วานนี้ (31 ธันวาคม) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT เปิดเผยถึงปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจในปี 2568 ดังต่อไปนี้
- ดาวอังคารใกล้โลก และดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์
เปิดศักราชมาด้วย 2 ปรากฏการณ์เกี่ยวกับดาวอังคาร ในคืนวันที่ 12 มกราคม 2568 ดาวอังคารจะโคจรใกล้โลกที่สุด ระยะห่างประมาณ 96 ล้านกิโลเมตร จากนั้นจะโคจรไปอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ในวันที่ 16 มกราคม 2568 ช่วงดังกล่าวสามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน ซึ่งจะปรากฏสว่างเป็นสีส้มแดงบนฟ้า หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นน้ำแข็งสีขาวบริเวณขั้วของดาวอังคารได้ โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทุกๆ ประมาณ 26 เดือน
- ดาวศุกร์สว่างที่สุด
เกิดขึ้น 2 ครั้งในรอบปีนี้ ครั้งแรกช่วงหัวค่ำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ทางทิศตะวันตก และช่วงรุ่งเช้าวันที่ 24 เมษายน 2568 ทางทิศตะวันออก
- ดาวเสาร์เสมือนไร้วงแหวน
ช่วงวันที่ 23-24 มีนาคม 2568 ดาวเสาร์จะปรากฏเสมือนไร้วงแหวน เป็นมุมมองจากโลกที่จะเห็นลักษณะเช่นนี้ทุกๆ 15 ปี แต่ช่วงวันดังกล่าวดาวเสาร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จึงขึ้นและตกในเวลากลางวัน ส่งผลให้สังเกตการณ์ได้ยาก สำหรับผู้ที่สนใจ แนะนำให้ชมช่วงดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปีในวันที่ 21 กันยายน 2568
- ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี
วันที่ 21 กันยายน 2568 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) จึงมีระยะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,279 ล้านกิโลเมตร ซึ่งสังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งคืน และแม้ว่าช่วงดังกล่าวจะไม่ปรากฏเสมือนไร้วงแหวน แต่ระนาบวงแหวนยังคงมีมุมเอียงที่น้อย จึงจะเห็นเป็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนบางๆ
- จันทรุปราคาเต็มดวง
ไฮไลต์เด่นที่น่าจับตาที่สุดในปีนี้เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงในไทยที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 ปี (ล่าสุดเมื่อปี 2565) เกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 ถึงเช้ามืด 8 กันยายน 2568 เวลาประมาณ 22.29-03.55 น. (ตามเวลาประเทศไทย) คราสเต็มดวงเวลาประมาณ 00.31-01.53 น. ช่วงดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏเป็นสีแดงอิฐนาน 1 ชั่วโมง 22 นาที โดยในประเทศไทยมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าตลอดปรากฏการณ์
- ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี
ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) ตรงกับวันที่ 13 เมษายน 2568 ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดเล็กกว่าปกติเล็กน้อย และปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย
- ฝนดาวตกน่าติดตาม
ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เกิดจากโลกโคจรเข้าตัดผ่านสายธารเศษหินและฝุ่นในอวกาศที่ดาวเคราะห์น้อยและดาวหางทิ้งไว้ ไฮไลต์เด่นของฝนดาวตกในปี 2568 คือ ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ (อัตราการตก 150 ดวงต่อชั่วโมง) ในคืนวันที่ 14-15 ธันวาคม 2568 ซึ่งปีนี้จะไม่มีแสงจันทร์รบกวน
- ดาวเคียงเดือนและดาวเคราะห์ชุมนุม
ในปี 2568 มีปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนและดาวเคราะห์ชุมนุมให้ชมตลอดทั้งปี ได้แก่
- 4 มกราคม 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์
- 18 มกราคม 2568 ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์
- 1 กุมภาพันธ์ 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์
- 11 เมษายน 2568 ดาวพุธเคียงดาวเสาร์
- 25 เมษายน 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวศุกร์และดาวเสาร์
- 26 เมษายน 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวพุธ
- 29 เมษายน 2568 ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์
- 2 พฤษภาคม 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวพอลลักซ์และคาสเตอร์ (ปรากฏคล้ายพระจันทร์ยิ้ม)
- 23 พฤษภาคม 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์
- 24 พฤษภาคม 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวศุกร์
- 1 มิถุนายน 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวอังคาร
- 12 สิงหาคม 2568 ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี
- ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับประเทศไทย
ประเทศไทยมีช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะ 2 ครั้งในรอบปี ครั้งแรกในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เริ่มจากภาคใต้ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงกรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 27 เมษายน 2568 และจบที่ภาคเหนือในเดือนพฤษภาคม ส่วนครั้งที่ 2 อยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน โดยเริ่มจากภาคเหนือปลายเดือนกรกฎาคม ไล่ลงไปจนถึงกรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2568 และจบที่ภาคใต้ในช่วงเดือนกันยายน ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะ (ตั้งฉากกับประเทศไทย) จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ สังเกตได้จากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี เสมือนไร้เงา
- ฤดูกาลทางดาราศาสตร์
วันที่กำหนดฤดูกาลต่างๆ ของโลกในปี 2568 มีดังนี้
- วันที่ 20 มีนาคม 2568 วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
- วันที่ 21 มิถุนายน 2568 วันครีษมายัน (Summer Solstice) ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
- วันที่ 23 กันยายน 2568 วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
- วันที่ 21 ธันวาคม 2568 วันเหมายัน (Winter Solstice) ช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
อ้างอิง: