THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
หุ้นยุโรป
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ตลาดเงินหันโฟกัส ‘หุ้นยุโรป’ จับตา ECB ประชุมสัปดาห์นี้ มาตรการ QE ได้ไปต่อหรือไม่ ส่วนหุ้นจีนสัญญาณรีบาวด์ช่วงสั้น

... • 6 ก.ย. 2021

HIGHLIGHTS

  • เงินดอลลาร์อ่อนค่าสุดรอบ 1 เดือน กดดันฟันด์โฟลวไหลเข้ากลุ่ม EM ส่งผลต่อค่าเงินสกุลต่างๆ แข็งค่าขึ้น สะท้อนภาพตลาดเริ่มมองข้ามความเสี่ยงจาก QE Tapering
  • ตลาดเงินเริ่มให้น้ำหนักกับหุ้นในตลาดประเทศยุโรป โดยจับตาดูการประชุม ECB สัปดาห์นี้ เพื่อดูว่าจะยังดำเนินมาตรการ QE ต่อไปหรือไม่
  • ส่วนหุ้นไทยเริ่มมีอัปไซด์จำกัด แนะกลยุทธ์ลงทุนเน้น Defensive ส่วนหุ้นแนะนำเลือก ZEN คาดได้ประโยชน์จากมาตรการผ่อนคลายร้านอาหาร
  • จับตา ‘จีน’ อาจเริ่มเปิดประเทศช่วงครึ่งหลังปี 2022 บ่งชี้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังไม่สามารถฟื้นได้เต็มที่จนถึงปี 2024 ส่วนตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มรีบาวด์ช่วงสั้น หลังลงไปลึก

ตลาดการเงินตอบรับผลการประชุม Jackson Hole ในเชิงบวกเกินคาด โดยตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดพันธบัตรทรงตัว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่บริเวณ 1.30% ใกล้เคียงสัปดาห์ก่อน 

 

ด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่ามากสุดในรอบ 1 เดือน ส่งผลให้ค่าเงินกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) แข็งค่า รวมถึงเงินบาทไทย ทำให้มีฟันด์โฟลวไหลเข้าตลาด EM ซึ่งภาพดังกล่าวสะท้อนว่าตลาดเริ่มมองข้ามความเสี่ยงของการลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE Tapering) ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)​ ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่า เร็วเกินไป

 

นอกจากนี้ SCBS ประเมินด้วยว่า ตลาดการเงินจะหันไปให้น้ำหนักกับตลาดยุโรปมากขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีการประชุมสัปดาห์หน้า ซึ่งตลาดกำลังรอฟังว่าจะส่งสัญญาณเปลี่ยนไปจากก่อนหน้าที่ย้ำว่ายังคงจะทำ QE ต่อไปหรือไม่ รวมถึงมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ นอกจากนี้เรื่องโควิดยังไม่สามารถมองข้ามได้    

 

ฝ่ายวิจัย SCBS ระบุว่า ยังคงมุมมองด้านเศรษฐกิจว่ามีความเสี่ยงเรื่องการชะลอตัว ในขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังยุติ ด้านความเสี่ยง เงินเฟ้อและโควิดยังไม่หายไปไหน ดังนั้น นักลงทุนจึงควรมีการกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี เพิ่มความระมัดระวังในการเก็งกำไร 

 

สำหรับตลาดหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้น 1.1% โดยตลาด EM เพิ่มขึ้น 3.1% ส่วนตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (DM) เพิ่มขึ้น 0.9% โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีน หลังจากที่ย่อตัวจากนโยบายควบคุม และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ​ที่จะไม่ปรับเพิ่มดอกเบี้ยได้เร็ว ท่ามกลางตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ และการผลิตในเอเชียที่อ่อนแอกว่าที่คาด

 

ภาพรวมตลาดหุ้นเดือนสิงหาคมที่ยังคงสดใสเป็นการสะท้อนสภาพคล่องที่สูงและความหวังเรื่องการเปิดเมือง มากกว่าปัจจัยพื้นฐานที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง ทั้งนี้ SCBS ยังคงมุมมองเดิมว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปี 2021 

 

ผลการดำเนินงานของ บจ.ในช่วงครึ่งปีหลัง มีความเสี่ยงในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อและการระบาดของโควิดยังไม่สามารถมองข้ามได้ โดยรวมคาดว่าจะกดดันบรรยากาศการลงทุนในเดือนกันยายน ทำให้ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐานได้    

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ยังเน้น Defensive โดยรอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว เนื่องจากคาดว่าตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐานอีกครั้งในเดือนกันยายน สำหรับสัปดาห์นี้แนะนำ Aier Eye Hospital Group ผู้นำโรงพยาบาลเกี่ยวกับจักษุในจีน คาดไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายคุมเข้มในขณะที่ราคาลดลงแรง 

 

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเริ่มมีอัปไซด์จำกัด ดังนั้น ภาพรวมการลงทุนยังคงเน้น กลยุทธ์ Defensive เลือกหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิที่ดีในช่วงครึ่งหลังปี 2021 โดยสัปดาห์นี้แนะนำหุ้น ZEN คาดได้รับผลประโยชน์จากมาตรการผ่อนคลายร้านอาหาร ส่งผลให้คาดว่ากำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 3 ปี 2021 จะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ 

 

สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมในไทย ภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น ZEN, AKA, On the Table เป็นต้น อีกทั้งยังดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทย เช่น ตำมั่ว, ลาวญวน, เขียง เป็นต้น ซึ่งจะตั้งเป้ากลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง เพื่อให้ครอบคลุมผู้บริโภคในวงกว้างได้มากขึ้น
  • ช่วงไตรมาส 3 ปี 2021 จะเป็นจุดต่ำสุดปีนี้ โดยคาดขาดทุน 80-90 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาส 2 ปี 2021 หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโควิด ซึ่งสั่งห้ามนั่งทานในร้านที่อยู่ในศูนย์การค้า (85% ของรายได้) แต่คาดการดำเนินงานจะดีขึ้นหลังรัฐเริ่มคลายล็อกดาวน์ให้นั่งทานในร้านได้ 50% ตั้งแต่ 1 กันยายนนี้ 
  • ช่วงสั้นมองการดำเนินงานที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจะเป็นปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้น ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน Valuation ยังไม่แพง เพราะราคาหุ้นยังซื้อขายต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ 19% และเราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 14.50 บาท

 

ประเด็นที่น่าสนใจในรอบสัปดาห์

  • Fed ส่งสัญญาณลด QE ปีนี้ แต่ยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย

Fed มองว่ามีความเหมาะสมที่จะเริ่มการปรับลด QE ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจมีความคืบหน้ามากขึ้นจากการรายงานตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ กำหนดเวลาและอัตราการปรับลด QE ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณโดยตรงถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากถ้อยแถลงดังกล่าวบ่งชี้ว่าจะมีการถอน QE อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาพของเศรษฐกิจ แต่จะไม่มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะยังมองว่าเงินเฟ้อขึ้นเพียงระยะสั้น จากประเด็นนี้ทำให้แนวโน้มของยีลด์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่จะไม่แรง เพราะดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ขึ้น เรามองว่าใกล้ช่วงประกาศ QE ทำให้ตลาดผันผวน หลบเงินในหุ้นเชิงรับ หุ้นลงแล้วค่อยเปลี่ยนไปเป็นหุ้นเชิงวัฏจักร

 

  • จีนอาจจะเริ่มเปิดประเทศในครึ่งหลังปี 2022

สายการบินขนาดใหญ่ของจีน เช่น Air China, China Southern Airlines และ China Eastern Airlines เปิดเผยว่า ทางรัฐบาลจีนจะยังคงมาตรการโควิดที่เข้มงวดไปจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2022 บ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มาจากจีนนั้นจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่จนถึงในปี 2024 การเดินทางของจีนกลับมาสู่จุดเดิมก่อนเกิดโควิด เรายังคงมุมมองเดิมว่าแม้ว่าจะมีการฟื้นตัวที่เร็ว แต่จำนวนอุปทานห้องใหม่มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าอัตราการเข้าพัก ราคาหุ้นกลุ่ม Reopening ทั่วโลกเริ่มทรงตัวที่ระดับ 90%-95% ของตอนก่อนเกิดโควิด บ่งชี้ว่าราคาสะท้อนข่าวบวกไปแล้วระดับหนึ่งอย่างน้อยก็ปี 2022

 

  • การผลิตฝั่งเอเชียเริ่มชะลอตัวลง

ตัวเลขภาคการผลิตทั่วโลกสะท้อนผ่านดัชนี PMI นั้น บ่งชี้ว่ามีการชะลอตัวลงในภาพรวม และมีการหดตัวลงในฝั่งเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและมาเลเซีย ส่วนหนึ่งเป็นการระบาดของโควิด และปัญหาการขาดแคลนในห่วงโซ่อุปทาน เรามองว่าประเด็นนี้น่าจะกินเวลาจนถึงไตรมาสที่ 4 ตัวเลข GDP ในปี 2021 อาจจะมีการปรับลดลงอีกครั้ง รวมถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ที่มีแนวโน้มที่อ่อนแอ นอกจากนั้น การฉีดวัคซีนที่ช้าของ EM และมีการถอนสภาพคล่องของฝั่ง DM จะทำให้กระแสเงินอาจจะไหลออกจาก EM ในระยะถัดไป เราชอบการฟื้นตัวของภาคบริการกลุ่ม Reopening ในประเทศมากกว่าหุ้นภาคการผลิต

 

  • คาดการณ์ยีลด์และหุ้นจีนมีแนวโน้มรีบาวด์ช่วงสั้น

ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ตลาดบอนด์ส่งสัญญาณการเปลี่ยนจาก Bull Steepening เป็น Bear Flattening ในระยะถัดไปมาตรการการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นส่งผลให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยค่าเฉลี่ยที่ตลาดคาดการณ์อยู่ที่ 1.6% ณ สิ้น ไตรมาส 4 ปี 2021 และจะปรับขึ้นเป็น 2% ในไตรมาส 4 ปี 2022 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับก่อนเกิดโควิด หากตลาดคาดการณ์ถูก จะส่งผลให้การลงทุนในพันธบัตรอาจจะมีความน่าสนใจน้อยลง เรามองว่าอัตราผลตอบแทนจะปรับขึ้น แต่จะไม่แรง และยังอยู่ในภาพ Low rate Low growth จึงต้องเน้นหุ้นกลุ่ม Staples และ Healthcare รวมถึงหุ้นที่มีงบดุลแข็งแรง จึงจะทำให้ลดความผันผวนได้ในระดับหนึ่ง

 

ส่วนตลาดหุ้นจีน หลังจากปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดราว 30% ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่าเราประเมินว่าความเสี่ยงเรื่องนโยบายในระยะสั้นยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ราคามีการปรับตัวลดลงแรง ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนเริ่มรีบาวด์ แต่จากข้อมูล Drawdown ในอดีตของตลาดหุ้นจีน เราจะพบว่าเมื่อมีขาดทุนสะสมมากกว่า 30% ตั้งแต่ปี 2008 ตลาดหุ้นจีนจะมีการฟื้นตัวด้วยค่าเฉลี่ยราว 7-8% และใช้เวลามากกว่า 12 เดือนในการฟื้นตัว ซึ่งปัจจุบันมีการฟื้นตัวราว 9% ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต การลงทุนในจีนยังมีความเสี่ยงให้เน้นหุ้นในธีมที่มีนโยบายสนับสนุนอย่าง Dual Circulation, EV, Clean Energy

 

ประเด็นที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้

  1. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป โดยต้องจับตาทิศทางการส่งสัญญาณลดวงเงิน QE หลังตัวเลขเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยุโรปพุ่งสูงเกินระดับเป้าหมายของ ECB ที่ 2.0%
  2. GDP ของยุโรป ไตรมาส 2 ปี 2021 ซึ่งเป็นการประกาศครั้งสุดท้าย โดย ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งเท่ากับการประกาศครั้งก่อน
  3. รายงานคาดการณ์ภาวะอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรโลกจาก WASDE วันที่ 10 กันยายน

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย รวมทั้งความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และการทยอยเปิดเมือง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาต่อเศรษฐกิจ การเกิด Sector Rotation และแนวโน้มการส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE ของ Fed

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • SCB Global Experts Fund หรือ SCBGEX(A)

กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดย บล.ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

 

ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธาน Fed ซึ่งบ่งชี้ว่า Fed จะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้จะมีการปรับลดวงเงิน QE ก่อนสิ้นปีนี้ก็ตาม ทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ หลัง Fed ส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE (Advance Notice) ในช่วงการประชุม Fed วันที่ 21-22 กันยายนนี้ รวมทั้งนักลงทุนคาดหวังต่อการผ่านร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน (Bipartisan Infrastructure Bill) มูลค่า 5.5 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ 

 

ทั้งนี้ ยังคงแนะนำสัดส่วนถือครองหุ้นสไตล์ Growth อยู่ที่ 60% / หุ้นสไตล์ Value และ Defensive ที่ 40%

 

กองทุนแนะนำ

  • SCB Semiconductor Fund หรือ SCBSEMI(A)

กองทุน SCBSEMI(A) ลงทุนในกองทุน VanEck Vector Semiconductor UCITS ETF ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ London Stock Exchange ซึ่งลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ รวมถึงหุ้นต่างประเทศที่จดทะเบียนซื้อขายที่สหรัฐฯ (ADR) ในหุ้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

 

แนวโน้มผลประกอบการของตลาดหุ้นยุโรปในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มออกมาดี นำโดยหุ้นกลุ่ม Value/Cyclical การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่และแผนการเปิดประเทศจะช่วยหนุน Sentiment ตลาดได้ต่อ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม EU Fit for 55 ล่าสุดที่มุ่งเป้าการลดการปล่อยก๊าซให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 และการที่ ECB มีแนวโน้มยังไม่ส่งสัญญาณ QE Taper ชัดเท่า Fed และ EU Bond Yield ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยบวก จับตาการเลือกตั้งเยอรมนีในวันที่ 26 กันยายน และ Chancellor คนใหม่

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • MFC Continental European Equity Fund หรือ MEURO

กองทุน MEURO ลงทุนในกองทุน BGF Continental European Flexible Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นยุโรปภาคพื้น (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) โดดเด่นในการสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง รวมทั้งลงทุนแบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนสไตล์การลงทุนและขนาดของหุ้นได้ตามสภาวะตลาด

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ: 3 

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น แม้สกุลเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่า และอัตราผลตอบแทนแท้จริง (Real Yield) อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้ง Valuation ของหุ้นญี่ปุ่นยังถูก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่นๆ และอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ยังมีแนวโน้มถูกปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการ บจ.ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีแนวโน้มเติบโตไม่โดดเด่นเท่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังได้รับปัจจัยกดดันจากการขยายภาวะฉุกเฉินจนถึง 12 กันยายน และคะแนนความนิยมของรัฐบาลตกต่ำ จับตาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคม และการเลือกตั้งทั่วไปที่อาจเกิดขึ้น

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ: 2

 

 

SCB CIO ได้ปรับลดระดับความน่าสนใจในตลาดหุ้นจีน H-Share ลงมาอยู่ที่ระดับ 2 เนื่องจากความไม่แน่นอนด้านการกำกับดูแล (Regulation) ยังสูง จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของทางการจีนตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและธุรกิจ ที่สอดรับกับแนวคิด Common Prosperity จะยังเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการทำกำไร Valuation และผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่ายังคงส่งผลกระทบเชิงลบต่อเนื่องในปีนี้ 

 

นอกจากนี้ ข้อพิพาทระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่ ทั้งในด้านการค้า เทคโนโลยี และกฎระเบียบทางการเงิน รวมทั้งความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติบนหุ้นกลุ่ม Offshore Internet ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จะเป็นปัจจัยที่กดดันดัชนีฯ ต่อเนื่อง

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ: 3 

 

 

ดัชนีหุ้นจีน Onshore ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มการผ่อนคลายทางการเงินในช่วงครึ่งหลังปี 2021 ผ่านการปรับลดอัตราส่วนการดำรงเงินสำรอง (RRR) และการผ่อนคลายนโยบายด้านเครดิต รวมถึงการกระตุ้นด้านการคลัง ขณะที่กลุ่มที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของจีน เช่น เซมิคอนดักเตอร์, Green energy และภาคการผลิตขั้นสูง ยังมีศักยภาพเติบโตอีกมาก 

 

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในการออกระเบียบที่เข้มงวดของทางการจีนจะยังสร้าง Sentiment เชิงลบต่อดัชนีหุ้นจีน Onshore นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอลงทั้ง PMI, Retail Sales, Industrial Profit, Fixed Asset Investment ฯลฯ จะเป็นปัจจัยที่กดดันดัชนีฯ ในช่วงสั้น

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ: 2 

 

 

การระบาดของโควิดยังกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าแต่ยังคงห่างไกลจากการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แม้เริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์แล้วก็ตาม เรามองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก เห็นได้จากการปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยปีนี้ลดลงต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสสูงที่ผลประกอบการของ บจ. ในช่วงครึ่งหลังปี 2021 อาจถูกปรับประมาณการลง และมีแนวโน้มออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ: 4

 

 

แม้ตลาดหุ้นเวียดนามอาจยังผันผวนสูงจากความกังวลการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์รอบล่าสุด แต่เศรษฐกิจยังมีพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยคาด GDP

เติบโตได้ราว 5-6% ในปี 2021-2025 จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว การบริโภคภายใน และการใช้จ่ายภาครัฐที่แข็งแกร่ง ผลประกอบการ บจ. ยังมีแนวโน้มออกมาดี แม้จะเริ่มเห็นการชะลอลงในไตรมาส 3 ปี 2021 แต่สถานการณ์ลงทุนของต่างชาติยังไม่สูง และ Valuation ยังไม่แพงเท่าตลาดอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • Principal Vietnam Equity Fund

กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนามซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 6 ก.ย. 2021

READ MORE



Latest Stories