรับแผนขยายตลาดในเอเชีย และเพิ่งจะได้เงินระดมทุนก้อนใหญ่ 760 ล้านดอลาร์ จาก SoftBank ส่งผลให้บริษัทติดอันดับหนึ่งในสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกทันที ด้วยมูลค่าราว 21,000 ล้านดอลลาร์ รองจาก Uber และ Airbnb ตามลำดับ
เบื้องหลังความสำเร็จของสตาร์ทอัพระดับหมื่นล้านรายนี้คืออะไร?

 

Photo: WeWork

     WeWork เดิมพันครั้งใหญ่กับการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้พื้นที่ออฟฟิศของธุรกิจหลากหลายประเภทหลายพันราย เช่น ดูว่าคนทำงานกันอย่างไร บรรยากาศแบบไหนที่เอื้อให้คนทำงานได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขนาดพื้นที่ทำงานที่เหมาะสม เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาประสบการณ์กับผู้ใช้บริการและลูกค้าอีกที

     ปัจจุบันอาณาจักรของ WeWork ครอบคลุมตั้งแต่บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซ ออฟฟิศ ฟิตเนส บริการแชร์ที่พัก WeLive และกลายเป็นชุมชนของนักสร้างสรรค์และสตาร์ทอัพ WeWork ยังเตรียมบุกตลาดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเข้าซื้อกิจการคู่แข่ง Spacemob ในสิงคโปร์ไปแล้ว

 

Photo: SenseTime

  1. SenseTime

     ท่ามกลางกระแส ‘AI-First’ ที่กำลังบูมสุดๆ ในจีน SenseTime ได้ไต่อันดับขึ้นมาเป็นสตาร์ทอัพผู้ให้บริการด้าน AI แถวหน้าของวงการธุรกิจการเงิน
     บริษัทก่อตั้งปี 2014 มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีจดจำใบหน้าและ Deep learning ที่ประยุกต์ใช้กับระบบชำระเงินและการวิเคราะห์ภาพวัตถุ เช่น การยืนยันตัวตนเพื่อใช้บัตรเครดิตธนาคาร และระบบรักษาความปลอดภัย
     ลูกค้าส่วนมากถือว่าเป็นเจ้าใหญ่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น China Mobile, UnionPay, Huawei, Xiaomi, JD.com, OPPO และ ViVo


SenseTime ยังทำลายสถิติการระดมทุนรอบ Series B ได้เงินสูงถึง 410 ล้านดอลลาร์ มีผู้เข้าร่วมระดมทุนเกือบ 20 คน ส่งผลให้บริษัทกลายเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่แห่งวงการ มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 1,500 พันล้านดอลลาร์ ผู้บริหาร SenseTime เปิดเผยว่าจะนำเงินทุนดังกล่าวไปใช้ในงานวิจัยนวัตกรรมเชิงลึก รวมทั้งริเริ่มการสำรวจเทคโนโลยีในตลาดอื่นๆ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ เพื่อยกระดับระบบนิเวศของอุตสาหกรรม AI ให้พร้อมก้าวสู่ตลาดโลก

 

Photo: SenseTime


     รัฐบาลตั้งเป้าว่าจีนจะขึ้นมาเป็นผู้นำด้าน AI ของโลกภายในปี 2023 และคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรม AI จะสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ราว 59,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนมองว่า SenseTime มีโอกาสจะเติบโตเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เช่นเดียวกับ Alibaba และ Tencent ในอนาคต

 

Photo: Hyperloop One



     6. Hyperloop One
     Hyperloop One คือหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบขนส่งความเร็วสูงโดยใช้แรงดันอากาศ Hyperloop ซึ่งเป็นแนวคิดที่ อีลอน มักส์ เสนอขึ้นในปี 2013 ว่าจะเป็นอนาคตใหม่ของการเดินทาง อย่างไรก็ดี ณ เวลานั้นอีลอนชี้ว่าเขาต้องการทุ่มเทให้กับบริษัท SpaceX จึงเสนอให้บริษัทอื่นนำไอเดียไปแข่งขันพัฒนากันต่อ ปรากฏว่าธุรกิจน้อยใหญ่ในแต่ละประเทศสนใจมากทีเดียว แต่ดูเหมือนว่าจะมีสองบริษัทที่มีผลงานก้าวหน้าและเป็นรูปธรรมมากที่สุด นั่นคือ บริษัท Hyperloop Transportation Technologies (HTT) และ Hyperloop One ก่อตั้งปี 2014
     เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Hyperloop One ทำคะแนนแซงคู่แข่งด้วยการทดสอบวิ่ง Hyperloop ผ่านท่อสุญญากาศ บริเวณทะเลทรายเนวาดา และปล่อยภาพสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก เพื่อประกาศความก้าวหน้าของบริษัท จนเป็นข่าวใหญ่ครึกโครม ขณะที่โฆษกของ HTT ออกมาชี้แจงว่าทางบริษัทไม่ต้องการเปิดเผยภาพการทดสอบในพื้นที่สาธารณะ เพราะกังวลว่าจะถูกละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา อย่างไรก็ดี HTT อ้างว่าระบบของบริษัทจะรองรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไกลภายในเวลาไม่กี่นาที

 


     บริษัทยังออกมาประกาศความสำเร็จว่า Hyperloop One  ผ่านการทดสอบวิ่งบนรางจำลองในท่อสุญญากาศเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกแล้ว ทำความเร็วได้ถึง 112 กิโลเมตร/ชั่วโมง แถมยังเผยโฉมของพอด หรือยานพาหนะสุดล้ำสำหรับบรรทุกเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและสินค้าได้ในตัว
ผู้ร่วมก่อตั้งกล่าวว่า Hyperloop One จะเป็นระบบขนส่งเดินทางที่ปลอดภัย ปลอดมลพิษ และเร็วที่สุดในโลก
     เว็บไซต์ Crunchbase ชี้ว่า Hyperloop One ระดมทุนเงินไป 3 รอบ โดยรอบล่าสุด (ตุลาคม 2016) ระดมทุนได้ 50 ล้านดอลลาร์จาก DP World Group รัฐวิสาหกิจการท่าเรือในดูไบ ซึ่งสนใจพัฒนาระบบ Hyperloop ในดูไบ น่าจับตามองต่อไปว่า Hyperloop One จะสร้างอนาคตใหม่ของการเดินทางได้สำเร็จหรือไม่

 

Photo: digitalinsuranceagenda.com

  1. Guardtime

     เหตุมัลแวร์เรียกค่าไถ่ระบาดที่สร้างความเสียหายไปทั่วโลกในช่วงกลางปี 2017 ทำให้บริษัทเอกชนและภาครัฐพุ่งเป้าความสนใจมาที่ระบบการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ นำมาซึ่งการลงทุนในธุรกิจสายไซเบอร์เทค (Cybertech) จำนวนมาก
     Guardtime คือสตาร์ทอัพในเอสโตเนียที่ให้บริการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและป้องกันการโจรกรรมข้อมูลขององค์กรด้วยระบบบล็อกเชนที่น่าจับตามอง จนรัฐบาลดึงเข้ามาพัฒนาความปลอดภัยของข้อมูลสาธารณสุขภายใต้ระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์หรือ (e-government system)
     เอสโตเนียเป็นประเทศแรกๆ ที่รัฐบาลประกาศใช้บล็อกเชนและเริ่มวางรากฐานระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ปี 1997 โดยให้ประชาชนฝังชิปที่ระบุตัวตนเพื่อเข้าถึงฐานข้อมูลและบริการของรัฐกว่า 1,000 รายการ เช่น การยื่นภาษี โหวตเลือกตั้งออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นแนวคิดที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน
     GuardTime ก่อตั้งขึ้นปี 2011 เริ่มจากให้บริการเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Keyless Signature Infrastructure (KSI) เพื่อเป็นทางเลือกของการรับรองความถูกต้องครบถ้วนของเนื้อหาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทอ้างว่าข้อมูลที่ได้รับการลงนามแล้วจะแก้ไขไม่ได้ ที่สำคัญ ข้อมูลที่มีการลงนามจะถูกตรวจสอบโดยใครก็ได้ และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีวันหมดอายุ
     ปี 2016 GuardTime ประกาศความร่วมมือกับหน่วยงานบริการสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (e-Health) ของเอสโตเนีย นำระบบบล็อกเชนเข้ามาพัฒนาความปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และธรรมาภิบาลของข้อมูลผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขเอสโตเนีย กว่า 1 ล้านคน ขณะที่ผู้อำนวยการหน่วยงานมองว่าการอัพเดตข้อมูลใหม่และรายงานแบบเรียลไทม์จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวง
     ปีที่แล้ว Guardtime มีรายได้ประมาณ 25 ล้านดอลลาร์ และยังมีสัญญากับบริษัทใหญ่ เช่น Ericsson และ กองทัพสหรัฐฯ ตลอดจนร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มระบบบล็อกเชนสำหรับประกันภัยทางทะเลครั้งแรกในโลก ร่วมกับบริษัทใหญ่ เช่น Maersk และไมโครซอฟท์

 

Photo: noTonomy



     8. nuTonomy

     ดูเหมือนว่าผู้ผลิตยานยนต์และบริษัทไอทีชั้นนำของโลกกำลังเดิมพันอนาคตกับการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับไว้สูงทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น Tesla, Uber, Google, Toyota, Volvo หรือ Baidu เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองจะไม่ตกขบวนนี้
     นอกจากบริษัทใหญ่ สตาร์ทอัพเองก็มีบทบาทน่าสนใจไม่แพ้กัน หนึ่งในนั้นคือ nuTonomy เทกสตาร์ทอัพที่เติบโตมาจากโปรเจกต์ของนักศึกษา MIT มุ่งพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับรถยนต์ไร้คนขับและหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ บริษัทได้เงินระดมทุน 16 ล้านดอลลาร์ และเริ่มทดสอบรถยนต์ไร้คนขับในสิงคโปร์เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้ทีมงานจาก Peugeot and Citroen เข้ามาร่วมด้วย
     เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทได้จับมือกับพันธมิตรใหม่อย่าง Lyft ธุรกิจ Ride-sharing ชื่อดังในอเมริกา คู่แข่งของ Uber ทั้งสองบริษัทจะร่วมกันวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์เพื่อยกระดับประสบการณ์ให้กับผู้ใช้บริการ สังเกตได้ว่าแทนที่ Lyft จะลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีเองเหมือนกับ Uber ก็รักษาจุดยืนของการสร้างเครือข่ายให้บริการรถเหมือนเดิม  โดยคาดว่าจะเริ่มนำร่องในเมืองบอสตันเป็นแห่งแรกภายในปีนี้

 

Photo: Vox Media 

 

  1. Vox Media

     ในบรรดาสื่อออนไลน์น้องใหม่มาแรงและเจ้าเก่าที่ปรับตัวเข้าสู่สมรภูมิออนไลน์ได้สมศักดิ์ศรี (โดยไม่เจ็บตัวมากนัก) เราสนใจ Vox Media ที่ก้าวกระโดดจากบล็อกข่าวกีฬามาสู่ธุรกิจสื่อร่วมสมัยที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

     น้อยคนจะรู้ว่า Vox Media ธุรกิจสื่อมัลติมีเดีย-ออนไลน์ชื่อดัง มีจุดเริ่มต้นมาจากบริษัท SportsBlogs Inc. เจ้าของเว็บบล็อกกีฬา SB Nation และเริ่มทำนิตยสารเฉพาะกลุ่ม โดยได้ Jim Bankoff เข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอและช่วยรีแบรนด์ธุรกิจใหม่ จนกลายมาเป็น Vox Media
     Vox Media บุกออนไลน์มากขึ้น โดยเปิดตัวเว็บไซต์ข่าวและเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี The Verge โดยดึงตัวนักเขียนเก่งๆ จากเว็บไอทีชื่อดังเข้ามาร่วมทีม เช่น Engadget  
     ธุรกิจขยายตัวและก้าวสู่ระดับโลกอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันถือครองสื่อในมือถึง 8 แบรนด์ด้วยกัน เช่น Vox.com เว็บข่าวหัวก้าวหน้าที่เน้นหนักไปทางการเมือง ผสมกับธุรกิจและวัฒนธรรม โดยนำเสนอได้ฉลาด มีรสนิยม และไม่น่าเบื่อ, Polygon อัพเดตข่าววงการเกม, Eater อัพเดตร้านอาหารและคอนเทนต์สไตล์กินดื่มเที่ยว, Racked สำหรับสายชอบช้อปปิ้ง ความงาม และแฟชั่น, Curbed ข่าวอสังหาฯ และบ้าน นอกจากนี้ ยังเข้าซื้อเว็บข่าวธุรกิจเทคโนโลยีน้องใหม่ Re/code ของอดีตบรรณาธิการ The Wall Street Journal และสร้างระบบโฆษณาออนไลน์ร่วมกับสื่อใหญ่ NBCUniversal ซึ่งได้ลงทุนใน Vox Media ถึง 200 ล้านดอลลาร์
     เว็บไซต์ Inc. ยังยกย่องให้ Vox Media เป็นสื่อที่โดดเด่นออกมาจากคู่แข่งในยุคที่สื่อแห่กันทำวิดีโอคอนเทนต์ โดยเดือนตุลาคมปลดล็อกยอดผู้เข้าชมวิดีโอบน YouTube มากถึง 1.1 พันล้านครั้ง

 

Photo: WeFarm

     10. WeFarm

     Agricultural Technology หรือ AgTech เป็นอีกเทรนด์ที่ได้รับความสนใจในเวลานี้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะได้กลายเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรและหน่วยอื่นๆ ขับเคลื่อนห่วงโซ่การผลิตและบริโภคไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เหล่านี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในวันที่มนุษยชาติจะต้องรับวิกฤตการขาดแคลนอาหารในอนาคต
     ปัจจุบัน 70% ของอาหารที่หล่อเลี้ยงคนทั่วโลกอยู่นั้นผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยกว่า 500 ล้านคน แต่ 90% ของกลุ่มคนเหล่านี้อาศัยอยู่พื้นที่ห่างไกลหรือไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ตลอดจนข่าวสารพื้นฐานเกี่ยวกับเกษตรกรรม ไม่เพียงเท่านั้น ทั่วโลกยังต้องเตรียมรับมือกับความต้องการบริโภคของจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้นอีก 3 พันล้านคนในปี 2050 และภาวะโลกร้อน
     WeFarm สตาร์ทอัพรายหนึ่งในสหราชอาณาจักรได้สร้างเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer (Network) ขึ้นมาให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ และก่อตัวเป็นชุมชนออนไลน์แห่งความรู้ โดยที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เป็นอุปสรรค
     หากเกษตรกรคนไหนสงสัยเกี่ยวกับเรื่องอะไร ก็สามารถส่งคำถามทาง SMS หรือต่ออินเทอร์เน็ตเข้าเว็บ WeFarm จะมีระบบหลังบ้านที่ใช้เทคโนโลยี Machine Learning คัดเลือกคำตอบจากผู้ใช้บริการที่มีความรู้ด้านนั้นๆ ส่งกลับไปยังผู้ถาม ซึ่งคำถามก็มีหลากหลาย ตั้งแต่การรักษาลูกไก่ที่ป่วยหนัก ไปจนถึงแหล่งตลาดสำหรับขายหัวหอม!
     บริษัทเปิดตัวในปี 2015 และขยายพื้นที่ให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ในปี 2016 มีเกษตรกรที่ใช้บริการมากถึง 100,000 คนในเคนยา ยูกันดา และเปรู โดยได้เงินระดมทุนสูง 1,600 ล้านดอลลาร์ จาก VC และนักลงทุนอื่นๆ เช่น LocalGlobe

     10 บริษัทที่กล่าวมาข้างต้นนี้อาจไม่ใช่ ‘ผู้นำ’ ของแต่ละอุตสาหกรรม หรือบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคนี้เสียทีเดียว แต่อย่างน้อยสิ่งที่ธุรกิจเหล่านี้ลงมือทำก็ก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลง และยังสะท้อนให้เห็นภาพรวมความเคลื่อนไหวในแวดวงอุตสาหกรรมธุรกิจ รวมทั้ง ‘ผู้เล่น’ หน้าเก่า-ใหม่ที่สลับบทบาทกันกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต

 

 

Photo: Flickr.com, Wefarm.org, nutonomy.com, hyperloop-one.com, sensetime.com

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising