วันเลือกตั้ง

คุยกับ ศุ บุญเลี้ยง เรื่องเพลง ก๊อก ก๊อก ก๊อก ‘ชวนคนไปเลือกตั้ง’ ถึงบริบท ‘คลื่นลูกใหม่’ ที่กำลังซัดสาดสู่ชายหาดการเมืองไทย

22.03.2019
  • LOADING...
ศุ บุญเลี้ยง

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ก๊อก ก๊อก ก๊อก คือเพลงใหม่ล่าสุดของ ศุ บุญเลี้ยง ที่แต่งขึ้นโดยหวังจะสร้างบรรยากาศให้คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้สนใจและตื่นตัวสำหรับการออกไปเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ และถ้าจะว่าไป นี่คือเพลงชวนคนไปเลือกตั้งเพลงเดียวของการเลือกตั้ง 2562 เลยก็คงไม่ผิด
  • เขาแสดงทัศนคติถึงความตั้งใจหนนี้ไว้ว่า “เรามีเสียงเลือกตั้งอยู่แค่เสียงเดียวใช่ไหม คนหนึ่งมีหนึ่งเสียง แต่บางทีเรารู้สึกว่าแค่ไปลงคะแนนเสียง เสียงเดียวมันไม่ ‘แล้วใจ’ มันน่าจะมีเสียงอะไรบางอย่างอีก”
  • เพลงนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลง ประตูใจ ของสาว สาว สาว ที่มีความเป็นค่ากลาง ให้ความรู้สึกถึงความร่าเริง สดใส เข้าถึงมวลชนได้ง่าย

 

ศุ บุญเลี้ยง

 

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะถึงวันเลือกตั้งในอีกไม่กี่วัน THE STANDARD POP ชวน ศุ บุญเลี้ยง มานั่งจิบกาแฟยามบ่าย แรกเริ่มเดิมทีเราหวังจะชวนคุยถึงเพลงใหม่ ก๊อก ก๊อก ก๊อก ที่เขาแต่งขึ้นเพื่อชวนพ่อแม่พี่น้องชาวไทยเดินเข้าคูหาเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี ซึ่งเชื่อว่าหลายคนรอคอยมานาน

 

แต่ก็เพราะบรรยากาศการเมืองช่วงโค้งสุดท้ายอันกำลังร้อนแรงและเต็มไปด้วยกระแสของคนรุ่นใหม่นี้เองได้นำพาให้การพูดคุยลื่นไหลไปสู่ทัศนคติทางสังคมและการเมือง ทั้งนโยบายพรรค เรื่องบทเพลง ‘ปลูกใจ’ แทนที่จะเป็นเพลง ‘ปลุกใจ’ ไปจนถึงคลื่นทางความคิดต่อสังคมระหว่าง ‘คนรุ่นเก่า’ และ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่กำลังเกิดการปะทะกันอย่างน่าสนใจในช่วงการเลือกตั้ง 2562

 

ด้วยเหตุนี้เอง เสียงเคาะ ก๊อก ก๊อก ก๊อก ครั้งล่าสุดจาก ศุ บุญเลี้ยง ในบ่ายวันนั้นจึงไม่ใช่เพียงเสียงของการชวนให้เราอย่าลืมไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่มันยังเป็นเสียงสนทนายามบ่ายที่สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองไทยนั้นอยู่ใกล้ชิดกับเราตั้งแต่ลืมตาตื่นกระทั่งแปรงฟันเข้านอนเลยก็แล้วกัน

 

 

ไม่นานมานี้คุณเพิ่งทำเพลง ก๊อก ก๊อก ก๊อก หวังชวนคนไทย รวมถึงคนรุ่นใหม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2562 ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นเพลงชวนคนไปเลือกตั้งเพลงเดียวของบรรยากาศเลือกตั้งคราวนี้เลยนะ ก่อนแต่งเพลงคุณตั้งใจอะไรไว้บ้าง  

เรามีเสียงเลือกตั้งอยู่แค่เสียงเดียวใช่ไหม คนหนึ่งมีหนึ่งเสียง แต่บางทีเรารู้สึกว่าแค่ไปลงคะแนนเสียงเสียงเดียวมันไม่ ‘แล้วใจ’ มันน่าจะมีเสียงอะไรบางอย่างอีก อย่างเช่นว่าเรานึกถึงเสียงเพลง เรานึกถึงเสียงร้อง หรือถ้าใครนึกอะไรออกที่ทำได้มากกว่านั้นก็น่าจะทำ ถ้านึกออกจากสิ่งที่มันเป็นฐานต้นทุนที่เรามีอยู่แล้ว เดาว่าทำแล้วต้องมีคนอื่นๆ ทำบ้าง แต่เดาผิด (หัวเราะ) ตอนทำเสร็จเราก็รอเหมือนกันนะ มันต้องมีออกมาบ้างสิ คนทำเพลงบ้านเรามันก็น่าจะเยอะนะ หรือเขากลัวอะไรกัน

 

รู้สึกว่าคุณจะได้แรงบันดาลใจมาจากเพลง ประตูใจ ของสาว สาว สาว

ใช่ เป็นความรู้สึกว่าอยากได้ความร่าเริง ไม่ได้คิดว่ามันต้องเป็นแรป เป็นร็อก หรือเป็นอะไร เรารู้สึกว่าสาว สาว สาว มันมีค่ากลางดี มีความร่าเริง สดใส เข้าถึงได้กับมวลชนทั่วไป แล้วมันก็มีเนื้อหาที่พูดถึงว่า

 

ห่างเหินหายคล้ายกับวงดนตรี อยู่ดีๆ ก็หายหน้าหายตา

ก๊อก ก๊อก ก๊อก กลับมาอีกครา ได้เวลาเลือกตั้งครั้งใหม่

 

คืออะไรที่มันเคยมีอยู่ มันหายไปนานๆ แล้วมันก็กลับมา เช่น วงสาว สาว สาว หายไปแล้วกลับมา วงอินคาหายไปแล้วกลับมา หรือแม้แต่วงเฉลียงหายไปก็กลับมา มันก็จะเกิดความรู้สึกในฐานะคนที่ติดตามกลุ่มศิลปินที่เราชอบ เวลาที่หายไปแล้วกลับมาเราก็จะมีความยินดีปรีดา ร่าเริง เราคิดว่ามันอารมณ์นี้แหละ เป็นสัญลักษณ์ เป็นการเปรียบเปรยถึงบรรยากาศการเลือกตั้งที่กำลังกลับมา

 

คนฟังเขาก็จะพูดทำนองว่ามีแซะนิดๆ ก็คงเป็นนิสัยเราด้วย คิดว่าในแง่ตัวเพลงก็ได้ดั่งใจอยู่ แล้วก็ลองทำสองเวอร์ชัน คือให้เด็กผู้หญิงร้อง อีกเวอร์ชันผมร้องเองเป็นสไตล์เรกเก้ แต่ที่คิดไปมากกว่านั้นคือด้วยความเป็นเพลง มันสามารถสร้างเวอร์ชันใหม่ๆ ได้อีกในแง่ของดนตรี เช่น นำเพลงนี้ไปทำเป็นลูกทุ่ง หรือทำเป็นเพื่อชีวิตก็ได้

 

การเมืองเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผลกระทบทางการเมือง เราเป็นนักศึกษากู้ยืม กยศ. พวกนี้มันก็มาจากนโยบายของรัฐ ของนักการเมืองที่เห็นความสำคัญ ฉะนั้นเราต้องการสร้างทัศนคติอีกด้านหนึ่งเพื่อให้คนมีระบบนิเวศทางความคิดในหลายๆ ด้าน

ดูจากมิวสิกวิดีโอที่เลือกใช้เวอร์ชันของสาวๆ คนรุ่นใหม่ เดาว่าน่าจะต้องการให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ด้วยใช่ไหม

ใช่ รู้สึกว่ามันน่าดูกว่า เพราะคนรุ่นใหม่ถูกปลูกฝังความคิดมาว่าการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ การเมืองเป็นเรื่องที่ไม่ควรไปยุ่ง การเมืองเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ผลประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าพูดแบบนั้นแล้วมันผิดนะ มันก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ในมุมของเรา เราคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ การเมืองเป็นเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน การเมืองเป็นเรื่องอนาคตของประเทศ

 

การเมืองเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผลกระทบทางการเมือง เราเป็นนักศึกษากู้ยืม กยศ. พวกนี้มันก็มาจากนโยบายของรัฐ ของนักการเมืองที่เห็นความสำคัญ ฉะนั้นเราต้องการสร้างทัศนคติอีกด้านหนึ่งเพื่อให้คนมีระบบนิเวศทางความคิดในหลายๆ ด้าน

 

จะชอบมากหรือชอบน้อย บางคนก็ไม่ได้ชอบวงการที่เกี่ยวกับบัญชี การเงิน ตัวเลข ดอกเบี้ย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเองต้องใช้เงิน ผมว่ายิ่งไม่ชอบ ยิ่งห่วง บางทีอาจจะยิ่งต้องสนใจในระดับพื้นฐานให้เข้าใจว่าเงินมันมีผลกระทบต่อชีวิตเรายังไง การเมืองก็มีผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างที่ไม่เปิดโอกาสให้เราเลือกหรอกว่าถ้าคุณไม่สนใจแล้วคุณจะไม่ต้องไปยุ่งกับมัน แล้วมันก็จะไม่มายุ่งกับคุณ แต่การเมืองมันไม่ให้สิทธิเราแบบนั้น

 

ความจริงบรรยากาศการเลือกตั้งหรือรวมไปถึงเรื่องการเมือง แค่เดินออกไปหน้าบ้านมันก็เข้ามาเกี่ยวกับชีวิตเราแล้ว

ที่เราเจอมันยังเป็นแค่ที่เห็นด้วยภาพ แต่สิ่งที่เราไม่เห็นอีกล่ะ สิ่งที่มันอยู่ในชีวิตประจำวัน เวลาเรานั่งรถไปแล้วเห็นถนนผุพัง ภาษีรถยนต์ ราคาน้ำมัน ทางด่วน ทางเท้า หรือกระทั่งตำรับตำราที่เราจะเรียน บางทีมันก็มีอิทธิพลทางการเมืองที่ปลูกฝังมาว่าเด็กรุ่นนี้ควรจะเรียนเรื่องอะไร ประวัติศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองทั้งนั้น

 

ยกตัวอย่างให้ง่ายที่สุดเลยก็คือ ‘อากาศ’ ที่เราโดนฝุ่น โดนควัน ส่วนหนึ่งก็มาจากอิทธิพลหรือโครงสร้างทางการเมืองที่มีต่อการบริหารจัดการเมืองแล้วส่งผลให้มีผลต่อสภาพอากาศ ดังนั้นก็อย่าปฏิเสธมันเลย เราควรจะรู้จักหรือไม่ก็มีทัศนคติที่ถูกต้องกับมัน

 

ถ้าทำเพลง ก๊อก ก๊อก ก๊อก เพื่อให้คนรุ่นใหม่สนใจการเมือง อยากออกมาเลือกตั้งเยอะๆ คิดว่าตอนนี้เพลงได้ทำสำเร็จแล้วนะ เพราะกระแสความสนใจของคนรุ่นใหม่ต่อการเลือกตั้งครั้งนี้โดดเด่นมาก

ใช่ๆ รู้สึกอย่างนั้นนะว่าการทำหน้าที่ก่อนเลือกตั้งเนี่ย เราก็ทำไปในศักยภาพที่เราจะทำได้ ทำแล้วคนสนใจประมาณนี้ก็ถือว่าโอเค

 

อย่างที่บอกว่ากระแสความสนใจของคนรุ่นใหม่ต่อการเลือกตั้งครั้งนี้คึกคักมาก ตื่นตัวมาก แต่ขณะเดียวกันถ้าตามข่าวในสังคมการเมือง สิ่งที่น่าสนใจคือเราจะเห็นการปะทะกันทางความคิดระหว่าง ‘คนรุ่นใหม่’ กับ ‘คนรุ่นเก่า’ อยู่พอสมควร คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

ต้องบอกว่าค่อนข้างชอบนะที่คลื่นมันไล่ๆ กันมา เวลาเราไปอยู่ทะเล คลื่นที่มันซัดเข้าหาดเนี่ย จริงๆ มันก็ไม่ถึงกับหายนะ บางลูกมันก็จะม้วนกลับเข้าไปในทะเล

 

ถ้าเปรียบเป็นคลื่นมันก็ดีเหมือนกัน รู้สึกเหมือนมันผสมผสานกัน มันไม่ใช่แยกขาดกันแบบชัดเจน เพราะในขณะที่คนสนใจอะไรใหม่ๆ เขาก็จะต้องฟังความเก่าไปด้วย หรือบางครั้งเขาก็อาจจะเห็นความเก๋าของคนรุ่นเก่า เพราะฉะนั้นคนที่เก่าและเอาต์มันก็จะสลายหายไป

 

แต่คนที่เก๋าเขาก็จะยังคงรักษาความเก๋านี้ไว้ เวลาขึ้นเวที เวลาดีเบต หรือเวลาที่อยู่ในสถานการณ์ที่จำกัด หรือถูกพิธีกรถาม ยั่ว เย้า ลาก ดึง คนที่เก๋าหรือมีประสบการณ์เขาก็จะถ่ายทอดความคิดของเขาในเวลาอันจำกัดได้ดีกว่าคนรุ่นใหม่ที่อาจจะตกหลุมพรางคำพูดของตัวเอง เราก็จะเห็นความคิดเก่าใหม่ผสมผสานกันอยู่ แล้วมันเหมือนเกมกีฬาด้วยนะ หมายความว่าเอ็งก็เก่งของเอ็ง ส่วนอีกคนก็เจ๋งเหมือนกัน แต่พอมาแข่งกันแล้วมันจะมีคนหนึ่งที่แพ้ ส่วนจะแพ้คะแนน แพ้น็อก หรือโดนลูกโทษ สุดท้ายคะแนนมันจะเป็นตัวชี้ผลแพ้ชนะได้ในระดับหนึ่ง หมายถึงคะแนนหลังเลือกตั้งอาจจะทำให้เรายอมรับได้ว่า เฮ้ย คนที่เราคิดว่าแน่ บางทีก็อาจจะยังไม่แน่พอ

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องบอกว่ากรรมการมีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้ผู้เชียร์ยอมรับผลแพ้ชนะนั้นหรือเปล่า อย่างเราไปดูบอล ถ้าทีมที่เชียร์แพ้มันก็เจ็บใจ แต่ยอมรับว่าแพ้ แต่ถ้าเมื่อไรกรรมการไม่แม่นยำหรือมีการตัดสินเข้าข้าง ตรงนี้จะทำให้กองเชียร์เปลี่ยนสภาพกลายเป็นม็อบขึ้นมาทันที คิดว่าตัวแปรน่าจะอยู่ที่กรรมการนะ ถ้ากรรมการไม่แฟร์ขึ้นมาเมื่อไร ทุกอย่างมันจะล้มกระดาน

 

ศุ บุญเลี้ยง

ผมเคยคิดว่ามันมี ‘เพลงปลุกใจ’ กับ ‘เพลงปลูกใจ’ ในวาระที่เราต้องปลุกใจก็เข้าใจได้ จะไปเชียร์กีฬาหรืออยู่ในภาวะที่วิกฤต อันนั้นเราก็ต้องปลุกใจกันหน่อย แต่ถ้าอยู่ดีๆ เด็กมาโรงเรียนตอนเช้า เราเปลี่ยนเป็นเพลงปลูกใจแทนไหม เพลงที่ฟังแล้วจิตใจเรามันงอกงามขึ้น เพลงที่ทำให้คนรู้สึกอยากมาโรงเรียน

คุณคิดว่าบทเรียนอะไรที่คนรุ่นใหม่ซึ่งกำลังตื่นตัวทางการเมืองมากๆ ควรจะเรียนรู้จากคนรุ่นเก่า เช่นกัน เรื่องอะไรที่คนรุ่นเก่าควรเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ก่อนจะตัดสินใจเดินเข้าคูหาเลือกตั้งหรืออยู่กับการเมืองไทยหลังจากนี้

การเมืองไม่ใช่เรื่องของการตัดสินว่าใครดีหรือไม่ดี ต้องเรียนรู้ก่อนว่าการเลือกนักการเมืองไม่ใช่การเลือกสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ การเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่การเลือกพระสังฆราช

 

ไม่ใช่การมาอ้างว่าใครดีกว่าใคร ใครเลวกว่าใคร ใครใหม่กว่าใคร เพราะถ้าเปรียบไป นักการเมืองเป็นตัวแทนของเรา ชุมชนเราเป็นแบบไหน เราก็ต้องการตัวแทนแบบนั้น บางชุมชนต้องการนักเลงไปเป็นตัวแทน บางชุมชนต้องการนักกฎหมาย บางชุมชนต้องการนักคิดรุ่นใหม่ เขาได้รับเลือกมาไม่ได้แปลว่า อ้าว ไอ้นี่ดีกว่า แล้วทำไมถึงไม่เลือกคนดี

 

คนดีมันมีหลายแบบไง เราพูดไม่ได้ว่าคนที่ชอบเล่นการพนันเลวกว่าคนที่ไปวัด เพราะคนที่เข้าไปในวัดเขาอาจจะเข้าไปทำไม่ดีหรือเข้าไปคดโกงก็ได้ ในขณะที่คนเล่นการพนันเขาอาจจะเล่นอย่างไม่ขี้โกงก็ได้ นักการเมืองก็เหมือนกัน เพราะเราต้องยอมรับกติกาก่อนว่าเราเลือกตัวแทน เราไม่ได้คัดคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรม อย่างปีนี้มีพรรคการเมืองหนึ่งอยากส่งเสริมเรื่องกัญชา คุณจะไปบอกว่า โอ้โห นโยบายนี้เลวมากก็ไม่ได้

 

เรายังนึกอยู่ว่าแล้วถ้ามีพรรคไหนส่งเสริมให้มีบ่อนการพนันที่ถูกกฎหมาย ไม่เห็นมีพรรคไหนส่งเสริมเรื่องนี้เลย บางทีในใจเขาอาจจะอยากมีก็ได้ แต่เขาไม่กล้าส่งเสริม เพราะว่าคนไทยอาจยังรู้สึกว่ามันเป็นของที่ไม่ดีมากๆ พูดออกไปแล้วเดี๋ยวจะเสียคะแนน

 

ในการเลือกตั้ง 2562 มีนโยบายของพรรคการเมืองใดที่คุณรู้สึกสนใจเป็นพิเศษบ้างไหม

ไม่เกณฑ์ทหาร มันดูมีความชัดเจนและมีความแตกต่างที่เป็นนโยบาย คือผมไม่ยอมรับนโยบายที่ว่าส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว อย่างนี้มันไม่ใช่นโยบาย มันเป็นหน้าที่ที่คุณต้องทำอยู่แล้วถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาล

 

แต่พอเป็นเรื่องนโยบายมันก็ต้องชัด อย่างหยุดการเกณฑ์ทหาร จะด้วยวิธีใดก็ได้ แต่ให้คุณหาทหารเข้ามารับใช้ชาติให้ได้โดยที่ไม่ต้องไปเกณฑ์ หรืออาจจะมีนโยบายที่บอกว่าไม่ส่งเสริมบอลไทยไปบอลโลกก็ได้ คือการส่งเสริมกีฬาเนี่ย คุณต้องส่งเสริมอยู่แล้วไง แต่นโยบายคือผมจะไม่เอาเงินไปสนับสนุนบอลไทยไปบอลโลกแล้ว แต่ผมจะเอาบอลไทยไปตามหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน แต่ทุกชุมชนจะมีลูกบอล มีโค้ชมาช่วยดูให้ทุกคนได้เล่นบอลกันอย่างสนุกสนาน ถ้านโยบายแบบนี้มันคือความแตกต่าง

 

ศุ บุญเลี้ยง

ถ้า ผบ.ทบ. เสนอเพลงอะไรให้ประชาชนฟังได้ แต่ก็ต้องมีรายการวิทยุที่สามารถเปิดเพลงให้ ผบ.ทบ. ฟังได้บ้าง แค่นี้เอง ผบ.ทบ. ไม่ได้ผิดที่อยากให้คนฟังเพลงที่ท่านเชื่อ แต่มันจะผิดถ้าท่านบังคับแล้วท่านไม่ฟังเพลงอื่น

ทำไมคุณถึงไม่สนับสนุนให้มีการเกณฑ์ทหาร

เพราะมีคนอยากจะเป็นทหารเยอะพออยู่แล้ว ถ้ารัฐจัดสวัสดิการที่ดีให้ทหาร ชีวิตที่ดี ความเป็นอยู่ที่ดี อาวุธที่ดี ผมว่าจะมีคนอยากเป็นทหารเยอะเลย แล้วที่พูดนี่ก็ไม่ได้จะบอกว่าผมถูกนะ เพียงแต่ผมชอบนโยบายแบบนี้ ซึ่งนโยบายที่เราชอบอาจจะผิดก็ได้นะ แต่เราชอบไง (ยิ้ม) เพราะฉะนั้นคนที่มีนโยบายที่ดีกว่า ถูกต้องกว่าก็เสนอมา เช่น อยากให้เป็นทหารตั้งแต่จบชั้นประถมขึ้นมัธยมไปเลย ก็เสนอมาเลยว่ามันดียังไง เราก็มาเถียงกันที่นโยบาย จะได้รู้ว่าใครชอบแบบไหน

 

ไม่สนับสนุนให้มีการเกณฑ์ทหาร เดี๋ยว ผบ.ทบ. เขาก็เปิดเพลง หนักแผ่นดิน ให้ฟังหรอก

จริงๆ ก็ฟังได้นะ (หัวเราะ) คือไม่ต้องโกรธ เพียงแต่ถ้า ผบ.ทบ. เสนอเพลงอะไรให้ประชาชนฟัง ก็ต้องมีรายการวิทยุที่สามารถเปิดเพลงให้ ผบ.ทบ. ฟังได้บ้าง แค่นี้เอง ผบ.ทบ. ไม่ได้ผิดที่อยากให้คนฟังเพลงที่ท่านเชื่อ แต่มันจะผิดถ้าท่านบังคับแล้วท่านไม่ฟังเพลงอื่น

 

ในฐานะที่เราพูดคุยกันเรื่องเพลง เราก็ควรจะพูดว่าเพลงมันมีนัยแล้วก็บริบทในการใช้ ถ้าเราจะเปรียบให้ง่ายก็คือเพลงที่ร้องว่า “อยุธยา เมืองเก่าของเราแต่ก่อน…” มันไม่ได้เป็นเพลงส่งเสริมการท่องเที่ยวอยุธยา แม้จะพูดถึงอยุธยา แต่มันอาจจะพูดถึงความเจ็บใจที่เรามีต่อการถูกทำลาย สูญเสียกรุง

 

ทีนี้ถ้าเราไปใช้เป็นนัยที่ทำให้เกลียดเพื่อนบ้าน มันจะมีผลดีได้ยังไง หรือเพลง หนักแผ่นดิน ถ้าเราไปใช้เป็นนัยที่ทำให้เกลียดคนที่คิดต่าง นัยอันนั้นที่ถูกเอามาใช้ก็เป็นนัยที่ไม่ดี

 

หรือเราไปเปิดเพลง เธอปันใจ ตอนที่เลิกกับแฟนมันก็ไม่ดีหรือเปล่า คือปกติเราก็ฟังเพลง เธอปันใจ เราไปดูคอนเสิร์ตอัสนี-วสันต์ด้วยกัน มันก็เพราะ มันก็ซึ้ง แล้วพอวันหนึ่งแฟนเราบอกว่าขอเลิกนะ เออ งั้นมึงไปฟังเพลง เธอปันใจ มันก็จะเกิดนัยของการเหยียดหยาม ผมว่ามันอยู่ที่จุดประสงค์ในนาทีที่เรานำเพลงนั้นๆ มาใช้

 

เช่นเดียวกัน อย่างผมจะทำเพลงเลือกตั้ง ผมก็ควรจะใช้มันในสถานการณ์ก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าหลังเลือกตั้ง พอได้พรรคที่ผมไม่ชอบแล้วผมก็แต่งเพลงว่ามาเลือกต้ังกันไหม อ้าว ก็เขาเพิ่งเลือกตั้งกันไป ถ้าแบบนั้นมันก็จะสะท้อนให้เห็นว่าเราเป็นคนแบบไหน

 

ว่ากันตามจริง บทเพลงมันอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ในทุกบริบทเลยนะ แล้วหนึ่งในนั้นเพลงก็ถูกนำไปใช้ในบริบททางสังคมการเมืองและการเลือกตั้งด้วยเหมือนกัน

ไม่ใช่ว่าเพลงต้องอยู่กับการเมือง แต่เพลงอยู่กับเราทุกที่ เกิดก็มีเพลง ตายก็มีเพลง เพราะฉะนั้นเวลามีคนบอกว่าวงการเพลงตาย จริงๆ เพลงไม่ได้ตาย ธุรกิจซีดีอาจจะตาย แต่ตัวเพลงไม่ตาย การท่องเที่ยวก็ใช้เพลง ไม่ใช่การเมืองอย่างเดียวที่ต้องใช้เพลง แต่การเมืองยิ่งใช้เพลงมันก็ยิ่งดีนะ ยิ่งมีสีสัน

 

ถ้าอย่างนั้นคิดว่าเพลงแบบไหนที่เหมาะกับบรรยากาศการเมืองในปีนี้

ก็เพลง ก๊อก ก๊อก ก๊อก นี่แหละครับ (หัวเราะ) ที่ผมบอกว่าเพลงนี้เพราะ ผมยังไม่เห็นเพลงอื่นไง ก็ไม่ได้จะบอกว่าเพลงของตัวเองต้องดีกว่าคนอื่นหรอกนะ ผมเชื่อศักยภาพของศิลปินไทยหลายๆ คนว่าเขามีความสามารถมากกว่าผมเยอะ ว่ากันจริงๆ แล้วเพลงที่ผมทำมันยังไม่ไวรัลนะ ถ้าคนอื่นทำมันอาจจะดีกว่านี้ ไวรัลกว่านี้ก็ได้ เพียงแต่ผมยังไม่เห็นเขาทำ เขาก็อาจจะมีหน้าที่ทำอย่างอื่นอยู่แค่นั้นเอง

 

ศุ บุญเลี้ยง

“เพลงหลังเลือกตั้งก็อาจจะต้องปลุกใจให้ประชาชนตรวจสอบ แล้วก็แสดงเสียงที่เหลืออยู่หลังการกากบาท ยังมีเสียงอีกหลายเสียง ไม่ได้แปลว่าผมปลุกม็อบหรือว่าผมชอบการมีม็อบนะ แต่ผมชอบให้คนส่งเสียงออกมาว่ารู้สึกยังไง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย”

เพลง ก๊อก ก๊อก ก๊อก แต่งเพื่อจะชวนคนออกไปเลือกตั้งซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว ขอมองไกลกว่านั้นโดยอยากให้คุณลองคิดเพลงคอนเซปต์หลังเลือกตั้งดูหน่อย คิดแบบเร็วๆ ตอนนี้เลยว่ามีประเด็นอะไรน่าสนใจบ้าง

ผมอาจจะลุกขึ้นมาทำเพลงปลุกใจบ้างก็ได้นะ คือก่อนจะพูดถึงเพลงต้องพูดถึงพื้นนิดหนึ่งก่อนว่า การเลือกตั้งไม่ได้แปลว่าพอผลเลือกตั้งออกมาแล้วเราจะต้องยอมรับแบบศิโรราบนะ

 

เราต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่ถ้าคนที่เราเลือกไปหรือคนที่เขาชนะเลือกตั้งประพฤติตัวไม่ดี ไม่ทำตามนโยบายที่เคยบอกไว้ ก็ไม่ได้แปลว่าผมจะต้องทนรอความหายนะ

 

เพราะฉะนั้นเพลงหลังเลือกตั้งก็อาจจะต้องปลุกใจให้ประชาชนตรวจสอบแล้วก็แสดงเสียงที่เหลืออยู่หลังการกากบาท ยังมีเสียงอีกหลายเสียง ไม่ได้แปลว่าผมปลุกม็อบหรือว่าผมชอบการมีม็อบนะ แต่ผมชอบให้คนส่งเสียงออกมาว่ารู้สึกยังไง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือว่าอยากได้อะไร ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งแล้วให้ผมกลับไปนอนเฉยๆ ครบ 4 ปีแล้วค่อยว่ากัน ผมไม่อยู่เงียบๆ แน่ๆ แต่ก็ต้องดูท่าทีก่อนว่าบรรยากาศมันเหมาะจะทำเป็นเพลงเต้น เพลงรำวง หรือว่าเป็นเพลงแรป

 

อย่างที่ทราบว่าอีกไม่กี่วันประชาชนคนไทยจะได้เลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี ถึงเวลานี้เรื่องอะไรที่คุณอยากเห็นมันเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งมากที่สุด

ผมอยากเห็นการไม่ผูกขาด สังคมไทยเข้าใจอยู่แหละว่ามันต้องมีเรื่องของสัมปทาน เรื่องของโควตา เรื่องของการจำกัด แต่ไอ้สัมปทานเหล่านั้นมันควรจะต้องถูกเอามาคลี่ว่าใครควรจะได้สัมปทานอันไหน แล้วก็ได้ผลประโยชน์คืนกับรัฐมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่การผูกขาดในเชิงธุรกิจ นี่แหละคือสิ่งที่ผมอยากเห็น คิดว่าอันนี้น่าจะทำได้ง่ายที่สุด เพราะมันมีตัวเลข มีตัวยี่ห้อ ตัวหน่วยงานอยู่

 

นโยบายอื่นๆ บางทีมันจับต้องลำบาก ถ้าพูดถึงความมั่นคงก็ไม่รู้อันไหนมั่นคงมากหรือมั่นคงน้อย แต่ถ้าบอกว่ากำไรที่บริษัทหนึ่งได้สัมปทานเข้ารัฐกับค้าขายเนี่ยมันเห็นได้ แต่ถ้าอยากได้นโยบายที่ใหม่จริงๆ อันนั้นก็ต้องรอการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising