×

Day After the Perfect Storm (2) นโยบายรัฐปี 2018 เศรษฐกิจดิจิทัล คิดใหม่ และต้องทำได้แล้ว

09.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เกษตรกรต้องก้าวข้ามจากการเป็นกระดูกสันหลังของชาติสู่ ‘แผงวงจรควบคุมคุณภาพสูงของชาติ’
  • พื้นท่ีทางการเกษตรทั่วประเทศจะมีถึง 149 ล้านไร่ ครอบคลุม 46.54% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศ แต่ผลิตสินค้าและบริการได้มูลค่าเพียง 8.34% ของ GDP เท่านั้น
  • วันนี้ SMEs ต้องการมากกว่านโยบายด้านภาษีและแหล่งเงินทุน แต่เป็นองค์ความรู้ นวัตกรรม กฎหมาย และความมั่นคงเชิงสารสนเทศ เพื่อการเติบโตได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

เมื่อ 2 ปีก่อน ใครๆ ก็คงจะพูดถึงแต่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC และโอกาสมากมายของประเทศไทย ซึ่งทุกวันนี้ก็ไม่ได้กลายเป็นความรุ่งโรจน์อย่างที่เคยวาดฝัน

 

ขณะที่ปัจจุบัน เศรษฐกิจดิจิทัล ไทยแลนด์ 4.0 คือสิ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดกันอย่างเอิกเกริก พายุลูกใหญ่ที่ชื่อ Digital Disruption ยังคงพัดทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เป็นประโยชน์ แต่เมื่อมองมาที่ภาครัฐที่ควรจะเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศกลับเป็นอุปสรรค เพราะวิธีคิดและการทำงานยังอยู่ในสภาพ ‘อะนาล็อก’

 

เหลือเวลาไม่มากแล้วที่ภาครัฐจะปรับตัวเพื่อผลักดันประเทศ และที่สำคัญ ต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วน

 

ที่ดินการเกษตรต้องเป็นมากกว่ากระดาษ A4

กระดาษ A4 ที่ว่านี้หมายถึงการใช้พื้นที่การเกษตรทั่วประเทศจำนวนประมาณ 149 ล้านไร่ให้เกิดผลิตภาพ (Productivity) สูงสุด ถ้าพิจารณาข้อมูลสถิติการเกษตรประจำปี 2559 พบว่า ภาคการเกษตรไม่ได้มีพื้นที่จำกัดอย่างที่เข้าใจ เพราะครอบคลุมพื้นที่ 46.54% ของพื้นที่ทั้งหมด ครอบคลุมกำลังแรงงานจำนวน 17.15 ล้านคน หรือสูงถึง 1 ใน 4 ของประชากร แต่กลับผลิตสินค้าและบริการได้เพียง 8.34% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่านั้น

 

แม้ภาครัฐจะบูรณาการ 13 แผนงานหลักและใช้เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่จัดตั้งขึ้นในทุกอำเภอรวม 882 แห่งเป็นกลไกสำคัญ แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปในงบประมาณ 13 แผนงานจำนวนทั้งสิ้นกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท กลับพบว่างบประมาณจำนวน 5 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 88% ถูกทุ่มเทไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นั่นทำให้เกิดคำถามว่าแผนงานที่เหลือที่จะยกระดับกระดาษ A4 ไปสู่เกษตรดิจิทัลจะทำได้จริงหรือไม่

 

เพราะแผนงานย่อยอื่นๆ ทั้งแผนงานบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) และแผนงาน Smart ทั้งในส่วนเกษตรกร (Smart Farmer) และในส่วนเจ้าหน้าที่เกษตร (Smart Officer) ก็ดูยังห่างไกลจากคำว่าดิจิทัลพอควร

 

 

แนวคิดที่จะใช้ ศพก. เป็นเครื่องมือจึงดูจะตอบโจทย์ได้เพียงครึ่งเดียว สิ่งสำคัญที่สุดที่จะยกระดับภาคการเกษตรได้คือการทำให้ ศพก. มีลักษณะ virtual และ real-time สามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่เกษตรกรได้ทุกที่ ทุกเวลา และจำลองสภาพการเพาะปลูก ประมง และปศุสัตว์  

 

เมื่อเกษตรกรแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิตของตนเองเข้าไปในระบบ ระบบก็ควรมีหน้าที่ช่วยวางแผนการผลิตโดยบูรณาการเข้ากับข้อมูลขนาดใหญ่ของทั้งประเทศ ทั้งสถิติปริมาณน้ำฝน ระบบชลประทาน ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ความเสี่ยงภัย ไปจนถึงข้อมูลด้านอุปทาน ได้แก่ ราคาและปริมาณผลผลิต ต้นทุนการขนส่งและแปรรูป ฯลฯ เพื่อสามารถสรุปผลแนวทางให้เกษตรกรตัดสินใจเพาะปลูกในแต่ละรอบการผลิตได้อย่างแม่นยำ

 

นอกจากนี้ รัฐสามารถใช้มาตรการอื่นเพื่อจูงใจให้เกษตรกรเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล เช่น มาตรการด้านสินเชื่อ การอุดหนุนปัจจัยการผลิต การจัดหาตลาด หรือการบริหารจัดการด้านราคา เพื่อให้ใช้ทรัพยากรการผลิตในภาคเกษตรได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม และต่อยอดความเป็นผู้ประกอบการไปยังภาคการผลิตอื่นๆ ในวงจรสินค้าเกษตร

 

เราเปลี่ยนนิยามคำว่า ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ ที่คุ้นเคยกันมาหลายทศวรรษไปสู่ ‘แผงวงจรควบคุมคุณภาพสูงของชาติ’ เพื่อให้แผงควบคุมนี้พาประเทศก้าวข้าม Perfect Storm ไปได้อย่างแข็งแรง

 

SMEs ต้องเริ่มตั้งแต่แผนธุรกิจ และรัฐต้องทำมากกว่าให้เงิน

ไม่ใช่แค่เกษตรกร แต่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ก็ต้องการแรงส่งจากรัฐบาลในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัลเช่นกัน

 

SMEs ของไทยมีประมาณ 2.7 ล้านราย สร้างการจ้างงานสูงถึง 10.5 ล้านคน และสามารถผลิตสินค้าและบริการมีมูลค่ารวมคิดเป็น 39.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ กระทั่งรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังคาดหวังให้ SMEs เป็นนักรบทางธุรกิจของชาติ

 

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราอาจคุ้นเคยกับคำว่ากับดักประเทศรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap แต่สำหรับ SMEs ไทยแล้ว คำศัพท์ที่ชวนฝันร้ายยิ่งกว่านั้นคือ ‘Missing Middle’ คือการมีธุรกิจขนาดกลางน้อยเกินไปเพียง 0.5% ของ SMEs ทั้งหมด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ SMEs ไม่สามารถก้าวข้ามจากการเป็นรายเล็กในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลมีอยู่หลายประการ ได้แก่ ผลิตภาพ ซึ่งแม้จะสูงกว่าภาคการเกษตร แต่ก็ยังต่ำกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือการมุ่งเน้นตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่ผลิตยังคงเป็นสินค้าพื้นฐานหรือใช้เทคโนโลยีในระดับกลางเท่านั้น จึงสร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่มาก

 

ปัญหาคลาสสิกที่เราคุ้นเคยสำหรับ SMEs ยังเป็นเรื่องของแหล่งเงินทุนที่ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ เพราะขาดหลักทรัพย์ประกัน เช่นเดียวกับการยกเว้นภาษีที่หักลดค่าใช้จ่ายในช่วงปีแรกๆ ของการเริ่มต้นกิจการเท่านั้น กลับเป็นกับดักที่ทำให้ SMEs ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น และไม่อาจตอบโจทย์เศรษฐกิจดิจิทัล แม้ภาครัฐจะแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการให้สินเชื่อหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ SMEs ที่มีมูลค่าสูง หรือมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น กลุ่มสตาร์ทอัพก็ไม่อาจแก้ปัญหาให้หมดไปได้

 

กลไกสำคัญเชิงนโยบายที่จะช่วยให้ SMEs ไปได้ไกลจึงต้องมุ่งเน้นท่ีการพัฒนาแผนธุรกิจและนวัตกรรมเชิงดิจิทัล ซึ่งต้องถูกประยุกต์ใช้ทั้งในขั้นตอนการผลิต ขั้นตอนการบริการ และนวัตกรรมของ SMEs เอง ขณะเดียวกันการส่งเสริมจากภาครัฐต้องจำแนกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน

 

สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ สิ่งสำคัญท่ีรัฐต้องลงทุนอย่างมากคือระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและดิจิทัล เช่น การกำหนดกรอบแนวทางท่ีชัดเจนผ่านการเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการผ่านที่ปรึกษาทางธุรกิจ พื้นที่ทดลองสำหรับสินค้าและบริการในช่วงแรกในรูปแบบ Co-working Space หรือ Co-making Space หรือการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมูลค่าสูง

 

ขณะที่การหาแหล่งเงินทุน ภาครัฐต้องปรับกลยุทธ์โดยสนับสนุนแหล่งเงินทุนนอกเหนือจากสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม เช่น การร่วมลงทุน (Venture Capital) และการระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) หรือข้อกำหนดเรื่องการให้สิทธิในการซื้อหุ้นในราคาคงที่กับพนักงาน (Employee Stock Option Plan)

 

ส่วนกลุ่ม SMEs ทั่วไปควรเพิ่มช่องทางการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในขั้นตอนการผลิตเพื่อลดต้นทุน สนับสนุนการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ภาครัฐต้องเร่งสร้างระบบงานพื้นฐานรองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนระบบการกระจายและขนส่งสินค้าที่มีมาตรฐานสอดคล้องกับแนวโน้มการขายออนไลน์ที่มากขึ้น และช่วยเปลี่ยนผ่านจากการชำระเงินสดไปสู่ e-Payment หรือแม้กระทั่งการก้าวไปสู่ m-Payment ในปัจจุบัน

 

ถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่ภาครัฐจะต้องผันตัวจากสปอนเซอร์แบบพ่อบุญทุ่มทั้งในด้านแหล่งทุนและการลดต้นทุนผ่านมาตรการภาษีไปสู่การเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) แบบเต็มรูปในด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม กฎหมาย และความมั่นคงเชิงสารสนเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการเติบโตได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

 

 

พัฒนาคนที่ใช่ สร้างระบบที่พร้อม บทสรุปของเศรษฐกิจดิจิทัล

จากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของมหาพายุดิจิทัลที่สั่นสะเทือนทั้งโลก ทางออกสำคัญในการพาประเทศไปข้างหน้า สิ่งแรกที่ต้องเร่งทำคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลโดยไม่จำกัดอยู่แค่การเป็นผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ต้องสามารถเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและระบบงาน ตลอดจนสนับสนุนระบบงานด้านดิจิทัล

 

นี่คือความท้าทายที่น่ากังวล หากพิจารณาสถิติบัณฑิตที่จบการศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิตจำนวนประมาณ 2.8 แสนคนต่อปี พบว่า 40% เป็นบัณฑิตในสาขาวิชาสังคมศาสตร์ บริหารธุรกิจ และกฎหมาย แต่สาขาวิชาที่จะต่อยอดด้านดิจิทัลและนวัตกรรมอย่างสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์คิดเป็น 20% เท่านั้น

 

การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรหรือสัดส่วนนักศึกษาไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้อย่างรวดเร็ว แต่การบูรณาการให้บัณฑิตมีความรู้ในสหสาขาวิชาที่จำเป็นต่อตลาดแรงงานสามารถดำเนินการได้ทันที รัฐสามารถเป็นตัวกลางเชื่อมโยงเพื่อปรับอุปสงค์หรือความต้องการในตลาดแรงงานกับอุปทานที่มีอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิต คือบัณฑิตที่จบออกมามีทั้งปริมาณและคุณภาพเหมาะสมกับโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป

 

ความจำเป็นเร่งด่วนลำดับถัดมาคือการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) รัฐยังจำเป็นต้องมีข้อมูลขนาดใหญ่อยู่ แต่ต้องเป็นข้อมูลคุณภาพ หรือ Smart Data แบบภาคธุรกิจ และต้องมีความเป็นระบบ (Systemic Data) เพื่อเชื่อมโยงกันและสามารถเข้าถึงได้ง่าย

 

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีข้อมูลจำนวนมาก หลากหลาย แต่ทุกหน่วยงานมุ่งเน้นการจัดเก็บเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ บ่อยครั้งเกิดความซ้ำซ้อนและเกิดความไม่มั่นใจในความถูกต้องของข้อมูล การมีข้อมูลที่ดีและเป็นระบบจะทำให้รัฐสามารถบูรณาการข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และกำหนดทิศทางนโยบาย ทั้งนโยบายที่มีลักษณะปูพรมทั่วถึง (Universal) และนโยบายที่มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Targeted) อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับงบประมาณ

 

ความจำเป็นลำดับสุดท้ายคือการเปลี่ยนที่ตัวของภาครัฐเองให้เป็น Digital Government การทำให้เป็นแบบอย่างน่าจะเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ภาคส่วนอื่นขยับตัวตาม ประเทศไทยมีการจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มา 7 ปีเศษ แต่กลับเห็นพัฒนาการที่ค่อนข้างล่าช้า เราอาจจะคุ้นเคยกับเว็บไซต์และบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ หรือ eGov การทำเว็บไซต์กลางสำหรับข้อมูลภาครัฐ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ ‘ภาษีไปไหน’ ซึ่งฮือฮาในช่วงที่ผ่านมา

 

แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ

 

รัฐจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของการใช้งานควบคู่กันไปด้วย และแม้ลำดับการเป็นรัฐบาลดิจิทัลจากการสำรวจของสหประชาชาติในปี 2559 ประเทศไทยจะอยู่ในลำดับที่ 77 ซึ่งดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ดีกว่าไทยได้

 

กระแสพายุดิจิทัลนับวันก็ยิ่งไม่ต่างอะไรกับกระแสพายุที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติทั่วไป เพราะมีระลอกความถี่เพิ่มขึ้น และความรุนแรงในแต่ละครั้งก็มากขึ้นเรื่อยๆ ตามไปด้วย ในขณะที่ประชาชนและภาคธุรกิจต้องเตรียมรับมือต่อกระแสพายุดิจิทัลดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งสองภาคส่วนก็คงหวังพึ่งพาและร่วมไม้ร่วมมือกับรัฐ เพื่อเปลี่ยนจากการตั้งรับไปสุ่การเดินเกมรุก ถ้ารัฐไม่เริ่มต้นดำเนินการอะไร เราอาจจะถูกลบหายไปจากแผนที่ดิจิทัล ถ้าตั้งรับได้ก็อาจจะต่อระยะเวลาหายใจออกไปได้อีก แม้จะไม่นานเหมือนก่อน

 

ทางเลือกทั้ง 3 ทางแบบไม่มีตัวเลือก ‘ถูกทุกข้อ’ นี้คงจะต้องตั้งโจทย์ถามภาครัฐกลับไปว่าจะกากบาท ฝน หรือคีย์และคลิกตัวเลือกใดกันดี

 

และต้องทำได้แล้ว

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai, Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising