วันเลือกตั้ง

เลือกตั้ง 2562 ประชาธิปัตย์ ถอดบทเรียนจากเพื่อไทย เดิมพันครั้งสุดท้ายของ ‘อภิสิทธิ์’

22.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • เลือกตั้ง 2562 ‘อภิสิทธิ์’ เดิมพันด้วยตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยประกาศว่าหากได้ ส.ส. ต่ำกว่า 100 ที่นั่ง นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายของเขาหลังเคยถอดใจเมื่อปี 2554
  • กรณ์ จาติกวณิช ยอมรับว่า ถอดจุดแข็งของพรรคคู่แข่งในการสื่อสารนโยบายที่จำได้-เข้าถึงง่ายมาปรับใช้
  • ระหว่างทหารยึดอำนาจเกือบ 5 ปี ประชาธิปัตย์ทดลองทำนโยบายหลายอย่าง พวกเขามั่นใจว่าเลือกตั้งครั้งนี้พร้อมกว่าทุกครั้ง

 

ชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ในสนามเลือกตั้ง ต้องย้อนไปไกลถึงการเลือกตั้งเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 ภายใต้การนำของ ‘ชวน หลีกภัย’ กวาด ส.ส. ได้ 79 ที่นั่ง เฉือนชนะพรรคชาติไทยที่ได้ 76 ที่นั่งไปเพียง 3 คน หลังจากนั้นเป็นเวลามากกว่า 20 ปี พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งทั่วไปได้เลย

 

 

ประชาธิปัตย์ในสนามเลือกตั้งภายใต้การนำทัพของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ประเดิมด้วยการบอยคอตการเลือกตั้ง พ.ศ. 2549 และพ่ายแพ้ต่อพรรคเครือข่าย ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ทั้งพรรคพลังประชาชน ปี พ.ศ. 2550 และพรรคเพื่อไทย ปี พ.ศ. 2554 ที่ส่งให้ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย

 

 

กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค และเพื่อนรักของอภิสิทธิ์ ผู้ยืนเคียงข้างในวันที่ต้องแสดงสปิริตยอมรับความพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 เล่าให้เราฟังว่า

 

“ตอนปี 2554 ที่แพ้คุณยิ่งลักษณ์ คุณอภิสิทธิ์ได้ลงมาแสดงความยินดีกับคุณยิ่งลักษณ์ ผมจำได้ ผมยืนอยู่เคียงข้างท่านคืนนั้น หลังจากนั้นก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แล้วก็หายไปเลย ไม่มีใครติดต่อได้

 

“ในความคิดของคุณอภิสิทธิ์เองไม่ได้ตั้งใจจะกลับมา พวกเราไปตามตัวให้คุณอภิสิทธิ์กลับมา แล้วคุณอภิสิทธิ์พูดกับผมตอนนั้นว่า

 

“เฮ้ย กรณ์ มันถึงเวลาที่มีหลายเรื่องที่เราต้องเปลี่ยน แต่คุณก็รู้ ผมก็รู้ ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็แล้วแต่ คนอาจจะไม่เชื่อ ถ้าหัวหน้าพรรคไม่เปลี่ยน ซึ่งคือข้อจำกัดที่คุณอภิสิทธิ์เองมองเห็นในการกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคในครั้งนั้น”

 

 

กรณ์สะท้อนว่า ในหลายๆ เรื่องเราไม่ใช่มองไม่เห็น แต่เราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดด้วยข้อจำกัดที่มีในแต่ละสถานการณ์

 

เลือกตั้ง 2562 เดิมพันครั้งสุดท้ายของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์

แม้อภิสิทธ์จะไม่เคยชนะในสนามเลือกตั้ง แต่เขาประสบความสำเร็จในเกมการเมืองผ่านระบบรัฐสภา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2551

 

“หมดเวลาเกรงใจใคร” คือคำประกาศของอภิสิทธิ์เมื่อครั้งลงชิงชัยคว้าตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สมัยที่ 5

 

กรณ์บอกกับเราว่า “หมดเวลาที่จะเกรงใจใคร” คือประโยคที่อภิสิทธิ์พูดกับเขาเป็นการส่วนตัวก่อนที่จะประกาศต่อสาธารณะ

 

“มันสื่อให้เห็นว่ามีหลายอย่างที่ท่านเรียนรู้จากการเป็นนายกฯ เที่ยวที่แล้ว ซึ่งถ้ามีโอกาสอีกครั้งหนึ่งจะไม่ทำซ้ำแบบเดิม ครั้งนี้มีหลายเรื่องที่อยากจะทำให้กับสังคม ให้กับประเทศ และคงไม่ใช่เวลาที่จะมาเกรงใจใคร” กรณ์ขยายข้อความจากใจเพื่อนรัก

 

 

กรณ์พูดต่อว่า “คุณอภิสิทธิ์แถลงออกมาว่า ถ้าได้ (ส.ส.) ไม่ครบ 100 จะลาออก มันสะท้อนให้เห็นว่าอันนี้คือรอบสุดท้าย

 

“ถ้าได้ (ส.ส.) ไม่ถึง 100 ลาออก ก็เป็นสัญญาประชาคมไปแล้ว พูดไปแล้วยังไงก็ต้องทำ แต่ผมเชื่อว่ายังไงก็เกิน 100 แน่เที่ยวนี้

 

“แต่สมมติคุณอภิสิทธิ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ ผมก็จะไม่แปลกใจว่าครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ ก็คือท่านเองก็พูดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554”

 

การเลือกตั้ง 2562 อาจเป็นการเดิมพันครั้งสุดท้ายของอภิสิทธิ์ ด้วยตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังนั่งเป็นประมุขพรรคสีฟ้ามายาวนานตั้งแต่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2548 ต่อจาก บัญญัติ บรรทัดฐาน

 

ใช้เวลาเกือบ 5 ปีทดลองนโยบายระหว่างทหารยึดอำนาจ

กรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ บอกกับเราว่า ในระหว่างที่ทหารปกครองประเทศเกือบ 5 ปี ประชาธิปัตย์ใช้โอกาสทดลองนโยบายที่ตั้งใจจะทำ เพราะรู้ว่าถึงอย่างไรการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้น จากนั้นเขาใช้โอกาสฉายภาพให้เราได้เห็นเป็นรูปธรรมว่า เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ทดลองทำอะไร

 

 

ถ้ามีพรวิเศษให้เลือกเปลี่ยนประเทศแค่เรื่องเดียว กรณ์ขอเลือกให้ตื่นมาวันพรุ่งนี้คนไทยทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้

 

“ลองหลับตานึกภาพดูว่า ถ้าตื่นมาวันพรุ่งนี้คนไทยทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ ถามว่าประเทศเปลี่ยนไหม เปลี่ยนแน่นอน ในแง่ของโอกาสของคนไทยทุกคนที่จะมีในระบบเศรษฐกิจของโลก และการเข้าถึงข้อมูล”

 

 

กรณ์เล่าว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และมานั่งคิดดูว่าวิธีการที่จะทำให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ต้องทำอย่างไร

 

เราก็ไปดูที่สิงคโปร์และหลายๆ ที่ กลับมาประยุกต์ใช้ที่โรงเรียนที่พิษณุโลกแห่งหนึ่ง ทำมาตั้ง 5 ปีแล้ว และประสบความสำเร็จ

 

ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าอะไรเวิร์ก อะไรไม่เวิร์ก และออกมาเป็นรูปของนโยบายคิดคำนวณอย่างละเอียดได้ว่าต้องใช้เงินเท่าไรกับโครงการนี้

 

ชาวนาผลิตข้าวอร่อยที่สุดในโลก แต่ยังจนที่สุดในประเทศ

กรณ์เปรยว่า คนญี่ปุ่นเวลาผลิตอะไรที่ดีที่สุดของโลกแล้วทำไมเขาร่ำรวย แต่ทำไมคนไทยผลิตสินค้าที่ดีที่สุดในโลกแต่ยังยากจนที่สุดในประเทศได้

 

คำถามนี้เขาถอดบทเรียนจากการได้ลงไปทำกับชาวนากลุ่มหนึ่ง โจทย์ตอนนั้นคือทำอย่างไรที่จะให้ชาวนากลุ่มหนึ่งที่ปลูกข้าวที่อร่อยที่สุดในโลกพ้นจากสภาพความยากจนได้

 

เราก็เลยมีแนวความคิดว่าจะทำให้ราคาที่เขาได้มีความเป็นพรีเมียมเทียบเท่ากับความเป็นพรีเมียมของสินค้าเขา

 

วิเคราะห์ปัญหาออกมาพบว่า ปัญหาคือเรื่องการเข้าถึงตลาด และการรับรู้มาตรฐานคุณภาพสินค้าในสายตาผู้บริโภค

 

ทั้งหมดทั้งมวลเกิดเป็น ‘โครงการข้าวอิ่ม’ ขึ้นมา แล้วก็เป็นคำอธิบายให้ประชาธิปัตย์มั่นใจในระดับหนึ่งว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และต้องทำอย่างไร

 

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบน้ำของเกษตกร เราไปดูที่อิสราเอล ไปดูว่าเขาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของเขาอย่างไร ทำไมเราถึงทำไม่ได้ทั้งที่ต้นทุนน้ำเรามีมากกว่าเขาเป็น 10 เท่า

 

สิ่งเหล่านั้นก็นำมาประยุกต์ใช้ออกแบบในรูปของ ‘นโยบายกองทุนน้ำ’ และการกระจายอำนาจการบริการจัดการเรื่องน้ำออกจากกระทรวงเกษตรฯ ไปสู่ชุมชนโดยตรง

 

 

เหล่านี้คือตัวอย่างในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาว่าเราได้ทำอะไรบ้าง รวมถึงเรื่องเทคโนโลยี เรื่องสตาร์ทอัพ กรณ์ได้มีโอกาสออกมาเรียนรู้ คลุกคลีกับผู้ที่อยู่ในวงการ ออกมาเป็นนโยบาย Gov-Tech ซึ่งจะเชื่อมโยงสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาต่างๆ ผ่านกลไกระบบราชการ

 

ถอดบทเรียนจากเพื่อไทย ทำนโยบายให้เป็นภาพจำ

กรณ์ยอมรับว่าการเมืองไทยคือการแข่งขัน ต้องรู้เขารู้เรา และจะคิดอะไรโดยไม่คิดเผื่อว่ายุทธศาสตร์คู่แข่งปรับเปลี่ยนอย่างไรคงเป็นไปไม่ได้

 

แต่สิ่งที่เขาสังเกตคือ ยุครุ่งเรืองของพรรคคู่แข่งคือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว พูดตามตรงคือยุคพรรคไทยรักไทย ซึ่งเขาชื่นชมว่าเป็นการรวมคนเก่ง นักคิด และผลิตนโยบายหลายเรื่องที่ทำให้ยังกินบุญเก่าได้จนถึงทุกวันนี้

 

 

กรณ์กล่าวต่อว่า แต่ถ้าดูนโยบายชุดล่าสุดของพรรคเพื่อไทย ถ้าถามผม ผมว่าห่วยแตก นี่พูดกันตามตรง

 

มีเรื่องอะไรบ้าง เช่น จำนำข้าว ไม่ต้องขยายความในแง่ความเสียหาย

 

รถคันแรก อันนี้คือนโยบายที่ไม่ได้ช่วยทำให้สังคมพัฒนาไปในทิศทางที่ดีและมีผลข้างเคียงในทางลบ

 

เรื่องแท็บเล็ต นี่คือนโยบายหลักทางด้านการศึกษาของรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งมันก็ไม่ได้ส่งผลกับใคร และตอนนี้ก็กลายเป็นขยะ

 

กรณ์มองว่า เรามีหลายเรื่องที่เรียนรู้ได้จากฝั่งคู่แข่ง เราเรียนรู้ได้จากวิธีการคลอดนโยบายในรัฐบาลไทยรักไทยสมัยก่อตั้ง ในขณะเดียวกันเราก็เรียนรู้ข้อบกพร่อง-ผิดพลาดของนโยบายชุดล่าสุด

 

“มันก็มีบางเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเขาทำได้ดีกว่าเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว (2554) วิธีการนำเสนอของเขามีความชัดเจนอย่างต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุให้คนจำนโยบายเขาได้มากกว่าของเรา

 

“เรียนฟรี นมฟรี เบี้ยผู้สูงอายุ จริงๆ เป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นบทเรียนให้กับเรา เพราะฉะนั้นเที่ยวนี้จะเห็นว่าเรานำเสนอนโยบายของเรา มีการนำเสนอในเชิงยุทธศาสตร์มากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ตัวนโยบาย ทั้งในแง่วิธีการนำเสนอ ทั้งในแง่ของข้อมูลและรายละเอียด รอบนี้ผมมองว่าเรามีการก้าวหน้าไปกว่ากระบวนการในอดีตของเราค่อนข้างมาก”

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising