กระแสความสนใจหุ้น IPO ของ บมจ.ปตท.น้ำมันและค้าปลีก หรือ OR เพิ่มขึ้นตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย OR นับเป็นหุ้น IPO ขนาดใหญ่ และเป็นกิจการที่คนทั่วประเทศรู้จักดีผ่านการใช้บริการสถานีบริการน้ำมันที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงร้านค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อที่ให้บริการภายในสถานีด้วยเช่นกัน
ในวันที่ 24 มกราคมนี้ เป็นวันแรกที่ OR เปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้น IPO และจะสิ้นสุดการจองในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ (ภายในเวลา 12.00 น.) คิดเป็นระยะเวลาสำหรับการตัดสินใจของผู้จองซื้อทั้งสิ้น 10 วัน
THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับการจองซื้อหุ้นสำหรับผู้จองซื้อรายย่อย เพื่อเตรียมตัวร่วมเป็นเจ้าของกิจการ OR ดังนี้
1. จำเป็นต้องมีพอร์ตหุ้นหรือไม่
- ผู้จองซื้อรายย่อยขอเพียงมีคุณสมบัติเป็นประชาชนไทย ก็สามารถจองซื้อหุ้น OR ได้ ไม่ว่าจะมีพอร์ตหุ้นหรือไม่ก็ตาม
- อย่างไรก็ตาม การมีพอร์ตหุ้นอยู่แล้วจะช่วยในเรื่องความสะดวกด้านการลงทุนแก่ผู้จองซื้อ เพราะสามารถขายหุ้นออกจากพอร์ตได้ตามความต้องการ
- ส่วนผู้จองซื้อที่ไม่มีพอร์ตหุ้น ให้ฝากหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามจำนวนที่ได้รับการจัดสรรนั้นไว้ในชื่อบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD และนำหุ้นเข้าฝากไว้กับ TSD โดยนำเข้าบัญชีของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์สมาชิกเลขที่ 600
2. ต้องสำรองเงินไว้เท่าไร จ่าย/ตัดชำระค่าหุ้นวันไหน
- ราคาเสนอขายยังเป็นเพียง ‘ช่วงราคา’ ในกรอบ 16-18 บาทต่อหุ้น และจะคำนวณค่าหุ้นที่ราคาสูงสุดก่อนคือ 18 บาท ยกตัวอย่างเช่น ผู้จองซื้อต้องการจองหุ้น IPO จำนวน 300 หุ้น ก็จะต้องสำรองเงินสำหรับการชำระค่าหุ้นที่ 5,400 บาท (300×18)
- โดยธนาคารจะเรียกชำระค่าจองหุ้นในวันที่ผู้จองซื้อยื่นใบจอง หรือทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์
- ผู้จองซื้อรายย่อยสามารถเริ่มจองซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ (เวลา 12.00 น.)
3. รู้ผลเมื่อไรว่าได้หรือไม่ได้หุ้น และได้จำนวนเท่าไร
- ระบบเซ็ตเทรดจะประกาศผลการจัดสรรหุ้น IPO ประมาณวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านเว็บไซต์ settrade.com
- กรณีที่ราคา IPO ต่ำกว่า 18 บาท จะมีการคืนเงินภายใน 7 วันทำการ นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564
- กรณีไม่ได้หุ้นหรือได้หุ้นต่ำกว่ายอดจองและยอดชำระค่าหุ้น ตัวแทนจำหน่ายจะคืนเงินราววันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 (กรณีรับเงินเข้าบัญชี) และวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 (กรณีรับเป็นเช็ค)
4. ต้องรีบไปแบงก์เพื่อจองซื้อหุ้นตั้งแต่วันแรกหรือไม่
- ด้วยวิธีการจัดสรรหุ้นสำหรับผู้จองซื้อรายย่อยแบบ Small Lot First ซึ่งจัดสรรด้วยจำนวนหุ้นขั้นต่ำก่อน (300 หุ้นต่อราย) การจองก่อนหรือหลังจึงไม่มีผลต่อจำนวนหุ้นที่ได้รับการจัดสรรแน่นอน
- ผู้จองซื้อรายย่อยสามารถจองซื้อได้ที่ธนาคารผู้เป็นตัวแทนจำหน่าย 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไท
- โดยช่องทางออฟไลน์สามารถติดต่อธนาคารทั้ง 3 แห่ง ได้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศ
- จองผ่านช่องทางออนไลน์บน Mobile Banking ของแต่ละธนาคาร ประกอบด้วย Bangkok Bank Mobile Banking, K PLUS, Krungthai NEXT
5. ได้หุ้น IPO แค่ 300 หุ้นต่อรายจริงหรือไม่ มากกว่านี้ได้หรือเปล่า
- ด้วยการจัดสรร IPO OR ใช้วิธี Small Lot First กล่าวคือจะจัดสรรให้กับผู้จองซื้อรายย่อยในรอบแรกจำนวน 300 หุ้นต่อราย
- นั่นหมายความว่า ไม่ว่าผู้จองซื้อจะจองซื้อหุ้น IPO จำนวนเท่าไรก็ตาม จะได้รับการจัดสรรหุ้นจำนวน 300 หุ้นต่อรายก่อนในรอบแรก หลังจากนั้นระบบเซ็ตเทรดจะจัดสรรหุ้นรอบถัดไป โดยเพิ่มรอบละ 100 หุ้นต่อราย จนกว่าหุ้นจะหมด
- ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้จองซื้อรายย่อยจะได้หุ้นมากกว่า 300 หุ้นต่อราย หากจำนวนผู้สนใจจองซื้อมีจำนวนไม่มากนัก
6. เอกสาร / ข้อมูลยืนยันตัวตนต้องมีอะไรบ้าง
- กรณีจองที่ธนาคารตัวแทนจำหน่ายจะต้องกรอกเอกสาร ดังนี้
-
- ใบจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน
- แบบสอบถามเพื่อหาข้อบ่งชี้การเป็นบุคคลสหรัฐฯ (กรณีฝากหุ้นในบัญชีของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ สมาชิกเลขที่ 600)
- แบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน (Suitability Test) (กรณีไม่เคยทำมาก่อน)
- บัตรประชาชนตัวจริงหรือสำเนา (ขึ้นอยู่กับธนาคาร)
- สมุดบัญชีเงินฝากหรือสำเนา (ขึ้นอยู่กับธนาคาร) ใช้เพื่อรับคืนเงินค่าจองซื้อ
- ควรทราบเลขที่บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และเลขที่สมาชิกของโบรกเกอร์ที่ใช้บริการ
7. สามารถจองซื้อหุ้นผ่านตัวแทนจำหน่ายทั้ง 3 แบงก์ ด้วยชื่อผู้จองซื้อคนเดียวกันได้หรือไม่
- ทำได้ แต่เมื่อใบจองถูกรวบรวมไปที่ระบบเซ็ตเทรดแล้ว ทุกใบจองของผู้จองซื้อที่เลขที่บัตรประชาชนเดียวกันจะรวมเป็นจำนวนเดียวกัน แม้ว่าจะจองผ่านทั้ง 3 ตัวแทนจำหน่ายก็ตาม
- ยกตัวอย่างเช่น ผู้จองซื้อจองผ่านสาขาธนาคารกรุงเทพ 300 หุ้น ผ่าน K-My Invest 300 หุ้น และธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ 300 หุ้น จำนวนหุ้นที่ผู้ลงทุนของทั้งหมดคือ 900 หุ้น และเมื่อเข้าสู่กระบวนการจัดสรร ก็จะเป็นไปตามวิธีการ Small Lot First เช่นเดิม
8. ราคาในกระดานซื้อขายจะเป็นอย่างไรต่อ
- เมื่อหุ้น IPO เข้าซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์แล้ว ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวตามปัจจัย Demand-Supply ตามหลักทั่วไป
- ผู้จองซื้อสามารถติดตามคำแนะนำการลงทุนได้จากบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ
9. ในฐานะผู้ถือหุ้น จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน OR อะไรบ้าง
- ได้เป็นหนึ่งในเจ้าของกิจการตามสัดส่วนการถือหุ้น
- ได้รับเงินปันผล โดย OR มีนโยบายปันผลไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิหลังหักสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและบริษัทกำหนด
- ได้รับกำไรจากส่วนต่างราคา กรณีขายหุ้นที่ราคาสูงกว่าราคาซื้อ ซึ่งไม่ได้การันตีว่าราคาหุ้นจะต้องปรับตัวขึ้นสูงกว่าราคาจองซื้อ
10. ธุรกิจที่ใกล้เคียง OR ในตลาดหุ้น มีอะไรบ้าง
- บริษัทจดทะเบียนที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับการประกอบธุรกิจของ OR ได้แก่
- BCP ตัวอย่างธุรกิจ ปั๊มบางจาก 1,201 แห่ง, ร้านกาแฟอินทนิล 600 แห่ง
- PTG ตัวอย่างธุรกิจ ปั๊มพีที 2,100 แห่ง ร้านกาแฟพันธุ์ไทย 260 แห่ง
- ESSO ตัวอย่างธุรกิจ ปั๊มเอสโซ่ 676 แห่ง
- SUSCO ตัวอย่างธุรกิจ ปั๊มซัสโก้ 242 แห่ง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล