×

10 นโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศที่อยากเห็นหลังเลือกตั้ง

11.04.2023
  • LOADING...
นโยบาย เศรษฐกิจ ต่างประเทศ

อีกประมาณ 1 เดือน ประเทศไทยก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เชื่อว่าความคาดหวังจากการเลือกตั้งครั้งนี้คงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะความคาดหวังที่ว่าประเทศไทยจะสามารถเดินทางออกจากวังวนของการทำรัฐประหารได้ในระดับเกือบสมบูรณ์ (ต้องอย่าลืมว่ายังมี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งอยู่ในระบบต่อไปอีกระยะหนึ่ง) 

 

แต่สิ่งที่เชื่อว่าหลายๆ คน รวมทั้งตัวผู้เขียน ยังไม่ได้เห็นการนำเสนอยุทธศาสตร์และนโยบายของแต่ละพรรคผ่านการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งคือ นโยบายการต่างประเทศ แม้ว่าบางพรรคจะมีการนำเสนออยู่บ้าง แต่ก็มักจะอยู่ในเอกสารหรืออยู่ในเว็บไซต์ ซึ่งยังไม่ได้รับการเผยแพร่เท่าที่ควร 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ทั้งที่ในความเป็นจริง การต่างประเทศ หรือ Foreign Affairs ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และไม่ใช่เรื่องของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น พวกเราทุกคนทำงานในภาคการผลิตที่ต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อผลิตและส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เช่นเดียวกับการบริโภคที่เราสั่งซื้อสินค้าและบริการมากมายจากต่างประเทศ การต่างประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ทุกหน่วยงานมีการติดต่อกับต่างประเทศ ทั้งการค้า การลงทุน การศึกษา สังคม วัฒนธรรม การเมือง และความมั่นคง 

 

คนไทยยังชอบการเดินทางไปเที่ยวเมืองนอก เราอยากกินอาหารอร่อยๆ ที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และเราก็ภูมิใจที่เห็นชาวต่างชาติชื่นชอบศิลปวัฒนธรรมไทย ขณะที่สงครามที่เกิดขึ้นในยุโรปทำให้ราคาข้าวสาลีแพงขึ้น นั่นทำให้เราต้องจ่ายราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแพงขึ้น เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้าน และนั่นทำให้เมื่อพ้นฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มเผาวัสดุการเกษตร และสร้างปัญหาฝุ่นละออง หมอกควัน ข้ามชายแดน ที่ทำร้ายสุขภาพของคนไทย 

 

ประเทศเพื่อนบ้านดึงดูดเงินลงทุนได้มากกว่าไทย เพราะเขามีแต้มต่อ เนื่องจากมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศทั่วโลกมากกว่าประเทศไทย ไทยถูกกดดันทางการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ฯลฯ 

 

นี่คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่ทำให้เราเห็นว่า นโยบายการต่างประเทศของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่มีความสำคัญมาก

 

แต่ในเมื่อพรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่ได้นำเสนอยุทธศาสตร์และนโยบายการต่างประเทศให้พวกเราได้รับรู้อย่างทั่วถึง (บางพรรคไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ) ผู้เขียน ในฐานะที่เฝ้าศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลกผ่านมิติภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ขออนุญาตนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศที่ผู้เขียนอยากเห็น ดังนี้

 

1. สร้างองค์ความรู้ให้คนไทยตระหนักว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในจักรวาล เราต้องพึ่งพาอาศัยอยู่ในประชาคมโลก และการต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการที่สหรัฐอเมริกาเป็นขั้วมหาอำนาจเดี่ยว เข้าสู่ภาวะโลกหลายขั้วที่ประเทศกำลังพัฒนาจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการกำหนดกฎกติกาต่างๆ ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

 

โดยเฉพาะในประเด็นเศรษฐกิจ การทำงานร่วมกันของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับสื่อต่างๆ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความตระหนักรู้ เพราะ Global Mindset ที่เห็นความสำคัญของการต่างประเทศ จะส่งเสริมให้คนไทยออกไปแสวงหาโอกาสมากยิ่งขึ้นในต่างประเทศ มีจิตใจที่กว้างขวางและเข้าใจว่าเราเป็นพลเมืองของโลก และ Mindset ที่เห็นว่าเรื่องของโลก เรื่องของภูมิภาค คือเรื่องของเรา คือ Mindset สำคัญในการผลักดันให้ไทยกลายเป็นมหาอำนาจขนาดกลางบนเวทีโลก (Middle-Power) และนั่นจะยกระดับให้เราสามารถเข้าไปร่วมกำหนดกฎกติกาของโลกได้อย่างแข็งขัน 

 

2. ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์-ภูมิเศรษฐศาสตร์ของ 2 มหายุทธศาสตร์ นั่นคือมหายุทธศาสตร์ความริเริ่มแถบและเส้นทางที่ได้รับการยกระดับไปสู่ Global Development Initiatives ที่ทำให้จีนทะยานขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจที่ขยายอิทธิพลออกไป กับมหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่นำโดยสหรัฐฯ ที่ต้องการปิดล้อมการขยายอิทธิพลของจีน 

 

ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สถานการณ์ที่จะถูกกดดันให้เลือกข้าง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งแน่นอนว่าจุดยืนที่ไทยต้องการคือ เราไม่ต้องการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือสหรัฐฯ เราจะเข้าข้างอยู่เพียงฝ่ายเดียวนั่นคือเข้าข้างการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของไทย 

 

ดังนั้นเราต้องประกาศจุดยืนที่ผ่านการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (Strategic Communication) ผ่านทุกช่องทางบนเวทีโลก ซึ่งแน่นอนว่าตัวของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งบุคคลสำคัญของรัฐบาลทุกคน ต้องมีจุดยืนไปในทิศทางเดียวกัน เช่นเดียวกับประชาชนทุกภาคส่วน 

 

3. ประเทศไทยต้องมีการกำหนดเป้าหมายการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติอย่างชัดเจน เริ่มจากต้องสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกำหนดหนดว่า ผลประโยชน์แห่งชาติของไทยในแต่ละมิติคืออะไร (อย่างน้อยที่สุดใน 6 มิติ คือ เศรษฐกิจ, สังคมวัฒนธรรม, สิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยี, การเมือง และความมั่นคง) และต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยว่า เพื่อรักษาผลประโยชน์เรื่องเหล่านี้บนเวทีนานาชาติ เรื่องใดประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายร่วมกับประเทศใด และใช้ประเทศใดเป็นตัวถ่วงดุล 

 

ทั้งนี้ การเข้าข้างและสนับสนุนการดำเนินนโยบายไปกับประเทศใด ต้องมิใช่การดำเนินการโดยปราศจากหลักการ เราต้องยึดมั่นในหลักการของสหประชาชาติ หลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 

 

หลักการของประชาคมอาเซียน การดำเนินนโยบายการต่างประเทศต้องมีจุดยืนและมีหลังพิง จุดยืนคือรักษาผลประโยชน์ของไทย ไม่เลือกข้าง แต่พร้อมทำงานกับทุกข้าง บนหลังพิงคือหลักการที่สากลยอมรับ หลายๆ พรรคเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากตัวแทนของประชาชนทุกภาคส่วน เราอาจใช้แนวทางคล้ายๆ กัน เพื่อหาตัวแทนของประชาชนไทยมาร่วมกันกำหนดว่าผลประโยชน์ของไทยในแต่ละมิติอยู่ที่ใด

 

4. ในการดำเนินนโยบายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับมหาอำนาจ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายไทยถูกเอาเปรียบ อำนาจต่อรองถือเป็นสิ่งสำคัญ 

 

ดังนั้นการมีบทบาทนำบนเวทีประชาคมอาเซียนร่วมกับเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดในภูมิภาค จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะสร้างอำนาจต่อรอง มูลค่าเศรษฐกิจของอาเซียนที่ระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 4 ของโลก ขณะที่จำนวนประชากรกว่า 678 ล้านคน คือตลาดขนาดใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก 

 

ดังนั้นการมีมหามิตรเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด โดยการเล่นบทบาทนำในอาเซียนจึงเป็นความสำคัญที่จะสร้างอำนาจต่อรองและสร้างจุดสนใจให้กับประเทศไทย เสาหลักของความร่วมมืออาเซียนที่ประเทศไทยสมควรเข้าไปเล่นบทบาทนำอย่างยิ่งคือ มิติสังคมวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) เพราะเป็นมิติที่ทุกประเทศสมาชิกมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด และยังเป็นประโยชน์ต่อตนเองด้วย 

 

เนื่องจากภายใต้กลไกการทำงานของทั้ง 15 มิติภายใต้ ASCC คือการเน้นการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียนผ่านมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน สตรี เด็ก และกลุ่มความหลากหลายในมิติต่างๆ การศึกษา การกีฬา การพัฒนาชนบท การลดความยากจน และการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม ฯลฯ 

 

เรื่องเหล่านี้จะทำให้ไทยมีบทบาทโดดเด่นในการสร้างเครือข่ายในมิติต่างๆ ในอาเซียน เช่นเดียวกับมิติเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community: AEC) ที่ไทยต้องเร่งสร้างบทบาทเชิงรุกในการบูรณาการเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างหลักประกันว่า ประเทศไทยยังจะได้รับประโยชน์ต่อไปจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติร่วมกับประเทศคู่เจรจาหลักของอาเซียน 

 

โดยต้องตั้งเป้าหมายไว้เสมอว่า เราต้องเจรจาเรื่องเศรษฐกิจกับอาเซียน เพื่อประโยชน์กับคนทุกระดับตั้งแต่ Micro, Small, and Medium-Sized Enterprises (MSMEs) ไปจนถึงบริษัทข้ามชาติ และผู้บริโภคชาวไทย-ชาวอาเซียนที่ต้องการการคุ้มครอง ต้องการโอกาสเข้าถึงการทำงานและการบริโภคที่มีคุณภาพ โดยงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม งานสร้างประชาคมอาเซียน สร้างความตระหนักรู้ และสร้างอัตลักษณ์อาเซียนนี้ ประเทศไทยสามารถทำงานร่วมกับ ASEAN Foundation ซึ่งตัวผู้เขียนปฏิบัติหน้าที่ Executive Director อยู่ได้อย่างใกล้ชิด

 

5. และเมื่ออาเซียนคือความสำคัญ แต่ในระหว่าง 10 ประเทศอาเซียน ยังมีอีกกลุ่มที่มีความสำคัญยิ่งกว่า นั่นคือประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไทยมีพรมแดนติดต่อด้วยทั้ง 4 ประเทศ นั่นคือ เมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา และมาเลเซีย ทั้ง 4 ประเทศคือเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกันที่เราต้องพึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นมิติการค้า 

 

โดยเฉพาะการค้าชายแดน การลงทุน การท่องเที่ยว แรงงาน พลังงาน รวมไปถึงมิติทางด้านความมั่นคง ทั้งในกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กรณีความรุนแรงที่มาจากทั้งสองฝ่ายของคู่ขัดแย้งในเมียนมา หรือกรณีที่เกิดขึ้นในไทยที่ต้องการประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน อาทิ กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของเพื่อนบ้านมาโดยตลอด ในประเด็นอ่อนไหว เช่น ประเด็นเมียนมา ประเทศไทยก็ใช้วิธีการทูตแบบเงียบในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกฝ่ายผ่านเวที Track 1.5 และ/หรือ Track 2 นั่นคือผ่านวงวิชาการ ผ่านการพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ แต่เป็นสาระสำคัญในการรับรู้สถานการณ์ สร้างความเข้าใจ เพื่อหวังจะนำไปสู่การเดินหน้านโยบาย 

 

ตัวผู้เขียนเชื่อว่าการดำเนินนโยบายในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ยังไม่เพียงพอ ตัวผู้เขียนมีความเชื่อว่าการดำเนินนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านในระดับส่วนกลาง และ/หรือ ในระดับนานาชาติ ไม่เพียงพอ กรุงเทพฯ หรือจาการ์ตา ไม่มีทางรู้สถานการณ์ดีเท่ากับภาคเอกชนและภาคราชการที่อยู่ในจังหวัดชายแดน 

 

และแน่นอนว่าคนที่อยู่ในอำเภอเมืองเองก็ไม่มีทางรู้ดีเท่ากับกลไกที่ต้องอยู่ที่ชายแดน ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลใหม่จะจัดให้มีการประชุมที่บูรณาการทุกภาคส่วนจริงๆ ตั้งแต่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ กลไกในระดับต่างประเทศ อาทิ เอกอัครราชทูตไทยที่ประจำอยู่ที่เมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน ลงพื้นที่ไปนั่งคุยกับพ่อค้าและข้าราชการในระดับจังหวัด และมีตัวแทนจากฝ่ายปกครองท้องถิ่น ภาคประชาชน รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกลาโหมทั้งจากส่วนกลาง กองทัพภาค และในพื้นที่ชายแดน มานั่งคุยกัน เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์จริงๆ จากในพื้นที่ว่าโอกาสคืออะไร ความท้าทายคืออะไร เรื่องต้องเฝ้าระวังและข้อห่วงกังวลคืออะไร และส่วนกลาง รวมถึงความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ประชาคมอาเซียน จะดำเนินการเรื่องใดได้บ้างในรูปแบบที่ Pro-Active มากยิ่งขึ้น

 

6. ถัดจากเพื่อนบ้านในอาเซียน ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศมหาอำนาจใกล้บ้าน เพราะต้องอย่าลืมว่ามหาอำนาจก็เปรียบเสมือนกองไฟขนาดใหญ่ ที่เมื่ออยู่ใกล้เกินไปก็ถูกแผดเผา ในขณะที่หากอยู่ไกลเกินไปก็มืดสลัวและหนาวเหน็บ 

 

มหาอำนาจที่อยู่ใกล้บ้านมากที่สุดมี 2 ประเทศคือ จีนและอินเดีย จากชายแดนจังหวัดเชียงรายขับรถบนถนน R3A เพียง 247 กิโลเมตร เราจะเดินทางถึงชายแดนจีน และในคืนเดือนมืด หากเรายืนอยู่ที่ชายหาดของเมืองพอร์ตแบลร์ เมืองเอกของดินแดนสหภาพหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของประเทศอินเดีย แล้วมองไปทางทิศตะวันออก แสงไฟระยิบระยับที่มองเห็นคือแสงไฟจากหาดป่าตองของเกาะภูเก็ต

 

ทั้งสองประเทศคือมหาอำนาจที่อยู่ใกล้บ้าน และเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคนทั้งสองประเทศ รวมทั้งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ (GDP: PPP) ใหญ่เป็นอันดับที่ 1 (จีน) และ 3 (อินเดีย) ของโลก โอกาสและความท้าทายทั้งมิติเศรษฐกิจและการเมืองความมั่นคงระหว่างไทย จีน และอินเดีย มีมหาศาล และแต้มต่อที่เราต้องใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด คือ 

 

  1. ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยที่อยู่จุดกึ่งกลางระหว่างอ่าวเบงกอลที่อินเดียมีอิทธิพล และทะเลจีนใต้ที่จีนมีอิทธิพล
  2. ความใกล้ชิดทางสังคม วัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติ และสายเลือด ตลอดทั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

 

ไม่ว่าคนไทยจะรู้สึกรัก จะเกลียด หรือจะเฉยๆ แต่ไทยต้องเฝ้าระวังและพยายามทำความเข้าใจโดยปราศจากอคติต่อแนวทางการดำเนินนโยบายการต่างประเทศและนโยบายทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศนี้ เพื่อสร้างนโยบายของไทยต่อสองมหาอำนาจแห่งนี้

 

โดยเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการคือ การสร้างความเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐาน (ราง, ถนน, ท่าเรือ และสายการบิน) เพื่อใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงไปสู่การสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน และลดความเสี่ยงหากเกิดสถานการณ์ไม่ปกติในทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน ทางรถไฟสิงคโปร์-มาเลเซีย-ไทย-ลาว-จีน ที่จะสามารถเชื่อมโยงไปสู่ยุโรป เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมทั้งถนนทางหลวง 3 ประเทศ ไทย-เมียนมา-อินเดีย ที่จะเปิดตลาดเข้าสู่เอเชียใต้ จะกลายเป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยงที่สำคัญ 

 

ดังนั้นรัฐบาลใหม่ของไทยต้องวางตัวผู้รับผิดชอบ หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

 

7. นอกจากการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าแล้ว ยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน 

 

ท่ามกลางสถานการณ์สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยีที่ฝ่ายสหรัฐฯ ต้องการผลักให้จีนออกจากห่วงโซ่อุปทานของโลก จนลุกลามไปเป็นสถานการณ์ Decoupling 

 

ขณะที่ฝ่ายจีนเองก็ตอบโต้สหรัฐฯ โดยการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับพันธมิตร โดยมีเป้าหมายลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ De-Dollarisation เป็นเครื่องมือตัดกำลังสหรัฐฯ 

 

การเจรจาการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบที่ครอบคลุมในทุกมิติทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และมิติอื่นๆ อาทิ การเคลื่อนย้ายเงินทุนและระบบการชำระเงิน การสร้างกฎกติการทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ 

 

จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า การลงุทน และเป็นหลักประกันว่าประเทศไทยยังสามารถประคองตนเองอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีแต้มต่อทางการค้า-การลงทุนได้ต่อไป 

 

โดยกรอบการค้าเสรีที่ประเทศไทยต้องเข้าไปเจรจาการค้าต้องมีการจัดอันดับความสำคัญ และในขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็ต้องปฏิรูปกฎหมายภายในประเทศผ่านกระบวนการ Regulatory Guillotine เพื่อให้เราสามารถไปเจรจาการค้าได้โดยที่ภายในประเทศของเราก็มีมาตรฐานที่สูงเช่นกัน 

 

โดยกรอบการเจรจาการค้าที่สำคัญที่ต้องเร่งพิจารณาคือ สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป 27 ประเทศ, EaEU (รัสเซีย, เบลารุส, อาร์เมเนีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน) EFTA (สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, ไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์) CPTPP (เวียดนาม, แคนาดา, เม็กซิโก, เปรู, ชิลี, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, บรูไน, มาเลเซีย) ตุรกี, ซาอุดีอาระเบีย, อินเดีย (ต่อจาก 63 รายการสินค้าที่เปิดเสรีไปแล้ว), BIMSTEC (อินเดีย, ศรีลังกา, บังกลาเทศ, ภูฏาน, เนปาล, เมียนมา), GCC (บาห์เรน, คูเวต, โอมาน, กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) 

 

รวมทั้งต้องประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนที่จะเดินหน้าเพื่อเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือที่ผูกพันมากกว่าการค้า-การลงทุน แต่จะเป็นกลุ่มที่ร่วมกำหนดกฎกติกาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติที่หลากหลาย โดยเฉพาะ BRICS และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) 

 

และอีกหนึ่งระดับที่สำคัญคือ การกำหนดทิศทางของไทยในการเจรจาการค้าภายใต้กรอบ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ร่วมกับสหรัฐอเมริกา และการกำหนดจุดยืนของไทยในยุทธศาสตร์ Global Development Initiatives (GDI) และ Global Security Initiatives (GSI) ที่วางยุทธศาสตร์โดยจีน 

 

ประเทศไทยต้องเร่งจัดอันดับ เร่งศึกษา เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการเจรจา โดยต้องรักษาผลประโยชน์ของภาคธุรกิจควบคู่กับการคุ้มครองผู้บริโภค และการสนับสนุนแนวคิดโลกาภิวัตน์และพหุภาคีนิยมเป็นหลักการสำคัญ

 

8. นอกจากการมองมิติการต่างประเทศในขอบเขตภูมิศาสตร์เชิงพื้นที่แล้ว การมองมิติการต่างประเทศในมิติข้ามช่วงเวลาก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเรื่องที่เวลากลายเป็นข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดคือ มิติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะความจริงจังในการดำเนินการนโยบายต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ 

 

ประเทศไทยในฐานะที่เป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เป็นผู้ริ่เริ่มผลักดันแนวคิด Bio-Circular-Green Economy (BCG) รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทนำด้านสิ่งแวดล้อมบนเวทีประชาคมอาเซียนมาโดยตลอด ต้องมีบทบาทที่แข็งขันมากยิ่งขึ้นในการเดินหน้าเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนประจกสุทธิเป็นศูนย์ 

 

โดยนอกจากจะต้องดำเนินการสำหรับประเทศไทยแล้ว บทบาทในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะด้านการถ่ายองค์ความรู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้ไทยมีบทบาทนำในภูมิภาค 

 

และงานนี้ไทยยังสามารถหาพันธมิตรที่เป็นประชาคมนานาชาติและภาคเอกชน โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติที่เน้นแนวคิด Environment-Social-Governance (ESG) ให้เป็นพันธมิตรในการสนับสนุนด้านเงินทุนและองค์ความรู้ได้อีกด้วย 

 

European Green Deals ของสหภาพยุโรป จะกลายเป็นปทัสถานและมาตรฐานใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องการการสนับสนุนให้หลากหลายมิติจากภาครัฐ โดยประเด็นแรกที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องให้กับภาคประชาชนและภาคธุรกิจคือ Green Mindset ที่เข้าใจปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และการปรับใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งในทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อรับมือ ป้องกัน และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากสถานการณ์ดังกล่าวให้ได้อย่างยั่งยืน 

 

รัฐบาลต้องมองข้ามมิติของเวลา เพื่อดำเนินนโยบายในการส่งมอบประเทศไทยที่มีอนาคตให้กับคนในรุ่นต่อๆ ไป 

 

นอกจากมิติของเวลาแล้ว ในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ไทยต้องยึดโยงกับการต่างประเทศยังมิติภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ ซึ่งไทยต้องเร่งสร้างองค์ความรู้อีกมากมายหลายพื้นที่ อาทิ ทะเลหลวงและพื้นดินท้องทะเลนอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีป อวกาศ โดยเฉพาะวงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit: LEO) และตำแหน่งเสถียรภาพของแรงดึงดูดระหว่างโลกและดวงจันทร์ (Libration Point Orbit: LPO) ขั้วโลกเหนือ เส้นทางการค้าและการละลายของชั้นน้ำแข็ง Permafrost และพื้นที่ห่างไกลที่เดิมอำนาจรัฐอาจเข้าไม่ถึง (Zomia)

 

9. เช่นเดียวกับมิติทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ควบคู่กับนวัตกรรมทางสังคม คือพลังขับเคลื่อนหลักที่จะทำให้ไทยสามารถเดินหน้าพัฒนาตนเอง และนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง 

 

โดยเทคโนโลยีสำคัญที่ไทยต้องเร่งสร้างทรัพยากรบุคคลให้รู้เท่าทัน ได้แก่ เทคโนโลยีควอนตัม, พลังงานทางเลือกและการจัดเก็บพลังงาน, วัสดุศาสตร์ โดยเฉพาะเคมีชีวภาพ, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์, เทคโนโลยีโทรคมนาคมหลังยุคที่ 5 (Post 5G) และเทคโนโลยีอวกาศ 

 

ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้นอกจากจะมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศแล้ว ยังเป็นเทคโนโลยีที่เป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน 

 

และเนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่สร้างเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ด้วยตนเองตั้งแต่ระดับการวิจัยพื้นฐาน ดังนั้นการสร้างพันธมิตรกับประเทศที่หลากหลาย โดยเฉพาะจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลี จะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับประเทศไทย

 

10. ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาจากจุดแข็งทางสังคมวัฒนธรรมของเราเองนั่นคือ Soft Power ที่สำคัญมาก แต่ต้องเลิกเรียกว่า Soft Power กันเสียที เพราะในทางปฏิบัติไม่มีประเทศไหนหรือรัฐไหนบนโลกที่ต้องการตกอยู่ใต้อำนาจ (Power) ของชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็น Hard Power (แสนยานุภาพ) หรือ Soft Power (กัลยานุภาพ) ก็ตาม 

 

ในทางทฤษฎี การใช้อำนาจต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเราจะได้ประโยชน์อันใดเมื่อประเทศอื่นๆ หรือรัฐอื่นๆ อยู่ภายใต้อำนาจของเรา อาจเป็นอำนาจทางสังคมวัฒนธรรมที่ทำให้เราได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ สร้างความนิยมชมชอบ สร้างตำแหน่งแห่งที่ของประเทศบนเวทีโลก 

 

ดังนั้นในความเป็นจริง เรื่อง Soft Power คือสิ่งที่ทุกประเทศต้องการ และเราต้องไม่สับสนระหว่างการสร้าง Soft Power ที่ทำให้เราได้ประโยชน์ กับการเพียงแต่นำเสนอความภาคภูมิใจของชาติ (Prestige of the Nations) ให้ประชาคมโลกรู้จัก โดยไม่ได้มียุทธศาสตร์ว่าเผยแพร่ออกไปแล้วเราจะได้ประโยชน์ และเราจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งทางสังคมวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างไร 

 

ไทยมีจุดแข็งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมอาหาร ประเพณีงานเทศกาล ประวัติศาสตร์ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม กีฬา งานศิลปะ ภาพยนตร์ หรือเพลง ฯลฯ แต่เราต้องเลิกเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า Soft Power เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้ว ไม่มีใครชอบตกอยู่ภายใต้ Power ของคนอื่น 

 

ประเทศญี่ปุ่นวางตำแหน่งแห่งที่ของตนในทาง Soft Power และเรียกการรณรงค์ของตนว่า ‘Cool Japan’ 

 

ในขณะที่เกาหลีเรียกว่า ‘Hallyu’ หรือ ‘Korean Wave’ ที่ใช้ตัวอักษร K นำหน้า เช่น K-Pop, K-Drama, K-Lifestyle และ Konnect 

 

ประเทศไทยจะใช้คำว่าอะไร รณรงค์แบบไหน สื่อสารเชิงยุทธศาสตร์อย่างไร และประโยชน์ที่ได้คืออะไร ใครคือกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทย ความต้องการ (Insight) และสาระสำคัญ (Intelligence) จากผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในประเทศไหนว่าเขาต้องการอะไร อยากได้อะไรกันแน่ ต้องมีการวางยุทธศาสตร์อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่นำเสนอทุกอย่างที่ดีของเราออกไป เพราะเรามีทรัพยากรจำกัด จะนำเสนอทุกอย่างแบบต่างคนต่างทำ ไม่พุ่งเป้า และรอให้โชคดีเกิดขึ้น แล้วเราคอยรับผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป 

 

ยุทธศาสตร์ส่งเสริมความเป็นไทย (Thainess) ในต่างประเทศในกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องหวังผลได้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

และนี่คือ 10 นโยบายทางเศรษฐกิจต่างประเทศที่ผู้เขียนอยากเห็น โดยกลั่นกรองจากองค์ความรู้ที่ได้สังเกต ศึกษา และวิจัย ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา แน่นอนว่านี่เป็นความคาดหวังส่วนตัว ซึ่งอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ 

 

เชื่อว่าหากคุณผู้อ่านเห็นว่ามีเรื่องใดที่ขาดตกบกพร่องและช่วยนำเสนอ (อาจเขียนในช่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างทิ้งไว้ก็ได้) ผมเชื่อว่าเราจะมีชุดนโยบายที่ดีที่ทุกคนมีส่วนร่วมสำหรับให้รัฐบาลใหม่ของไทยเดินหน้าได้อย่างภาคภูมิ ผมไม่สงวนสิทธิ์หากพรรคการเมืองไหนที่เห็นประโยชน์ อยากนำไปปรับใช้ เพราะผมเชื่อว่าประเทศไทยของเรามีศักยภาพสูง แต่เรายังไม่ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และผมอยากให้หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ประเทศไทยของเราพัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม

 

ภาพ: Novikov Aleksey via ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising