วันเลือกตั้ง

แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เตรียมหย่อนบัตรปี 62 ส.ส. ลด 23 จังหวัด อีสานหด 10 ที่นั่ง

19.09.2018
  • LOADING...

วันนี้ (19 ก.ย.) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวน 350 คน แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส. 1 คน จังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. ได้ไม่เกิน 1 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. ได้เกิน 1 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวนเท่ากับจำนวน ส.ส. ที่พึงจะมี

 

ทั้งนี้ ใช้จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 60 ซึ่งมีจำนวน 66,188,503 คน เป็นฐานในการแบ่งเขตเลือกตั้ง

 

โดยจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 189,110 คน ต่อ ส.ส. 1 คน หมายความว่า จังหวัดใดมี ส.ส. 1 คน ก็นับจังหวัดนั้นทั้งจังหวัดเป็น 1 เขตเลือกตั้ง

 

ส่วนจังหวัดใดมี ส.ส. มากกว่า 1 คน ให้แบ่งจังหวัดนั้นเป็นหลายเขตเลือกตั้งตามจำนวน ส.ส. เช่น กรุงเทพฯ มี ส.ส. ได้ 30 คน ก็แบ่งกรุงเทพฯ ออกเป็น 30 เขตเลือกตั้ง เป็นต้น

 

สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่นี้ ได้เปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส. ลดลง เมื่อเทียบกับปี 2557 ทั้งสิ้น 23 จังหวัด ประกอบด้วย

กรุงเทพมหานคร เดิม 33 คน เหลือ 30 คน

กระบี่ เดิม 3 คน เหลือ 2 คน

กาฬสินธุ์ เดิม 6 คน เหลือ 5 คน

ชัยภูมิ เดิม 7 คน เหลือ 6 คน

เชียงใหม่ เดิม 10 คน เหลือ 9 คน

ตรัง เดิม 4 คน เหลือ 3 คน

นครราชสีมา เดิม 15 คน เหลือ 14 คน

นครศรีธรรมราช เดิม 9 คน เหลือ 8 คน

นนทบุรี เดิม 7 คน เหลือ 6 คน

บุรีรัมย์ เดิม 9 คน เหลือ 8 คน

พระนครศรีอยุธยา เดิม 5 คน เหลือ 4 คน

เพชรบูรณ์ เดิม 6 คน เหลือ 5 คน

แพร่ เดิม 3 คน เหลือ 2 คน

ร้อยเอ็ด เดิม 8 คน เหลือ 7 คน

เลย เดิม 4 คน เหลือ 3 คน

สกลนคร เดิม 7 คน เหลือ 6 คน

สระบุรี เดิม 4 คน เหลือ 3 คน

สุพรรณบุรี เดิม 5 คน เหลือ 4 คน

สุรินทร์ เดิม 8 คน เหลือ 7 คน

อ่างทอง เดิม 2 คน เหลือ 1 คน

อุดรธานี เดิม 9 คน เหลือ 8 คน

อุตรดิตถ์ เดิม 3 คน เหลือ 2 คน

อุบลราชธานี เดิม 11 คน เหลือ 10 คน

 

ขณะที่ 54 จังหวัดที่เหลือ มีจำนวน ส.ส. เท่าเดิม

 

แต่เอาเข้าจริง หากใช้จำนวนประชากร 189,110 คน ต่อ ส.ส. 1 คน เป็นฐานคำนวณ จะมี 41 จังหวัด ที่ต้องได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น

 

แต่เหตุที่ทำให้ยังมี ส.ส. เท่าเดิม เนื่องจาก ส.ส. แบบแบ่งเขตตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) กำหนดให้มี 350 คน ต่างจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2557 ที่มี ส.ส. แบบแบ่งเขต 375 คน

 

ขั้นตอนต่อจากนี้ ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง กำหนดให้ ผอ.กกต. จังหวัด แบ่งเขตแต่ละจังหวัดตามจำนวน ส.ส. ในสามรูปแบบภายใน 14 วัน และภายใน 10 วัน รับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชน จากนั้นภายใน 3 วัน ผอ.กกต. จังหวัด ประมวลความคิดเห็นว่า จะมีการปรับปรุงหรือไม่ รายงานต่อ กกต. โดย กกต. มีเวลา 20 วันในการพิจารณาเพื่อเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด เพื่อประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง

 

รวมใช้เวลา 50 วัน ตามระเบียบของ กกต. แต่ กกต. คาดการณ์ว่า กระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 ก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 จากนั้นจะเริ่มนับถอยหลัง 150 วันสู่การเลือกตั้ง

 

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวน 350 คน

 

การแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จำนวนประชากร 189,110 คน ต่อ ส.ส. 1 คน เป็นฐานคำนวณ โดยกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มี ส.ส. มากที่สุด คือ 30 คน ลดลงจากเดิมที่มี ส.ส. 33 คน

 

 

ภาคเหนือเดิมมี ส.ส. 36 คน จะลดเหลือ 33 คน เชียงใหม่ แพร่ และอุตรดิตถ์ ส.ส. ลดลงจังหวัดละ 1 ที่นั่ง

 

 

ภาคกลางเดิมมี ส.ส. 82 คน ลดเหลือ 76 คน เพชรบูรณ์ อ่างทอง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และนนทบุรี ส.ส. ลดลงจังหวัดละ 1 ที่นั่ง

 

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่จำนวน ส.ส. หายไปมากที่สุด เดิมมี ส.ส. 126 คน ลดเหลือ 116 คน หายไป 10 คน สกลนคร อุดรธานี เลย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และอุบลราชธานี หายไปจังหวัดละ 1 ที่นั่ง

 

 

ภาคตะวันออกมี ส.ส. 26 คน เป็นภาคที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง

 

 

ภาคตะวันตกมี ส.ส. 19 คน เท่าเดิม เป็นอีกภาคที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 

 

ภาคใต้เดิมมี ส.ส. 53 คน ลดเหลือ 50 คน นครศรีธรรมราช กระบี่ และตรัง หายไปจังหวัดละ 1 ที่นั่ง

 

ภาพประกอบ: Pichamon W.

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising