THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
ดอลลาร์แข็งค่า
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ดอลลาร์แข็งค่าเร็วป่วนตลาดเงินทั่วโลก จับตา Sell in May ปีนี้มาแน่

... • 3 พ.ค. 2022

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 3% กดดันสกุลเงินสำคัญอื่นๆ ทั้งหยวนและยูโร 
  • Fed จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ 0.50% ซึ่งจะเป็นแรงกดดันส่งต่อไปยัง ECB ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1-2 ครั้งในปีนี้ 
  • ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ และมีโอกาสที่ GDP จะถูก Downgrade ได้อีก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ซึ่งยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิดอีกระลอก 
  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนการซึมซับปัจจัยเสี่ยงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ตลาดจะยังถูกกดดันด้วยแนวโน้มผลประกอบการ บจ. ที่กำลังทยอยประกาศออกมาและมีแนวโน้มลดลง

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลงแรง โดยตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 0.9% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง 2% และตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง 0.7% เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวแข็งค่ามากอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเงินหยวนและสกุลสำคัญอื่นๆ เช่น เยน ยูโร รวมถึงบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการที่รัสเซียประกาศหยุดส่งก๊าซธรรมชาติให้โปแลนด์และเบลารุส หลังจากทั้งสองประเทศไม่จ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปเพิ่มขึ้น 20% และการระบาดของโอมิครอนในจีน โดยเฉพาะในเมืองเซี่ยงไฮ้ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้ตลาดกังวลต่อการเติบโตของจีน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมามีสัญญาณการชะลอตัวลง

 

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่ม Growth (-0.7%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Value (-1%) หุ้นขนาดใหญ่ (-0.7%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (-2%) กลุ่มการเงินและธนาคารปรับตัวลดลง 3-4% จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่วนหุ้นกลุ่มเชิงรับปรับตัวลดลงเช่นกัน 1% แต่น้อยกว่าตลาด และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่น 2.2% จากผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ออกมาดีกว่าที่คาด

 

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่าสาเหตุที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ มีทั้งปัจจัยร่วม ได้แก่ แนวนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ตึงตัวขึ้น ทำให้สภาพคล่องโดยรวมของสหรัฐฯ ตึงตัวขึ้นในระดับใกล้เคียงกับก่อนวิกฤตโควิด อันเป็นผลทั้งจากผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นและยาวที่เพิ่มขึ้น และเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินของเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น จีน หรือแม้กระทั่งไทยผ่อนคลายกว่า 

 

โดยในระยะต่อไป ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ 1-2 ครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางอื่นอาจไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ภาพดังกล่าวจะทำให้เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในระยะเวลาต่อไป 

 

“การที่ดอลลาร์แข็งค่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยลดทอนเงินเฟ้อจากการนำเข้า (Imported Inflation) ได้ แต่จะทำให้เศรษฐกิจอื่นๆ ที่ค่าเงินอ่อนเผชิญกับ Imported Inflation ที่สูงขึ้น และกระทบให้เศรษฐกิจอื่นๆ เกิดภาวะ Stagflation ขึ้นได้มาก” 

 

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบแล้ว จีนอาจได้รับผลกระทบด้านนี้น้อยกว่าเนื่องจากเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่า แต่จีนก็จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง และทำให้ทางการต้องล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศและภาคการผลิต (หรือปัญหา Supply Chain) ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในระยะต่อไป 

 

เศรษฐกิจโลกเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่าคาด

SCBS มองว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2022 มีความเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยยังมีโอกาสที่ GDP จะถูก Downgrade ได้อีก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่มีสัญญาณว่าจะจบเมื่อไร และสถานการณ์โควิดในจีนที่ยังคงจัดการไม่ได้ เนื่องจากอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือ อัตราการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ยังคงต่ำ รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนไม่เพียงพอ ทั้งนี้ เนื่องจากจะทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อไม่ลดลงและจีนไม่สามารถเปิดประเทศได้ ล่าสุด การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังกระทบค่าเงินประเทศอื่นๆ ให้อ่อนค่า ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันเรื่องการนำเข้าเงินเฟ้อ ส่งผลให้นโยบายการเงินของ Fed กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะทำได้ตามแผนหรือไม่ 

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า

 

  1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.50% และแผนการลดงบดุลและแนวโน้มตัวเลขในตลาดแรงงานที่ยังดี 

 

  1. การผลิตและบริการของจีนที่คาดว่าจะหดตัวลงต่อเนื่องจากการล็อกดาวน์

 

  1. การประชุมกลุ่ม OPEC ที่คาดว่าจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

 

  1. ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของบริษัท Airbnb, Airbus, AMD, BMW, BP, Cigna, CVS Health, Deutsche Post, Ebay, Enel, Expedia, Hilton, Lyft, Marathon Petroleum, Moderna, Pfizer, Shopify, Starbucks, Uber, Vestas, Volkswagen, Yum Brand

 

“ตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก แต่ยังไม่พบกระแสเงินต่างชาติไหลออก ทั้งนี้ มีความหวังเรื่องการเปิดประเทศเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่มราคาน้ำมันดีเซลและราคาน้ำมันปาล์มจะเป็นส่วนที่กดดันค่าขนส่งและทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และอาจจะส่งผลต่อการปรับประมาณการลงในระยะถัดไป การลงทุนในช่วงนี้จะเน้นไปที่กลุ่มเชิงรับ รวมถึงหุ้นที่มีการฟื้นตัวจากโควิดชัดเจนและสามารถต่อสู้กับต้นทุนได้ จะทำให้ลดความผันผวนจากภาพตลาดได้ดี”

 

แนะคงน้ำหนักลงทุนหุ้นไทย 50% เน้นหุ้นที่รับความเสี่ยงจำกัด 

การลงทุนในระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ปัจจัยภายในประเทศมีผลค่อนข้างจำกัดและหาจังหวะในการลงทุนในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น

 

  1. คงน้ำหนักพอร์ตที่ 50% ในหุ้นที่มีการเติบโตดีและมีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอก เช่น KBANKJ, AMATA, LH, GULF, ADVANC

 

  1. หุ้นเชิงรับ/หลุมหลบที่คาดให้ผลตอบแทนดีในช่วง Sell in May เลือก กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG, OSP) กลุ่มท่องเที่ยว (AOT, AWC) กลุ่มการแพทย์ (BDMS) และกลุ่มค้าปลีก (BJC, CRC) 

 

  1. หุ้นที่คาดผลประกอบการ 1Q65 เติบโตดี YoY เลือก ZEN, AP, GFPT, TOP, BCP

 

  1. ระมัดระวังหุ้นกลุ่มขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ โรงไฟฟ้า อสังหา บรรจุภัณฑ์ ที่มีโอกาสถูก Downgrade Earning จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นหลังประกาศงบ 1Q65 อีกทั้งล่าสุดตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ราคาดีเซลจะปรับขึ้นเป็นขั้นบันได 

 

  1. ระมัดระวังหุ้นที่มักจะเห็นแรงขายเกิดขึ้นในช่วง Sell in May อย่างกลุ่ม Energy, Bank, Con Mat, Electronics และหุ้นขนาดเล็ก 

 

Sell in May ปีนี้เกิดขึ้นแน่ แต่กดดันตลาดไม่มาก 

ในเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาที่เป็น Low Season ของตลาดหุ้น ที่มักจะให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ โดยหุ้นโลกมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่น้อยกว่า 1% และมีโอกาสในการที่ได้รับผลตอบแทนเป็นบวก 50%

 

ในปีนี้อาจจะมีความเสี่ยงในการเกิด Sell in May หรือผลตอบแทนติดลบเช่นกัน แต่อาจไม่สูงมากนักเพราะหลายชั้นสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนติดลบในช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 - เมษายน​ 2022 โดย SCBS มองว่าโอกาสในการเกิด Sell in May ในปีนี้โดยใช้การเคลื่อนไหวราคาในอดีต สำหรับหุ้นโลกอยู่ที่ 40% และอาจจะไม่เกิดการ Sell in May ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ

 

หากใช้กลยุทธ์นี้กับตลาดหุ้นและกลุ่มอุตสาหกรรม จะพบว่าตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนติดลบมากกว่า 50% และกลุ่มที่อาจจะให้ผลตอบแทนติดลบ ได้แก่ ICT และกลุ่มการเงิน ส่วนหลุมหลบภัยสำหรับ Sell in May ได้แก่ กลุ่ม Con.Disc, Healthcare, Staples, Energy

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CRC-กำไรคืนชีพ พร้อมโตดีสุดในกลุ่ม

สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

  • เป็น Holding Company ซึ่งถือหุ้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย โดยจัดเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่สุดในไทยและอันดับสามในเวียดนาม รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่สุดในอิตาลี

 

  • มีศักยภาพเติบโตในระยะยาวจากแผนขยายแพลตฟอร์ม Omni Channel และเครือข่ายสาขา รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การผนึกกำลังจากธุรกิจในเครือเพิ่มเติม และการมองหาโอกาสทำดีล M&A

 

  • 1Q22 คาดกำไรเพิ่มขึ้น YoY จากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้น โดยในส่วนของยอดขายสาขาเดิมคาดเติบโตดีในทุกกลุ่มธุรกิจ (แฟชั่น อาหาร และฮาร์ดไลน์) และในทุกประเทศ (อิตาลี เวียดนาม และไทย) จากมีฐานต่ำปีก่อน มีมาตรการช้อปดีมีคืน และการปรับขึ้นราคาสินค้าตามเงินเฟ้อ

 

  • ผลประกอบการผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และปี 2022 คาดมีกำไรปกติพุ่งแตะระดับ 5,035 ล้านบาท เติบโต 224%YoY ดีสุดในกลุ่มพาณิชย์ เนื่องจากยอดขายและรายได้ค่าเช่าฟื้นตัวดีขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

 

  • ราคาหุ้นมีโมเมนตัมปรับขึ้นต่อได้ ตามแนวโน้มกำไรที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อและการยกเลิกข้อจำกัดเดินทางเข้าประเทศที่หนุนให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับคืนมา ทั้งนี้ SCBS ประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 45 บาท

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดฯ ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะยังกดดัน Sentiment ตลาดฯ นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการเร่งลดการผ่อนคลายทางการเงินลงของธนาคารกลางหลักใน DM โดยเฉพาะ Fed อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดเศรษฐกิจมากขึ้นบนประเทศกลุ่ม DM รวมทั้งผลประกอบการของ บจ. ในกลุ่ม DM ใน 1Q2022 ที่ยังมีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดหุ้น DM ยังทรงตัวถึงฟื้นตัวได้บางส่วน

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และจากการที่ Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย 50 bps พร้อมประกาศแผน QT ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และขึ้นดอกเบี้ยอีก 50 bps ในเดือนมิถุนายน รวมทั้งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลประกอบการ บจ. สหรัฐฯ ใน 1Q2022 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด (โดยล่าสุดมี EPS Surprise อยู่ที่ +4%) จะช่วยประคองตลาดฯ ไว้ได้ ทั้งนี้ SCBS แนะนำสัดส่วนการลงทุนกลุ่ม Growth ต่อ Value อยู่ที่ 60:40

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 3

 

SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของยุโรป โดยยุโรปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นระดับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันอำนาจซื้อของประชาชนและต้นทุนการผลิต ขณะที่ภาคการผลิตถูกกดดันจากพลังงานที่อาจถูก Disrupt จากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาด้านอุปทานมีแนวโน้มแย่ลงจากการล็อกดาวน์ในจีน อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นยุโรปที่ลดลงมามากจะช่วยจำกัด Downside ตลาด

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed รวมทั้งถูกกดดันจากการล็อกดาวน์ในจีนที่ส่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นเริ่มมีการออกมาตรการเยียวยา เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านค่าเงินเยนมีการอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยหนุนหุ้นกลุ่มส่งออกแต่อาจกดดันเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วนที่สูง ขณะที่ BOJ มีแนวโน้มคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบผ่อนคลายต่อไป

 

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share เนื่องจาก Valuation ของดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่มีอยู่ ทั้งประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับรัสเซียและกับไต้หวัน รวมทั้งความเสี่ยงเรื่อง Delisting ของบรรดาหุ้นจีน ADRs ภายในปี 2024 ที่ยังมีอยู่ นอกจากนี้ผลประกอบการของ บจ. จีน โดยเฉพาะกลุ่ม Platform ที่มีแนวโน้มชะลอลงถึงขยายตัวปานกลาง ตลอดช่วง 1H2022 ตามผลกระทบทางลบจากการออกมาตรการควบคุมการระบาดรอบใหม่ในจีน จะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีฯ โดยรวม

 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการต่างๆ (ที่ไม่ใช่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน) เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงขาลงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ในจีนที่ยังน่ากังวลและการคงมาตรการควบคุมการระบาดในเมืองหลักๆ ที่ยาวนานขึ้น จะยังกดดันการฟื้นตัวของภาคการบริโภค ภาคบริการ และทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานยังยืดเยื้อ นอกจากนี้ Sentiment การลงทุน ของนักลงทุนจีนในช่วงนี้ยังมีแนวโน้มซบเซาต่อ

 

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นไทย โดยตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากผลของสงครามยูเครน จะกระทบต้นทุนการผลิต ภาคการบริโภคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะปรับประมาณการกำไรของ บจ. ของไทยลง ขณะที่ Valuation หุ้นไทยเริ่มตึงตัว นอกจากนี้การที่ Bond Yield 10 ปี ของไทยเริ่มอยู่ต่ำกว่าของสหรัฐฯ และการที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออก

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 5

 

SCBS มีมุมมอง Positive ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม โดยแม้ว่าตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ตลาดฯ เผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวในประเทศ เช่น การปรับนโยบายเข้มงวดขึ้นในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของภาคอสังหา และการคุมเข้ม Margin Loan ของ บล. ที่ให้กับรายย่อย แต่เชื่อว่าความกังวลเหล่านี้จะสร้างความผันผวนเพียงช่วงสั้น และถือเป็นโอกาสทยอยเข้าสะสมตลาดหุ้นเวียดนามเพิ่ม เนื่องจากตลาดฯ โดยรวม ยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจ และผลประกอบการ บจ. ของเวียดนามที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับระดับ Valuation ของตลาดฯ ล่าสุด ที่อยู่ในระดับน่าสนใจอย่างมาก และยังถูกที่สุดในกลุ่มอาเซียน

 

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และ Bond Yield ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed

 

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 3

 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อน้ำมัน โดยราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากภาวะอุปทานน้ำมันที่ตึงตัวเนื่องจากการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียลดลง หลังชาติต่างๆ ออกมาตรการคว่ำบาตร การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับลดลง หลังเกิดเหตุประท้วงทางการเมือง รวมทั้งการผลิตน้ำมันจากกลุ่ม OPEC+ และสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันมีแนวโน้มได้รับปัจจัยกดดันจากปัจจัยด้านอุปสงค์ ตามการระบาดของโควิดในจีนที่ยังน่ากังวล และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง นอกจากนี้เงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าตามการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะยังคงส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันอีกด้วย

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3 

 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว โดย REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และ Upside ของตลาดถูกจำกัด

 

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 

ความน่าสนใจระดับ 5

 

เรามีมุมมอง Positive ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดย REITs ไทยและสิงคโปร์ยังคง Laggard เมื่อเทียบกับ DM REITs และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามการผ่อนคลายมาตรการคุมการระบาดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ที่มีการเปิดประเทศมากขึ้นหลังการระบาดผ่านจุดสูงสุดไป โดยสิงคโปร์ได้ยกเลิกการจำกัดจำนวนคนในที่ทำงานและการรวมกลุ่มกัน รวมทั้งยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิดสำหรับคนที่เดินทางเข้าประเทศ ขณะที่แม้ประเทศไทยยังมีการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ แต่รัฐบาลเริ่มมีการวางแผนปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในระยะข้างหน้า และมีแนวโน้มปรับมาตรการให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 3 พ.ค. 2022

READ MORE



Latest Stories