วันเลือกตั้ง

ย้อนศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เลือกเข้มข้น คนไหลออกนอกพรรค

09.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ศึกท้าชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ทำให้พรรคมักจะสูญเสียขุนพลชั้นดี
  • การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อ 10 มกราคม พ.ศ. 2530 ถือเป็นความขัดแย้งในพรรคครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง และเป็นการก่อกำเนิดกลุ่ม 10 มกรา
  • การเลือกหัวหน้าครั้งล่าสุดนี้ อาจพอคาดเดาได้จากจำนวนผู้รับรอง แต่ผลกระทบหลังศึกภายในครั้งนี้ยากจะคาดเดา

8 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ระฆังเริ่มศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดังขึ้น หลังการเปิดรับสมัครหยั่งเสียงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งมีแคนดิเดต 3 คน ได้แก่ หมายเลข 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค หมายเลข 2 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พิษณุโลก และหมายเลข 3 นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค

 

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มีขึ้นตามระเบียบวาระของพรรคทุก 4 ปี แต่การลงคะแนนในครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้ง จากเดิมที่ใช้การประชุมใหญ่มีคนลงคะแนนประมาณ 500 คน เปลี่ยนเป็นให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศลงคะแนนผ่านแอปพลิเคชัน

 

พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ผ่านการเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น และผ่านการเป็นรัฐบาลทั้งตามระบอบประชาธิปไตยและเทียบเชิญจากคณะรัฐประหาร

 

THE STANDARD รวบรวมศึกท้าชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ซึ่งพบว่า ในหลายครั้งของการต่อสู้ตามวิถีประชาธิปไตยภายในพรรค ก็มักจะสูญเสียขุนพลชั้นดี ซึ่งแต่ละท่านล้วนมีบทบาทอย่างโดดเด่นบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

 

ครั้งที่ 1 ศึกชิงชื่อพรรค

ศึกครั้งแรกนี้เรียกได้ว่าเป็นศึกชิงพรรคกันเลยก็ว่าได้ หลัง นายควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อตั้งพรรค และเป็นหัวหน้าพรรคมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ถึงแก่อสัญกรรม

 

คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ภริยาของนายควง กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รองหัวหน้าพรรค ต้องไปแย่งกันจดทะเบียนพรรคกับกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 เพื่อลงเลือกตั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512

 

ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ นำประชาธิปัตย์คว้าที่นั่งในสภาฯ 57 ที่นั่ง เป็นอันดับ 2 รองจากพรรคสหประชาไท ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล จากนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ก็สามารถนำพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และทหารฉวยโอกาสยึดอำนาจการปกครอง

 

ม.ร.ว.เสนีย์ นำพรรคประชาธิปัตย์ เพลี่ยงพล้ำทางการเมือง ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 โดยส่งผู้สมัคร 187 คน แต่ชนะเพียง 32 คน

 

ม.ร.ว.เสนีย์ จึงตัดสินใจวางมือทางการเมือง และลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

 

ครั้งที่ 2 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ไหลออกนอกพรรค

หลังการวางมือของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์มีความขัดแย้งกันเองภายในพรรคอย่างหนัก จนในที่สุดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค พ.ศ. 2522 พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ ซึ่งเป็นคนนอกและเพิ่งเป็นสมาชิกพรรค ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นหัวหน้าพรรค โดยชนะ นายอุทัย พิมพ์ใจชน และนายชวน หลีกภัย

 

ผลการต่อสู้ครั้งนั้น ทำให้นายอุทัย นักการเมืองที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้นลาออกไปตั้งพรรคก้าวหน้า

 

ขณะที่ พ.อ. (พิเศษ) ถนัด ต้องเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรคจนหมดวาระ โดยระหว่างดำรงตำแหน่ง พ.อ. (พิเศษ) ถนัด ก็ขัดแย้งกับ นายพิชัย รัตตกุล กรรมการบริหารพรรคในเวลานั้นอย่างรุนแรง

 

ครั้งที่ 3 กำเนิดกลุ่ม 10 มกรา

หลัง พ.อ. (พิเศษ) ถนัด หมดวาระ นายพิชัย รัตตกุล ก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค ท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรค โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 เกิดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความไม่พอใจในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีของนายพิชัย

 

ความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ระเบิดขึ้นในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรควันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2530 โดย นายพิชัย รัตตกุล ชนะ นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ โดยมี พ.ท. สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเลขาธิการพรรค (ยศในเวลานั้น)

 

จากนั้นสมาชิกพรรคที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่ม 10 มกรา’ นำโดย นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และนายวีระ มุสิกพงศ์ พร้อมสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่ง โชว์ศักยภาพคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรของรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผลให้ พล.อ. เปรม ต้องประกาศยุบสภา

 

นายพิชัยจึงประกาศไม่ส่งกลุ่ม 10 มกรา ลงเลือกตั้งวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 กลุ่ม 10 มกรา จึงออกไปตั้งพรรคประชาชน

 

ครั้งที่ 4 นายชวน หลีกภัย แก่นแท้ประชาธิปัตย์

นายชวน หลีกภัย ถือเป็นนักการเมืองดาวรุ่งยอดฝีมือแห่งยุค ด้วยบุคลิกและวาจาสุภาพแต่เชือดเฉือน จนได้ฉายา ‘มีดโกนอาบน้ำผึ้ง’ โชว์ลีลาอภิปรายจนเป็นที่จดจำ และเป็น ส.ส. ตรัง ตลอดกาล นอกจากนี้ นายชวนยังเป็นที่ชื่นชมของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยท่านเคยกล่าวถึงนายชวนไว้ว่า “เขาเป็นแก่นแท้ของประชาธิปัตย์”

 

การขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคของนายชวนดูเหมือนจะเป็นความเห็นพ้องของคนประชาธิปัตย์แทบทั้งหมด โดยหลังนายพิชัยลาออกจากตำแหน่ง พล.ต. สนั่น และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ก็ได้สนับสนุนให้นายชวนเป็นหัวหน้าพรรค แม้จะมีแคนดิเดตเป็น ศ.มารุต บุนนาค แต่ดูเหมือนจะไม่มีการต่อสู้กันเข้มข้นอย่างที่ควรจะเป็น

 

อย่างไรก็ตาม หลังนายชวนเป็นหัวหน้าพรรค นายประจวบ ไชยสาส์น แคนดิเดตเลขาธิการพรรคคู่มารุต ได้ลาออกไปสังกัดพรรคชาติพัฒนา

 

ครั้งที่ 5 การมาของกลุ่มผลัดใบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ศึกชิงหัวหน้าพรรคเมื่อปี 2546 เป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มทศวรรษใหม่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กับกลุ่มผลัดใบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเบื้องหลังสำคัญของกลุ่มผลัดใบ

 

การเลือกตั้งครั้งนั้นจบลงด้วยชัยชนะของนายบัญญัติเป็นหัวหน้าพรรค ก่อนที่นายบัญญัติจะนำพรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างขาดลอยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 ซึ่งพรรคไทยรักไทยคว้าชัยชนะแบบถล่มทลาย จากนั้นนายบัญญัติได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ นายอภิสิทธิ์กุมบังเหียนนำพรรคแทน และเป็นหัวหน้าพรรคต่อเนื่องยาวนานมา 13 ปี

 

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. 2561 คอการเมืองคงจะเดากันได้ไม่ยาก ยิ่งดูจากการลงชื่อรับรองผู้สมัคร ซึ่งต้องใช้อดีต ส.ส.ในพรรค 20 คน รับรอง ก็พอจะคาดเดาผลการเลือกตั้งล่วงหน้าได้

 

แชมป์เก่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีอดีต ส.ส. พรรครับรองกว่า 80 คน นำโดย นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน

 

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม มีอดีต ส.ส. รับรอง 29 คน ส่วนนายอลงกรณ์ พลบุตร ประสบปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนแรก จนนายอภิสิทธิ์ และนพ.วรงค์ ต้องเซ็นชื่อรับรองให้จนครบเกณฑ์ 20 คนพอดี

 

ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้อาจพอคาดเดาได้ แต่ผลกระทบหลังศึกภายในนี้ยากจะคาดเดา พรรคการเมืองวัย 72 ปี จะเผชิญสถานการณ์แบบใด อีกไม่นานจะได้เห็น

 

ภาพประกอบ: Dreaminem

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • นทีทิพย์ สรรพตานนท์ ‘แนวทางการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์’ วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ THE STANDARD รวบรวม
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising