วันนี้ (11 มกราคม) เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและองค์กรภาคีทั้ง 24 องค์กร ร่วมออกแถลงข้อเรียกร้องถึงรัฐ เพื่อเยียวยาประชาชนจากโควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างกว้างขวาง แต่ภาครัฐบาลกลับยังไม่มีมาตรการเยียวยาประชาชนโดยทั่วถึงอย่างเป็นรูปธรรม องค์กรภาคีทั้ง 24 องค์กร จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมและเยียวยาประชาชนอย่างเท่าเทียมกันและได้ผล
ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิแรงงานเพื่อประชาชนกล่าวว่า มาตรการเยียวยาโดยภาครัฐนั้นต้องชัดเจนและครอบคลุมทุกคนในประเทศ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลต่อการว่าจ้างงานและส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลยกระดับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งการออกมาตรการนี้ส่งผลต่อผู้ประกอบการ แรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ
ทั้งในขณะนี้สถานประกอบการจำนวนมากจำต้องหยุดดำเนินการโดยไม่ได้รับการเยียวยาหรืองบประมาณชดเชยจากรัฐ แรงงานถูกสั่งให้หยุดงานหรือให้ทำงานจากบ้าน และถูกลดเงินเดือนหรือถูกเลิกจ้าง ทำให้ทุกคนต้องแบกรับต้นทุนในการทำงานมากขึ้น ขณะที่ภาระหนี้สินก็ยังเป็นภาระอย่างต่อเนื่อง และยังมีภาระหนี้สินจากการศึกษา (กยศ.) มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ รวมถึงแรงงานที่เคลื่อนย้ายไปภาคเกษตรกำลังเผชิญกับการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกหรือมีปัญหาในการขนส่งเคลื่อนย้ายไปยังผู้บริโภค นอกจากนี้โรงงานที่สูญเสียงานประจำจากมาตรการล็อกดาวน์รอบแรกยังหลั่งไหลไปเป็นแรงงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์จำนวนมาก เช่น เป็นพนักงานส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งทราบกันว่าเป็นงานที่ไม่มั่นคง เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และไม่มีสวัสดิการใดรองรับ
ที่ผ่านมารัฐมีความพยายามจะออกมาตรการเยียวยาประชาชนออกมาบ้าง เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการคนละครึ่ง หรือการชดเชยกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม รวมถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ก็พบว่า มีระเบียบขั้นตอนยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น กรณีขอใบอนุญาตการให้แรงงานข้ามชาติ การให้สิทธิไม่ครบทุกคนกลายเป็นการใช้ภาษีจากประชาชนทุกคนเพื่อมาเยียวยาประชาชนแค่บางส่วน ซึ่งนับเป็นความไม่คุ้มค่าอย่างมาก ในขณะที่มีประชาชนส่วนน้อยอีกกลุ่มหนึ่งเสวยสุขจากภาษีของเราอย่างไม่ทุกข์ร้อน ไม่ถูกรัฐสั่งปิดกิจการ ซ้ำยังร่ำรวยขึ้นมามหาศาลจากการกอบโกยผลกำไรช่วงมีการระบาดของโรค
โดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนกล่าวว่า เราในฐานะที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ 99 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งเป็นผู้สร้างสรรค์ความเจริญให้กับประเทศและสร้างความมั่งคั่งกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ให้กับเศรษฐกิจทั้งระบบที่มีนายทุนผู้ร่ำรวยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศเป็นผู้ฉกฉวยครอบครองอยู่ ต้องการอยู่ในรัฐที่ไม่เพียงควบคุมการระบาดได้ดีเท่านั้น แต่จะต้องมีหน้าที่พยุงเศรษฐกิจในช่วงมีการระบาดไม่ให้ล้มครืนลงไปด้วย ฉะนั้นเราเห็นว่ารัฐจะต้องดำเนินมาตรการเยียวยาแรงงานจากผลการระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่ที่ชัดเจน เพียงพอ และครอบคลุมทุกกลุ่มที่อยู่อาศัยภายในประเทศ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ขยายมาตรการการชดเชยรายได้พื้นฐานให้แก่ประชาชนทุกคนตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาศัยในประเทศไทย ยกเว้นภาคราชการ โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 3 เดือน จนถึงช่วงรับวัคซีน
2. ปรับปรุงขั้นตอนการเข้าถึงสิทธิการได้รับเงินชดเชยดังข้างต้น โดยใช้ฐานข้อมูลบุคคลสัญชาติไทยและคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ของทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ฐานข้อมูลแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าว เพื่อการกระจายรายได้ให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อยมากกว่าร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่
3. จากที่ผ่านมาแต่ละสถาบันการเงินจะใช้ดุลพินิจพักหนี้คราวละ 3 เดือน แต่การพักหนี้ระยะสั้นไม่ส่งผลดีต่อการวางแผนชีวิต สร้างงานใหม่ จึงควรให้ออกมาตรการพักหนี้ครัวเรือนเป็นการทั่วไปอย่างน้อย 1 ปี ได้แก่ หนี้สินส่วนบุคคล บ้าน รถ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคและอินเทอร์เน็ต เป็นเวลา 3 เดือน นั่นคือเดือนมกราคม-มีนาคม 2564
4. ยกเลิกหนี้กองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยให้ดำเนินการจัดสรรเงินทุนให้เปล่าแก่นักเรียนนักศึกษาทุกคนขึ้นมาแทน เพราะการศึกษาควรเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนฟรี ซึ่งสามารถทำได้โดยการปรับลดโยกย้ายงบประมาณจากส่วนอื่นๆ ลง อาทิ งบประมาณกองทัพ และงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มาชดเชยเพื่อสร้างการศึกษาที่ดีสำหรับประชาชน
5. ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นประชาชนไทยหรือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยต้องเข้าถึงการตรวจโรคฟรี รวมถึงได้รับวัคซีนฟรีเมื่อแสดงเจตจำนงที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ผู้ที่แสดงเจตจำนงไม่ฉีดวัคซีนจะต้องไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่นเดียวกับการมีสิทธิเลือกที่จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตระกูล ‘-ชนะ’ ของรัฐ หรือไม่ก็ได้
6. จากบทเรียนการออกมาตรการเยียวยาครั้งที่ผ่านมาที่ประสบปัญหาสับสน คลุมเครือ มีการแบ่งแยกกีดกันกันระหว่างแรงงานบางกลุ่ม และให้สิทธิไม่ถ้วนหน้า ครั้งนี้รัฐไม่ควรทำผิดพลาดซ้ำเดิม โดยต้องให้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐโดยไม่แบ่งแยก และจะต้องไม่นำเงินประกันสังคมของลูกจ้างไปใช้เยียวยาอีก
6.1 หากนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือถูกทางราชการสั่งปิดด้วยเหตุแห่งโรคระบาด ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายเงินแก่ลูกจ้างครบ 100 เปอร์เซ็นต์
6.2 สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 กรณีที่นายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัย แต่เป็นเหตุอื่น ตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างนั้น ให้รัฐจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ลูกจ้างอีก 25 เปอร์เซ็นต์
6.3 ลดเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 และ 40 ชั่วคราว โดยรัฐจ่ายสมทบเข้ากองทุนแทน
6.4 สำหรับในระยะกลาง เนื่องจากมีแรงงานจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม เช่น แรงงานภาคเกษตร รัฐควรสนับสนุนให้แรงงานเหล่านี้เข้าถึงหลักประกันสังคม ตามมาตรา 39 และ 40 โดยรัฐสามารถช่วยจ่ายสมทบให้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 และส่งเสริมให้แรงงานกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบประกันสังคมทั้งหมด
6.5 รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานกลุ่มที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด (Essential Workers) ในระหว่างที่มีการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะแรงงานในธุรกิจส่งอาหารตามสั่ง ส่งพัสดุ พนักงานทำความสะอาด พนักงานนวด ฯลฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจแพลตฟอร์มที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงของการระบาดฯ แต่แรงงานกลุ่มนี้ขาดความมั่นคงในการทำงาน เป็นแรงงานรับจ้างทำงานรายชิ้นที่บริษัทเรียกอย่างผิดๆ ว่า ‘พาร์ตเนอร์’ จึงไม่ได้เป็นผู้ประกันตนที่ธุรกิจร่วมจ่ายเงินสมทบในฐานะนายจ้าง และไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการ เช่น เงินชดเชยจากการว่างงาน การเจ็บป่วย และอุบัติเหตุจากการทำงาน
7. รัฐต้องดูแลแรงงานภาคส่วนศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของราชการ ดังนี้
7.1 รัฐต้องอุดหนุนค่าเช่าสถานที่ประกอบการที่สั่งงด เช่น ผับ บาร์ โรงมหรสพ โรงละคร ในช่วงการใช้มาตรการโควิด-19 เป็นเวลา 3 เดือน
7.2 เปิดสถานที่ของรัฐหรือจัดสรรงบประมาณแก่รัฐวิสาหกิจ ให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเข้าใช้เพื่อทำงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือจ่ายในอัตราย่อมเยา เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC), สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA), หอศิลป์ทั่วประเทศ รวมไปถึงพื้นที่อเนกประสงค์ที่กำกับดูแลโดยรัฐ หรือแม้แต่พื้นที่โรงเรียนในชุมชน ให้ส่งเสริมกิจกรรมศิลปะการแสดงของศิลปินมากขึ้น
7.3 รัฐต้องประกาศจ้างงานการผลิตสื่อสาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนด้วยช่องทางศิลปะละคร ภาพยนตร์ เพลง (ออนไลน์) ฯลฯ เพื่อแสดงความจริงใจในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยใช้งบอุดหนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ดังเช่นที่เคยกระทำมาก่อน เพื่อบรรเทาการสูญเสียรายได้ของศิลปิน
7.4 ในระยะยาว รัฐควรมีมาตรการสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยอย่างจริงจัง เพื่อให้วงการมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างอิสระ สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรมภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าอีกมหาศาลเข้าประเทศตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น
- แก้ไขข้อกฎหมายให้มีรูปแบบการจดทะเบียนที่เหมาะสมกับผู้ที่ทำงานศิลปะทุกแขนง เพื่อให้คนทำงานศิลปะหรือหน่วยงานประชาสังคมอื่นๆ มีตัวตนอยู่ในระบบกฎหมายและการจัดการด้านภาษีอย่างถูกต้อง ชัดเจน และสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม
- มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจจากภาคเอกชนและประชาชนหันมาสนับสนุนงานศิลปะมากยิ่งขึ้น ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับศิลปะการแสดงจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งในปัจจุบันทุนจากภาครัฐนั้นก็มีข้อจำกัดต่อการสร้างงาน ไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง รวมไปถึงมาตรการงดเว้นภาษีแก่คนทำงานศิลปะ
- พิจารณาการเปลี่ยนบทบาทภาครัฐจากผู้จัดกิจกรรมศิลปะเป็นความสัมพันธ์แบบมีระยะห่าง จัดตั้งหน่วยงานอิสระที่บริหารงานโดยผู้ที่มีความเข้าใจด้านศิลปะอย่างแท้จริง รัฐนั้นจะทำหน้าที่บริหารงานรัฐกิจและอุปถัมภ์ศิลปะเพียงเท่านั้น เพื่อให้ศิลปะร่วมสมัยทุกแขนงขับเคลื่อนอย่างเต็มศักยภาพ ภาคประชาสังคมรวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น
8. มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ
8.1 ปรับลดค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยลดค่าตรวจโควิด-19 เป็นรูปแบบการตรวจเชิงรุกโดยภาครัฐ และปรับค่าประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าระบบประกันสังคมให้เหลือเพียง 3 เดือนระหว่างรอสิทธิประกันสังคม ทั้งนี้ เพื่อไม่เป็นภาระให้แก่แรงงานข้ามชาติและนายจ้างจนเกินไป และยังทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งปรับลดค่าใช้จ่ายแรงงานข้ามชาติที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 สิงหาคม 2563 (บัตรชมพูใหม่) และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 สิงหาคม 2562 โดยยกเว้นเรื่องการตรวจโควิด-19 เป็นรูปแบบการตรวจเชิงรุกโดยรัฐ และลดค่าวีซ่าลง เพื่อลดภาระของแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง
8.2 สั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ธันวาคม 2563 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่มีข้อกำหนดไม่ให้มีการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร เพื่อรอการดำเนินการตามมติ ครม. และเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงปรากฏการจับกุม เช่น วันที่ 6 มกราคม 2564 พื้นที่กรุงเทพมหานคร กรณีสำนักเขตบางกอกน้อยที่ยังมีการจับกุมดำเนินคดีอยู่
8.3 ดำเนินการผ่อนผันแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่กำลังดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 4 สิงหาคม 2563 ตามขั้นตอน การดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 มีแรงงานข้ามชาติประมาณ 2.4 แสนคน และแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ต้องต่อวีซ่ารอบสองตามมติ ครม. วันที่ 20 สิงหาคม 2562 และกลุ่มมติ ครม. วันที่ 4 สิงหาคม 2563 จำนวนทั้งประเทศราวๆ 1.5 ล้านคน ซึ่งจะต้องไปตรวจสุขภาพและขอตรวจลงตราวีซ่า ในขณะนี้หลายๆ สถานพยาบาลมีมาตรการระงับการตรวจสุขภาพเพื่อขอตรวจลงตราวีซ่าของแรงงานข้ามชาติไปแล้ว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะดำเนินการไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมากในสถานที่แออัด ซึ่งขัดกับมาตรการป้องกันการระบาดของโรคที่รัฐบาลกำหนด โดยดำเนินการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าและให้แรงงานสามารถทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยตามอายุของบัตรชมพู เพื่อลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และป้องกันแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายหลุดจากระบบ
8.4 ดำเนินการผ่อนผันแรงงานข้ามชาติที่หนังสือเดินทางและเอกสารแทนหนังสือเดินทาง (CI/TD) กำลังจะหมดอายุ ภายในช่วงเดือนธันวาคม 2563 และต้นปี 2564 ที่ไม่สามารถต่ออายุวีซ่าและใบอนุญาต ทำงานได้ราวๆ 3-4 แสนคนโดยประมาณ อยู่และทำงานในประเทศไทยเป็นการเฉพาะตามอายุของบัตรชมพู เพื่อลดปัญหาการกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายและป้องกันการระบาดของโควิด-19
8.5 กำหนดมาตรการที่ทำให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกกักตัวตามมาตรการของรัฐขาดรายได้เนื่องจากปิดกิจการชั่วคราว รวมถึงกรณีเลิกจ้าง ให้สามารถเข้าถึงการชดเชยการขาดรายได้ โดยมีขั้นตอนที่เอื้อต่อการเข้าถึง เช่น มีขั้นตอนการรับค่าชดเชยที่สะดวก ลดเงื่อนไขเรื่องการยื่นเอกสาร หรือมีภาษาของแรงงานข้ามชาติในการรับคำร้อง ทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
8.6 กำหนดมาตรการจูงใจให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเข้าสู่กระบวนการทำเอกสารอย่างถูกต้อง ลดหย่อนค่าทำเอกสารอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานข้ามชาติ เพิ่มสิทธิประโยชน์มากขึ้น
9. มีมาตรการลดและป้องกันช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย สร้างความมั่นคง เพิ่มอำนาจให้ประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะต้องนำมาตรการเก็บภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้าและภาษีความมั่งคั่งจากคนที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ในสังคมไทยมาบังคับใช้
10. การแพร่ระบาดรอบ 2 ถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นตัวการสร้างความเสียหายให้กับประเทศมาเป็นเวลามากกว่า 6 ปี รวมถึงเป็นผู้ไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิงในการบริหารประเทศในสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิแรงงานเพื่อประชาชนกล่าวเสริมว่า ท่ามกลางสภาวะวิกฤตในปัจจุบัน รัฐจำเป็นต้องตระหนักว่า วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องกระจายความมั่นคั่งในสังคมจากคนร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ในประเทศ ไปให้กับผู้คน 99 เปอร์เซ็นต์ที่ทำงานหนัก เพื่อสร้างประเทศและความมั่งคั่งให้คน 1 เปอร์เซ็นต์มาตลอด เพื่อปากท้องของทุกคนในสังคม และเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานของพวกเรานับจากนี้ และทราบว่าพรุ่งนี้จะมีการประชุม ครม. เพื่อพิจารณาดูประมาณการเยียวยา ทางเครือข่ายฯ จะจับตาดูความเคลื่อนไหวของฝั่งรัฐ และยืนยันว่า ประชาชน 99 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง ยืนยันว่ารัฐต้องกระจายความมั่งคั่งจากคน 1 เปอร์เซ็นต์ไปยังคนอีก 99 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ
“ภาครัฐไม่กระตือรือร้นไม่ได้ เพราะประชาชนรอมาตรการเยียวยาจากรัฐ เมื่อปีที่แล้วมีการกู้เงินซึ่งทำให้ประชาชนเป็นหนี้กันทุกคน ทั้งหนี้ครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น รัฐไม่ควรนิ่งเฉย และต้องนำเงินนั้นมาใช้อย่างจริงจังเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้ ขอให้รัฐนำประเด็นนี้ไปพิจารณากันในการประชุม ถ้าไม่เช่นนั้นจะต้องมีการติดตามและมีมาตรการต่างๆ ตามมา” ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิแรงงานเพื่อประชาชนทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล