วันเลือกตั้ง

เปิดขุมกำลัง 9 พรรค ตัวละครหลักศึกเลือกตั้ง 62

โดย THE STANDARD TEAM
18.02.2019
  • LOADING...

ถ้าการเลือกตั้ง 2562 คือโรงละครฉากใหญ่ บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายก็คือตัวละครสำคัญที่ได้รับบทบาทแตกต่างกันไปตามจุดยืนและที่มาที่ไปที่ไม่เหมือนกัน

 

ก่อนเข้าคูหา 24 มีนาคมนี้ เว็บไซต์คู่มือเลือกตั้ง 2562 thestandard.co/thailandelection2019/ โดย THE STANDARD ขอแนะนำตัวละครหลักในการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศไทย

 

ใครเป็นซูเปอร์สตาร์ตัวจริงของพรรค แต่ละพรรคมีที่มาที่ไปอย่างไร และที่สำคัญพวกเขามีนโยบายอย่างไรที่จะกำหนดอนาคตประเทศไทยนับจากวันที่ได้เก้าอี้ในสภา

 

อ่านเต็มๆ ได้ที่ thestandard.co/thailandelection2019party

 

 

พรรคพลังประชารัฐ

หนึ่งในพรรคที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมีที่มาจากกลุ่มไทยรักไทยเดิม ผสมผสานกับกลุ่มแกนนำ กปปส. และ 4 อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. โดยมีจุดขายสำคัญคือการชู พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วงชิงตำแหน่งอีกสมัย

 

โดยกลุ่มสามมิตร ประกอบด้วย 2 ส. ได้แก่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ส่วนอีก 1 ส. ที่คอยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังคือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช.

 

ขณะที่แกนนำ กปปส. คือสามทหารเสือ กปปส. ได้แก่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช., นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค

 

ส่วน 4 อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค

 

ด้วยขุมกำลังทั้งหมดนี้ บวกกับการเริ่มต้นดูดนักการเมืองระดับอดีต ส.ส.จากพรรคต่างๆ ไปได้เป็นจำนวนมาก พวกเขาจึงตั้งเป้าใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าต้องกวาดเก้าอี้ ส.ส. ได้อย่างน้อย 150 ที่นั่ง

 

 

พรรคเพื่อไทย

แม้จะเคยเป็นพรรคที่ถูกรัฐประหารถึง 2 ครั้งซ้อนในปี 2549 ยุคไทยรักไทย และปี 2557 ยุคเพื่อไทย แต่พรรคการเมืองที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรกของไทยคือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็พร้อมกลับมาสู้ศึกเลือกตั้งอีกครั้ง โดยเปลี่ยน ‘หัว’ คนใหม่ หลังจากหัวหน้าพรรคคนเก่าต้องคดีหลบหนีไปต่างประเทศ

 

จุดกำเนิดของพรรคเพื่อไทยมาจากไทยรักไทยในอดีต ต่อเนื่องมาถึงพรรคพลังประชาชน ซึ่งต่อมาทั้งสองพรรคตั้งต้นถูกตัดสินให้ยุบพรรค ก่อนจะกลายร่างมาเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

 

ด้วยกติกาเลือกตั้งใหม่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเปิดกลยุทธ์แตกแบงก์พัน โดยแกนนำหลายคนที่เคยอยู่ร่วมพรรคจำต้องแยกออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยมีจุดขายอยู่ที่ฐานรากของความเป็นไทยรักไทย

 

แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยประกอบไปด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่รับหน้าที่อีกบทบาทเป็นประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรค ร่วมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์เช่นกัน

 

 

พรรคประชาธิปัตย์

พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของไทยที่มีจุดกำเนิดย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2489 มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว 7 คน โดยในจำนวนนี้มีถึง 4 คนที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, นายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

แม้จะมากประสบการณ์และโชกโชนทางการเมือง แต่หากย้อนดูสถิติว่าด้วยการเลือกตั้งทั่วไปของพรรคการเมืองนี้กลับพบว่าไม่สวยงามสดใสเท่าไรนัก

 

พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดคือการเลือกตั้งในเดือนกันยายน 2535 โดยพรรคประชาธิปัตย์ที่มี นายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าได้ 79 ที่นั่ง เฉือนชนะพรรคชาติไทยที่ได้ 76 ที่นั่งไปเพียง 3 คน หลังจากนั้นเป็นเวลามากกว่า 20 ปี พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งทั่วไปได้เลย

 

แต่ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง พวกเขาประสบความสำเร็จในเกมการเมืองผ่านระบบรัฐสภา โดยนายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในปี 2540 และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2551

 

เลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังคงชูนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเช่นเคย ต้องจับตาดูว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาจะคว้าที่นั่งในสภาได้เท่าไร หลังส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครบทั้ง 350 เขต และส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อครบ 150 คน แน่นอนว่าความหวังต้องสูงตามจำนวนผู้สมัครที่จัดเต็ม

 

 

พรรคไทยรักษาชาติ

กลายเป็นพรรคที่สร้างกระแสร้อนแรงทางการเมืองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างมาก หลังปล่อยบิ๊กเซอร์ไพรส์ เสนอพระนาม ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล’ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมีพระราชโองการออกมาในค่ำคืนเดียวกัน และเป็นที่มาที่ทำให้ กกต. มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา โดยนัดพิจารณาครั้งต่อไปในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งทำให้ชะตากรรมของพรรคไทยรักษาชาติยังคงคลุมเครือตั้งแต่ยังไม่เปิดหีบเลือกตั้ง

 

พรรคไทยรักษาชาติก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2561 หากย้อนกลับไปดูประวัติการก่อตั้งจะพบว่าพรรคไทยรักษาชาติไม่ใช่พรรคใหม่เอี่ยมอ่อง แต่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในชื่อพรรครัฐไทย ที่ต่อมาเปลี่ยนแปลงชื่อจากพรรครัฐไทยเป็นพรรคไทยรวมพลัง และเปลี่ยนมาเป็นไทยรักษาชาติในปัจจุบัน

 

พรรคไทยรักษาชาติมี ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส. ขอนแก่น ลูกชายของ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช อดีต ส.ว. ขอนแก่น เป็นหัวหน้าพรรค ถูกเรียกกันในแวดวงการเมืองว่าเป็นพรรคเครือข่าย-พรรคพันธมิตรหลักของพรรคเพื่อไทย สนองยุทธศาสตร์ ‘แตกแบงก์พัน’ หลังจากต้องเข้าสู้กติกาแข่งขันภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่ทำให้พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยอ่อนแอสุ่มเสี่ยงไม่ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์

 

พรรคไทยรักษาชาติยังถูกขนานนามว่าเป็นพรรคน้อง เพราะมีคนใกล้ชิดของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้น้องที่ชื่อยิ่งลักษณ์เข้าไปบริหารจัดการหลายคน ชื่อย่อพรรค ‘ทษช.’ ชื่อนโยบายล้วนมีจุดที่ละม้ายคล้ายจะยึดโยงไปที่ตัวบุคคล เช่น เทคซิโนมิกส์ เปิดตัวด้วยการชูจุดขายว่ามีรากมาจากต้นกำเนิดไทยรักไทย

 

พรรคอนาคตใหม่

 

พรรคอนาคตใหม่

ตัวละครใหม่สำหรับการเลือกตั้ง 2562 ที่นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือพ่อของฟ้า อดีตรองประธานบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท และ รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

จากจุดเริ่มต้นที่มองไม่เห็นว่าจะมีพรรคการเมืองใดในเวลานั้นที่จะสามารถตอบสนองความคาดหวังต่ออนาคตสังคมไทยได้ ทำให้พวกเขารวบรวมคนหลากหลายกลุ่มเข้ามาร่วมกันทำพรรคการเมือง

 

เป็นเวลาเกือบ 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่มีการยื่นจดแจ้งชื่อจัดตั้งพรรคและได้สถานะพรรคการเมืองในวันที่ 3 ตุลาคม 2561 มุ่งทำพรรคการเมืองแบบใหม่ที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคไม่จำเป็นต้องพึ่งพานายทุน แต่ผู้สมัครเป็นคนธรรมดาที่เป็นตัวแทนของทุกคนในสังคม และการหาเงินระดมทุนทำการเมืองมาจากการขายของและการเปิดรับค่าบำรุงสมาชิกพรรค

 

ที่ผ่านมานายธนาธรถูกกล่าวหาในทางการเมืองหลายข้อหา รวมถึงมีกระแสข่าวถึงการบริหารจัดการภายใน และการเป็นคนหน้าใหม่ที่ไม่มีฐานเสียงในพื้นที่ต่างๆ แต่เขาก็เดินหน้าที่จะทำการเมืองด้วยอุดมการณ์ ส่งผู้สมัครให้มากที่สุด คว้าทุกคะแนนเสียง ไปทุกพื้นที่ เพื่อนำประเทศไทยออกจากความขัดแย้งนับทศวรรษ มีนโยบายที่ชัดเจน ไม่เอารัฐประหาร และไม่ร่วมทุกอณูของเผด็จการ

 

 

พรรคภูมิใจไทย

พรรคภูมิใจไทยกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 พร้อมกับชื่อของ นายพิพัฒน์ พรมวราภรณ์ ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายมงคล ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ต่อมาเมื่อเกิดปรากฏการณ์ ‘แยกทาง’ หลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ อดีต ส.ส. พรรคพลังประชาชนในกลุ่ม ‘เพื่อนเนวิน’ แยกออกมาสังกัดพรรคนี้ ก่อนที่จะร่วมโหวตให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งค่ายสีฟ้าประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551

 

การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นถูกกล่าวอ้างว่ามีการเจรจากันในค่ายทหาร โดยมีกลุ่มเพื่อนเนวินที่ย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทยพร้อมๆ กับกลุ่ม ‘มัชฌิมา’ ของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งเวลานี้ไปเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐเป็นหัวหอกคนสำคัญในดีลลับนี้

 

จากนั้น นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดาของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ครั้งนั้นมีการแถลงข่าวเปิดตัวและแถลงนโยบายที่โรงแรมสยามซิตี้

 

พรรคภูมิใจไทยปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รับไม้ต่อเป็นหัวหน้าพรรคเข้าสู่ปีที่ 6 แนวคิดหลักของพรรคได้เปลี่ยนจาก ‘ประชานิยม สังคมมีสุข’ มาสู่ ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’ ประกาศส่ง ส.ส. เขตครบ 350 เขต และบัญชีรายชื่อครบ 150 คน กลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่ถูกจับตามองในฐานะ ‘พรรคตัวแปร’ สำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย

 

 

พรรคเสรีรวมไทย

พรรคเสรีรวมไทยจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2556 จากนั้นคณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรกได้ลาออก และพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามานำพรรค

 

พรรคเสรีรวมไทยมีจุดขายสำคัญคือหัวหน้าพรรค พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ ซึ่งมีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์ทหารและ คสช. อย่างเผ็ดร้อน และได้รับความนิยมในโซเชียลมีเดีย

 

นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อ นายวัชรา ณ วังขนาย รองประธานกรรมการกลุ่มวังขนาย ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งนายทุนน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศผู้นี้เคยเป็นอดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย

 

พรรคเสรีรวมไทยจัดว่าเป็นพรรคม้านอกสายตา แต่สามารถแย่งชิงพื้นที่สื่อมวลชนได้พอสมควรจากลีลาของหัวหน้าพรรคที่เปิดหน้าท้าชน คสช. อย่างแรงแซงหน้าหลายๆ พรรคที่ถูกมองว่าอยู่ตรงข้ามกับ คสช.

 

 

พรรคชาติไทยพัฒนา

พรรคชาติไทยพัฒนาคือร่างอวตารของพรรคชาติไทย หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเมื่อปี 2551

 

สำหรับพรรคชาติไทยเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่ก่อตั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีฐานที่มั่นคือพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ถิ่นที่อยู่ของ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ และเป็นพรรคการเมืองที่มักได้ร่วมเป็นรัฐบาล โดยอาศัยจำนวน ส.ส. ในพื้นที่ฐานเสียง จนได้รับฉายา ‘พรรคปลาไหล’ มาหลายยุคสมัย

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา บุตรสาวคนโตของนายบรรหาร ถูกเลือกขึ้นเป็นแม่ทัพนำชาติไทยพัฒนาสู้ศึกเลือกตั้ง

 

พรรคชาติไทยพัฒนาส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 67 คน ส่วนการสมัครแบบแบ่งเขต ตั้งใจส่งสมัครมากกว่า 300 เขต และเป็นครั้งแรกที่ส่งสมัครในกรุงเทพฯ ครบ 30 เขตเต็มพื้นที่

 

 

พรรครวมพลังประชาชาติไทย

พรรครวมพลังประชาชาติไทยคือการต่อสู้ภาคต่อของกลุ่ม กปปส. คือคำพูดของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรค

 

การกลับมาก่อตั้งพรรคการเมืองสู้ในระบบอีกครั้งกลายเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของนายสุเทพ เพราะเปิดช่องให้คนชี้หน้าได้ว่า ‘ตระบัดสัตย์’ เพราะเคยประกาศหันหลังให้การเมืองเมื่อครั้งนำม็อบ กปปส. ปิดเมืองล้มรัฐบาล

 

ระหว่างทางปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน ซึ่งเป็นแคมเปญใหญ่ของพรรคในการลงพื้นที่พบปะประชาชน ปรากฏข่าวนายสุเทพถูกต่อต้านและต่อว่าหลายครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ปรากฏกลุ่ม กปปส. มาแสดงตัวให้กำลังใจ

 

พรรครวมพลังประชาชาติไทยมีหัวหน้าพรรคคือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แกนนำสำคัญอีกคนคือ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักรัฐศาสตร์ชื่อดังเจ้าของทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย และอดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคมหาชน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้ ส.ส. เพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น เมื่อครั้งเลือกตั้งในปี 2548

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรครวมพลังประชาชาติไทยประเมินตัวเองว่าจะได้รับคะแนนเสียงรวมกันไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านคะแนน กวาด ส.ส. ในสภาอย่างน้อย 50 คน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising