วันนี้ (15 ตุลาคม) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 2/2567 (คอส.) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
นายกฯ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการวางแผนให้สามารถแก้ปัญหาระยะยาวตามที่เรามีการศึกษามาหลายที่ เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาดินโคลนถล่มที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย ปีหน้าหรือปีต่อไปๆ ก็เหมือนจะมีปัญหาแบบนี้อยู่ เป็นสิ่งที่ตนรู้สึกร้อนใจที่สุดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ถึงแม้เราจะไม่สามารถหยุดปัญหานี้ได้ 100% แต่เราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้มีวิธีรับมือที่ดีขึ้น หรือจะทำให้ปัญหาจบเร็วขึ้น จึงอยากให้มาร่วมมือศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เรามีเวลา 1 ปีที่ปัญหาแบบเดิมจะมาถึงในปีหน้า
นายกฯ กล่าวว่า ที่สำคัญในวันนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ จิตอาสา มูลนิธิต่างๆ ที่ร่วมกันแก้ปัญหาในพื้นที่ และขอขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการฯ และรัฐมนตรีช่วยฯ ที่ลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สแตนด์บายเพื่อพี่น้องประชาชนและสร้างความอุ่นใจ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัญหาซึ่งรัฐมนตรีที่อยู่หน้างานแก้ได้อย่างทันท่วงที ทำให้ปัจจุบันสถานการณ์จังหวัดเชียงรายคลี่คลายไปมากแล้ว
นายกฯ กล่าวอีกว่า เมื่อเช้าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการพูดคุยกันว่าจะทำให้ปัญหาจบสิ้นก่อนเดือนพฤศจิกายน วันนี้จึงอยากประชุมเพื่อรับทราบสถานการณ์การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดในปีหน้าต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมถึงกฎระเบียบการดำเนินการ หากเป็นเพียงข้อบังคับหรือกฎกติกาที่เป็นระเบียบสามารถดำเนินการประกาศโดยกระทรวงได้ทันที ซึ่งเป็นการละเว้นชั่วคราวในการแก้ไขสถานการณ์ให้กับประชาชน
จิรายุกล่าวว่า ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในพื้นที่เกิดอุทกภัย เพื่อรับฟังแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่หรือเชียงราย หรืออาจจะเป็นทั้ง 2 จังหวัดนี้ เพื่อไปดูการฟื้นฟูภายหลังน้ำลด และนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทการป้องกันอุทกภัยลักษณะนี้ในอนาคต นอกจากนี้ อาจจะมีการพิจารณาจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทงในพื้นที่ด้วย
จิรายุกล่าวอีกว่า ในที่ประชุมมีการรายงานถึงการพูดคุยระหว่างประเทศ โดยคณะทำงานระบุว่า ควรเป็นการพูดคุยกับพื้นที่เพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว หรือเมียนมา ที่ทั้ง 2 ประเทศก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยจะมีการพูดคุยในเร็ววันนี้เพื่อกำหนดกรอบในการเตือนภัยให้กับพี่น้องในต่างประเทศก่อนเกิดภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการ ‘แอ่วเหนือคนละครึ่ง’ ขณะนี้มี 2 แนวทาง ได้แก่ 1. คนละครึ่ง คือ รัฐจะจ่ายค่าห้องพักครึ่งหนึ่ง และประชาชนจะจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง และ 2. หนึ่งแถมหนึ่ง คือ เมื่อประชาชนจ่ายค่าห้องพักหนึ่งห้อง จะได้รับห้องพักแถมให้อีกหนึ่งห้อง โดยในสัปดาห์หน้าคงจะได้ข้อสรุปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี