×

ตรวจโควิด-19 ทำอย่างไร ใครบ้างที่เข้าข่ายต้องไปตรวจ เช็กอาการและวิธีก่อนไปหาหมอ

05.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ที่มีการอัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมาคือ 1. ผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจาก 9 ประเทศเสี่ยง อย่าง จีน, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, อิตาลี, อิหร่าน, ฝรั่งเศส และเยอรมนี และ 2. ผู้ที่ประกอบอาชีพใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วย แต่ทั้งหมดนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีอาการเท่านั้น ถึงจะจัดเป็น ‘ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์’ 
  • ผลการตรวจมี 2 แบบคือ บวก (Positive) กับลบ (Negative) ความหมายของ ‘บวก’ คือ พบเชื้อก่อโรคโควิด-19 คุณก็จะต้องนอนอยู่ในห้องแยกโรคต่อจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ และผลการตรวจหาเชื้อจะเป็นลบ 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ส่วนถ้าผลเป็น ‘ลบ’ ก็ตรงกันข้าม คุณสามารถกลับบ้านได้ แต่ยังต้องสังเกตอาการต่ออีก 14 วัน
  • หากคุณเป็น ‘ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์’ สามารถไปขอรับการตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ ทั้งสิทธิบัตรทอง และสิทธิประกันสังคม หรือโรงพยาบาลของรัฐ กรณีที่เดินทางไปต่างจังหวัด ซึ่งจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ

“เราจะติดเชื้อโควิด-19 หรือเปล่า” 

 

ถ้าช่วงนี้มีอาการหวัดหรือไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอขึ้นมา หลายคนคงเกิดความกังวลแบบนี้แน่นอน ซึ่งบางคนก็อาจคิดไปถึงแล้วว่า ‘จะไปตรวจที่ไหนดี’ (ความจริงต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธินะครับ) แต่ช้าก่อน! ก่อนจะสวมหน้ากากอนามัย ออกจากบ้านไปหาหมอ ผมอยากจะชวนฉุกก่อนว่า ‘ถ้าติดเชื้อโควิด-19 จริง เราจะได้รับเชื้อมาจากไหน’ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสนี้หรือเปล่านั่นเอง

 

ใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคโควิด-19

เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 เปลี่ยนแปลงค่อนข้างไว แนวทางเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ก็มีปรับเปลี่ยนอยู่หลายครั้งเช่นกัน ซึ่งล่าสุดมีการปรับปรุงในวันที่ 2 มีนาคม 2563 แต่ยังมีหลักการเหมือนเดิมคือ 1. ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ (Imported Case) และ 2. ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ (Local Transmission)

 

1.ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จะต้องมีประวัติเดินทางกลับมา หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 9 ประเทศตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด ได้แก่ จีน, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, อิตาลี, อิหร่าน, ฝรั่งเศส และเยอรมนี (ซึ่งอัปเดตได้จากเว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php)

 

2.ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งจะได้รับเชื้อจากไหนไม่ได้เลย นอกจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด หรือผู้ป่วยโรคโควิด-19 คนก่อนหน้า ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงจึงได้แก่ (1) ผู้ที่ประกอบอาชีพใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว เช่น คนขับรถแท็กซี่หรือรถทัวร์ มัคคุเทศก์ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า (2) ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และ (3) บุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วย แต่ทั้งหมดนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีอาการเท่านั้น ถึงจะจัดเป็น ‘ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์’ 

 

โดยอาการที่ว่าก็คือ ไข้ (จะแค่รู้สึกตัวร้อน หรือวัดอุณหภูมิร่างกายได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปก็ได้) ร่วมกับอาการทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ซึ่งจากงานวิจัยล่าสุดที่ประเทศจีนพบว่า อาการที่เด่นที่สุดของคนไข้ คือ ไอ 70% ในขณะที่ไข้ตอนแรกจะมีเพียง 40% เท่านั้น

 

สรุปตรงนี้ก่อนว่า ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ = อาการ + กลุ่มเสี่ยง ถึงจะได้รับการตรวจหาเชื้อ

 

 

ขั้นตอนตรวจหาเชื้อ

ณ ตอนนี้ประเทศไทยใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ (RT-PCR) จากการจิ้มจมูก (ชื่อเล่นนะครับ ชื่อจริงคือ Nasopharyngeal swab) และการป้ายคอ (Throat swab) 

 

โดยวิธีการเก็บตัวอย่างคือ แพทย์จะให้คุณเงยหน้า แหย่ก้านพลาสติกปลายนุ่มเข้าไปในจมูก 1 ที และให้คุณอ้าปาก แหย่ก้านพลาสติกพันสำลีเข้าไปตรงต่อมทอนซิล และคอด้านหลังอีก 1 ที (ตอนป้ายอาจรู้สึกอยากจะอาเจียน) เป็นอันเสร็จ

 

ปลายก้านพลาสติกจะถูกจุ่มและหักลงไปในหลอดน้ำยา เพื่อส่งไปยังห้องปฏิบัติการในสังกัดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค หรือโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช ใช้ระยะเวลารอผล 8-12 ชั่วโมง โดยในระหว่างนี้คุณจะต้องนอนรักษาตัวในห้องแยกโรคเดี่ยว หรือห้องความดันลบที่โรงพยาบาล

 

ภาพการเก็บตัวอย่าง A. Nasopharyngeal swab (อ้างอิง: COPANusa / YouTube)

B. Throat swab (อ้างอิง: PuritanUSA / YouTube)

 

ผลการตรวจ

ผลการตรวจมี 2 แบบคือ บวก (Positive) กับลบ (Negative) ความหมายของ ‘บวก’ คือ พบเชื้อก่อโรคโควิด-19 คุณก็จะต้องนอนอยู่ในห้องแยกโรคต่อจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ และผลการตรวจหาเชื้อ (ตรวจแบบเดิมเลย) จะเป็นลบ 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 48 ชั่วโมง การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ ส่วนยาต้านไวรัสจากประเทศจีน ซึ่งยังมีปริมาณสำรองไม่มาก แพทย์อาจพิจารณาใช้กับกรณีป่วยรุนแรงเท่านั้น

 

ส่วนถ้าผลเป็น ‘ลบ’ ก็ตรงกันข้าม คุณสามารถกลับบ้านได้ หากมีอาการไม่มาก รักษาเหมือนไข้หวัดทั่วไป แต่สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อมาจากต่างประเทศ คือผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาด อย่าเพิ่งไปเลี้ยงฉลองนะครับ เพราะจะต้องสังเกตอาการให้ครบระยะฟักตัว 14 วัน เพราะรอบนี้อาจติดเชื้อตัวอื่น ผ่านไปอีก 2-3 วันก็อาจมีอาการของโรคโควิด-19 ขึ้นมาได้ ดังนั้นถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงก็ควรมาตรวจซ้ำ

 

ถ้าไม่มีอาการ ตรวจได้ไหม

แพทย์จะไม่ส่งตรวจหาโรคโควิด-19 ให้ ด้วยเหตุผล 2 อย่าง คือ 

 

1.เปลืองเงิน เพราะคุณยังไม่ใช่ ‘ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์’ ดังนั้นจะต้องจ่ายค่าตรวจเอง 

 

2.สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด เข้าใจว่าอาจจะไม่สบายใจว่าจะติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าจะตรวจแล้วเจอผล ‘ลบ’ หรือไม่ตรวจเลย สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องสังเกตอาการที่บ้านเป็นเวลา 14 วันอยู่ดี ดังนั้นรอให้มีอาการดังที่กล่าวไปแล้ว ค่อยมาตรวจทีเดียวจะดีกว่า

 

นอกจากนี้ในมุมมองของโรงพยาบาล ซึ่งไม่ได้มีอุปกรณ์และชุดป้องกันตัวของแพทย์ (ชุดอวกาศ) เหลือเฟือ ก็อยากจะเก็บไว้ใช้ตามความจำเป็นเท่านั้น โดยเฉพาะยิ่งถ้ามีการระบาดในระยะที่ 3

 

ตรวจได้ที่ไหน

หากคุณเป็น ‘ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์’ สามารถไปขอรับการตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ ทั้งสิทธิบัตรทอง และสิทธิประกันสังคม หรือโรงพยาบาลของรัฐ กรณีที่เดินทางไปต่างจังหวัด ซึ่งจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ 

 

แต่อย่าลืม! สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับคนอื่น การเดินทางไปโรงพยาบาลควรหลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และล้างมือบ่อยๆ นะครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising