วันนี้ (18 พฤษภาคม ) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน นำโดย รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว มหาวิทยาลัยบูรพา, ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จัดแถลงข่าวผลโหวตเสียงประชาชนจากคำถาม ‘ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่ ส.ว. ควรเคารพเสียงประชาชน โดยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส.’ มีการโหวตทั้งสิ้น 3,487,313 ครั้ง เห็นด้วย 2,964,217 โหวต คิดเป็น 85% และไม่เห็นด้วย 523,096 โหวต คิดเป็น 15%
การโหวตเสียงประชาชนที่ได้จัดทำ หลักการคือเปิดให้ประชาชนทำประชามติที่จัดทำโดยภาคประชาชน อีกทั้งการโหวตในครั้งนี้เป็นครั้งที่ประชาชนเข้าร่วมมากที่สุดตั้งแต่มีการทำการโหวตเสียงประชาชนทั้งหมด 3 ครั้ง
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตในการโหวตครั้งนี้คือ 12 ชั่วโมงสุดท้ายของการเปิดโหวต ตัวเลขไม่เห็นด้วยพุ่งสูงขึ้นถึง 93% จากการโหวต 300,000 ครั้ง จึงทำให้เปอร์เซ็นต์ในตัวเลือกเห็นด้วยลดต่ำลงเป็น 85% ประเทศที่โหวตมากที่สุดคือประเทศไทยทั้งหมด 3,388,957 เสียง รองลงมาคือเกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย และไต้หวัน
รศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า นักวิชาการมีข้อเสนอแนะต่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า การโหวตเสียงประชาชนทั้ง 3 ครั้ง มีเป้าหมายเดียวคือ ให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องสาธารณะของประเทศ ได้รับฟังเสียงของประชาชนสำหรับการโหวตในครั้งนี้ในประเด็น ‘การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ สว.’ และเนื่องจาก ส.ว. มีอำนาจเท่ากับ ส.ส. ในการโหวตเลือกรัฐมนตรี และไม่ได้มีสัญญาประชาคมกับประชาชนว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนกับ ส.ส. ที่ได้สัญญากับประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ส.ว. จึงต้องฟังเสียงประชาชนเป็นแนวทางในการโหวตนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตามหลักการการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาคือ การให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านการเลือก ส.ส. และพรรคการเมือง พรรคใดได้เสียงข้างมากต้องได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นฉันทานุมัติจากประชาชนจากการเลือกตั้ง และการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของประชาชนเจ้าของประเทศที่ส่งเสียงแห่งความต้องการให้ผู้มีอำนาจทำตามเสียงของตน
รศ.ดร.ปริญญา ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า บทบาทหน้าที่ของ กกต. ในครั้งนี้ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาจัดตั้งรัฐบาล กตต. ควรประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และรับรอง ส.ส. ให้ประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
“จากนี้อีกประมาณ 2 เดือนจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็น ‘การหาเสียงครั้งที่ 2’ ของพรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล จำเป็นต้องไปหาเสียงต่อผู้มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะนี้มีทั้งหมด 313 เสียง ขาดอีก 63 เสียง ซึ่งจำเป็นต้องหาเสียงจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน และ ส.ว. 250 คน โดยพรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลจะหาเสียงอย่างไร เป็นวิธีของพรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล” รศ.ดร.ปริญญา กล่าว