×

กัณวีร์เตือนแนวคิดทักษิณ “ถ้าคิดจะทุบก็ต้องทุบ” ปัญหาชายแดนใต้ สร้างความชอบธรรมให้ใช้ความรุนแรง อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน-รัฐกดขี่

โดย THE STANDARD TEAM
28.05.2025
  • LOADING...
กัณวีร์

วานนี้ (27 พฤษภาคม) กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงการจัดการกับปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับการสร้างสันติภาพ โดยระบุว่ายิ่งยากขึ้นทุกที จริงๆ หลังได้ฟังแนวคิดของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตนเองไม่อยากเอาคำพูดของทักษิณมาคิด เพียงแต่เค้าเป็นคนที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลที่นำโดยแพทองธาร จึงต้องพิเคราะห์ให้ดีถึงคำพูดของคนคนนี้

 

กัณวีร์ระบุว่า วาทกรรมที่กล่าวว่าเรื่องภาคใต้ก็ไม่ยาก ต้องทุบก็ต้องทุบ ต้องเด็ดขาดนั้น น่ากลัว เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจะย้อนเวลาหาอดีตของคุณทักษิณ ขณะเป็นนายกฯ เมื่อ 21 ปีก่อนที่เน้นการใช้ไม้แข็ง หรืออำนาจทางทหาร เพื่อจัดการกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้อาจทำให้สถานการณ์ ยิ่งแย่ลงจริงๆ 

 

  1. ลดทอนความซับซ้อนของปัญหาในพื้นที่ได้ โดยการบอกว่า เรื่องภาคใต้ก็ไม่ยากคือการลดทอนความลึกซึ้งของปัญหา ซึ่งมีมิติทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา และความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างมานานนับศตวรรษ” 

 

กัณวีร์ระบุต่อว่า มุมมองเช่นนี้มักนำไปสู่ นโยบายแบบตัดตอนมองจากส่วนกลาง แล้วนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยนำเสียงคนในพื้นที่หรือชุมชนท้องถิ่นออกจากสมการการแก้ไขปัญหา

 

  1. เป็นการสร้างวาทกรรมความรุนแรงอย่างเป็นทางการและให้รัฐนำไปปฏิบัติ การใช้ถ้อยคำเช่นต้องทุบก็ต้องทุบ เป็นการให้ความชอบธรรมกับ การใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และกระตุ้นความรู้สึกรัฐกดขี่ ในสายตาชาวบ้าน สิ่งนี้จะยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้ฝ่ายต่อต้านรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง และสร้างความชอบธรรมในการใช้วิถีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

 

  1. จะเป็นการลดความน่าเชื่อถือของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แม้ผู้พูดกล่าวถึงการพูดคุย แต่การพูดว่า “คุยไม่รู้เรื่องก็ต้องทุบ” บั่นทอน หลักการเจรจาสันติภาพ เพราะทำให้การพูดคุยดูไร้ความจริงใจ และปฏิเสธความชอบธรรมของกระบวนการพูดคุยไปโดยปริยาย ฝ่ายตรงข้ามอาจมองว่า รัฐใช้การเจรจาเป็นเพียงเครื่องมือถ่วงเวลา แต่ยังคงยึดแนวทางการปราบปรามอย่างเด็ดขาด

 

  1. จะก่อให้เกิดผลทางสังคม โดยสร้างความกลัวและความแปลกแยก คนในพื้นที่อาจรู้สึกว่า รัฐไม่ไว้ใจ ไม่เข้าใจ และพร้อมใช้กำลังกับพวกเขา ได้ตลอดเวลา สิ่งนี้ส่งผลให้เกิด ความรู้สึกแปลกแยกทางอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งความขัดแย้งให้ลุกลาม

 

  1. เป็นการลดพื้นที่ของปัญญาชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคมทันที โดยวาทกรรมแบบนี้มักทำให้เสียงของนักสิทธิมนุษยชน นักสันติวิธี และภาคประชาสังคม ถูกมองว่าอ่อนแอหรือไร้ประสิทธิภาพ ทั้งที่จริงๆ แล้วกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงแค่คำสั่งจากส่วนกลาง

 

กัณวีร์กล่าวทิ้งท้ายว่า สรุปแล้ววาทกรรมนี้อาจทำให้สถานการณ์ภาคใต้หรือปาตานี ยิ่งแย่ลง เพราะขาดความเข้าใจต่อบริบทของความขัดแย้ง และเน้นแนวทางใช้ความรุนแรงมากกว่าสันติวิธี การแสดงท่าทีแบบนี้อาจไปเร่งให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น แทนที่จะสร้างความไว้วางใจและทางออกระยะยาว

 

“มันน่ากลัวครับ การครอบงำของคุณทักษิณ ต่อแนวนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะตอนที่กระบวนการสร้างสันติภาพอยู่ในจุดเปราะบาง การนำมาซึ่งการชี้นำทางนโยบายที่ปลุกกระแสการปฏิเสธการสร้างสันติภาพแบบหักได้หากไม่ทำตาม จะไม่สร้างผลดีใดๆ ต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย” กัณวีร์กล่าวย้ำ

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising