วันนี้ (3 เมษายน) ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ในปี 2566 สัดส่วนการซื้อห้องชุดของคนต่างชาติมีการปรับเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหน่วยและมูลค่าเมื่อเทียบกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งระบบ
โดยสัดส่วน ‘มูลค่า’ การซื้อห้องชุดของคนต่างชาติเพิ่มเป็น 24% ในปี 2566 จาก 20.5% ในปี 2565 ขณะที่สัดส่วน ‘หน่วย’ การซื้อห้องชุดของคนต่างชาติเพิ่มเป็น 13.4% จาก 10.8%
ยอดโอนต่างชาติใกล้แตะระดับโควิด
หากพิจารณาดูจำนวนค่าเฉลี่ยของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในปี 2566 พบว่าอยู่ที่ประมาณ 3,600 หน่วยต่อไตรมาส โดยมีจำนวนหน่วยใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ที่มีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 3,300 หน่วยต่อไตรมาส แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะที่ดีและเริ่มเป็นปกติแล้ว
โดยทั้งปี 2566 (มกราคม-ธันวาคม) มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติจำนวน 14,449 หน่วย และมีมูลค่าจำนวน 73,161 ล้านบาท
ต่างชาติปักหมุดชลบุรีอันดับ 1 แซงกรุงเทพฯ
หากพิจารณาลงไปในรายพื้นที่จังหวัด พบว่า หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในชลบุรีมาเป็นอันดับ 1 ที่มีสัดส่วน 41.1% ขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นอันดับ 2 ที่มีสัดส่วน 38% ของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ
โดยทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยรวมกันสูงถึง 79% และมูลค่ารวมกันสูงถึง 85.4% ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ชลบุรีเพิ่งมีการขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2566 ซึ่งมีความแตกต่างจากช่วงปี 2561-2565 ที่กรุงเทพมหานครเคยเป็นจังหวัดที่มียอดโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติมาเป็นอันดับ 1
เปิดรายชื่อ ชาติใดซื้อเป็นอันดับ 1
โดยผู้ซื้อสัญชาติจีนยังคงเป็นกลุ่มที่มีหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติมาเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วน 45.8% และ 46.7% ตามลำดับ ส่วนอันดับ 2 เป็นสัญชาติรัสเซีย มีสัดส่วน 8.7% และ 6.1% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ผู้ซื้อจากสหรัฐอเมริกามีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเป็นอันดับ 3 มีสัดส่วน 4.4% ขณะที่ผู้ซื้อจากเมียนมามี ‘มูลค่า’ การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเป็นอันดับ 3 มีสัดส่วน 5.1%
นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจว่า ในไตรมาสนี้สัญชาติเมียนมายังคงมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่มีราคาเฉลี่ยต่อหน่วยสูงสุดที่ 6.6 ล้านบาท ขณะที่สัญชาติสหราชอาณาจักรมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดขนาดเฉลี่ยใหญ่สุดอยู่ที่ 56.5 ตารางเมตร