วันเลือกตั้ง

ประชาธิปัตย์เปิดศึกในชิงหัวหน้าพรรค หมอวรงค์ขยับเดินสายหาเสียงหนุนทั่วประเทศ

28.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • หมอวรงค์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอตัวแข่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจากอภิสิทธิ์ เลือกใช้พิษณุโลก ถิ่นแจ้งเกิดทางการเมือง ในการออกสตาร์ทหาเสียงสนับสนุนตนเองและคณะ
  • 13 ปีที่อภิสิทธิ์ครองเก้าอี้หัวหน้า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ระบบหยั่งเสียงสมาชิกในการเลือกผู้นำ ศึกในกำลังร้อน พร้อมๆ กับศึกนอกที่กำลังรุกคืบเข้ามา

‘ประชาธิปัตย์’ ชื่อนี้มีอายุ 72 ปีแล้ว ด้วยความอาวุโสดังว่า ทำให้กลายเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในไทย

 

หากมองประวัติศาสตร์การเมืองไทย ประชาธิปัตย์มีขึ้นมีลง มีนักการเมืองเวียนเข้าออกจำนวนมาก

 

หลายคนวางมือ หลายคนแยกทาง แต่ยังเดินอยู่บนถนนสายเดียวกัน หากแต่เปลี่ยนไปปักหลักบ้านหลังใหม่ อาทิ เฉลิม อยู่บำรุง, จาตุรนต์ ฉายแสง, วีระกานต์ มุสิกพงศ์ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นต้น

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แรกเข้าสู่ถนนสายนี้ ถูกยกชูให้เป็นความหวังใหม่ของค่ายพระแม่ธรณี จากวันนั้นในฐานะ ส.ส. ป้ายแดง ปัจจุบันเขาคือ ‘หัวหน้าพรรค’ ที่ขึ้นสูงสุดเป็นถึง ‘นายกรัฐมนตรี’

 

หลังครองเก้าอี้ผู้นำพรรคมา 13 ปี ต้นเดือนกันยายน หัวหน้ามาร์คประกาศกติกาเลือกหัวหน้าใหม่ ใช้วิธีการ ‘หยั่งเสียง’ จากสมาชิกพรรคทั่วประเทศ อภิสิทธิ์บอกว่า นี่คือการเปิดศักราชใหม่ในการเมืองไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่า สมาชิกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง

 

แต่ขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นจุดสตาร์ทของศึกในที่กำลังร้อนแรงยิ่งเวลานี้

 

 

หมอวรงค์เดินเกมหาเสียงหนุน อลงกรณ์ตัวสอดแทรก

หลังประกาศกติกาใหม่ มีสมาชิกประชาธิปัตย์เบอร์ใหญ่ 2 คน ให้ความสนใจลงท้าดวลในเกมนี้ 2 คน คือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พิษณุโลก และ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค

 

1 ใน 2 รายชื่อที่เสนอตัวลงเเข่งกับหัวหน้ามาร์ค คนที่ดูจะมีความชัดเจนมากที่สุด ในเเง่การเปิดเกมรุก เพื่อชิงคะแนนเสียงจากสมาชิกก็คือ หมอวรงค์ ด้วยได้แรงหนุนจาก อดีต ส.ส. หลายกลุ่มก้อน มาเต็มแทบทุกภูมิภาค

 

ขณะที่อลงกรณ์ถูกมองว่า เป็นเพียงตัวสอดแทรก และยังไม่ชัดเจนว่ามีคนในสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน แถมในห้วง คสช. คุมกติกา เขาไปนั่งเป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อหมดวาระ เขาเคยประกาศวางมือทางการเมือง แต่สุดท้ายก็กลับเข้าพรรคอีกครั้ง

 

 

ด้านหมอวรงค์มีสมาชิกเบอร์ใหญ่อย่าง ถาวร เสนเนียม ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับแกนนำ กปปส. เป็นมือประสานรวบรวมสรรพกำลังเพื่อช่วยหมอวรงค์ให้ถึงฝั่งฝันเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 8 ขณะที่ตนเองจ่อเสียบเก้าอี้เลขาธิการพรรคคนที่ 17 ในฐานะทีม ‘หมอวรงค์’ ที่ว่ากันว่า ไฟเขียวดวงใหญ่มาจากรุ่นพี่เมืองคนดี สุราษฎร์ธานี สั่งลุยศึกนี้แบบไม่ถอย

 

ไล่เรียงดูขุมกำลังอดีต ส.ส. ที่เปิดหน้าร่วมทีมเวลานี้ อาทิ นายสมบัติ ยะสินธุ์ อดีต ส.ส. จ.แม่ฮ่องสอน, ดร.ศุภชัย ศรีหล้า อดีต ส.ส. จ.อุบลราชธานี, นายสำราญ ศรีแปงวงษ์  อดีต ส.ส. จ.กำแพงเพชร, นายพุฒิพงศ์ สงวนวงศ์ชัย อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ จ.ชัยภูมิ, นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส. จ.นครศรีธรรมราช

 

ขณะที่หมอวรงค์ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยังมีเพื่อนหมอวรงค์ที่ให้การสนับสนุนอีกมาก รวมทั้งคนรุ่นใหม่ แต่บางคนยังไม่พร้อมที่จะเปิดตัว

 

 

เลือกออกสตาร์ทที่พิษณุโลก ถิ่นเกิดการเมือง

วันที่ 27 กันยายน 2561 เช้าตรู่วันนั้นที่พรรคประชาธิปัตย์ และจังหวัดพิษณุโลกคือสนามแห่งการขยับใหญ่ของหมอวรงค์และคณะ

 

โดยก่อนหน้านี้เขาส่งหมายถึงสื่อมวลชนล่วงหน้า เทียบเชิญให้ติดตามการเปิดตัววอร์รูมเขาและคณะ ที่จะออกสตาร์ทหาเสียง เพื่อขอคะแนนจากสมาชิกประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ

 

หมอวรงค์และทีมสนับสนุนเป็นอดีต ส.ส. เดินทางเข้าพรรค เพื่อสักการะพระแม่ธรณีบีบมวยผม สิ่งศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมใจของคนประชาธิปัตย์ เอาฤกษ์เอาชัย ก่อนมุ่งตรงสู่พิษณุโลก

 

 

จุดสตาร์ทแรกที่หมอวรงค์เลือกเพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการชิงหัวหน้าพรรค นำประชาธิปัตย์สู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง คือพิษณุโลก ถิ่นแจ้งเกิดทางการเมือง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2548 สภาหินอ่อนของไทยได้มีโอกาสต้อนรับนายแพทย์อีกคน ที่เปลี่ยนจากการสวมเสื้อกาวน์มาเป็นสวมเสื้อสูท เข้าสู่สภาในฐานะ ส.ส. ประชาธิปัตย์ ที่ก่อนหน้านี้ต้องอกหักจากไทยรักไทย เพราะมีการเปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนผู้สมัครกลางคัน

 

และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อของหมอวรงค์ก็แจ้งเกิดเป็นดาวเด่นในสภา ไม่เคยสอบตก จากการลงสมัครรับเลือกตั้ง

 

หลังกราบพระพุทธชินราชที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พระคู่บ้านคู่เมือง และกราบสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชวังจันทน์

 

 

หมอวรงค์เดินทางมายังลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อทำพิธีพราหมณ์ถวายเครื่องสังเวย และบวงสรวงองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก่อนจะประกาศถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ท่ามกลางประชาชนที่มาให้กำลังใจ และต้อนรับไม่ต่ำกว่า 300 คน ว่า “ผมขอประกาศเจตนารมณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า บัดนี้ ผมพร้อมที่จะเสนอตัวชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

“พรรคประชาธิปัตย์กำลังเกิดวิกฤต สถานการณ์ของเราไม่ดีเท่าที่ควร อดีตที่ผ่านมา พวกเราแพ้การเลือกตั้งมาตลอดนับสิบปี กระแสนิยมพวกเราตก มีคนวิจารณ์พวกเราหลายอย่างว่า พวกเราเลือดไหลออกไม่หยุด บอกว่าพวกเราสร้างภาพ บอกว่าดีแต่พูด บอกว่าพวกเราไม่กล้าตัดสินใจ คู่ต่อสู้หยามเราว่าขี้แพ้ วันนี้ผมไม่ยอม”

 

 

พร้อมกันนี้ยังได้ชูสโลแกนในการหาเสียงสนับสนุนว่า ‘กล้าเปลี่ยน เพื่อประชาชน’

 

“ผมฝันว่าในการพัฒนาพรรคจะต้องสร้างสาขาพรรคให้มีบทบาทและเข้ามาพัฒนาพรรคมากขึ้น อนาคตจะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นเป็นชั้นนำของเอเชีย หากพรรคไหนไม่โกง ก็สามารถร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ได้” หมอวรงค์กล่าว

 

 

ข้ามช็อต พร้อมเป็นนายกฯ

แน่นอนว่า ธรรมเนียมของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีอายุ 72 ปี การมีชื่อเป็นหัวหน้าพรรคย่อมหมายถึง การมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

 

“ผมพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี” คือถ้อยแถลงที่ชัดเจนจากหมอวรงค์

 

แม้หมอวรงค์จะออกปากว่า ตนเองเป็นมวยรอง แต่ศึกการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ เขาบอกว่า เขาต้องการลุกขึ้นมาเปลี่ยนประชาธิปัตย์ใหม่ คำครหาต่างๆ เป็นสิ่งที่เขาจะไม่ยอมรับอีกต่อไป และพร้อมรับทุกกติกาและเงื่อนไขในการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรม ต่อจากนี้มีแต่ต้องทำงานหนักมากขึ้นเป็น 5 เท่า  

 

ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเดินสายต่อไปที่ภาคใต้และภาคอื่นๆ รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคตามที่นัดหมาย

 

 

หมอวรงค์เชื่อว่า การต่อสู้จะไม่ทำให้พรรคแตกแยก เพราะเป็นไปตามแนวทางและกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ หากแม้เขาพ่ายแพ้ ก็จะยังอยู่กับพรรคต่อไป

 

หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่า ธงอภิสิทธิ์ หรือธงหมอวรงค์ จะถูกชักขึ้นสู่ยอดเสา ประกาศชัยชนะเหนือคู่แข่งอันเป็นเกมที่เรียกว่า ‘ศึกใน’

 

และนับแต่เวลานั้น ‘ศึกนอก’ ที่ต้องการความชัดเจนจากผู้เป็น ‘หัว’ ของประชาธิปัตย์ จะเริ่มขึ้นโดยพลัน และร้อนแรงในสนามการเมืองแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising