×

10 ประเด็นที่ต้องจับตาในเอเชีย ปี 2021 ‘ไทย’ ถูกหมายตาการเมืองเสี่ยงสูง

01.01.2021
  • LOADING...
10 ประเด็นที่ต้องจับตาในเอเชีย ปี 2021 ‘ไทย’ ถูกหมายตาการเมืองเสี่ยงสูง

ภาพรวมเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ 17 ประเทศในปี 2020 ที่ผ่านมาล้วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ส่วนแนวโน้มปี 2021 หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของตลาดเกิดใหม่ 

 

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ซึ่งจัดทำโดย Bloomberg กลับพบว่าปี 2021 ยังมีความเสี่ยงรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจนเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของแต่ละประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงนโยบายของแต่ละประเทศ

 

หลายปัจจัยเสี่ยงไม่มีทีท่าว่าจะคลายตัวหรือได้รับความชัดเจนในปี 2021 ซึ่งสวนทางกับความคาดหวังของนักลงทุนส่วนใหญ่ที่มีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดเกิดใหม่ 

 

และนี่คือความเสี่ยง 10 ประการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุนระดับโลกจับตามองตลอดทั้งปี 2021 

 

1. คาดหวังกับวัคซีนมากไป

โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดชะงักในปี 2020 ขณะนี้มุมมองต่างๆ เริ่มเทมาทางมุมบวกมากขึ้น หลังจากมีการค้นพบวัคซีนต้านการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว มีการมองในแง่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าวัคซีนหลายชนิดจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสถาบันอย่างธนาคาร เช่น HSBC Holdings Plc เตือนไม่ให้ตื่นเต้นและมองแง่ดีจนเกินไป เนื่องจากความพร้อมใช้งานและการจัดจำหน่ายในตลาดเกิดใหม่อาจล้าหลังกว่าคู่แข่งที่พัฒนาแล้ว

 

โดยประเทศที่ร่ำรวยกว่าได้รับข้อตกลงการจัดหาวัคซีนมากมาย ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากอาจต้องพึ่งพากลุ่มต่างประเทศที่สัญญาว่าจะผลิตวัคซีนในราคาย่อมเยา

 

โลจิสติกส์ของการขนส่ง การกระจาย และการบริหารจัดการต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานขั้นสูงและความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ซึ่งอาจไม่มีให้บริการในทุกประเทศ

 

2. นโยบายการเงินอาจต้องเปลี่ยน

ในปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่เดินตามรอยธนาคารกลางประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยจนมาอยู่ในระดับที่ต่ำสุด การเข้าซื้อพันธบัตร และดำเนินการผ่อนคลายนโยบายมากกว่าในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008

 

ขณะเดียวกัน การค้นพบวัคซีนจนล่าสุดที่ผ่านการทดสอบและเริ่มกระจายแก่ประชากรแต่ละประเทศจะเป็นความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสภาวการณ์ที่แปรเปลี่ยนไปจะกดดันผู้กำหนดนโยบายการเงินของแต่ละประเทศในที่สุด 

 

3. หนี้ท่วม

ปี 2020 ที่ผ่านมาเกิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศด้วยมูลค่ามหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งส่งผลให้ตลาดเกิดใหม่มีหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ไปด้วย 

 

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศบราซิล ที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายเท่ากับ 8% ของ GDP ส่งผลให้เกิดความท้าทายว่าในปี 2021 ที่กำลังจะมาถึง บราซิลจะจ่ายหนี้คืนหมดได้อย่างไร  ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง 

 

ตุรกีถูกคาดการณ์ว่าภาระหนี้จะพุ่งสูงกว่า 40% ของ GDP ในปี 2020 จาก 32.5% ในปีที่แล้ว, แอฟริกาใต้เพิ่งถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เนื่องจากระดับความเป็นหนี้ที่เลวร้ายลง, การขาดดุลที่เพิ่มขึ้นของโคลอมเบียทำให้อันดับเครดิตและระดับการลงทุนตกอยู่ในความเสี่ยง รวมถึง Fitch Ratings จ่อลดแนวโน้มอันดับเครดิตเปรูลง ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ เนื่องจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

 

4. นโยบาย ‘ไบเดน’

สินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ได้รับแรงหนุนจากชัยชนะของ โจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เริ่มมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่าการบริหารงานของไบเดนอาจสร้างอานิสงส์เชิงบวกต่อประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในระยะยาวไม่มากนัก 

 

โดยค่าเงินรูเบิลของรัสเซียร่วงลงจากผลโพลที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศออกมา เนื่องจากนักลงทุนกลัวว่าจะมีการปราบปรามที่หนักขึ้นภายใต้การบริหารของไบเดน 

 

ประธานาธิบดีของตุรกี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ซึ่งไบเดนเรียกว่าเผด็จการ และกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดัลอะซิซ ของซาอุดีอาระเบียก็กำลังเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อาจจะยากขึ้น

 

นอกจากนี้ไบเดนยังมีท่าทีว่าจะผ่อนปรนการคว่ำบาตรอิหร่านในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 เพื่อแลกกับการหยุดกิจกรรมนิวเคลียร์ แต่ก็ยังเดินสายแสดงวาทศิลป์ต่อต้านประเทศต่างๆ ทั้งซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล และอียิปต์ในเวลาเดียวกัน 

 

5. การขยายตัวของจีน

ประเทศจีนเป็นผู้นำในการฟื้นตัวจากโควิด-19 และกลายเป็นประเทศหลักเพียงชาติเดียวที่มีการเติบโตในปีนี้ ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2021 ขณะที่ State Street Global Markets และ J.P. Morgan Asset Management คาดการณ์ว่าฝ่ายบริหารของไบเดนจะมีท่าทีที่นุ่มนวลในการทำการค้ากับจีน ซึ่งเป็นการลดโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าในเอเชียที่ต้องการทำการค้ากับจีน

 

ในขณะเดียวกัน การฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจรอบนี้จะทำให้จีนยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น และนำไปสู่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทวีความรุนแรงขึ้น

 

6. ความเสี่ยงทางการเมือง

ปี 2020 มีความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นความเสี่ยงหลักในปี 2021 ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความคาดหวังในการฟื้นตัวจากการบริโภค

 

ส่วนมาเลเซียนั้น แม้นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน จะเพิ่งผ่านบททดสอบภาวะผู้นำทางการเมืองเมื่อไม่นานมานี้ แต่ก็ถูกกดดันให้ดำเนินการให้เกิดการเลือกตั้ง

 

ด้านโซนยุโรป โปแลนด์กำลังมีประเด็นประท้วงเรื่องการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย และในลาตินอเมริกา ชิลีจะเริ่มดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในขณะที่รัฐบาลของเปรูกำลังเร่งสร้างความมั่นคงหลังจากการขับไล่ประธานาธิบดี มาร์ติน วิซคาร์รา เมื่อไม่นานมานี้ 

 

7. การปรับโครงสร้างทางการเงินของลาตินอเมริกา

ปี 2020 ฝั่งลาตินอเมริกาเผชิญกับปัญหาหนี้และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมาก โดยหนี้ในลาตินอเมริกาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2020 และแม้ว่าอาร์เจนตินาและเอกวาดอร์บรรลุข้อตกลงกับผู้ถือหุ้นกู้ แต่ข่าวดีก็อยู่ไม่นาน เพราะพันธบัตรของอาร์เจนตินาร่วงลงจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ส่งผลให้ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกายังมีความท้าทายในเรื่องการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในปีหน้า

 

ส่วนหนี้ของเอกวาดอร์ถูกคาดหวังว่าจะปรับลดลงเมื่อผู้สมัครประธานาธิบดีจากฝ่ายซ้าย อันเดรส อาเราซ์ มีแนวโน้มชนะการเลือกตั้งในปีหน้า 

 

8. ตุรกีถูกเพ่งเล็งเรื่องค่าเงิน

ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา ตุรกีได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าเงินลีราอ่อนค่ามากกว่าคู่แข่งอื่นๆ ยกเว้นเพียงค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินา 

 

ทั้งนี้ ตุรกีถูกตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ และเจ้าหน้าที่ด้านนโยบายการเงินได้ต่อต้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตลอด จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีแอร์โดอันได้ปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติและขึ้นเป็นผู้บริหารนโยบายการเงินเอง จากนั้นได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบ 2 ปี

 

โดยแอร์โดอันให้คำมั่นที่จะดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับตลาดมากขึ้น ซึ่งเหล่านักลงทุนทั่วโลกต่างก็จับตามองอยู่ว่าจะเป็นตามนั้นหรือไม่

 

9. แอฟริกากับวิกฤตหนี้

ประเทศทางแอฟริกาที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่กำลังมีความเสี่ยงเรื่องวิกฤตหนี้ที่อาจปะทุขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในแซมเบีย ซึ่งนับเป็นสัญญาณเตือนต่อนักลงทุนไม่ให้ละเลยสภาวะทางการเงินของทวีปที่ยากจนที่สุดในโลก 

 

โดยหลังจากแซมเบียกู้ยืมเงินจำนวนมากตั้งแต่ปี 2012 ก็กลายเป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่ผิดนัดชำระหนี้ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะผู้ถือหุ้นกู้ปฏิเสธที่จะระงับการชำระดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลแซมเบียอยู่ระหว่างการเจรจากับ IMF และให้คำมั่นที่จะฟื้นฟูความน่าเชื่อถือด้านงบประมาณ

 

คาร์เมน ไรน์ฮาร์ต หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก มองว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำและประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายแห่งกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอย่างหนัก 

 

10. การลงทุนอย่างมีจริยธรรม

การลงทุนที่เชื่อมโยงกับเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (ESG) ได้ก้าวไปสู่กระแสหลักในปีนี้และต่อเนื่องถึงปี 2021 

 

โดยหุ้นและพันธบัตรที่เน้น ESG ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทเดียวกันที่ยังยึดโยงกับการธุรกิจแบบดั้งเดิม และถูกเทขายในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น 

 

ปัจจุบันรัฐบาลและภาคเอกชนในประเทศพัฒนาแล้วได้เสนอขายตราสารหนี้ประเภท Social Bonds เป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งเงินจากการระดมทุนผ่าน Social Bonds จะถูกนำไปใช้สำหรับพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

ส่วนประเทศจีนเองได้ให้คำมั่นสัญญาใหม่ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไบเดนเป็นผู้สนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจทำให้สินทรัพย์ประเภทที่คาร์บอนต่ำและปราศจากฟอสซิลสร้างผลตอบแทนที่ดีในปีหน้า 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X