×

1 ปีแห่งการเพิกเฉย ‘วันเฉลิม’ ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

โดย THE STANDARD TEAM
04.06.2021
  • LOADING...
วันเฉลิม

วันนี้เมื่อปีที่แล้ว 4 มิถุนายน 2563 ‘ต้าร์’ หรือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หายตัวไปจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ทิ้งเพียงคลิปเสียงที่คลุมเครือไว้ให้ครอบครัวแกะรอยตามหา การหายตัวครั้งนี้ของเขาเป็นหนึ่งใน ‘การถูกบังคับให้สูญหาย’ หรือ ‘การอุ้มหาย’ จากทั้งหมด 82 กรณีที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย

 

กระทั่งหนึ่งปีต่อมาให้หลัง ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบคำถามได้ว่า วันเฉลิมอยู่ที่ไหน และเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ 

 

ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมไทยก็ยังไม่สามารถให้คำตอบใดถึงชะตากรรมของเขาได้ ทำให้สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้เป็นพี่สาวของวันเฉลิม ต้องลุกขึ้นสู้เพื่อทวงความยุติธรรม 

 

แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการต่อสู้ของเธอจะเต็มไปด้วยหนทางที่มืดมิด แต่เหตุการณ์ #Saveวันเฉลิม ครั้งนี้กลับทิ้งอะไรไว้มากมายให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความบิดเบี้ยวที่ซุกซ่อนอยู่ลึกลงไป 

 

THE STANDARD ชวนทุกคนย้อนกลับมาดูถึงเหตุการณ์วันแรกของการหายตัวไปของวันเฉลิม วันเฉลิมเป็นใคร ทำไมการหายตัวไปของเขาถึงสำคัญ และในโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งการสูญหายที่ผิดปกติที่ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติใต้พรมของสังคมไทยนี้ กำลังบอกอะไรกับเรา

 

KEY MESSAGES:

 

วันเฉลิมคือใคร

 

  • วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ เดินทางออกจากไทยเพื่อลี้ภัยทางการเมือง ปัจจุบันอายุ 37 ปี เดิมทำงานอยู่กับองค์กรสาธารณะ (NGO) เกี่ยวกับเยาวชนด้านเอชไอวีและเอดส์
  • วันเฉลิมได้รับหมายจับคดีพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ จากการเชื่อว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊ก ‘กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ’ ในสมัยการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากนั้นเขาได้ปฏิเสธการเข้ารายงานตัวและเดินทางออกนอกประเทศ ก่อนปักหลักพำนักอยู่ประเทศกัมพูชาในเวลาต่อมา

 

วันเฉลิมหายตัวไปได้อย่างไร

 

  • วันที่ 4 มิถุนายน 2563 ขณะที่วันเฉลิมกำลังซื้อลูกชิ้นบริเวณหน้าคอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัยในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พร้อมกับต่อสายคุยกับพี่สาว สิตานัน ในเวลาต่อมามีเสียงโครมครามดังขึ้นจากปลายสาย พร้อมกับเสียงเอะอะโวยวายของชายชาวกัมพูชา 3-4 คน โดยสิ่งสุดท้ายที่สิตานันได้ยินคือ “โอ๊ย หายใจไม่ออก” ในขณะนั้นเธอไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับน้องชาย จนกระทั่งสายถูกตัดไป
  • สิตานันได้ติดต่อไปยังเพื่อนของวันเฉลิมที่กรุงพนมเปญให้ช่วยมาดูน้องชายที่คอนโดมิเนียม หลังจากนั้นจึงได้ถูกรับแจ้งว่า วันเฉลิมถูกอุ้มหาย
  • หลังจากนั้นสิตานันที่กำลังขวัญเสียและเพื่อนของวันเฉลิมได้ตัดสินใจช่วยกันนำเหตุการณ์การอุ้มหายครั้งนี้ประกาศลงบนโซเชียลมีเดีย และเกิดแฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม ขึ้น

 

กระแส #Saveวันเฉลิม 

 

  • แฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม แพร่หลายบนโซเชียลมีเดียจนขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ พร้อมกับสื่อมวลชนและสังคมที่จับตามองเหตุการณ์ครั้งนี้
  • ช่วงบ่ายในวันเดียวกัน สำนักข่าวประชาไทได้นำคลิปจากกล้องวงจรปิดบริเวณหน้าคอนโดมิเนียมมาเผยแพร่ ทำให้เห็นรถยนต์สองคันแล่นออกไปอย่างรวดเร็วท่ามกลางชายชาวกัมพูชาสองคนที่มีท่าทีตกใจแต่ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทัน ทำให้เชื่อได้ว่ารถยนต์สองคันนั้นคือคันที่ก่อเหตุ
  • ช่วงเย็นของวันนั้น บริเวณสกายวอล์กสี่แยกปทุมวันได้มีการจัดกิจกรรม ‘ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม’ โดยสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย และมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งเป็นผู้เข้าร่วม ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จำนวน 3 ราย
  • 10 มิถุนายน 2563 เจน-สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ยื่นหนังสือต่อรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เป็นผลให้เกิดการตั้งกระทู้ถามสดไปยัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับการชี้แจงหรือช่วยเหลือแต่อย่างใด

 

การต่อสู้ของสิตานัน พี่สาวที่รอคอยให้น้องชายกลับมา

 

  • สิตานันและทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินเรื่องติดต่อกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, สถานีตำรวจ, อัยการสูงสุด และ DSI ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2563 
  • “เรื่องของเรา ถ้าเราไม่พูด แล้วใครจะพูดแทนเรา…หลังจากวันนั้นพี่ก็เอาความเศร้า ความท้อแท้ ความเหนื่อยล้าที่มีอยู่ในเราทิ้งไปให้หมด แล้วก็บอกว่า จะสู้ จะลุกขึ้นมาทำทุกอย่าง ทำทุกทาง ทวงความยุติธรรมให้กับครอบครัว ให้กับวันเฉลิม” 
  • สิตานันตัดสินใจลุกขึ้นสู้ร่วมกับทีมทนายความและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตั้งคดีการหายไปของวันเฉลิมเป็นคดีอาญาทางฝั่งกัมพูชา ทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงมหาดไทย และยื่นหนังสือร้องทุกข์ไปยังศาลแขวงกรุงพนมเปญ หลังจากนั้นจึงมีการสั่งให้สอบสวนกรณีการลักพาตัววันเฉลิม จนกระทั่งศาลประเทศกัมพูชาได้นัดไต่สวนคดีเป็นครั้งแรก แต่ยังไม่มีคำสั่งว่าจะรับกรณีของวันเฉลิมเป็นคดีหรือไม่
  • จนถึงปัจจุบัน วันที่ 4 มิถุนายน 2564 ครบรอบ 1 ปี การหายตัวไปของวันเฉลิม ยังไม่มีประเทศใดรับคดีของวันเฉลิมเป็นคดีอาญา คดีการถูกอุ้มหายของวันเฉลิมยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

การอุ้มหายเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องมอบความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

 

  • ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ได้มีการออกมาเคลื่อนไหว แสดงความบริสุทธิ์ใจในการออกตามหาวันเฉลิม หรือทำให้เรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
  • กรณีของการบังคับบุคคลให้สูญหายถือเป็นอาชญากรรมในทางอาญาจากสหประชาชาติตามกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากการถูกบังคับให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงและส่งผลกระทบในทุกมิติ รวมไปถึงความเจ็บปวดและโศกเศร้าของครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายอย่างไม่รู้ชะตากรรม
  • ทุกวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาการอุ้มหาย และไม่มีกฎหมายฉบับใดรองรับการสูญหายของบุคคล แม้ว่าในปัจจุบัน ‘การถูกบังคับให้สูญหาย’ หรือ ‘การอุ้มหาย’ ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วถึง 82 กรณี ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ตามการระบุของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการถูกบังคับให้สูญหาย
  • เท่ากับในปัจจุบัน ยังมี 82 ครอบครัว อย่างเช่นครอบครัวของวันเฉลิม ที่กำลังทุกข์ทรมาณกับการที่น้องชาย พี่ชาย น้องสาว พ่อ แม่ ลูก ภรรยา และสามี กลายเป็นผู้ที่ไม่สามารถระบุสถานะได้ว่าเป็นหรือตาย 

 

ติดตาม On This Day พอดแคสต์ พาย้อนเรื่องราวตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ลี้ภัยชาวไทย จากปากคำของผู้เป็นพี่สาว ทนายความ เพื่อฉายภาพการบังคับให้สูญหายว่าส่งผลต่อความมั่นคงและสร้างความรุนแรงต่อครอบครัวของเหยื่อแค่ไหน 

 

เหตุการณ์ของวันเฉลิมได้สร้างแรงกระเพื่อมและสะท้อนภาพสังคมไทยทุกวันนี้อย่างไร แม้ว่าจนถึงทุกวันนี้คดีของวันเฉลิมยังไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประเทศใดเลยก็ตาม ได้ที่นี่

 

ฟัง On This Day Podcast ในช่องทางอื่นๆ

YouTube http://bit.ly/otdyoutube

Spotify http://bit.ly/otdspotify

Apple Podcasts http://bit.ly/otdapples

Google Podcasts http://bit.ly/otdgoogle

Website http://bit.ly/otdwebsite  

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising