×

กัญชาทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์กัญชา ใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง

21.06.2022
  • LOADING...
กัญชาทางการแพทย์

ปัจจุบัน ‘ผลิตภัณฑ์กัญชา’ หรือสารสกัดจากกัญชา เช่น สเปรย์พ่นในช่องปาก น้ำมันหยดใต้ลิ้น ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น แต่จากการทบทวนงานวิจัยของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีเพียง 6 ภาวะ/โรคเท่านั้นที่มีงานวิจัยสนับสนุนชัดเจน ส่วนโรคอื่นๆ ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นความปลอดภัย ประสิทธิผล และการวิจัยในระดับหลอดทดลองหรือสัตว์ทดลองก่อน

 

เอกสารคำแนะนำการใช้ ‘กัญชาทางการแพทย์’ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 (มกราคม 2564) ของกรมการแพทย์ แบ่งภาวะ/โรคออกเป็น 3 กลุ่มตามข้อมูลงานวิจัย ได้แก่ มีประโยชน์ น่าจะมีประโยชน์ และอาจได้ประโยชน์ ดังนั้นประชาชนทั่วไปจึงควรทราบว่าผลิตภัณฑ์จากกัญชาเป็นทางเลือกในการรักษาโรคใดได้บ้าง เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน

 

ข้อตกลงเบื้องต้น

อย่างแรกกรมการแพทย์ไม่ได้แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษา/ควบคุมอาการของผู้ป่วยเป็นการรักษาลำดับแรก (First-Line Therapy) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. หมายความว่าผู้ป่วยควรรักษาด้วยวิธีมาตรฐานก่อน หากไม่ได้ผลถึงจะใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นลำดับรองลงมา ยกเว้นในกรณีที่เป็นความประสงค์ของผู้ป่วยและครอบครัวตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

 

ผลิตภัณฑ์กัญชาได้ประโยชน์

ภาวะ/โรคที่มีงานวิจัยสนับสนุนชัดเจน ได้แก่

  • ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบําบัด 
  • ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
  • ภาวะปวดประสาท (Neuropathic Pain)
  • ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spasticity) ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
  • โรคลมชักที่รักษายากหรือดื้อต่อยารักษา (Intractable Epilepsy)
  • ผู้ป่วยที่รักษาแบบประคับประคอง/ระยะสุดท้ายของชีวิต เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต

 

ผลิตภัณฑ์กัญชาน่าจะได้ประโยชน์

โรคที่มีงานวิจัยสนับสนุนจำกัด สามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชารักษาผู้ป่วยเฉพาะรายและเก็บข้อมูลวิจัยควบคู่กัน ได้แก่ 

  • โรคพาร์กินสัน
  • โรคอัลไซเมอร์
  • โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorders)
  • โรคปลอกประสาทอักเสบ (Demyelinating Diseases)

 

ผลิตภัณฑ์กัญชาอาจได้ประโยชน์ (ในอนาคต)

ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งด้วยผลิตภัณฑ์กัญชายังไม่มีงานวิจัยเพียงพอ ต้องวิจัยเพิ่มเติมในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลองก่อนจะนำมาใช้ในคน หากนำมาใช้เป็นการรักษาลำดับแรกอาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิผลด้วยวิธีมาตรฐานได้ นอกจากนี้ยังมีโรคความจำเสื่อม (Dementia) และอาการนอนไม่หลับจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) ซึ่งยังมีข้อมูลน้อยมาก

 

โดยสรุปผลิตภัณฑ์กัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่ไม่ใช่สารพัดประโยชน์หรือเป็นยาครอบจักรวาล อีกทั้งหากใช้ไม่เหมาะสมยังเกิดโทษ เช่น ผลข้างเคียง และภาวะพิษจากกัญชาได้ ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล และปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจใช้

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising