น้ำเงิน ขาว แดง สามสีส่วนประสมของธงชาติไทยและชุดสีหลักที่เราพบเห็นได้บ่อยที่สุดในงานโลโก้ดีไซน์ อัตลักษณ์หรือ Corporate Identity ของพรรคการเมืองต่างๆ
ความกล้าในการหยิบจับ ‘สีส้ม’ มาใช้หรือการให้บริษัทออกแบบฟอนต์มาปรับไกด์ไลน์การใช้งานดีไซน์ในสื่อแพลตฟอร์มต่างๆ ของพรรคอนาคตใหม่ก็กลายเป็นข้อได้เปรียบที่โดดเด้งออกมาจากพรรคการเมืองอื่นๆ
ในปี 2562 ที่กติกาการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต่างออกไปจากเดิม ส.ส. พรรคการเมืองเดียวกันแต่ต่างเขตกลับมีเบอร์ประจำตัวผู้สมัครที่ไม่เหมือนกัน เราพบว่าอัตลักษณ์และงานดีไซน์ของพรรคการเมืองคือเรื่องที่สำคัญมากๆ เช่นเดียวกับความโดดเด่นของป้ายหาเสียงที่จะพอช่วยให้คนจดจำแต่ละพรรคได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าเลือกตั้งครั้งนี้มีระยะเวลาให้ทำการบ้านหาเสียงเพียงน้อยนิด
THE STANDARD ชวนนักออกแบบที่มีประสบการณ์กับโลกการเมืองแตกต่างกัน ตั้งแต่ ประชา สุวีรานนท์ กราฟิกดีไซเนอร์ระดับตำนาน ผู้ออกแบบโลโก้พรรคไทยรักไทยในนามบริษัท เอเจนซี่ ‘แมทช์บอกซ์ (MATCHBOX)’, ธนโชติ ทรัพย์เรืองนาม และสมิชฌน์ สมันเลาะ สองหัวเรือใหญ่แห่ง คัดสรร ดีมาก ที่เปิดโลกรับงานสุดท้าทายกับอนาคตใหม่
ไปจนถึงกราฟิกดีไซเนอร์รุ่นใหม่ นักรบ มูลมานัส มาร่วมกันสะท้อนความเห็นที่พวกเขามีต่องานดีไซน์ของพรรคการเมืองไทยใน พ.ศ. นี้ ย้อนไปดูรากของงานออกแบบที่น่าสนใจของการเมืองไทยในอดีต ตลอดจนนำเสนอแง่มุมบางอย่างที่หลายคนอาจจะมองข้ามแต่กลับมีผลต่อความรู้สึกของเราชนิดที่คาดไม่ถึง
ไทยรักไทยกับความกล้าในการใช้สีสันและดีไซน์โลโก้พรรคที่หลุดกรอบ
เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว แมทช์บอกซ์ เอเจนซี บริษัทในเครือชินวัตร คอร์ปอเรชั่น ได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ดูแลงานออกแบบให้กับพรรคการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ‘ไทยรักไทย’ หลังมีส่วนสำคัญในงานดีไซน์มาตั้งแต่สมัยที่เจ้าตัวยังอยู่กับพรรคพลังธรรม
ประชา สุวีรานนท์ ผู้ที่มีส่วนสำคัญกับการออกแบบอัตลักษณ์ให้ไทยรักไทยเล่าให้เราฟังว่า แนวคิดการออกแบบโลโก้ไทยรักไทยในช่วงเวลาดังกล่าวมาจากการให้ความสำคัญกับความเป็นไทยเป็นหลัก เนื่องจากบรรยากาศของประเทศกำลังมุ่งไปในทิศทางดังกล่าว
“ช่วงที่เราทำงานออกแบบให้กับไทยรักไทย ชื่อพรรคก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของประเทศไทย ลักษณะของบรรยากาศทางการเมืองในประเทศตอนนั้นคือการก้าวเข้าไปในเวทีโลกในเชิงเศรษฐกิจ สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมของการออกแบบผ่านโลโก้ตัว ท.ทหาร (ตัวย่อชื่อพรรค) ที่มีส่วนหัวแหลมคมทั้งสองตัว สื่อความหมายถึงการมุ่งไปข้างหน้า แล้วนำธงชาติไทยที่ออกแบบใน Shape Form ที่สื่อว่ากำลังมุ่งไปข้างหน้ามาใช้เช่นกัน
“อันที่จริงก่อนจะมาเป็นโลโก้พรรคไทยรักไทยที่เราเห็นกัน ทีมแมทช์บอกซ์เคยนำโลโก้หลายๆ แบบเข้าไปให้ ทักษิณ ชินวัตรเลือก แต่เขาให้เหตุผลว่าที่เลือกโลโก้นี้เพราะหัวตัวอักษร ท.ทหาร คล้ายกับเลขหนึ่งอารบิก ซึ่งต้องบอกว่าตัวคนออกแบบไม่ได้ตั้งใจหรอกนะ แต่ว่าลูกค้าเขาตีความไปอย่างนั้น (หัวเราะ)”
ประชาเล่าต่อว่า สมัยก่อน Visual Identity การให้ความสำคัญกับการใช้ตัวหนังสือ โลโก้ สี ข้อความในโลกการเมืองจะไม่สำคัญเท่าไรเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เพราะในอดีตจะเน้นการชูไปที่ตัวบุคคลหรือนักการเมืองที่ชาวบ้านรู้จักเป็นหลัก เน้นการสื่อสารแบบปากต่อปากเยอะ หาใช่การสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ
ส่งผลให้การที่ไทยรักไทยกล้าใช้ชุดสีมาเล่นกับงานออกแบบอัตลักษณ์ หรือริเริ่มให้น้ำหนักกับงานออกแบบที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ในช่วงเวลานั้นประสบความสำเร็จพอสมควร
“ก่อนหน้านี้ในอดีตพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเล่นกับสีมากนัก ใช้สีเดียวเป็นหลัก ถ้าจะให้ผมโม้การที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีดีไซน์โลโก้ที่เน้นสีสามสีคล้ายๆ กันหมดก็เป็นเพราะว่าพวกเขาเอาความสำเร็จของโลโก้พรรคไทยรักไทยที่เป็นธงชาติไปใช้กัน อีกส่วนหนึ่งก็เพราะความเป็นชาติมันสูงขึ้นในภาวะการเมืองทั่วไป เพราะเวลาเราเลือกนายกรัฐมนตรีก็เหมือนเลือกหัวหน้าห้องไปโชว์ตัวบนเวทีโลกกับผู้นำชาติต่างๆ มีการให้ความสำคัญในจุดนี้มากขึ้น”
เรื่องเดียวกันนี้ในมุมมองของสมิชฌน์ สมันเลาะ ไทป์ไดเรกเตอร์ของ คัดสรร ดีมาก เชื่อว่าเป็นเรื่องของมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคน เพราะอย่างโลโก้พรรคที่แม้จะใช้ชุดสี (ธงชาติไทย) หรือมีหน้าตาคล้ายกัน ในมุมของคนกรุงเทพฯ อาจจะรู้สึกว่าเชยหรือไม่ทันสมัย กลับกันในมุมมองของคนที่อาศัยตามต่างจังหวัดอาจจะผูกพันกับอัตลักษณ์ของงานออกแบบทำนองนี้มากกว่า
“เขาอาจจะรู้สึกคุ้นชินและผูกพันกับดีไซน์พวกนี้ การนำชุดสีธงชาติมาใช้กับดีไซน์โลโก้พรรคมันเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่า มันหนีไม่พ้นเรื่องความเป็นไทยต้องเป็นชาติหรือช้าง บางทีมันมีข้อจำกัดทางวัฒนธรรมที่เราก็ปฏิเสธมันไม่ได้เหมือนกัน”
ด้าน ธนโชติ ทรัพย์เรืองนาม ดีไซน์ไดเรกเตอร์จาก คัดสรร ดีมาก เห็นด้วยกับความเห็นของสมิชฌน์ และบอกว่าถึงโลโก้พรรคการเมืองไทยในปัจจุบันจะคล้ายกันจนเหมือนเป็นเครือญาติ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ ‘ย่อย’ ได้ง่ายกว่าในความรู้สึกของคนที่มองเห็น โดยยกตัวอย่างกรณีของพรรคอนาคตใหม่มาว่า ตราสัญลักษณ์พีระมิดหัวกลับอาจจะตีความได้ยากกว่าในมุมคนหมู่มาก บางครั้งการทำงานดีไซน์ในโลกการเมืองจึงต้องคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ และการพูดออกไปตรงๆ ก็อาจจะดีกว่า
ฝั่ง นักรบ มูลมานัส แม้จะไม่เห็นด้วยเลยซะทีเดียว แต่ก็ยอมรับเช่นกันว่างานออกแบบในโลกการเมืองไม่เหมือนกับงานออกแบบทั่วๆ ไป “อย่างที่อาจารย์ประชาพูดถึงการใช้สีธงชาติว่าช่วยตอกย้ำให้คนเห็นถึงการชูความเป็นหนึ่งเดียว ความเป็นชาติ เราอาจจะมองว่ามันโคตรจำเจเลย แต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่อาจจะมองเป็นฟอร์แมตที่ถูกต้องของพรรคการเมืองก็ได้ ถ้าเห็นพรรคที่ทำอะไรต่างออกไปก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ส่ิงที่ถูกต้อง”
มองอีกมุมหนึ่งการเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน เช่น พรรคประชาธิปัตย์ที่มีอายุกว่า 72 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2489) พร้อมตราสัญลักษณ์ ‘พระแม่ธรณีบีบมวยผม’ ที่สื่อความหมายถึงการเอาชนะสิ่งชั่วร้ายต่างๆ แถมยังเปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมใจของคนทั้งพรรค บางทีการไปปรับเปลี่ยนอะไรกับตราสัญลักษณ์พรรคก็อาจจะทำได้ยากกว่า โดยเฉพาะในกรณีที่ฐานแฟนของพรรคก็ผูกพันกับตราสัญลักษณ์ของพรรคไปแล้ว
อย่างไรก็ดี เพราะกติกาการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปใน พ.ศ. นี้ ตราสัญลักษณ์ของพรรคในบัตรเลือกตั้งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เรื่องนี้อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อพรรคเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานอย่างประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย แต่กับพรรคใหม่ๆ ที่มีตราสัญลักษณ์คล้ายคลึงกัน บางทีจุดนี้อาจจะสร้างความสับสนให้กับประชาชนคนเลือกได้ หากไม่ระวังให้ดี
คัดสรร ดีมาก กับการปรับกลยุทธ์ดีไซน์ในโลกการเมืองให้อนาคตใหม่
ออกตัวก่อนว่าที่เราเลือกหยิบพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาเป็นตัวละครหลักในพาร์ตนี้เป็นเพราะเห็นว่าพรรคการเมืองน้องใหม่มาแรงพรรคนี้ให้ความสำคัญกับงานออกแบบและการสร้างอัตลักษณ์ของพรรคได้ชัดเจนมากๆ
ทั้งโลโก้ สามเหลี่ยมพีระมิดหัวกลับ ที่หมายถึงการให้ความสำคัญกับประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ (เส้นตัดเป็นลูกศรสื่อถึงการมุ่งไปข้างหน้า) การเลือกใช้สีส้มและฟอนต์ (รุ่งอรุณที่สดใสและสีแห่งความหวัง) หรือแม้แต่การมีคัมภีร์ไกด์ไลน์เป็นของตัวเองเพื่อยึดให้การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นไปในแนวทางเดียวกันและทำให้คนจดจำได้
คนที่จะเล่าเบื้องหลังความเป็นมาของงานออกแบบฟอนต์และไกด์ไลน์งานดีไซน์กับการนำไปใช้ในสื่อต่างๆ ของอนาคตใหม่ได้ดีที่สุดย่อมหนีไม่พ้น ธนโชติและสมิชฌน์ จาก คัดสรร ดีมาก ผู้รับหน้าที่ปรับสารตั้งต้นงานดีไซน์ให้กับพรรค
ธนโชติเล่าปูมหลังให้เราฟังว่าการทำงานร่วมกันระหว่าง คัดสรร ดีมาก และพรรคอนาคตใหม่เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 โดยโจทย์ใหญ่คือการช่วยจัดการ ออกแบบระบบการสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร ตลอดจนปรับดีไซน์ของฟอนต์ตัวหนังสือและกราฟิกดีไซน์ที่จะนำไปใช้กับงานสื่อสารต่างๆ
“ทางอนาคตใหม่เขาติดต่อให้เราไปทำสารตั้งต้นให้กับพรรค ในที่นี้คือการปรับดีไซน์ฟอนต์ตัวหนังสือและกราฟิกดีไซน์ ทำเทมเพลตให้พรรคนำไปปรับใช้ต่อ ออกแบบระบบการสื่อสารภาพลักษณ์องค์กรโดยต่อยอดจากสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว เช่น โลโก้ ที่เราปรับปรุงตัวอักษร (Lettering) ในโลโก้ให้ดีขึ้น ตั้งระบบการใช้สี แบบตัวอักษร รวมถึงการทำงานดีไซน์ด้านการสื่อสารการตลาด (Marcom) ต่างๆ การทำกราฟิกเลย์เอาต์ เป็นต้น”
เขาเล่าให้เราฟังพลางเปิดงานดีไซน์และไกด์ไลน์ของอนาคตใหม่บนจอแล็ปท็อป “โดยปกติ คัดสรร ดีมาก จะทำ Corporate Typeface (แบบตัวอักษรขององค์กร) อยู่แล้ว เลยเสนอพรรคว่าควรจะมีแบบตัวอักษรเป็นของตัวเอง นอกจากนี้การมี ‘ระบบ’ หรือไกด์ไลน์ที่จะนำองค์ประกอบของงานออกแบบไปใช้กับงานสื่อสารอย่างต่อเนื่องก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะมีผลต่อการจดจำของคน”
มาถึงตรงนี้ สมิชฌน์จึงเริ่มเล่าขอบเขตงานที่เขารับผิดชอบในการปรับตัวอักษรในโลโก้ให้กับอนาคตใหม่บ้าง “ปกติแล้ว ฟอนต์จะมีหน้าที่ 2-3 อย่าง 1. ช่วยให้คนจำได้ 2. เล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือที่พิมพ์ออกไป และ 3. ฟังก์ชันและลักษณะการนำไปใช้งาน ซึ่งสำหรับอนาคตใหม่ ตอนที่เราได้ตัวอักษรบนโลโก้มา เราก็พยายามทำให้มันเคลียร์และชัดขึ้นในบางจุดที่ไม่สม่ำเสมอ เพื่อให้ภาพมันดูคลีน เปรียบเทียบก็เหมือนกับการนำเสื้อผ้าเก่ามาเก็บรายละเอียดให้กลายเป็นตัวใหม่
“เมื่อต้องนำมาใช้งานในลักษณะ Logo Type บนโลโก้ มันจึงต้องมีการคลีนเพื่อให้มันอยู่เฉพาะในคำคำน้ันได้ ที่เราทำคือการจัดการให้ตัวอักษรในโลโก้เป็นมิตรกว่าเดิม ลดความเป็นเรขาคณิตลง ทำให้มันมีความเป็นมิตรและเป็นมนุษย์มากขึ้น ลดขอบแหลมคมต่างๆ”
สิ่งที่เราให้ความสนใจไม่แพ้กระบวนการออกแบบงานกราฟิกของพรรคอนาคตใหม่ คือเราพบว่าแม้จะเป็นโลกของพรรคการเมือง แต่เรื่องทั้งหมดที่ธนโชติและสมิชฌน์เล่ามากลับมีความเหมือนหรือความคล้ายบางอย่างกับการทำการตลาดของแบรนด์สินค้าต่างๆ
“มองอีกมุมพรรคการเมืองก็คือแบรนด์หนึ่งแบรนด์ มันเป็นเรื่องเดียวกันครับ” ธนโชติช่วยยืนยันความคิดของเรา “ผมมองว่าความต่อเนื่องและการมีไกดไลน์ในการทำงานดีไซน์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เหมือนเรามีจุดยืนที่ชัดเจนและพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ เพื่อให้คนจำได้ การทำแบรนดิ้งไม่ว่าจะเป็นสำหรับแบรนด์หรือพรรคการเมืองก็ควรจะยึดมั่นเอาไว้ให้คนภายนอกมองเข้ามาแล้วรู้สึกได้ว่าคุณมีจุดยืน ทั้งเรื่องของภาพ ทัศนคติ จุดยืนทางการเมืองและภาพลักษณ์ เช่น ถ้าเป็นพรรคการเมืองสีส้ม คนเห็นปุ๊บก็จะรู้ทันทีเลยว่าคือนาคตใหม่”
ไม่ใช่แค่ธนโชติและสมิชฌน์เท่านั้นที่เชื่อในเรื่องความต่อเนื่องของฟอร์แมตงานดีไซน์ ตัวนักรบเองก็บอกกับ THE STANDARD ในทำนองเดียวกันว่า ยิ่งพรรคการเมืองใส่ใจกับงานดีไซน์หรือรูปแบบของการใช้งานออกแบบในการสื่อสารมากแค่ไหน ก็จะยิ่งสะท้อนถึงอุดมการณ์เบื้องหลังความคิดของแต่ละพรรคได้มากเท่านั้น
“มันควรจะมีฟอร์แมตเดียวกันไหมที่จะช่วยให้การสื่อสารของพรรคการเมืองทุกพรรคดำเนินไปในทิศทางเดียว เช่น ถ้าคนเห็นป้ายสีส้มหรือฟ้าก็รู้ทันทีว่าคืออนาคตใหม่กับประชาธิปัตย์ สิ่งเหล่านี้ แม้กระทั่งการเลือกใช้ฟอนต์หรือภาพพอร์เทรต มันสามารถอ่านหรือตีความได้นะว่าจริงๆ แล้วพรรคการเมืองเขามีอุดมการณ์อย่างไร เป็นพรรคสมัยใหม่หรืออนุรักษ์นิยม
“ในอีกมุมหนึ่งก็น่าคิดเหมือนกันว่างานออกแบบพวกนี้ถูกออกแบบมาเพื่อคนจำนวนมาก ซึ่งในแง่ของการสื่อสารมันอาจจะเวิร์กกับคนทั่วไปก็ได้”
ในมุมมองของคนทั่วไป ธนโชติบอกว่าเรื่องพวกนี้อาจจะไม่ถูกสนใจเท่าไร แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป คนจะสัมผัสได้เอง เป็นความรู้สึกที่รับรู้ได้เมื่อระยะเวลาผ่านไปสักระยะ เปรียบเทียบก็เหมือนเห็นป้ายโฆษณาสีแดง ตัวหนังสือสีขาวก็รับรู้โดยทันทีว่าเป็นแบรนด์โคคา-โคลา
“มันอาจจะไม่มีผลในการทำให้ประชาชนมาเลือกเราหรอกครับ แต่ผมว่ามันมีผลที่ทำให้คนจำเราได้” ดีไซน์ไดเรกเตอร์ คัดสรร ดีมาก กล่าวทิ้งท้าย
‘จรยุทธ์’ กลยุทธ์หาเสียงด้วยป้ายพลาสติก สื่อออฟไลน์ไม่กี่ชนิดที่ยังอิมแพ็กกว่าสื่อดิจิทัล
ส่ิงหนึ่งที่อยู่คู่กับการหาเสียงของพรรคการเมืองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ที่บอกเราว่าบรรยากาศการเลือกตั้งใกล้มาถึงแล้วก็คือป้ายหาเสียง
ถ้าจะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองในประเทศไทยคงต้องย้อนกลับไปไกลถึงช่วงปี พ.ศ. 2538 ซึ่งเกิดจากความบังเอิญ เนื่องด้วยวัฒนธรรมในประเทศไทยไม่ได้เอื้ออำนวยให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถใช้แผ่นป้ายโปสเตอร์หาเสียงติดตามสถานที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระ
ประชาเล่าให้เราฟังว่า “ผมถือว่ามันเป็นนวัตกรรมของแมทช์บอกซ์นะครับ ป้ายรณรงค์หาเสียงพวกนี้เกิดขึ้นประมาณช่วงปี พ.ศ. 2538 ต้องเข้าใจว่าก่อนหน้านี้การหาเสียงผ่านการติดป้ายโปสเตอร์ไม่ได้มีบทบาทมากนัก เพราะคุณก็คงทราบว่าเมืองไทยไม่มีที่ให้ติดโปสเตอร์ ไม่เหมือนต่างประเทศที่อนุญาตให้พรรคการเมืองติดแผ่นป้ายหาเสียงบนเสาใหญ่ๆ ตามหัวมุมถนนหรือในซับเวย์ ตึกและอาคารต่างๆ ในช่วงที่ใกล้จะเลือกตั้ง
“เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ แมทช์บอกซ์ (รับหน้าที่ทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ไทยรักไทยในช่วงเวลาดังกล่าว) ก็ต้องเริ่มมองหาไอเดียทำสื่อโปรโมตการเลือกตั้งที่สะดวกและราคาถูก จนเกิดเป็นป้ายรณรงค์ โดยมีแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดพลาสติกลูกฟูกขนาดมาตรฐาน 4×8 ฟุต และโครงไม้เป็นส่วนประกอบ มันคือนวัตกรรมของเราเพื่อให้โปสเตอร์หาเสียงมีขนาดใหญ่ ติดตั้งและเก็บได้ง่าย”
ป้ายชุดแรกๆ ที่ประชาและแมทช์บอกซ์ทำร่วมกันคือป้ายรณรงค์แก้ไขปัญหาการจราจรชุด ‘ลูกใครหว่า’ จุดเด่นอยู่ที่ติดตั้งและดำเนินการเก็บได้ง่าย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เข้ากับคอนเซปต์การหาเสียงเลือกตั้งในประเทศไทยจนทำให้ในเวลาต่อมากลายเป็นองค์ประกอบบังคับของการหาเสียงไปในที่สุด (จรยุทธ์จึงเป็นที่มาของกลยุทธ์หาเสียงเลือกตั้งด้วยแผ่นป้าย)
จากคำบอกเล่าของประชา เขาจำแนกองค์ประกอบสำคัญของป้ายหาเสียงไว้ 4 ส่วนง่ายๆ ได้แก่ สี ภาพพอร์เทรตผู้สมัคร โลโก้ (รวมหมายเลข) และสุดท้ายคือข้อความนโยบาย โดยในอดีตภาพผู้สมัครส่วนใหญ่จะค่อนข้างมีความเป็นทางการต่างจากในปัจจุบันที่ดูรีแล็กซ์มากขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าถึงง่ายกว่าเดิม
“สังเกตดูพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็จะไม่ได้ใส่ข้อมูลรายละเอียดลงไปเต็มๆ จะเน้นแค่องค์ประกอบ 4 อย่าง ชูพระพุทธเจ้าหรือโหนกระแสโลกก็แล้วแต่ ขณะที่ภาพผู้สมัคร ส.ส. ในยุคก่อนทักษิณจะเป็นภาพติดบัตรเป็นส่วนใหญ่ (Formal Potrait) ผู้สมัครจะสวมเครื่องแบบเต็มยศเป็นส่วนมาก คนไม่มีเครื่องแบบก็ดิ้นรนไปหามาใส่จนได้ ชุดเครื่องแบบ ชุดพระราชทาน ต้องมีเหรียญตราเยอะๆ แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็อาจจะสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้ที่พบเห็นก็ได้ ในยุคนั้นไทยรักไทยเป็นพรรคแรกๆ ที่เริ่มเอาเครื่องแต่งกายลำลองหรือสูทสากลเข้ามาใช้เป็นหลัก แต่ในช่วงหลังๆ ที่ผ่านมาก็จะเห็นความเป็นธรรมชาติมากขึ้น”
อีกความน่าสนใจของป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองคือ แม้ใน พ.ศ. นี้ที่แพลตฟอร์มดิจิทัลหรือโซเชียลมีเดียจะมีอิทธิพลมาก แต่ป้ายหาเสียงที่ติดตั้งตามเสาไฟและต้นไม้บนท้องถนนหนทางก็เป็นเครื่องหมายที่สะท้อนให้เห็นอยู่ดีว่าสื่อออฟไลน์เหล่านี้ยังคงมีความสำคัญอยู่
“ถ้าคุณเป็นนักการเมืองแล้วโฆษณาผ่านจอภาพเคลื่อนไหวได้ก็เก่งแหละ ชาวบ้านคงนินทากันว่าไอนี่มันมีเงินเยอะเว้ย มุมมองผมสื่อพวกนี้มันมีราคาสูงเกินไป กลับกันป้ายหาเสียงที่ติดตั้งตามถนนมันมีบทบาทและสำคัญกว่าป้ายเคลื่อนไหวในการส่งเมสเสจออกไปให้คน เป็นวิธีที่คนคุ้นเคยมากที่สุด ยึดครองพื้นที่ในโลกจริงๆ และปะทะสายตาประชาชนทุกวัน มันเลยเป็นพิธีกรรมของการเลือกตั้งไปแล้วว่าจะต้องมีป้ายหาเสียง พูดปราศรัยหรือออกไปพบประชาชนอย่างเดียวมันไม่พอ จะมากจะน้อยก็ต้องมี” ประชา กล่าว
ป้ายหาเสียงกับข้อครหามลพิษทางเดินเท้า?
ทุกๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้ง ประเด็นข้อพิพาทเรื่องป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองเกะกะทางเดินเท้าคือปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ผ่านไปกี่ยุคสมัยก็ยังไม่ถูกแก้ไขให้หมดไปเสียที
กรณีนี้อนาคตใหม่เองก็เพิ่งประสบปัญหาไปหมาดๆ จนทำให้ป้ายของพวกเขาถูกกรีดทำลาย ร้อนถึงธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคที่ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบพร้อมให้สัญญากำชับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขทันที (เปิดช่องทางร้องเรียนผ่านคอลเซ็นเตอร์) และไม่ใช่แค่อนาคตใหม่เท่านั้น แต่เรื่องนี้พรรคอื่นๆ ก็ประสบปัญหาเหมือนกันหมด ทำให้พวกเขาได้รับฟีดแบ็กในเชิงลบจากประชาชนไปพอสมควร
จากคำบอกเล่าของประชาที่เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมป้ายหาเสียงในอดีตระบุว่า สมัยก่อนการจะติดตั้งป้ายหาเสียงมักเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เหนียมอาย ติดในที่ที่ไม่มีคนเดินผ่านโดยตรง พรรคการเมืองควรจะต้องระวังไม่ให้ป้ายรณรงค์หาเสียงไปรบกวนทางเท้า ยิ่งในกรณีที่เกิดปัญหา พรรคก็ต้องจะเร่งแก้ไขให้ได้ทันที
สมิชฌน์ แสดงความเห็นของเขาต่อประเด็นนี้ว่า การที่พรรคการเมืองจะเริ่มไปวางป้ายหาเสียงตามสถานที่ต่างๆ ควรจะต้องคำนึงตั้งแต่แรกแล้วว่าตำแหน่งที่ไปวางหรือตั้งขวางทางเท้าหรือกีดขวางการจราจรหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะส่งผลในเชิงลบต่อความรู้สึกของประชาชน
ด้านนักรบยอมรับว่าการติดตั้งป้ายหาเสียงบนทางเท้าหากกลายเป็นมลพิษต่อฟุตปาธ ก็ย่อมทำให้ประชาชนรู้สึกแย่กับพรรคการเมืองนั้นๆ แน่นอน ดังนั้นพรรคการเมืองก็ควรจะต้องคำนึงถึงและใส่ใจการแก้ไขปัญหาในประเด็นนี้มากเป็นพิเศษ
“ถ้าคุณบอกว่าจะมาทำเพื่อชาติหรือเพื่อประเทศ ก็ต้องไม่มองข้ามเรื่องพวกนี้ ทำอะไรที่ดีต่อประชาชนมันก็เป็นผลดีอยู่แล้ว ถึงจะเป็นคนจำนวนน้อยแต่คุณก็จะได้ใจเขาจากสิ่งที่ทำ”
แม้จะดูเหมือนไม่สลักสำคัญ แต่การใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในงานออกแบบอาจจะสะท้อนหรือส่งผล ‘บางอย่าง’ กับประชาชนพอสมควร โดยเฉพาะถ้าพรรคการเมืองแต่ละพรรคให้ความสำคัญและใส่ใจกับงานดีไซน์พวกนี้จนจับต้องและเป็นที่จดจำได้จริงๆ
แต่ท้ายที่สุด สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดหรือมีผลให้ประชาชนตัดสินใจกาเลือกพรรคนั้นๆ อาจประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่พรรคของคุณเป็นที่จดจำได้ แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายที่นำเสนอด้วยว่ามีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด
ถ้าให้ AI ตัดเกรดตราสัญลักษณ์พรรคการเมืองไทย ใครสอบตก ใครได้เกียรตินิยม?
เราลองนำตราสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองจำนวน 10 พรรคเป็นกลุ่มตัวอย่างไปให้ AI ของเว็บไซต์ Brandmark ลองทำการประเมิน ซึ่งเกณฑ์การประเมินจะแบ่งออกเป็น 3 ข้อหลักๆ ประกอบด้วย
1. ความยูนีกและเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Uniqueness)
2. ความชัดเจน ไม่ซับซ้อนจนเกินไป (Legibility)
3. สีและความคอนทราสต์ (Color/Contrast)
ทั้งนี้ AI ของ Brandmark เป็นระบบจัดลำดับและให้คะแนนโลโก้ที่ถูกฝึกให้เรียนรู้จากโลโก้แบรนด์ดังทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านชิ้น แถมยังสามารถบอกได้ด้วยว่าโลโก้ที่นำไปประมวลผลคล้ายคลึงหรือเหมือนกับโลโก้ในสต๊อกมากน้อยแค่ไหน สนใจเล่นคลิกเข้าไปได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ภาพประกอบและ Infographic: Weerapat L. / Nuttarut B.