THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอฉุด ‘การค้าโลก’ และอาจดึงเงินบาทอ่อนค่าแตะ ‘40 บาทต่อดอลลาร์’ ปลายปีนี้

... • 14 พ.ย. 2022

HIGHLIGHTS

9 MIN READ
  • ตลาดการเงินปรับตัวได้ต่อเนื่อง ผลจากสัญญาณ Fed ที่ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยที่แม้ว่าจะขึ้นยาวนานขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง
  • ผลการเลือกตั้ง Midterm Election ส่งสัญญาณว่า พรรครีพับลิกันจะได้ครองที่นั่งในสภาคองเกรส ทำให้เกิดกระแส Risk-On
  • เงินสกุลเอเชีย โดยเฉพาะเงินบาท แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังทิศทางเศรษฐกิจออกมาค่อนข้างดีและเงินเฟ้อชะลอลง
  • การชะลอตัวของเงินเฟ้อส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาโภคภัณฑ์ เช่น เหล็กและเหล็กกล้าลดลง รวมถึงความต้องการในประเทศที่ชะลอลง ขณะที่ตัวเลขการส่งออกของหลายประเทศก็ชะลอตัวลง
  • จากความเสี่ยงด้านการส่งออกอาจทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาขาดดุล และทำให้ค่าเงินบาทอาจไปแตะที่ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินปรับตัวได้ต่อเนื่อง ผลจากสัญญาณ Fed ที่ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยที่แม้ว่าจะขึ้นยาวนานขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ด้านผลการเลือกตั้ง Midterm Election ส่งสัญญาณว่าพรรครีพับลิกันจะได้ครองที่นั่งในสภาคองเกรส ทำให้เกิดกระแส Risk-On โดยตลาดมองว่าโอกาสที่รัฐบาลจะทำนโยบายให้เกิดเงินเฟ้อมีน้อยลง 

 

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของปัจจัยเศรษฐกิจบ่งชี้ความเสี่ยงมากขึ้นจาก

 

1. เงินเฟ้อผู้ผลิตจีนกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี ขณะที่เงินเฟ้อผู้บริโภคชะลอลงเช่นกัน บ่งชี้ความเสี่ยงเงินฝืด 

2. สำนักวิจัยบางแห่งเริ่มคาดการณ์ว่าดอกเบี้ย Fed จะขึ้นถึง 6% 

3. ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐฯ หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน 

4. ส่งออก-นำเข้าจีนกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี ส่งสัญญาณเสี่ยงเศรษฐกิจโลก 

5. รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 5.1 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ด้านดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านในสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยเหลือ 6.95% แต่จาก Realtor.com พบว่า ผู้ซื้อบ้านจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเกือบ 80% จากปีที่แล้ว 

6. รายงานเสถียรภาพทางการเงินของสหรัฐฯ ระบุ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็เตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในตลาดตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกจาก 

 

1. เงินสกุลเอเชีย โดยเฉพาะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังทิศทางเศรษฐกิจออกมาค่อนข้างดีและเงินเฟ้อชะลอลง 

2. สื่อต่างชาติ เช่น WSJ รายงานว่า ทางการจีนเตรียมยกเลิก Zero-COVID อย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป

3. ประธานาธิบดียูเครนเริ่มส่งสัญญาณพร้อมเจรจากับรัสเซีย แต่ยังคงให้ถอนทหารและขอค่าปฏิกรรมสงคราม

4. การจ้างงานในสหรัฐฯ ​ขยายตัวดีเกินคาด ส่งสัญญาณแรงกดดันเงินเฟ้อต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 2.6 แสนตำแหน่ง สูงกว่าคาดการณ์ที่ 2 แสนตำแหน่ง สะท้อนตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการ ที่ยังคงแข็งแกร่ง

 

ด้านตลาดการลงทุนทรงตัว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.7% (EM +0.5%, DM +5.2%) โดยได้รับแรงหนุนจาก 

 

1. ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ออกมาชะลอตัวแรงกว่าที่ตลาดคาดการณ์

2. รัฐบาลจีนออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

3. ความเสี่ยงพลังงานในยุโรปเริ่มคลี่คลาย แม้ว่าธนาคารกลางยังไม่เปลี่ยนท่าที และจีนรายงานจำนวนผู้ป่วยใหม่ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบหลายเดือน

 

โดยหุ้นกลุ่ม Growth (+6%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Value (+3.5%) หุ้นขนาดใหญ่ (+4.7%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (+4.6%) ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง โดยกลุ่มที่เคลื่อนไหวสวนทางกับดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีอย่างกลุ่มเทคโนโลยี (+8.6%) อสังหาริมทรัพย์ (+6.6%) และกลุ่มสื่อสาร (+6%)

 

เศรษฐกิจและการลงทุนไม่สอดคล้องกัน

InnovestX มองว่า เศรษฐกิจและการลงทุนอาจไม่สอดคล้องกันนัก กล่าวคือตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงชัดเจนขึ้น แต่ตัวเลขการลงทุนยังขยายตัวได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสัญญาณ Fed ที่ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยแม้ว่าจะขึ้นยาวนานขึ้น ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกจีน รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อผู้ผลิตที่หดตัวนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานสูง 

 

อย่างไรก็ตาม การหดตัวในเดือนนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาโภคภัณฑ์ เช่น เหล็กและเหล็กกล้าลดลง รวมถึงความต้องการในประเทศที่ชะลอลง ขณะที่ตัวเลขการส่งออกของจีนที่ชะลอลง (-0.3%YoY) เช่นเดียวกับการส่งออกของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการค้าโลก นอกจากนั้นยังเป็นทิศทางเดียวกับภาคการผลิตยุโรปและความเชื่อมั่นภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่หดตัวลงต่อเนื่อง 

 

ในส่วนของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 3.7% ในรอบเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาซื้อสุทธิตราสารหนี้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) 1.4 แสนล้านบาท ตามมุมมองเชิงบวกในไทย เศรษฐกิจฟื้นตัว ดุลบัญชีเงินสะพัดที่กลับมาทรงตัว การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น เงินเฟ้อของไทยผ่านจุดสุงสุด และทิศทางเงินบาทชะลอการอ่อนค่าลงหรือมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ทำให้มีบางส่วนเข้ามาลงทุนเพื่อเก็งกำไรค่าเงิน 

 

ยังคงจับตา ‘ค่าเงินบาท’ 

อย่างไรก็ตาม InnovestX ยังมีความกังวลในทิศทางค่าเงินบาทในระยะต่อไปจาก

 

1. ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ที่จะมากขึ้น 

2. ค่าเงินหยวนและเยนที่จะยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง 

3. ดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจกลับมาขาดดุลตามความเสี่ยงของการส่งออกในระยะต่อไป ทำให้เราเชื่อว่าค่าเงินบาทอาจไปแตะที่ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

 

สัปดาห์หน้าติดตาม

 

1. Retail Sale สหรัฐฯ ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 8.2% หรือไม่ (ตลาดคาด 6.9%)

2. ตัวเลขตลาดอสังหา ทั้งการขออนุญาตก่อสร้าง ยอดขายบ้านมือหนึ่งและมือสอง และจำนวนบ้านสร้างใหม่ ว่าจะชะลอลงต่อเนื่องหลังดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านเป็นขาขึ้นหรือไม่

3. การประชุม G20 ที่จะมีการพบกันระหว่าง โจ ไบเดน และ สีจิ้นผิง (ว่าจะมีสัญญาณบวกหรือลบในประเด็นสงครามเย็นระหว่างสองประเทศ) รวมถึงจับตาประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วย

 

“เราเชื่อว่าตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในระยะต่อไป ได้แก่ ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่อาจมีมากขึ้นจากการ Fed Hawkishness ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังความผันผวนในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการลงทุนจะกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยนักลงทุนจะลดความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยลง และหันมามุ่งเน้นในสินทรัพย์หรือตลาดที่ยังมีความแข็งแกร่งและต้านทานการขึ้นดอกเบี้ยและการชะลอลงของเศรษฐกิจได้ แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”

 

เหตุการณ์สำคัญในสัปดาห์นี้ที่ยังต้องติดตามคือ 

 

1. การประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย โดยจับตาการเจรจาของสหรัฐฯ และจีน ในประเด็นไต้หวัน

2. การประกาศอนาคตทางการเมืองของ โดนัลด์ ทรัมป์

3. GDP ของยูโรโซน ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2%QoQ

4. ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาพการล็อกดาวน์เป็นสำคัญ

5. ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ได้แก่ Alibaba, Applied Materials, Cisco, Infineon Technologies, JD.com, Lowe’s, Mitsubishi UFJ, NetEase, Palo Alto Network, Siemens, Tencent, Vodafone และ Walmart

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

ช่วงที่ผ่านมามอง SET ปรับขึ้นจาก Fund Flow ที่ไหลเข้า ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทั้งหมด อย่างไรก็ดี ช่วงสั้นเรามองอารมณ์ตลาดยังอยู่ในลักษณะของการเก็งกำไรโค้งสุดท้ายของการประกาศงบ 3Q65 เป็นหลัก และหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ซึ่งคาดว่าจะต้านทานความเสี่ยงภายนอก 

 

กลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนำเป็น Selective Buy ดังนี้

 

1. หุ้นที่คาดว่าโมเมนตัมกำไร 4Q65 เติบโตแข็งแกร่ง YoY เลือก BBL, CPALL, BCP และ AOT

2. หุ้นที่ได้อานิสงส์จากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ เช่น ประกันราคาข้าว และเยียวยาน้ำท่วม เลือก HMPRO, GLOBAL และ MAKRO

3. หุ้นเก็งกำไรที่คาดว่าได้อานิสงส์จากเทศกาลฟุตบอลโลก (เริ่มวันที่ 20 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม 2565) ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นบรรยากาศการบริโภคในช่วงเชียร์บอล เลือก CPALL, CENTEL และ MINT 

4. หุ้นเก็งกำไรที่คาดว่าได้อานิสงส์จากเงินทุนไหลเข้า และ/หรือ บาทแข็งค่า เลือก BDMS, PTT, AAV, BA และ GPSC

 

ช่วงสั้นยังแนะนำให้เลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้

  

1. หุ้นที่คาดว่าจะถูกนำออกจากการคำนวณดัชนี SET50 ซึ่งจะประกาศวันที่ 16 ธันวาคม 2565 และมีผลบังคับใช้ใน 1H66 เช่น BLA, IRPC, KCE และ SAWAD (ส่วนดัชนี SET100 หุ้นที่คาดว่าจะถูกนำออกจากการคำนวณดัชนีคือ MAJOR, STEC, SUPER, SYNEX, TASCO และ TTA)

2. หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากบาทแข็งค่าและผลประกอบการหุ้นเทคโนโลยีของโลกมีแนวโน้มอ่อนแอต่อใน 4Q65

3. หุ้นเดินเรือ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามาและอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. การเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการประกาศผลประกอบการ 3Q22 ของ บจ.ไทย รวมทั้งมุมมองและการปรับคาดการณ์กำไรหลังการประชุมนักวิเคราะห์

2. ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ เช่น ยอดขายปลีก และยอดขายบ้านมือสอง รวมทั้งเงินเฟ้ออังกฤษในเดือนตุลาคม

3. การประชุม APEC ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565, การประชุม COP27 ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 และการปะชุม G20 Bali Summit ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2565

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPALL - โมเมนตัมกำไรดูดีต่อเนื่องใน 2H22

สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ.ซีพีออลล์ หรือ CPALL เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

1. เป็นผู้นำธุรกิจร้านค้าปลีก-ค้าส่งในไทย ซึ่งมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง อีกทั้งยังสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ดีภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและชะลอตัว

2. มองเป็นหุ้นที่ได้อานิสงส์บวกชัดเจนจากการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมต่างๆ ภายในประเทศ หลังจากรัฐบาลคลายมาตรการล็อกดาวน์ อาทิ การเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมและผลการดำเนินงาน  

3. 2H22 โมเมนตัมกำไรแต่ละไตรมาสจะดูดีทั้ง YoY และ QoQ โดย 3Q22 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 3.4 พันล้านบาท เติบโตเด่น 128%YoY และ 13%QoQ พร้อมเข้าสู่พีคปีนี้ใน 4Q22 แรงหนุนจากธุรกิจ CVS ที่ดีขึ้นจากยอดขายที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก MAKRO ที่เพิ่มขึ้นจากการผนึกกำลังทางธุรกิจและการรีแบรนด์ร้านค้าของ Lotus’s

4. Valuation ไม่แพง โดยราคาหุ้น CPALL ปรับขึ้นเพียง 3.4%YTD และยังซื้อขายต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ถึง 15.6% ซึ่งมองว่ายังไม่สะท้อนผลการดำเนินงานปีนี้ที่เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว โดยปี 2022 คาดว่ากำไรปกติพลิกโตเด่น 69%YoY และเติบโตต่อ 29%YoY ในปี 2023

5. จัดเป็นหุ้นเด่นในกลุ่มพาณิชย์ซึ่งมีศักยภาพเติบโตในระยะยาว ทั้งนี้ เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 72 บาท (อิงวิธี DCF) พร้อมคาดว่าให้ Div. Yield ราวปีละ 1.3%

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

 

สภาพคล่อง / เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อการถือครองเงินสด และ / หรือ สินทรัพย์สภาพคล่อง โดยสินทรัพย์เสี่ยงยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูง ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งใช้มาตรการต่างๆ เพื่อแทรกแซงค่าเงิน

 

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อพันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ โดยเรามองว่า UST Yield มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ โดยเฉพาะอายุ 2 ปี ตามการปรับคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หลัง Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย 75 bp ในเดือนธันวาคมปีนี้ ตามเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง และการเปิดรับสมัครงานสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมาปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มากขึ้น (โอกาสที่จะเกิด Recession ในสหรัฐฯ อีก 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 60%) จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของ 10y UST Yield

 

 

กองทุนแนะนำ

Krungsri Yenjai Fund

  • กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนกองทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ หุ้นไทย และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดหวังความเจริญเติบโตของสินทรัพย์ในระยะยาว

 

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ไทยกลุ่ม Investment Grade (IG) โดยเฉพาะกลุ่ม AAA และ AA เนื่องจากอุปสงค์โดยรวมที่ยังคงมีต่อเนื่อง โดย Bond Yield และ Corporate Spread ของไทย ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นรุนแรง ทั้ง Long-End และ Short-End (MTD กลับปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งมาจากต่างชาติที่กลับเข้ามาในตลาดพันธบัตรไทย โดยเฉพาะ Short-End เพื่อหวังทำกำไรจากค่าเงินบาท) อย่างไรก็ตาม ภาวะความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้นและดอกเบี้ยที่ยังเป็นทิศทางขาขึ้น เรายังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกู้กลุ่ม Unrated และ HY

 

เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม IG โดยเราคาดว่า Credit Spread ของ US IG ยังมีแนวโน้มทรงตัว อย่างไรก็ตาม เรายังมีมุมมอง Slightly Negative ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม High Yield (HY) โดย HY Spread มีแนวโน้มกว้างขึ้นได้อีก จากความเสี่ยงการถูกปรับลดอันดับเครดิตที่ยังมีอยู่ ตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอย และแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ HY จีน ตามความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ต่างประเทศของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาจีน รวมทั้งยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้เกี่ยวเนื่องกับรัสเซีย

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักๆ และความกังวลเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ความคาดหวังต่อการชะลอการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed หลังเงินเฟ้อน้อยกว่าคาด และผลประกอบการ บจ. ใน DM ใน 3Q65 ที่ส่วนใหญ่ยังออกมาดีกว่าคาด จะสามารถช่วยทำให้ตลาดฟื้นตัวขึ้นได้

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดฯ ยังมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ในปี 2566 ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลงต่อ และตลาดยังเผชิญความผันผวนจนกว่าจะเห็นสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าลง แต่เรามองว่าตลาดยังได้รับแรงหนุนจาก Valuation ตลาดที่ลดความตึงตัวลง และจากการซื้อหุ้นคืน บจ.สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ สำหรับหุ้นกลุ่มที่เราคาดว่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่มพลังงาน และเฮลท์แคร์

 

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 2

เรามีมุมมอง Slightly Negative ต่อตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่ายุโรปจะสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติได้ค่อนข้างเร็ว แต่เรามองว่าภาคการผลิตและการบริโภคยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน และต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผ่านไปยังเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ยังคงต้องดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวต่อไป ในขณะที่การดำเนินนโยบายที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างการคลังและการเงินอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนี้สาธารณะในระยะกลางได้ ซึ่งยังกดดันภาพการลงทุนในหุ้นยุโรป

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะสั้น Sentiment การลงทุนยังคงถูกสนับสนุนด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ และ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวยังคงเป็นปัจจัยกดดันภาพการลงทุนในระยะกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นวัฏจักร ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าและส่งผลให้เงินเฟ้อเริ่มมีการเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามองว่า BoJ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในเร็วๆ นี้

 

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share จาก Valuation ของดัชนีฯ ที่ไม่แพง ความคาดหวังของนักลงทุนต่อทั้งประเด็นการเปิดเมืองของจีนและประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับหุ้นจีน ADRs อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังน่ากังวล โดยเฉพาะการกีดกันทางเทคโนโลยีและข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับไต้หวัน ประกอบกับ ความกังวลในภาคอสังหาที่มีอยู่ สถานการณ์การระบาดในจีนที่ยังไม่แน่นอนสูง เงินหยวนที่อ่อนค่า Bond Yield สหรัฐฯ ที่ยังอยู่สูง และการทยอยผลักดัน Common Prosperity ของทางการจีน จะยังคงกดดัน Upside ของดัชนีฯ 

 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน A-Share โดยแม้ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนยังมีแนวโน้มออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาเพิ่มเติม ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการประชุม CEWC กลางเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตาม แม้นักลงทุนเริ่มคาดหวังมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการเปิดเมืองของจีน แต่เราคาดว่าทางการจีนจะมีแนวโน้มยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ในช่วง 2Q66 นอกจากนี้ภาคอสังหาที่มีแนวโน้มซบเซาต่อจะยังกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นไทย เนื่องจากเศรษฐกิจที่อยู่บนเส้นทางการฟื้นตัว (สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนกันยายน โดยมีปัจจัยหลักจากภาคบริการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ดีขึ้น แต่ในระยะต่อไปการส่งออกมีความเสี่ยงอ่อนแอลงตามการค้าโลก) ส่งให้ EPS เติบโตได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางหุ้นไทยที่ผันผวนต่ำกว่าภูมิภาค Valuation ที่ยังน่าลงทุน และมีแรงหนุนจาก Fund flow ที่ไหลกลับเข้ามา ทั้งนี้ เรายังเน้นหุ้นในกลุ่ม High Quality โดยเชื่อมโยงกับธีมการท่องเที่ยวและดอกเบี้ยขาขึ้น แต่หลีกเลี่ยงกลุ่มส่งออก

 

กองทุนแนะนำ

 

 

SCB Dividend Stock Open End Fund

กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นเวียดนาม โดยแม้ว่าในระยะกลาง-ยาวตลาดมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจเวียดนามที่ยังเติบโตสูง (ทางการเวียดนามตั้งเป้า GDP ปี 2566 ขยายตัวอยู่ที่ 6.5%)  และผลประกอบการ บจ.เวียดนาม ที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ Valuation ของตลาดอยู่ในระดับไม่แพง (12M Forward P/E อยู่ต่ำกว่า -2 s.d. เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปี) แต่การที่ Sentiment รายย่อยในประเทศยังมีแนวโน้มซบเซาต่อตามความไม่แน่นอนในการปราบปรามการทุจริตของทางการเวียดนามที่ยังมีอยู่ ประกอบกับความกังวลปัญหาสภาพคล่องในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาที่มีมากขึ้นจะยังคงกดดันภาพรวมการปรับเพิ่มของตลาด 

 

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นอินโดนีเซีย โดย GDP 3Q65 โตสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามการลงทุนในประเทศที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะโลหะภัณฑ์และเหมืองแร่ ผนวกกับส่งออกที่ได้แรงหนุนจากกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และการฟื้นตัวของท่องเที่ยว สอดรับไปกับผลประกอบการ 3Q65 ที่เติบโตดี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ Infrastructure และการเปิดเมือง รวมถึงภาคธนาคาร แม้ในระยะต่อไปราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจอ่อนตัวลง แต่การลงทุนในประเทศและการเติบโตของชนชั้นกลางจะยังช่วยหนุนให้ EPS เติบโตต่อเนื่อง

 

กองทุนแนะนำ 

 

 

SCB Indonesia Equity Fund

กองทุน SCBINDO เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ กองทุน VanEck Indonesia Index ETF (กองทุนหลัก) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนความคาดหวังความเจริญเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย

 

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยในระยะสั้นถึงกลางราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจาก ทิศทาง Real Yield ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จนกว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 

 

1. การเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย และกังวลต่อความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้น

2. ธนาคารกลางต้องการถือครองเพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น

 

 

น้ำมัน 

ความน่าสนใจระดับ 4

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อน้ำมัน แม้ว่าในระยะสั้นราคาน้ำมันมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่เรามองว่าราคายังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ตามอุปสงค์น้ำมันในช่วงฤดูหนาว ขณะที่อุปทานยังคงมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น จาก 

 

1. กลุ่ม OPEC+ ยังคงพยายามเข้ามาควบคุมราคาน้ำมันด้วยการลดกำลังการผลิต ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 

2. การคว่ำบาตรนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของกลุ่ม EU จะเริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการเคลื่อนไหวของ LT Bond Yield ซึ่งนโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัวและเงินเฟ้อที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ยังกดดันให้ Yield อยู่ในระดับสูง กระทบต่อผลตอบแทนรวมของ REITs ให้ฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ยุโรปยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะกระทบต่ออัตรากำไรของ REITs ขณะที่กลุ่มสำนักงานถูกกดดันจากการทำงาน WFH & Hybrid ที่ยังมีแม้โควิดจะคลี่คลาย และกระแสการเลิกจ้างที่กระทบต่อ Take-Up Rate

 

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยเอเชียถูกกระทบจากการเพิ่มขึ้นของ LT Bond Yield แต่ไม่รุนแรงเท่ากับ DM นอกจากนี้ไทยยังคงได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองและ Relocation-FDI บางส่วน หนุนกลุ่มโรงแรม ค้าปลีก และนิคมอุตสาหกรรม/โกดัง ขณะที่ตลาดที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวยังมี Upside Risk ที่มาจากการเปิดเมืองของจีน ซึ่งอาจช่วยหนุนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับตลาดนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำให้เลี่ยง REITs ที่มีหนี้สูง/สภาพคล่องต่ำ เพื่อลดผลลบจากภาวะการเงินตึงตัวทั่วโลกที่ยังมีอยู่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 14 พ.ย. 2022

READ MORE




Latest Stories