THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
เงินดอลลาร์
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

เงินดอลลาร์ ส่งสัญญาณผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หลังทำสถิติแข็งค่าสุดรอบ 20 ปี

... • 11 ก.ค. 2022

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากรายงานการประชุม FOMC ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.75% ต่อเนื่อง 
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เกิดภาวะเส้นผลตอบแทนกลับหัว (Inverted Yield Curve) อีกครั้ง ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยแข็งค่าสูงสุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้เงินสกุลอื่นรวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลงมาก
  • สัปดาห์นี้ต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยตลาดคาดว่ายังจะปรับขึ้นที่ 8.7% จาก 8.6% ในเดือนก่อน
  • เงินดอลลาร์อาจผ่านจุดที่แข็งค่าสุดไปแล้ว ผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว และความกังวลเรื่อง Recession น่าจะสะท้อนผ่านค่าเงินดอลลาร์ไประดับหนึ่งแล้ว

กรณี เงินดอลลาร์ ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทรงตัวแต่สินทรัพย์อื่นผันผวนมาก จากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยที่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจาก 

 

1. ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในเดือนมิถุนายน ที่ส่งสัญญาณกังวลเงินเฟ้อและพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.50-0.75% ในการประชุมครั้งถัดไปในปลายเดือนกรกฎาคม 

 

2. ตัวเลขเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปเริ่มชะลอลง โดยเฉพาะดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการ ขณะที่ตำแหน่งงานเปิดใหม่เริ่มลดลง 

 

3. เกิดการระบาดของโรคโควิดในแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีที่เป็นฐานการผลิต และทำให้ทางการจีนต้องปิดเมืองบางส่วน รวมถึงตรวจหาผู้ติดเชื้อในเซี่ยงไฮ้อย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม การล็อกดาวน์จำกัดกว่าช่วงก่อนหน้าในเดือนเมษายนอย่างมาก 

 

4. ยูเครนถอนทหารจากที่มั่นสุดท้ายในรัฐดอนบาส 

 

5. สำนักวิจัยและสำนักข่าวหลายฝ่าย เริ่มให้โอกาสของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้ามากขึ้น เช่น Nomura ให้เป็นสถานการณ์กลาง ขณะที่ Bloomberg ให้โอกาส 1/3 เช่นเดียวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่มองว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งความกังวลดังกล่าวทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงน้ำมันลดลงแรง ผลตอบแทนพันธบัตรตกลงและเกิด Inverted รวมถึงสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาก 

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังได้ปัจจัยบวกจาก 1. ตัวเลข PMI ของจีนที่ดีขึ้นอย่างมากหลังการเปิดเมือง และ 2. รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งสัญญาณจะยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าที่เก็บจากจีนบางส่วน 

 

ความกังวลเศรษฐกิจถดถอยเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทรงตัวรวมถึงปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย หลังปรับลดลงมากในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ความกังวลประเด็นเศรษฐกิจถดถอยที่มากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการประกาศรายงานการประชุม FOMC ที่ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.75% ต่อเนื่องทำให้นักลงทุนกังวลประเด็น Recession มากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงและกลับมา Inverted อีกครั้ง ขณะที่ราคาน้ำมันกลับมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และดอลลาร์แข็งค่าสุดในรอบ 20 ปี และทำให้บาทอ่อนสุดในรอบ 16 ปี อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณบวกจากจีนหลังการเปิดเมืองทำให้ดัชนี PMI ภาคบริการดีดตัวขึ้นรุนแรงมาอยู่ที่ 54.5 จุด 

 

สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นทรงตัวแต่สินทรัพย์อื่นผันผวนมากจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยที่มากขึ้น ทำให้พันธบัตรสหรัฐฯ เกิด Inverted Yield Curve (ภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว) อีกครั้ง ขณะที่ราคาน้ำมันกลับมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รวมถึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยแข็งค่าสูงสุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้เงินสกุลอื่นรวมถึงบาทอ่อนค่าลงมาก โดยเงินบาทอ่อนลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี ที่ 36.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเทียบกับเงินสกุลภูมิภาคและสกุลอื่นๆ จะพบว่าบาทอ่อนลงในระดับกลางๆ โดยนับจากต้นปีอ่อนไปประมาณ 7.9% อ่อนกว่าเงินหยวนที่ 5.5% และอินโดนีเซียรูเปียห์ที่ 5.0% แต่ยังแข็งกว่าฟิลิปปินส์เปโซที่ 8.1% และยูโรและเยนที่ 10.4 และ 17.6% ตามลำดับ 

 

โดยสาเหตุที่บาทอ่อนค่านอกจากจะเป็นเพราะดอลลาร์แข็งค่าแล้ว (+11.1% นับจากต้นปี) ยังเป็นเพราะไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันที่สูงขึ้น โดยนับจากต้นปีถึงเดือนพฤษภาคม ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ขาดดุล 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

อย่างไรก็ตาม SCBS เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลัง (โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4) ประเทศไทยอาจขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง เนื่องจากมีรายได้จากนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น (เราคาดนักท่องเที่ยวจะเข้าไทยครึ่งปีหลังประมาณ 6 ล้านคน คิดเป็นรายได้ประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งจะช่วยลดทอนแรงกดดันจากเงินทุนเคลื่อนย้ายและทำให้ค่าเฉลี่ยเงินบาทในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 33-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ (ปัจจุบันอยู่ที่ 33.8 บาท YTD)

 

จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสัปดาห์นี้ คาดเติบโต 8.7%

สัปดาห์นี้ต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) สหรัฐฯ โดยตลาดคาดว่ายังจะปรับขึ้นที่ 8.7% จาก 8.6% ในเดือนก่อน นอกจากนั้นยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจีน ทั้ง GDP และตัวเลขรายเดือน โดย GDP ตลาดคาดว่าจะชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ 4.8% เนื่องจากการล็อกดาวน์รุนแรงในเดือนเมษายน แต่ตัวเลขรายเดือนทั้งยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนสินทรัพย์ถาวร น่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการเปิดประเทศ

 

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% แบ่งเป็น ตลาดเกิดใหม่ (EM) เพิ่มขึ้น 0.2% ตลาดพัฒนาแล้ว (DM) เพิ่มขึ้น 1.6% โดยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่คาด ซึ่งคลายความกังวลของสภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนั้นภาพของห่วงโซ่อุปทานเริ่มดีขึ้นซึ่งช่วยลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อได้ แต่ในฝั่งประเทศ EM ได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าและจีนจะเริ่มลดสภาพคล่อง

 

“นักลงทุนเริ่มสะท้อนความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงในราคาหุ้น ทั้งนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากภาพอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง นอกจากนั้นค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สิ่งที่เรามองว่าเป็นประเด็นบวกคือห่วงโซ่อุปทานที่ดีขึ้นซึ่งช่วยลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อได้และการเปิดประเทศของจีน เราประเมินว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2-3 จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ตลาดเริ่มมองเห็นภาพ Downside และ Upside มากขึ้น ดังนั้นไตรมาสที่ 3 จึงเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการฟื้น

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BJC - ยอดขายจะฟื้นดีขึ้นในทุกธุรกิจ 

สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ทั้งธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (MSC) ชั้นนำของไทย (ภายใต้แบรนด์ Big C) และธุรกิจ PSC ซึ่งผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งธุรกิจ CSC ซึ่งผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวเกรียบ สบู่ มันฝรั่งทอดกรอบ 
  • แม้ 2Q22 คาดกำไรลดลง QoQ ตามผลฤดูกาล แต่จะดีขึ้น YoY โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากยอดขายสาขาเดิมที่คาดเติบโตมากสุด หลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์หนุนให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ ส่วนรายได้ค่าเช่าและรายได้อื่นมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับเช่นกัน 
  • ปี 2022 คาดผลประกอบการฟื้นตัวดีขึ้นในทุกธุรกิจ โดยยอดขายของธุรกิจ MSC และ CSC คาดจะเพิ่มขึ้น หลังอุปสงค์ฟื้นตัวจากคลายล็อกดาวน์ รวมทั้งยังมีแผนเปิดสาขาและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ขณะที่ยอดขายธุรกิจ PSC คาดเติบโตจากปรับขึ้นราคาขายและมีปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น   
  • ราคาหุ้น BJC ปรับขึ้นแค่ 1.6%YTD และยังต่ำกว่า 25% จากระดับก่อนเกิดโควิด ซึ่งมองว่ายังไม่ได้สะท้อนโมเมนตัมกำไรที่กำลังปรับตัวดีขึ้นจากยอดขายที่จะฟื้นตัวดีขึ้นในทุกธุรกิจ จึงมองเป็นโอกาสดีทยอยซื้อลงทุน   
  • ประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 44 บาท และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 ที่หุ้นละ 0.76 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 2.0%

 

สำหรับกระแสเงินในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า 

 

1. กระแสเงินไหลกลับเข้าตราสารหนี้จากความกังวลเรื่องสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและผลตอบแทนพันธบัตรลดลง 

 

2. มีแรงซื้อในตลาดหุ้นจีนจากภาพการควบคุมโควิดที่ไม่ล็อกดาวน์แบบทั้งหมด 

 

3. เริ่มเห็นมีแรงซื้อในหุ้นธีม Growth หลังจากมีแรงขายเยอะใน 1H22 

 

4. มีแรงขายในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม พลังงาน การเงิน และแมตทีเรียล บ่งชี้ว่านักลงทุนกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

 

5. นักลงทุนลดความเสี่ยงอย่าง Small Cap และตลาดหุ้น EM จากความกังวลเรื่องแนวโน้มผลประกอบการ 

 

6. มีแรงขายในโลหะมีค่าตามแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ในช่วงที่ผ่านมา ดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามนโยบายที่ตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจมีการอ่อนตัวลงและมีภาพความเสี่ยง Recession ซึ่งเรามองว่าปัจจัยเหล่านี้มีการสะท้อนผ่านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเชื่อว่าอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเช่นเดียวกับเงินเฟ้อ โดยในภาพถัดไปมีความน่าจะเป็นสูงที่จะอ่อนค่าลง และส่งผลให้บริษัท MNEs ได้รับประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าว

 

ประเด็นกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นตามนโยบายตึงตัวของ Fed มีการสะท้อนผ่านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยมีการแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น สภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง ประกอบกับความเสี่ยงเศรษฐกิจอย่าง Recession ได้สะท้อนผ่านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในระดับหนึ่ง

 

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เราเชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ประกอบกับ Sentiment เสริมที่ทางการจีนมีการลงทุนเพิ่มในโครงสร้างพื้นฐานและทางฝั่ง EM เริ่มมีการเปิดประเทศ ซึ่งเรามองว่าจะช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนและประเทศ EM ให้ฟื้นตัวต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ในทางกลับกัน ประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยที่จะกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และยิ่งเสริมมุมมองต่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจปรับตัวลงและอ่อนตัวในระยะถัดไป 

 

หากภาพในระยะถัดไปเป็นไปอย่างที่เราเชื่อ เรามองว่าบริษัท MNEs ที่มีการส่งออกตัวสินค้าไปนอกประเทศจะได้รับประโยชน์ในภาพถัดไปเช่นกัน โดยในกลุ่มนี้เราชอบ Apple, P&G, General Electric Company, NVIDIA, Estee Lauder และ Nike

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางที่ต่างๆ เช่น Fed ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการ บจ. DM ใน 2Q22 ที่ยังมีแนวโน้มดีกว่าที่ตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดมีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัว

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจาก CPI สหรัฐฯ ประจำเดือนมิถุนายนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ และเป็นผลทำให้ Fed ยังจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งตลาดฯ ยังคงมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับโอกาสในการเกิด Recession ในสหรัฐฯ ที่มากขึ้น และจากความเสี่ยงที่ผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ในปีนี้และปีหน้าจะถูกปรับประมาณการลง 

 

อย่างไรก็ดี การที่ บจ.สหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีงบดุลที่แข็งแกร่งและมีเงินสดที่สูง จะช่วยหนุนแนวโน้มซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยประคองตลาดฯ ขณะที่ Valuation ของตลาดฯ ลดลงค่อนข้างมากจากช่วงต้นปี จะเป็นการช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลง

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 2

 

 

ตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่าจะมี Valuation ที่ถูก แต่เรามองเห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัญหา Fragmentation ที่ ECB ยังไม่ได้ออกมาตรการรับมือที่ชัดเจน เศรษฐกิจยุโรปเผชิญความเสี่ยงชะลอตัวหรือถดถอยในบางประเทศ เช่น เยอรมนีและอังกฤษ ในช่วง 2H22 ที่มีโอกาสทำให้เกิด Spillover Effect ไปยังประเทศในภูมิภาค ในขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงไม่มีวี่แววผ่อนคลายลง

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีจากสถานการณ์ Supply Chain ที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของจีน รวมไปถึงการเปิดประเทศจะช่วยให้การบริโภคในประเทศนั้นฟื้นตัวได้ในช่วง 2H22 แต่อย่างไรก็ตาม เรามองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้สะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปแล้ว 

 

นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ส่งผลให้ค่าเงินเยนยังคงมีทิศทางอ่อนค่า ในขณะที่เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นมาส่งผลให้ Real Wage นั้นปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศต่อไปได้

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นจีน H-share เนื่องจาก Valuation ดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่ส่วนใหญ่อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ทั้งประเด็นเรื่องการกีดกันการค้า ความเสี่ยงการ Delisting และหุ้นจีน ADRs การคว่ำบาตรทางอ้อมของสหรัฐฯ กับจีนในประเด็นที่เกี่ยวกับรัสเซีย ประกอบกับการที่ EPS บจ.จีน โดยเฉพาะในกลุ่ม Platform ที่มีแนวโน้มชะลอลงทำจุดต่ำสุดช่วง 2Q22 จะยังกดดัน Upside ของดัชนีฯ 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 4 

 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีแนวโน้มจะต้องเร่งนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรพิเศษไปใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้หมดภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่รัฐบาลกลางจีนจะออกพันธบัตรพิเศษเพื่อนำมาใช้จ่ายลงทุนโครงการต่างๆ เช่นกัน แม้การที่จีนยังคงนโยบาย Zero-COVID และนำไปสู่การกลับมาล็อกดาวน์ในบางเมืองนั้น อาจยังกดดัน Sentiment ของนักลงทุนอยู่ก็ตาม

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่กำลังคลี่คลาย ท่ามกลาง Valuation ที่ยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมในการลงทุน นอกจากนี้ คาดการณ์การเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 2022 ยังเติบโตได้ดี (Consensus คาดว่า EPS ปีนี้ จะขยายตัว 13.2%) 

 

อย่างไรก็ตามคาดว่า กนง. จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้งในปีนี้ (กรณีฐาน) ซึ่งจะส่งผลลบต่อการใช้จ่ายครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและบริษัทที่มีหนี้สูง

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวภายในประเทศในช่วงนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการคุมเข้มในตลาดการเงิน และตลาดอสังหาของทางการ รวมทั้งความกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อเวียดนาม หลัง CPI เดือนมิถุนายน +3.4% เพิ่มขึ้นจาก 2.9% ในเดือนเมษายน แต่เรามองว่าความกังวลดังกล่าวอาจจำกัด Upside ของตลาดหุ้นเวียดนามเพียงช่วงสั้นเท่านั้น 

 

ขณะที่ Downside ตลาดฯ เริ่มมีจำกัด ตาม Valuation ของตลาดฯ ที่ปรับลดลงมามาก ดังนั้น เราจึงมองเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนาม โดยตลาดฯ ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดี และผลประกอบการ บจ. ในช่วง 2H22 ที่ยังขยายตัวโดดเด่น

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ทองคำมีแนวโน้ม ได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ รวมไปถึงการฟื้นตัวของความต้องการทองคำในฐานะเครื่องประดับที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังมีแนวโน้มถูกกดดันจาก Bond Yield และค่าเงินสหรัฐฯ ที่ยังปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed

 

น้ำมัน/อาหาร

ความน่าสนใจระดับ 5

 

 

กลุ่มอาหาร/น้ำมันในแง่ของการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ แม้ว่าในระยะสั้นนั้นราคาน้ำมันได้ปรับตัวลงจากความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะส่งผลให้อุปสงค์นั้นหายไป แต่เรามองว่าภาพอุปทานที่ยังคงตึงตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจะช่วยพยุงราคาน้ำมันให้กลับมาได้ จากการที่ยุโรปจะทยอยลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย OPEC ยังไม่สามารถผลิตได้ตามเป้า ในขณะที่ราคาอาหารมีแนวโน้มถูกดันระยะสั้นจากช่วงฤดูกาลเพาะปลูกที่ผลผลิตมีแนวโน้มออกมาดีจากสภาพอากาศ

 

REITs ประเทศพัฒนา

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว ได้รับปัจจัยบวกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวตามการทยอยเปิดเมืองของหลายประเทศ สนับสนุนความต้องการพื้นที่เช่าคลังสินค้าและพื้นที่ร้านค้าใน Shopping Mall โดยเฉพาะร้านให้บริการ Personal Care อย่างไรก็ตาม เรายังเชื่อว่า Bond Yield ยังมีทิศทางขาขึ้นเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อตลาด REITs แม้ในขณะนี้ Bond Yield ระยะยาวจะปรับตัวลดลงตามความกังวลเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งลดแรงกดดันต่อตลาด REITs ได้เพียงชั่วคราว

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ตามปัจจัยบวกจากการเปิดเมืองและการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลดีต่อกลุ่ม Hotel ขณะที่กลุ่ม Retail และ Warehouse กำลังทยอยฟื้นตัวตาม ซึ่งน่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นใน 2H22 

 

อย่างไรก็ตาม เรายังเชื่อว่า Bond Yield ยังมีทิศทางขาขึ้น ทำให้ Total Return ของ REITs มีข้อจำกัดในการขยายตัว แม้ขณะนี้ Bond Yield ระยะยาวจะปรับลดลงตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่กังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งลดแรงกดดันต่อตลาด REITs เอเชียเพียงชั่วคราว

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 11 ก.ค. 2022

READ MORE



Latest Stories