×

10 หมวดหุ้น ที่ยังให้กำไรช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

10.11.2020
  • LOADING...
10 หมวดหุ้น ที่ยังให้กำไรช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • ดัชนี SET วิ่งขึ้นไปแตะ 1,852 จุด ช่วงต้นปี 2561 ก่อนร่วงกลับมาอยู่ระหว่าง 1,200-1,250 จุด เท่ากับว่าดัชนี SET ที่เคยพุ่งขึ้น กลับร่วงลงมาต่ำกว่าจุดตั้งต้นเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ถ้ามองจากผลตอบแทนรวม (Total Return) หุ้นยังให้กำไรอยู่ 1.38%
  • จาก 28 หมวดธุรกิจของหุ้นไทย มีเพียง 10 หมวด ที่ยังคงให้กำไรกับนักลงทุนสำหรับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยหมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ (PAPER) ซึ่งมีหุ้นอยู่เพียงตัวเดียวในกลุ่ม ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 334.6% รองลงมาคือกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) ด้วยผลตอบแทน 101.2%

ดัชนีหุ้นไทย (SET) ซึ่งเคยวิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 1,852 จุด เมื่อต้นปี 2561 ล่าสุด ดัชนีได้ปรับฐานลงมาอยู่ที่ระดับ 1,200-1,250 จุด ต่ำกว่าจุดตั้งต้นเมื่อ 5 ปีก่อน เป็นที่เรียบร้อย หากพิจารณาเฉพาะผลตอบแทนจากราคาที่เปลี่ยนแปลงไป หรือซื้อกองทุนที่อิงกับดัชนีโดยรวม เท่ากับว่ากำไรที่เคยได้มาก่อนหน้านี้ พลิกกลับมาเป็นขาดทุนไปแล้ว

 

จากดัชนีราคาปิด ณ วันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หากมองเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของดัชนี ผลตอบแทนของ SET ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ -13.54% แต่เมื่อคำนวณรวมผลตอบแทนจากเงินปันผลเข้ามาด้วย ผลตอบแทนของ SET จะกลายเป็นบวกได้ 1.38

 

การคำนวณผลตอบแทนรวม (Total Return) คือรวมเอาทั้งส่วนต่างราคาและเงินปันผล ทำให้บางหมวดธุรกิจที่หากมองเฉพาะราคาหุ้นอาจจะขาดทุน แต่เมื่อรวมเงินปันผลเข้าไปแล้ว นักลงทุนยังคงได้กำไรจากการถือครองในช่วงที่ผ่านมา

 

อย่างกรณีของหมวดกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์ฯ (PF&REIT) มีผลตอบแทนเฉพาะดัชนีอยู่ที่ -0.7% แต่เมื่อรวมเงินปันผลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หมวด PF&REIT จะกลายเป็นมีกำไร 30.7% ทั้งนี้ หากพิจารณาทุกหมวดธุรกิจของตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันยังมี 10 จากทั้งหมด 28 หมวดธุรกิจ ที่ให้ผลตอบแทนรวมเป็นบวก

 

10 หมวดหุ้น ที่ยังให้กำไรช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

 

หมวดกระดาษและวัสดุสิ่งพิมพ์ (PAPER) ซึ่งมีหุ้นเพียงแค่ 1 ตัว คือ บมจ.ยูไนเต็ด เปเปอร์ (UTP) ให้ผลตอบแทนรวมสูงสุด 334.6% รองลงมาคือ หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) ให้ผลตอบแทนรวม 101.2% และอันดับ 3 คือ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) ให้ผลตอบแทนรวม 94.8%

 

หุ้นเด่นในกลุ่ม FIN โดยหลักเป็นธุรกิจปล่อยสินเชื่อและบัตรเครดิต ซึ่งราคาหุ้นหลายๆ ตัวปรับขึ้นได้ค่อนข้างโดดเด่น อาทิ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 203% หรือ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ราคาเพิ่มขึ้น 118%

 

ส่วนกลุ่ม ETRON ได้แรงหนุนจากหุ้นหลักคือ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA) ที่พุ่งขึ้น 112% จนล่าสุดขึ้นมาติดท็อป 10 ของหุ้นที่มีมูลค่ามากสุดของไทย

 

ในมุมกลับกัน หมวดธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนแย่สุดคือ รับเหมาก่อสร้าง (CONS) -61.6% ถัดมาคือหมวดบริการเฉพาะกิจ (PROF) -45.8% และหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน (HOME) -44.6%

 

ส่วนดัชนีของอีก 2 หมวดธุรกิจหลักของไทย ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปในระดับเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท คือ หมวดสื่อสาร (ICT) และหมวดธนาคารพาณิชย์ (BANK) มีผลตอบแทนรวม -21.6% และ -35.6% ตามลำดับ

 

หากมองต่อไปในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยพิจารณาจากบริบทในปัจจุบัน ทั้งส่วนของราคาหุ้นและแนวโน้มเศรษฐกิจ ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า ช่วงเวลาต่อจากนี้จะเป็นช่วงที่ดีของหุ้น ‘Value Stock’ หรือหุ้นที่ราคาลดลงมาต่ำกว่ามูลค่า ด้วยราคาหุ้นที่ถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

 

ในมุมนี้ เชื่อว่าหุ้นกลุ่ม ‘ธนาคาร’ ซึ่งถูกทำโทษมาอย่างหนักก่อนหน้านี้ และถึงแม้ว่าในระยะสั้นจะถูกกดดันจาก NPL แต่ด้วยเวลา 3-5 ปี เชื่อว่าราคาหุ้นกลุ่มธนาคารน่าจะฟื้นตัวได้ และให้กำไรค่อนข้างแน่นอน

 

เช่นเดียวกับหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม สนามบิน สายการบิน รวมไปถึงโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติสูง เป็นธุรกิจที่โดนกดดันจากโควิด-19 และราคาหุ้นรับรู้ข่าวร้ายไปมากแล้ว ก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกได้เช่นกัน

 

“แต่ในมุมของหุ้นที่จะล้อไปกับธีม New Economy ต้องยอมรับว่า ไทยไม่ค่อยมีกลุ่มธุรกิจไหนที่เกาะไปแนวโน้มดังกล่าว เพราะฉะนั้นเราจะเห็นการเติบโตของหุ้นในอนาคตที่กระจัดกระจายเป็นรายตัวมากขึ้น แต่ถ้าจะมองเป็นกลุ่มธุรกิจ ก็อาจจะเป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งน่าจะเกี่ยวเนื่องมากที่สุด แต่ด้วยราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นมามาก ทำให้ผลตอบแทนอาจจะสู้หุ้น Value ไม่ได้”

 

อีกภาพหนึ่งที่น่าจะเห็นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า คือการลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่น่าจะลดลง ทำให้หุ้นปันผลหรือหลักทรัพย์อย่าง กองทุนรวมอสังหาฯ ซึ่งโดยปกติมักจะให้ผลตอบแทนดีในช่วงดอกเบี้ยต่ำ อาจจะผ่านช่วงที่ดีที่สุดไปแล้ว หลังจากที่เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว หนุนให้อัตราดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์เริ่มขยับสูงขึ้น 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X