THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
นโยบายการเงินตึงตัว
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ความปั่นป่วนในตลาดเงินอาจทำให้ Fed ‘ตั้งคำถาม’ กับตัวเองในเรื่องนโยบายการเงินตึงตัว

... • 10 ต.ค. 2022

HIGHLIGHTS

11 Mins. Read
  • ตลาดเงินตลาดทุนฟื้นตัวอย่างรุนแรง หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มสะท้อนถึงการถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงน้อยล
  • ตำแหน่งงานเปิดใหม่ของสหรัฐฯ (JOLT) ที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้ากว่า 11% ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตโลก และการส่งออกของประเทศส่งออกสำคัญ ชะลอลงเช่นเดียวกัน
  • สัญญาณของเงินเฟ้อเริ่มผสมผสาน และเริ่มชะลอลงในบางดัชนี เช่น เงินเฟ้อทั่วไป (PCE) ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core PCE ยังคงปรับเพิ่มขึ้น ด้านเงินเฟ้อทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเริ่มลดลง 
  • ความปั่นป่วนทางการเงินจะมีมากขึ้นหลังการทำนโยบายการเงินตึงตัวของ Fed และจะทำให้เจ้าหน้าที่ Fed เริ่มตั้งคำถามกับทิศทางนโยบายการเงินที่ตึงตัว และนำมาสู่ความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินโลกในอนาคต 
  • ความเสี่ยงจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นจาก Fed Hawkishness ทำให้นักลงทุนต้องระมัดระวังความผันผวนในระยะสั้น

สรุปภาพรวมการลงทุนสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินกลับมาฟื้นตัวขึ้นรุนแรงหลังจากปรับลดลงในช่วงไตรมาสก่อน จาก

 

1. ตำแหน่งงานเปิดใหม่เดือนสิงหาคมของสหรัฐฯ (JOLT) ที่ลดลงสู่ 10.1 ล้านตำแหน่ง จากเดือนก่อนหน้าที่ 11.2 ล้านตำแหน่ง หรือกว่า 11%

 

2. ดัชนี PMI ภาคการผลิตโลกปรับลดลงมาอยู่ที่ 49.8 จุดในเดือนกันยายน จากคำสั่งซื้อสินค้าที่หดตัวมากสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่ดัชนี ISM ของสหรัฐฯ ก็มีทิศทางชะลอลงเช่นเดียวกัน

 

3. การส่งออกของประเทศส่งออกสำคัญชะลอลง เช่น เกาหลีใต้ จากความต้องการในจีนที่ลดลงและค่าเงินอ่อนค่าที่ทำให้นำเข้าพุ่งสูงและขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 25 ปี

 

4. สัญญาณของเงินเฟ้อที่ผสมผสานและเริ่มชะลอลงในบางดัชนี เช่น เงินเฟ้อทั่วไป (PCE) ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานหรือ Core PCE ยังคงปรับเพิ่มขึ้น ด้านเงินเฟ้อทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเริ่มลดลง

 

5. ความกังวลถึงความเสี่ยงนโยบายการเงินตึงตัวจะกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินโลกมีมากขึ้น ทั้งค่าเงินตลาดเกิดใหม่ พันธบัตรในอังกฤษ รวมถึงปัญหาการเงินของธนาคาร Credit Suisse ทำให้เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) บางท่านเริ่มส่งสัญญาณพิจารณาทิศทางนโยบายการเงิน เช่น เลล เบรนาร์ด รองประธาน Fed ที่กังวลความเสี่ยงตลาดเกิดใหม่ และ แมรี ดาลี ประธาน Fed สาขาซานฟรานซิสโก ที่มองว่า JOLT ที่ลดลง ทำให้ Fed มีช่องว่างในการดำเนินนโยบายมากขึ้น

 

6. รัฐบาลอังกฤษประกาศกลับทิศนโยบายการคลัง หลัง S&P ลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือลง โดยรัฐบาลยกเลิกการลดภาษีบุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดที่ 45% ขณะที่นายกฯ ประกาศจะยึดวินัยการคลังมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ทำให้การกระทบต่อการลงทุน ประกอบด้วย

 

1. กลุ่ม OPEC+ ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากที่สุดนับจากช่วงวิกฤตโควิด

 

2. ตัวเลขการจ้างงานเอกชน ADP กลับมาฟื้นตัวขึ้นที่ 2.1 แสนตำแหน่ง จาก 1.9 แสนตำแหน่งในเดือนก่อน (แต่เป็นทิศทางที่ลดลงต่อเนื่องจาก 4.6 แสนตำแหน่งในเดือนเมษายน) 

 

3. ตัวเลขการขาดดุลการค้าสหรัฐฯ ต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน

 

4. เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธวิสัยไกลข้ามเกาะญี่ปุ่น และส่งเตรียมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดกลับมา Risk-on อีกครั้ง จากภาพของเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น ทั้งจากตำแหน่งงานเปิดใหม่ของสหรัฐฯ (JOLT) ที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้ากว่า -11% ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตโลก และการส่งออกของประเทศส่งออกสำคัญชะลอลงเช่นเดียวกัน ขณะที่สัญญาณของเงินเฟ้อเริ่มชะลอลงทั้งในสหรัฐฯ (ดัชนี PCE ขณะที่ Core PCE ยังปรับเพิ่มขึ้น) และทั่วโลก (เช่น ไทย) รวมถึงความกังวลถึงความเสี่ยงนโยบายการเงินตึงตัวจะกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินโลกมีมากขึ้น ทำให้เริ่มมีการมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะเริ่มลดระดับลง

 

InnovestX มองว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในภาพรวมเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงมากขึ้น เห็นได้จากตำแหน่งงานเปิดใหม่ของสหรัฐฯ (JOLT) เดือนสิงหาคมที่ลดลงรุนแรง เป็นการลดลงของภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ สอดคล้องกับมุมมองของ InnovestX ที่ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มขยายจากภาคการผลิตสู่ภาคบริการมากขึ้น (สะท้อนจากดัชนี ISM และ PMI)

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm Payroll) ในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นการขยายตัวของการจ้างงานภาคบริการเป็นหลัก แต่ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณของการจ้างงานภาคบริการที่เริ่มชะลอลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนทางการเงินและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้คนเริ่มลดการจับจ่ายลง ซึ่งภาพเช่นนี้จะทำให้ดัชนีชี้วัดตลาดแรงงาน เช่น การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP อัตราว่างงาน รวมถึงตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานเริ่มชะลอลง และลดแรงกดดันด้านค่าจ้างในระยะต่อไป 

 

นอกจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทำให้ธนาคารกลางอื่นๆ ขึ้นรุนแรงตามและทำให้สภาวะการเงินตึงตัวทั่วโลก (Global Synchronized Tightening) และนำไปสู่ความผันผวนในตลาดเงินทุนโลก โดยเฉพาะอังกฤษที่นโยบายการคลังที่ผิดพลาดนำไปสู่การเทขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ จนทำให้กองทุน Pension Fund ที่ถือตราสารดังกล่าวจำนวนมากเสี่ยงล้มละลาย ทำให้ทางการอังกฤษต้องกลับทิศนโยบายในภายหลังนั้น บ่งชี้ถึงความปั่นป่วนทางการเงินที่จะมีมากขึ้นหลังการทำนโยบายการเงินตึงตัวของ Fed ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ Fed เองจะเริ่มตั้งคำถามกับทิศทางนโยบายการเงินที่ตึงตัว และนำมาสู่ความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินโลกในอนาคต 

 

ระยะสั้นยังต้องระวังความผัวผวน

InnovestX เชื่อว่าตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในระยะต่อไป ได้แก่ ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่อาจมีมากขึ้นจากการ Fed Hawkishness ดังนั้น อาจต้องระมัดระวังความผันผวนในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการลงทุนจะกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยนักลงทุนจะลดความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยลง และหันมามุ่งเน้นในสินทรัพย์/ตลาดที่ยังมีความแข็งแกร่งและต้านทานการขึ้นดอกเบี้ยและการชะลอลงของเศรษฐกิจได้ แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.2% (EM +4%, DM +4.2%) โดยตลาดได้แรงหนุนจากความคาดหวังว่า Fed จะเปลี่ยนท่าทีหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มออกมาชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด แม้ว่า Fitch ปรับลดแนวโน้มของอังกฤษลงเป็นลบ และจำนวนผู้ป่วยใหม่ของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบเดือนในช่วงวันหยุดยาวของจีน

 

หุ้นกลุ่ม Growth (+4.6%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Value (+3.7%) หุ้นขนาดเล็ก (+4.6%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (+4.1%) ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% หลังกลุ่ม OPEC ปรับลดกำลังการผลิต และค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับเพิ่มขึ้น 6% จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง ส่วนหุ้นกลุ่มเชิงรับอย่าง Consumer Staples และ Utilities ปรับเพิ่มขึ้น 0.5%

 

แนะเกาะติดตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศ

ในสัปดาห์นี้มีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ 1. ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% เทียบกับเดือนที่แล้ว (MoM) 2. รายงานการประชุม FOMC ที่อาจจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนท่าทีของ Fed 3. IMF ประกาศตัวเลขแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะเป็นการปรับประมาณการลง 4. ธนาคารกลางเกาหลีใต้จะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% และ 5. ผลประกอบการของ JPM, Citigroup, Morgan Stanley, BlackRock, Delta Air Lines, Fast Retailing, Infosys, PepsiCo, TSMC, UnitedHealth และ Wells Fargo

 

กลยุทธ์ลงทุนตลาดหุ้นไทย

InnovestX มองว่า ตลาดรับรู้ความเสี่ยงนโยบายการเงินตึงตัวของหลายประเทศไประดับหนึ่งแล้ว ทำให้มอง Downside จำกัด แต่อย่างไรก็ดี คาด Upside ยังถูกจำกัดเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กลยุทธ์ลงทุนช่วงสั้นจึงแนะนำ Selective ในหุ้นที่ต้านทานความเสี่ยงภายนอกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ ดังนี้ 

 

1. หุ้นธนาคาร ซึ่งคาดกำไร 3Q22 ออกมาเติบโตดี และมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์มากสุดจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เลือก BBL, KTB และ KBANK

 

2. หุ้นกลุ่มอื่น ซึ่งคาดจะพรีวิวโมเมนตัมกำไรยังแข็งแกร่งใน 3Q65 เลือก HMPRO, CRC, CPF, ZEN, SNNP และ AOT

 

ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้ 

 

1. หุ้นโรงกลั่น หลังคาดงบ 3Q22 อาจได้รับผลกระทบค่าการกลั่นลดลง และขาดทุนสต๊อก โดยเฉพาะ บจ. ที่ไม่ได้ทำ Hedging อย่าง SPRC และ ESSO

 

2. หุ้นเดินเรือ ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามา และอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง

 

3. หุ้นปาล์ม ซึ่งคาดผลประกอบการยังถูกกดดันจากราคาปาล์มที่อยู่ในทิศทางขาลง เนื่องจากมีผลผลิตปาล์มที่สูงขึ้นในอินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมทั้งหุ้นน้ำตาล หลังคาดผลผลิตน้ำตาลโลกจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ดีในบราซิล อินเดีย และไทย 

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. FOMC minutes ของการประชุมเดือนกันยายน ว่าจะมีสัญญาณการพิจารณาความเสี่ยงเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินควบคู่กับเงินเฟ้อหรือไม่

 

2. เงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ว่าจะเริ่มลดลงต่อเนื่องหรือไม่ (ตลาดคาด 8.1%)

 

3. ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ว่าจะลดลงจาก +0.2% หรือไม่

 

4. U. MICH Inflation expectation ของ 1 ปีข้างหน้าว่าจะลดลงจาก 4.7% หรือไม่

 

5. ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ เบื้องต้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินความเสียหายรวมทั้งประเทศราว 5,000-10,000 ล้านบาท

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: ZEN - กำไรจะฟื้นสูงกว่าก่อนเกิดโควิด

สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

  • เป็นผู้นำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมและอาหารไทยภายใต้แบรนด์ที่รู้จักดีในไทย เช่น ZEN, AKA, On the Table, ตำมั่ว, ลาวญวน และ เขียง เป็นต้น รวมทั้งยังเร่งขยายธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจอาหารค้าปลีกและธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อเสริมสร้างการเติบโตของกำไรในระยะยาว
  • มองได้ผลบวกโดยตรงจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว เพราะมีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงที่มีความอ่อนไหวต่อราคาน้อย จึงสามารถส่งผ่านต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นทั้งทางตรง (ปรับราคาเมนูเพิ่มขึ้น) และทางอ้อม (จัดโปรโมชันลดลง ปรับชุดอาหารใหม่) 
  • 3Q22 คาดผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้น YoY จากฐานต่ำ เนื่องจากมีมาตรการล็อกดาวน์เพื่อคุมการระบาดของโควิด และ QoQ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น วันหยุดพิเศษในเดือนกรกฎาคม และธุรกิจอาหารค้าปลีกที่เติบโตเพิ่มขึ้น   
  • ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว โดยคาดผลประกอบการจะฟื้นตัวจากขาดทุนปกติ 93 ล้านบาท ในปี 2021 สู่กำไรปกติ 126 ล้านบาท ในปี 2022 (สูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด) และเพิ่มเป็น 167 ล้านบาท ในปี 2023 จากยอดขายสาขาเดิมในธุรกิจร้านอาหารที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งยังมีการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นในธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจอาหารค้าปลีก (จำหน่ายน้ำปลาร้า) และธุรกิจแฟรนไชส์ 
  • เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 16.80 บาท (อิงวิธี DCF) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 อีกหุ้นละ 0.34 บาท คิดเป็น Div. Yield ราวปีละ 2.3% 

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

 

สภาพคล่อง/เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อการถือครองเงินสด และ/หรือสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยสินทรัพย์เสี่ยงยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ​ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งใช้นโยบายแทรกแซงค่าเงิน

 

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อพันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ โดยเรามอง UST Yield ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ โดยเฉพาะอายุ 2 ปี ตามการปรับคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หลัง Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย 75bp ในเดือนพฤศจิกายน และจะขึ้น 25 bp ในเดือนธันวาคมปีนี้ รวมทั้งขึ้นอีก 25 bp ในช่วง 1Q23 อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีอยู่ (ความน่าจะเป็นที่จะเกิด Recession ในสหรัฐฯ อีก 1 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 50%) จะช่วยจำกัดการเพิ่มขึ้นของ 10y UST Yield

 

กองทุนแนะนำ

 

Krungsri Yenjai Fund

  • กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนกองทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ หุ้นไทย และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดหวังความเจริญเติบโตของสินทรัพย์ในระยะยาว

 

 

หุ้นกู้ต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ไทยกลุ่ม Investment Grade (IG) โดยเฉพาะ AAA และ AA ที่ Corporate Spread อยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับ Pre-COVID ขณะที่ Bond Yield ของไทยไม่ได้ปรับตัวขึ้นรุนแรงเหมือนสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงเงินเฟ้อไทยเร่งตัวลดลงในเดือนกันยายนจากระดับสูงสุดในเดือนสิงหาคม และดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ยังมีอุปสงค์ในตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากกลุ่ม บลจ. และบริษัทประกัน ขณะที่ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของตลาดโลกและความเสี่ยงเศรษฐกิจ ทำให้เรายังมีมุมมอง Slightly Negative ต่อหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง

 

เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม IG โดยเราคาดว่า Credit Spread ของ US IG ยังมีแนวโน้มทรงตัว หลังจากกว้างขึ้นไปพอสมควรเมื่อเทียบกับตอนต้นปี อย่างไรก็ตาม เรามีมุมมอง Slightly Negative ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม High Yield (HY) โดย HY Spread มีแนวโน้มกว้างขึ้นได้อีก ตามความวิตกกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจที่มากขึ้น และแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ HY ของจีน ตามความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังน่ากังวล และหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับรัสเซีย 

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่ออัตราเงินเฟ้อที่สูง และความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ดี การเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการ บจ. DM ใน 3Q22 ที่มีแนวโน้มดีกว่าที่ตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาด DM มีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวขึ้นบางส่วน

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดยังคงมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของ Fed แต่เรามองว่าตลาดได้แรงหนุนจาก Valuation ของตลาดที่ตึงตัวลดลง จาก Sentiment นักลงทุนที่ Bearish มากเกินไป ขณะที่การซื้อหุ้นคืนของ บจ. ที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี และผลประกอบการ บจ. ใน 3Q22 มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ การที่ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ มีสัดส่วนกลุ่ม Quality Growth สูง จึงทำให้ได้อานิสงส์ หากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

 

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 2

เรามีมุมมอง Slightly Negative ต่อตลาดหุ้นยุโรป โดยมองว่าปัจจัยที่กดดันยังไม่ถูกสะท้อนผ่านราคาที่ปรับตัวลงมา และประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยปัจจัยที่ยังกดดัน ได้แก่ วิกฤตพลังงานในยุโรปที่ยังจะกระทบต่อทั้งภาคการผลิตและการบริโภคผ่านเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งเราเริ่มเห็นสัญญาณของเงินเฟ้อที่กระจายตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นโยบายทางการเงินของ ECB มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งรัสเซียมีแนวโน้มที่จะยกระดับความรุนแรงมากขึ้น ยังกดดันภาพการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

เรายังคงมีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยมองว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออก ในขณะที่ค่าเงินเยนที่อ่อนค่านั้นเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศ จากราคาสินค้านำเข้าที่มีราคาแพงขึ้นส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นตาม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะสั้นยังคงได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่น เมื่อดัชนีฯ ปรับลดลงมา

 

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share จาก Valuation ชองดัชนีฯ ที่ไม่แพง การคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่น่าจะผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว และความเสี่ยง Delisting ของหุ้นจีน ADRs ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องการกีดกันการค้า การแข่งขันด้านเทคโนโลยี (โดยล่าสุดสหรัฐฯ มีแผนประกาศมาตรการชุดใหม่ เพื่อควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีน) และการโดนคว่ำบาตรทางอ้อม ในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับรัสเซียและไต้หวัน รวมทั้งความกังวลภาคอสังหาที่ยังคงมีอยู่ และสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่แน่นอน จะยังคงกดดัน Upside ของดัชนีฯ 

 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน A-Share โดยแม้ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลมีแนวโน้มออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการสนับสนุนภาคอสังหา รวมทั้งการผ่อนคลายทางการเงินของ PBOC ที่ยังคงดำเนินต่อ แต่อย่างไรก็ตาม การที่จีนมีแนวโน้มออกจากนโยบาย Zero-COVID ที่ล่าช้ามากขึ้น โดยเราคาดว่าจะยกเลิกในช่วง 2Q23 ตลอดจนกิจกรรมภาคอสังหาจีนที่ยังชะลอลง อาจส่งผลกระทบต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึง 1Q23

 

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นไทย เนื่องจากเศรษฐกิจที่เพิ่งอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากการเปิดประเทศที่ช้ากว่าที่อื่น ผนวกกับนโยบายการเงินที่ตึงตัวไม่มาก (ส่วนหนึ่งมาจากเงินเฟ้อที่กำลังทยอยลดลง หลังจากพีคไปในเดือนสิงหาคมแล้ว) ซึ่งหนุน Earning ให้ยังขยายตัวได้ ท่ามกลาง Valuation ที่น่าลงทุน นอกจากนี้ ตลาดมีโอกาสได้ปัจจัยหนุนชั่วคราวจากช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ความผันผวนในตลาดโลกทำให้เราแนะนำหุ้นในกลุ่ม High Quality เพื่อรับมือ โดยเน้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

 

กองทุนแนะนำ

 

SCB Dividend Stock Open End Fund

  • กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 3

เราปรับมุมมองตลาดหุ้นเวียดนาม จาก Slightly Positive เป็น Neutral โดยแม้ว่าตลาดมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจเวียดนามที่ยังมีโมเมนตัมการฟื้นตัวดีขึ้น และผลประกอบการ บจ. เวียดนามใน 2H22 ที่มีแนวโน้มขยายตัวค่อนข้างดี แต่ความเสี่ยงที่ธนาคารกลางเวียดนามจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงที่เหลือของปีเริ่มมีมากขึ้น หลังเงินเฟ้อเดือนล่าสุดอยู่ใกล้เป้าหมายของทางการที่ 4% และเงินดองมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าต่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ Sentiment นักลงทุนต่างชาติบนตลาดฯ ที่แย่ลง หลังขายสุทธิติดต่อกัน 6 สัปดาห์ ประกอบกับความเสี่ยงการถูก Force Sell ของนักลงรายย่อยที่ยังมีอยู่ หลังยอด Margin Loan ยังค่อนข้างสูง

 

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซีย แม้เงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยขาขึ้นอาจกระทบเศรษฐกิจและต้นทุนธุรกิจ แต่เราเชื่อว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังรับมือได้ ส่งออกที่ยังเติบโตดี (ล่าสุดทางการขยายเวลายกเว้นการจัดเก็บภาษีส่งออกในน้ำมันปาล์ม ซึ่งน่าจะช่วยให้กลุ่มเกษตรกรได้ประโยชน์) บวกกับการคลังมีมาตรการลดผลลบจากเงินเฟ้อให้ผู้มีรายได้น้อย ขณะที่ 2022-2023 EPS มีแนวโน้มถูกปรับขึ้นและ Valuation ยังน่าสนใจ นอกจากนี้ ความผันผวนของตลาดอันเกิดจากท่าทีของ Fed สำหรับอินโดนีเซียก็มีโอกาสได้รับผลกระทบ แต่เรามองว่าอาจไม่รุนแรงมาก เนื่องจากเสถียรภาพต่างประเทศที่ดี ธนาคารกลางดำเนินนโยบาย Preemptive และใช้เครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพหลายตัว รวมถึงการปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวไปกับ Regional Peer ไม่ฝืนตลาดมากเกินไปจนอาจโดนโจมตีค่าเงิน

 

กองทุนแนะนำ 

 

SCB Indonesia Equity Fund

  • กองทุน SCB Vietnam เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ กองทุน VanEck Indonesia Index ETF (กองทุนหลัก) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนความคาดหวังความเจริญเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย

 

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยในระยะสั้นถึงกลางราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จนกว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 1. การเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย และ 2. ความต้องการถือครองจากธนาคารกลางเพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น 

 

 

น้ำมัน 

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อน้ำมัน โดยราคายังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำมันเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในยุโรปในช่วงฤดูหนาว ขณะที่อุปทานยังคงมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น จาก 1. การที่กลุ่ม OPEC ยังคงพยายามเข้ามาควบคุมราคาน้ำมันด้วยการลดกำลังการผลิต 2. ผลของการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของทางกลุ่ม EU จะเริ่มเห็นผลชัดมากขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม และ 3. การปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเริ่มชะลอตัวลงช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว โดยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ LT Bond Yield ยังฉุดรั้งผลตอบแทนของ REITs โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ที่ผลตอบแทนโดยรวม (USD Term) ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาลดลงหนัก เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่ตลาดยังได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง และแรงกดดันจากตลาดพันธบัตรมีไม่มาก โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่ผลตอบแทนโดยรวมในช่วง 1 เดือนยังยืนบวกต่อเนื่อง ขณะที่ควรหลีกเลี่ยงตลาดยุโรป เนื่องจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยสูง กดดันผลกำไรของ REITs    

 

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ซึ่งตลาดเอเชียก็ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของ LT Bond Yield เช่นเดียวกันกับสหรัฐฯ และยุโรป แต่ Yield ไม่ได้ขึ้นรุนแรง โดยสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวมากกว่าไทย ส่วนหนึ่งมาจากดอกเบี้ยสิงคโปร์ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงสอดคล้องไปกับสหรัฐฯ มากกว่าไทย แต่ทั้งคู่ยังได้ผลบวกจากการเปิดเมือง หนุน REITs กลุ่มโรงแรมและค้าปลีก ขณะที่ไทยได้รับประโยชน์จาก FDI บางส่วน ส่งผลบวกต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและคลังสินค้าด้วย ทั้งนี้ ภาวะตลาดผันผวนและดอกเบี้ยขาขึ้น ควรระมัดระวังกอง REITs ที่มีหนี้สูง และ/หรือสภาพคล่องต่ำ เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 10 ต.ค. 2022

READ MORE



Latest Stories