วันเลือกตั้ง

นักวิชาการต่างชาติและองค์การระหว่างประเทศชี้ กรณีการยุบพรรคไทยรักษาชาติไม่เป็นธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
08.03.2019
  • LOADING...
พรรคไทยรักษาชาติ

หลังจากที่เมื่อวานนี้ (7 มีนาคม) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยุบพรรคไทยรักษาชาติตามที่ กกต. ยื่นคำร้อง กรณีเสนอพระนาม ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล’ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปีนับตั้งแต่วันยุบพรรค และห้ามเป็นกรรมการการบริหารพรรคการเมือง หรือจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองถูกยุบ

 

นายโจชัว เคอร์ลันต์ซิก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำ Council on Foreign Relations ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหาเสียงนี้อาจไม่ยุติธรรมทั้งหมด โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคไทยรักษาชาติ รวมถึงผู้สมัครคนอื่นๆ จากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกดำเนินคดีหลังวิพากษ์วิจารณ์เกมการเมือง

 

โดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่าง Human Rights Watch มองว่า เกมการเลือกตั้งในครั้งนี้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูดอยู่มาก

 

นอกจากนี้ แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า คำวินิจฉัยครั้งนี้เน้นให้เห็นว่าทางการไทยใช้อำนาจตามกระบวนการศาลอย่างมิชอบ เพื่อจำกัดเสรีภาพในการสมาคมอย่างสงบ และเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มตรงข้ามทางการเมือง มาตรการที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางนี้ก่อให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

 

“เราเรียกร้องให้รัฐบาลทหารและผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนยึดมั่นต่อการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในระหว่างการเลือกตั้ง และให้รัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้มาตรการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนอ่อนแอลงมากกว่านี้

 

“ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของการขาดเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศไทย มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง รวมถึงในช่วงสี่ปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร มาตรการทางกฎหมายที่จำกัดสิทธิ ให้อำนาจอย่างกว้างขวางและมีเนื้อหาคลุมเครือ รวมถึงคำสั่งห้ามการชุมนุม ‘ทางการเมือง’ ของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เหล่านี้ต่างส่งผลให้เกิดการโจมตีอย่างกว้างขวางต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและภาคประชาสังคม”

 

ทางด้านนักวิชาการไทยอย่าง ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติอย่าง Bloomberg ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามของชนชั้นนำเดิมที่พยายามจะรักษาอำนาจของตนเองไว้หลังจากที่ยึดอำนาจนั้นมาจากช่วงรัฐประหารเมื่อปี 2014 แผนการทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อให้พวกเขามั่นใจว่า ตัวเองจะไม่แพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising