องค์การอนามัยทั่วโลกในเวลานี้กำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างหนัก โดยทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO รวมถึงผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ได้ออกมาตักเตือนผู้คนถึงสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส
โดย THE STANDARD ได้รวบรวมคำแนะนำจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขในต่างประเทศมาได้ทั้งหมด 10 อย่าง พร้อมกับเหตุผลที่ควรล้างมือหรือทำความสะอาดสิ่งของเป็นประจำ หลังการใช้งานในชีวิตประจำวัน
- ธนบัตร เป็นสิ่งที่ WHO ออกมาเตือนว่า สามารถเป็นพาหะการแพร่เชื้อไวรัสได้ แต่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะหากธนบัตรจะมีเชื้อไวรัส ผู้ป่วยต้องจามหรือไอใส่ธนบัตร
- ลูกบิดประตู แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ควรล้างมือเป็นประจำ และเลี่ยงการจับบริเวณใบหน้าหลังบิดลูกบิด
- ห้องครัวส่วนกลาง สำหรับออฟฟิศหรือสำนักงานทั่วไป เช่น เครื่องทำกาแฟ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ของส่วนกลาง ควรล้างมือทุกครั้งหลังใช้งาน
- ATM หรือ เครื่องซื้อของอัตโนมัติ ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนใช้งานเป็นประจำ และควรล้างมือทุกครั้งหลังใช้งาน
- ราวบันได ทั้งในอาคาร รถไฟใต้ดิน และสถานที่ต่างๆ ควรล้างมือทุกครั้งหลังจับราว
- ห้องน้ำสาธารณะ ถือเป็นจุดที่ผู้คนอาจจะเข้าไปสั่งน้ำมูกเป็นประจำ ดังนั้นควรรักษาความสะอาดทุกครั้งในการใช้งาน
- พื้นผิวของโรงพยาบาล ถือเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูง และควรจะล้างมือทั้งก่อนและหลังจากการเดินทางไปโรงพยาบาล
- โทรศัพท์ แม้ว่าปัจจุบันโทรศัพท์สาธารณะจะถูกใช้งานน้อยลง แต่สำหรับโทรศัพท์ในออฟฟิศ หรือโทรศัพท์ที่ต้องใช้งานร่วมกับผู้อื่น ควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ
- ที่นั่งบนเครื่องบิน การเดินทางระหว่างประเทศถือว่าเป็นหนึ่งในความเสี่ยงของการติดเชื้อ ดังนั้นการเช็ดที่นั่งบนเครื่องบิน ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำในการเดินทาง
- การจับมือ ถือเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาออกมารณรงค์ให้ผู้คนเปลี่ยนวิธีการทักทาย จากการจับมือเป็นวิธีการอื่นแทน ซึ่งจากรายงาน มีบางกลุ่มเริ่มใช้วิธีการไหว้แบบไทยเป็นการทักทายแทน
สำหรับสิ่งที่สื่อต่างประเทศและข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ออกมายืนยันถึงความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเน้นย้ำให้รักษาความสะอาดของมือ ด้วยการเน้นล้างมือเป็นประจำ หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ และที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงการใช้มือจับใบหน้าระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโคโรนา 2019
ภาพประกอบ: อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
อ้างอิง: