×

10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจในปี 2020 (ที่แสนโหดร้าย)

30.12.2020
  • LOADING...
10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจ

ต่อให้ปี 2020 จะเป็นปีที่ใจทมิฬหินชาติขนาดไหนต่อมนุษยชาติ เราต่างยังสามารถพบเจอเรื่องราวดีๆ ได้เสมอบนโลกใบนี้ รวมถึงในโลกกีฬาใบเล็กๆ แต่เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่สามารถจุดประกายให้หัวใจของใครต่อใครได้อย่างมากมาย

 

เพื่อเป็นการเอ่ยคำลาต่อปีเก่าและเพื่อเตรียมหัวใจต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นปีที่คนจำนวนมากเตือนว่าจะโหดร้ายเสียยิ่งกว่าปีนี้ 

 

บางทีเราควรจะหยุดพักสักครู่เพื่อเติมพลังใจกันสักเล็กน้อยกับ 10 เรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีนี้

 

หวังว่าจะมีสักเรื่องที่สร้างรอยยิ้มพิมพ์ใจที่มุมปากของคุณผู้อ่านได้ 🙂

 

10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจ

 

ไอ้เสือเล็ก vs ไอ้เสือใหญ่

ปีนี้ไม่ใช่ปีที่ดีสำหรับวงการกอล์ฟ (ความจริงก็สำหรับทุกวงการ) และไม่ใช่ปีที่ ‘พญาเสือ’ ไทเกอร์ วูดส์ อดีตมือหนึ่งของโลกในเรื่องของการทำผลงานเช่นกัน 

 

แต่ในรายการพิเศษ พีเอ็นซี แชมเปียนชิป ไทเกอร์ก็ได้รางวัลชีวิตของตัวเองและมอบความสุขให้แก่แฟนๆ ทั่วโลกไปด้วยในเวลาเดียวกัน เมื่อเขาจับคู่กับ ชาร์ลี วูดส์ ลูกชายวัย 11 ขวบ ลงแข่งขันร่วมกันในโหมด Co-op 

 

แม้พวกเขาจะจบเพียงแค่อันดับ 7 แต่ภาพของไทเกอร์ที่ได้เล่นเคียงข้างลูกชาย ได้เฝ้าดู ได้ใช้กำปั้นสัมผัสกันในสนามแข่งก็เป็นภาพที่จับใจคนทั้งโลก และสอนให้เราได้รู้ว่าบางครั้งสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตอาจไม่ใช่เกียรติยศหรือรางวัลใหญ่ที่ไหนเลย

 

10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจ

 

การฉลองแชมป์ในสนามที่ว่างเปล่า

ทั้งๆ ที่พวกเขาสามารถทำภารกิจยืดเยื้อยาวนานมากว่า 30 ปีได้สำเร็จ แต่การฉลองแชมป์ของ ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล กลับทำเอาเดอะ ค็อป ทั่วโลกรู้สึกเศร้าในเวลาเดียวกัน

 

เพราะแทนที่พวกเขาจะได้เข้าไปอยู่ในสนามแอนฟิลด์ ได้เห็นวินาทีที่ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน กัปตันทีม ชูถ้วยแชมป์ลีกสูงสุด ได้ร้องเพลงด้วยเสียงอันดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่มีเดอะ ค็อป แม้แต่คนเดียวที่ได้เข้าไปอยู่ในสนามแห่งนั้นในวันที่ได้รับมอบถ้วยแชมป์

 

อย่างไรก็ดี ในวันนั้น เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล ได้พยายามอย่างดีที่สุดในการที่จะมีความสุขและสนุกอย่างเต็มที่ตามคำสัญญาที่ให้ไว้ว่าเขาจะฉลองแทนทุกคน ดังนั้นขอให้อยู่ที่บ้านและไม่จำเป็นต้องมาที่สนาม

 

ความจริงแล้วเขาไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้ก็ได้ แต่กุนซือชาวเยอรมันให้ความสำคัญ พร้อมกับคำมั่นว่าเมื่อสักวันที่โลกใบนี้กลับมาปกติ เราจะกลับมาฉลองกันอีกครั้ง

 

ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตาม

 

10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจ

 

ไฟต์คนเฒ่าเขย่าโลก

โควิด-19 ทำให้เราได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่คิดว่าจะเห็น หนึ่งในนั้นคือการกลับมาขึ้นสังเวียนผืนผ้าใบอีกครั้งของสองสุดยอดนักมวยระดับตำนานอย่าง ‘มฤตยูดำ’ ไมค์ ไทสัน และรอย โจนส์ จูเนียร์ 

 

ทั้งนี้ แม้การชกกันของทั้งคู่จะไม่ได้ถึงกับมันเร้าใจอะไรนัก (ตามวัย) แต่การได้เห็นนักมวยระดับตำนานที่ไม่มีใครกล้าลืมอย่างไทสันกลับมาขึ้นชกอีกครั้งก็ทำให้คอมวยตื่นเต้นกันไม่น้อย ซึ่งแม้จะขึ้นชกโดยไม่มีผู้ชม แต่ก็มีคนจ่ายเงินดูอยู่ที่บ้านถึง 1.6 ล้านครั้ง ทำรายได้กว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และติดอันดับ 1 ใน 10 ไฟต์ที่ทำรายได้สูงสุดของปีนี้ด้วย

 

ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง และยังได้หัวใจอีกด้วย คุ้มค่าที่เอาลุงๆ มาทรมานโดยแท้

 

10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจ

 

The Special Service

ถึงจะเป็นกุนซือจอมแอ็กติ้งที่หลายคนอาจจะเคยหมั่นไส้ แต่น้อยคนจะรู้ว่านิสัยจริงๆ ของ ‘The Special One’ โชเซ มูรินโญ เป็นคนน่ารักเกินตัวมาก

 

เหมือนที่ในช่วงล็อกดาวน์จู่ๆ ก็ไปขออาสาช่วยส่งผักและผลไม้ให้แก่ผู้คนในชุมชนที่เขาอยู่ ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่คนที่พบเห็นและรับรู้เรื่องราวไม่น้อย แต่สำหรับมูรินโญเองแล้ว คนที่สมควรได้รับคำชื่นชมมากที่สุดคือเหล่าอาสาสมัครที่ช่วยงานกันอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อยในทุกวัน

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่มูรินโญเสียใจที่สุดในช่วงล็อกดาวน์คือการที่เขาไม่สามารถพัฒนาสกิลการทำอาหารได้มากกว่าการทอดไข่…

 

10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจ

 

แฟนกระดาษ

เพราะโควิด-19 ทำให้แฟนๆ ไม่สามารถเข้ามาชมเกมฟุตบอลในสนามได้ และนั่นทำให้เราได้เห็นไอเดียสร้างสรรค์มากมายเพื่อที่จะเป็นการแสดงพลัง ให้กำลังใจ และประกาศว่าไม่มีแฟนบอลคนไหนที่จะทิ้งทีมไปอย่างเด็ดขาด

 

ไอเดียที่ได้รับการชื่นชมมากที่สุดคือ ‘Pappaufsteller’ หรือแฟนบอลกระดาษ ซึ่งต้นคิดมาจากสโมสรโบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค หรือทีม ‘สิงห์หนุ่ม’ ในบุนเดสลีกา ที่พยายามคิดหาทางช่วยผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ท้องถิ่น และปิ๊งไอเดียว่าไหนๆ ก็ไหนๆ ให้แฟนบอลแต่ละคนสั่งปรินต์ภาพของตัวเองแล้วจะนำมาติดตั้งบนอัฒจันทร์ในสนามให้

 

เมื่อเรื่องราวได้รับการเปิดเผยก็กลายเป็นต้นแบบให้สโมสรฟุตบอลทั่วโลกทำตามกัน ซึ่งแม้แฟนบอลกระดาษจะไม่มีชีวิต

 

แต่ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีจิตใจ

 

10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจ

 

การคุกเข่าของเหล่านักกีฬา

ปีนี้เป็นปีที่นักกีฬาจำนวนมากได้เพิ่มบทบาทของตัวเองเข้าไปทั้งในฐานะของนักต่อสู้เพื่อสังคมและคนต้นแบบที่ดี ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่จุดประกายคือการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่เสียชีวิตจากการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำให้เกิดกระแส Black Lives Matter ดังกระหึ่มทั่วโลก

 

หนึ่งในการต่อสู้ของเหล่านักกีฬาคือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการ ‘คุกเข่า’ ก่อนที่จะลงทำการแข่งขัน ซึ่งเราจะได้เห็นในการแข่งขันฟุตบอล บาสเกตบอล อเมริกันฟุตบอล และอื่นๆ กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น (โดยที่ไม่มีการบังคับ ใครไม่สะดวกก็ไม่ต้อง) 

 

ทั้งนี้ แม้จะมีการตั้งคำถามตามมาว่าจะต้องคุกเข่ากันไปอีกนานแค่ไหน ไม่เห็นจะช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดการปฏิบัติต่อเนื่องด้วยความหนักแน่นก็เป็นการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ลมเพลมพัดเหมือนที่ผ่านมา

 

เพราะการต่อสู้ในเรื่องที่หยั่งรากฝังลึกมายาวนานหลายร้อยปีไม่ใช่เรื่องที่จะทำวันเดียวแล้วจบ

 

การคุกเข่าจึงเป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ดี โดยไม่มีใครเสียเลือดเสียเนื้อ

 

10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจ

 

การฉลองประตูแบบ Social Distancing

มีช่วงเวลาที่หลายคนไม่มั่นใจว่าเกมกีฬา โดยเฉพาะเกมที่ได้รับความนิยมสูงจากคนทั่วโลกอย่างฟุตบอลจะกลับมาทำการแข่งขันได้ไหม แต่ในที่สุดฟุตบอล (ในยุโรป) ก็กลับมาเริ่มที่บุนเดสลีกา เยอรมนี

 

แน่นอนว่าการจะกลับมาทำการแข่งได้หมายถึงการต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบมากมายตามมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ออกมา หนึ่งในนั้นคือการห้ามนักฟุตบอลฉลองประตูร่วมกัน

 

นั่นทำให้เราได้เห็นภาพน่ารักๆ ของ เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ กองหน้าดาวเด่นของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ฉลองประตูทื่ทำได้ในเกมกับชาลเก 04 ด้วยการรักษาระยะห่างกับเพื่อน

 

อาจจะดูขัดๆ เขินๆ อยู่บ้าง แต่ก็น่าเอ็นดู และเรียกรอยยิ้มจากคนทั่วโลกได้มากมาย

 

10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจ

 

ชุดแข่งที่ได้กลับบ้าน

ในขณะที่หลายๆ คนใช้เวลาในช่วงของการล็อกดาวน์ไปกับการช้อปปิ้งซื้อของออนไลน์อย่างสนุกสนาน (ผู้เขียนก็เช่นกัน) นักฟุตบอลอย่าง อายเมอริค ลาปอร์ต ก็ขอช้อปออนไลน์ด้วยเหมือนกัน

 

เพียงแต่สิ่งที่กองหลังแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อไม่ใช่สิ่งของเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง แต่เป็นการซื้อเพื่อส่งคืนให้แก่คนที่ควรจะได้เป็นเจ้าของที่แท้จริง

 

สิ่งที่ลาปอร์ตซื้อคือชุดแข่งกีฬา แต่ไม่ใช่ชุดแข่งธรรมดา เพราะมันเคยเป็นของ อเล็กซิส วาสแต็ง อดีตนักมวยระดับโอลิมปิกของทีมชาติฝรั่งเศสที่เคยมาแข่งในการแข่งขัน ‘ลอนดอน 2012’ มาแล้ว

 

แต่โชคร้ายที่วาสแต็งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในปี 2015 ซึ่งชุดแข่งนี้คุณพ่อของวาสแต็งเก็บไว้เป็นของดูต่างหน้า แต่สุดท้ายได้ตัดสินใจที่จะมอบให้ ซิรีล ดูมูแล็ง นักกีฬาแฮนด์บอลทีมชาติฝรั่งเศส นำมาประมูลหารายได้เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

ลาปอร์ตรู้เรื่องจึงได้ติดต่อเพื่อขอประมูลชุดแข่งนี้ และชนะไปด้วยเงินจำนวน 5,000 ยูโร ก่อนที่จะขอส่งมอบคืนให้แก่คุณพ่อของวาสแต็งตามเดิม

 

น้ำตาลูกผู้ชายจึงร่วงกราวเหมือนสายฝน

 

10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจ

 

Mamba Forever

ถึงจะเป็นเรื่องราวที่โศกเศร้าขนาดไหนก็ตาม แต่พิธีการรำลึกถึง โคบี ไบรอันต์ ตำนานนักบาสเกตบอลผู้จากไปก่อนวัยอันควรพร้อมกับลูกสาวสุดที่รัก จิอันนา ก็เป็นการบอกรักและบอกลาที่งดงามที่สุดเท่าที่เราจะบอกลาใครสักคนได้

 

ในพิธีที่จัดขึ้นที่สเตเปิลส์เซ็นเตอร์ เราได้เห็นผู้คนมากมายที่ออกมาบอกเล่าถึงเรื่องราวความยิ่งใหญ่ในสิ่งที่ไบรอันต์ทำ ไม่ว่าจะในฐานะนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมหรือในฐานะของคนเป็นพ่อคนหนึ่ง ได้ฟังข้อความที่ทรงพลังจาก วาเนสซา ไบรอันต์ ได้เห็นน้ำตาของ ไมเคิล จอร์แดน และรับฟังบทเพลงส่งวิญญาณจาก บียอนเซ และอลิเซีย คีย์ส

 

มันทำให้เรารู้ว่าถึงตัวของไบรอันต์จะจากไป แต่สิ่งที่เขาทำจะไม่มีวันถูกลบเลือน และ Mamba Mentality ได้กลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปีนี้และตลอดไป

 

10 เรื่องราวกีฬาอบอุ่นหัวใจ

 

รางวัลของ Captain Tom

หากจะมีใครสักคนที่สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นตำนานแห่งยุคโควิด-19 หนึ่งในคนที่จะถูกคิดถึงมากที่สุดคือ กัปตันทอม มัวร์​ ทหารผ่านศึกที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนอังกฤษและคนทั้งโลกให้ได้เห็นว่าการทำสิ่งเล็กๆ อย่างการเดินในสวนไปมาก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิมได้

 

การตั้งเป้าหมายเดินในสวนให้ครบ 100 รอบของกัปตันทอมเพื่อขอระดมเงินบริจาคที่จะนำไปช่วยเหลือหน่วยงานสาธารณสุข NHS ของอังกฤษ ได้รับความสนใจจากผู้คนที่ประทับใจกับความมุ่งมั่นของชายชราที่อายุร่วม 100 ปี และทำให้สามารถระดมเงินบริจาคได้มากเกินเป้าไปนิดหน่อย

 

จากเป้าหมาย 1,000 ปอนด์ สุดท้ายเงินบริจาคมีมากถึง 32,796,355 ปอนด์ โดยมีผู้บริจาคมากกว่า 1.5 ล้านคน

 

สิ่งที่กัปตันทอม (ซึ่งเป็นสุภาพบุรุษที่น่ารัก) ทำให้ได้รับรางวัลพิเศษ ‘เฮเลน โรลลาสัน’ ในการประกาศรางวัล BBC Sports Personality of the Year แม้ว่ากัปตันทอมจะไม่ได้ไปวิ่งแข่งกับใคร แค่เดินก็ตาม (แต่ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมากที่ลังเลและไม่กล้าเดินออกกำลังกายได้ทำตามอย่างมากมาย)

 

คนที่ไปมอบรางวัลให้คือ เจสสิกา เอนนิส-ฮิลล์ นักกรีฑาสาวขวัญใจชาวอังกฤษ ที่ได้เป็นตัวแทนคนทั้งชาติไปกล่าวคำยินดีถึงที่บ้าน (เพราะกัปตันทอมไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลได้ในสถานการณ์นี้) 

 

แต่สิ่งที่ดีกว่าคือการที่ BBC ขอนำชื่อของกัปตันทอมไปตั้งเป็นรางวัล Captain Tom Young Unsung Hero ที่มอบให้แก่เด็กที่พยายามปิดทองหลังพระทำในสิ่งที่ดี ซึ่งรางวัลนี้ตกเป็นของเจ้าหนู โทเบียส เวลเลอร์ เด็กน้อยวัย 9 ปีที่พิการทางสมองและเป็นออทิสติก แต่พยายามเดินวันละ 50 เมตร แม้จะต้องใช้เครื่องช่วยก็ตาม

 

สุดท้ายโทเบียสเดินได้ต่อเนื่องกัน 70 วัน และพิชิตระยะทาง 26.2 ไมล์ หรือเท่ากับการวิ่งมาราธอนได้ และระดมทุนช่วยเหลือสังคมได้ถึง 150,000 ปอนด์

 

เป็นแรงบันดาลใจต่อแรงบันดาลใจ…ต่อแรงบันดาลใจไปเรื่อยๆ อีกที

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X