THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
Virtual Bank
EXCLUSIVE CONTENT

จับตา! ดีลร่วมทุน ‘กรุงไทย-เอไอเอส-กัลฟ์’ ศึกษาตั้ง Virtual Bank เปิดทางบริษัทที่มี Big Data เข้าสู่ธุรกิจการเงิน

... • 8 ธ.ค. 2022

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • Virtual Bank มีอีกชื่อหนึ่งในภาษาอังกฤษว่า Digital-Only Bank เป็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา และให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ
  • Virtual Bank แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมในเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร (Core Banking System) ซึ่งระบบของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีเก่าที่ขาดความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อกับระบบงานอื่นๆ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ‘ธนาคารกรุงไทย-เอไอเอส-กัลฟ์’ อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมจะรุกธุรกิจ Virtual Bank ร่วมกัน 
  • ภาดล วรรณรัตน์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดว่าในปีหน้า ธปท. จะเปิดให้มีการขอใบอนุญาตเพื่อทำ Virtual Bank 
  • “เรื่องของ Virtual Bank เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการใช้ Big Data มาต่อยอดกับธุรกิจการเงิน ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่สำหรับบริษัทที่มีฐานลูกค้าเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินของลูกค้า” ภาดลกล่าว
  • อย่างไรก็ตาม Virtual Bank อาจจะเป็นภัยคุกคาม (Threat) ที่แท้จริงของธุรกิจแบบดั้งเดิมหากไม่มีการปรับตัว

จากกระแสข่าวการลงนามใน MOU เพื่อศึกษาและลงทุนในธุรกิจ Virtual Bank ของธนาคารกรุงไทย (KTB), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสด (Cashless Payment)

 

แม้จะยังไม่มีการยืนยันออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยังไม่มีบริษัทใดออกมาให้การปฏิเสธว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง 

 

ประเด็นที่น่าจับตามองหลังจากนี้คือ ธุรกิจ Virtual Bank หรือธนาคารเสมือน มีความน่าสนใจอย่างไร ทำไมบริษัทขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่งของไทย ถึงต้องมาร่วมศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจนี้ 

 

Virtual Bank คืออะไร?

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า Virtual Bank คืออะไร และแตกต่างไปจากบริการออนไลน์ของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมอย่างไร

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยเผยแพร่บทความชื่อว่า ‘Virtual bank…ก้าวต่อไปของระบบการเงินไทย’ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 โดยบอกว่า Virtual Bank มีอีกชื่อหนึ่งในภาษาอังกฤษว่า Digital-Only Bank เป็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา และให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ ซึ่งธนาคารในหลายๆ ประเทศก็อนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ขึ้นมาได้ 

 

อย่างไรก็ตาม Virtual Bank ของแต่ละประเทศอาจจะไม่เหมือนกัน โดยแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์และบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งในไทยเองก็อยู่ระหว่างการศึกษาว่า Virtual Bank ของไทยควรจะเป็นอย่างไร 

 

ในเบื้องต้น ธปท. ระบุว่า วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง Virtual Bank ในไทย แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ 

 

  1. เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคครัวเรือน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะบริการด้านสินเชื่อ 
  2. พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค อย่าง Virtual Bank ในเกาหลีใต้ มีบริการเงินฝากประจำ 26 สัปดาห์ เน้นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน หรือบริการด้านสินเชื่อ SMEs ในจีนและฮ่องกง โดยใช้ Big Data ช่วยประเมินรายได้และวิเคราะห์ความเสี่ยง
  3. เพิ่มประสิทธิภาพและการแข่งขันในระบบการเงิน ซึ่ง Virtual Bank จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น สัดส่วนต้นทุนอาคารสถานที่และอุปกรณ์ต่อต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด จะลดลงจากระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ราว 13.1% ณ ปี 2563 

 

บทความของ ธปท. ยังได้บอกอีกว่า “Virtual Bank แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมในเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร (Core Banking System) ซึ่งระบบของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีเก่าที่ขาดความยืนหยุ่นในการเชื่อมต่อกับระบบงานอื่นๆ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

นั่นหมายความว่าบริการ Internet Banking หรือ Mobile Banking ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันยังคงต้องพึ่งพา Core Banking System เดิมควบคู่ไปกับการให้บริการที่สาขา หรือบางแบงก์อาจจะพัฒนา Core Banking System ขึ้นมาใหม่ แต่ก็ยังใช้โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เป็นของเดิม 

 

ทั้งนี้ ธปท. ได้สรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จ 6 ด้าน ที่จะช่วยให้ธุรกิจ Virtual Bank ประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ 1. คุณค่าที่ให้กับลูกค้า 2. ข้อมูล 3. ฐานลูกค้า 4. โครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน 5. เทคโนโลยี และ 6. กฎเกณฑ์

 

Big Data กับธุรกิจการเงิน

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การพัฒนา Virtual Bank ในไทย ธปท. จะทำ Public Hearing และจะเปิดให้ขอใบอนุญาตในปี 2566 

 

“เรื่องของ Virtual Bank เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการใช้ Big Data มาต่อยอดกับธุรกิจการเงิน ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่สำหรับบริษัทที่มีฐานลูกค้าเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินของลูกค้า”

 

อย่างกรณีของ ADVANC ถือเป็นการจับคู่อย่างลงตัว เพราะบริษัทมีฐานข้อมูลของลูกค้าไม่ต่ำกว่า 40 ล้านราย จากทั้งธุรกิจมือถือและบรอดแบนด์ 

 

“สิ่งที่เอไอเอสมีคือข้อมูลของลูกค้าที่ชำระเงินในแต่ละเดือน ธุรกิจนี้ (Virtual Bank) แข่งกันที่ Risk Management การที่เอไอเอสมีข้อมูลตรงนี้ ช่วยให้จัดทำ Credit Score ได้ง่ายกว่า และให้สินเชื่อได้เหมาะสมมากขึ้น” 

 

หลังจากนี้เชื่อว่าเราจะเห็นการร่วมทุนเพิ่มมากขึ้นระหว่างธนาคารพาณิชย์และธุรกิจที่มีฐานข้อมูลของลูกค้าจำนวนมากที่สามารถนำมาวิเคราะห์ (Big Data) โดยเฉพาะข้อมูลที่แสดงให้เห็นความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า 

 

“ธุรกิจสื่อสารถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับการกระโดดเข้ามาทำ Virtual Bank เพราะนอกจากจะมีฐานข้อมูลของลูกค้าจำนวนมาก ยังมีช่องทางที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง ไม่ว่าจะผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือสาขาต่างๆ” 

 

ในปีหน้าเชื่อว่าเรื่องของ Virtual Bank จะเป็นที่พูดถึงมากขึ้น หลังจากที่ ธปท. พยายามผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นมาตลอด อย่างที่เราได้เห็นจาก Nano Finance หรือ Pico Finance ก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ 

 

จับตาหุ้นแบงก์ได้แรงหนุนในระยะยาว

บล.กรุงศรี ระบุว่า การที่ KTB ศึกษาและเตรียมจะเข้าลงทุนในธุรกิจ Virtual Bank เป็นข่าวบวก เพราะเป็นการยืนยันว่า KTB เดินหน้าพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และระบบการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด (Cashless) ซึ่งจะส่งผลดีกับ KTB ในระยะยาวในแง่ของการประหยัดต้นทุน และประสิทธิภาพในการดำเนินงาน 

 

เราเชื่อว่าธุรกิจ Virtual Bank จะเป็นเทรนใหม่ของภาคการเงินในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ไม่ทำธุรกรรมทางการเงินที่สาขาธนาคารอีกแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม Virtual Bank อาจจะเป็นภัยคุกคาม (Threat) ที่แท้จริงของธุรกิจแบบดั้งเดิมหากไม่มีการปรับตัว เพราะ Virtual Bank ไม่จำเป็นต้องมีการเปิดสาขาจริง ดังนั้นงบดุลจะเบากว่า ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และทำให้โมเดลธุรกิจมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารแบบดั้งเดิม ซึ่งต้องแบกต้นทุนการลงทุนหนักในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ 

 

แม้ว่า KTB และธนาคารระดับแนวหน้าอื่นๆ ในประเทศไทยจะพัฒนาระบบใหม่ๆ และแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ผู้ประกอบการรายใหม่ในอนาคตสามารถเข้ามาในตลาด Virtual Bank ได้ จะทำให้การแข่งขันในธุรกิจธนาคารเข้มข้นขึ้น และในที่สุดอาจจะเข้ามาแทนที่ธนาคารแบบดั้งเดิม 

 

สำหรับ KTB แทนที่จะฝืนสู้กับกระแสที่ไม่อาจต้านได้ KTB เลือกที่จะเข้าร่วมกับธุรกิจใหม่แทน ซึ่งเรามองว่าน่าจะเป็นบวกกับ KTB มากกว่าลบ ถึงแม้ว่าโมเดลธุรกิจแบบที่มีสินทรัพย์ต่ำ (Asset Light) ของ Virtual Bank จะผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าประสบความสำเร็จในหลายประเทศในเอเชีย แต่ธนาคารที่ให้บริการแบบดิจิทัลล้วนๆ ยังมีข้อจำกัดอยู่ และอาจจะไม่เหมาะกับความต้องการของลูกค้าบางกลุ่ม ดังนั้นเราเชื่อว่าในระยะยาวแพลตฟอร์มของธุรกิจธนาคารที่มีสินทรัพย์มาก (Asset Heavy) อาจจะยังจำเป็นอยู่ และการใช้โมเดลธุรกิจแบบควบคู่กันไป (Dual Model) อาจจะเป็นทางเลือกที่เหมาะกว่า

 

ด้าน กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย เชื่อว่า ดีลร่วมทุนของ KTB ในส่วนของ Virtual Bank จะช่วยให้ธนาคารลดต้นทุนได้ค่อนข้างดี เพราะ KTB เป็นธนาคารที่มีสาขามากที่สุดในไทย 

 

“หลังจากนี้เชื่อว่าแบงก์ต่างๆ ที่มีฐานลูกค้ารายย่อยน่าจะเข้ามาทำ Virtual Bank มากขึ้น และเราน่าจะเห็นการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทนอกวงการที่มีฐานข้อมูลและมีเทคโนโลยี” 


บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 8 ธ.ค. 2022

READ MORE



Latest Stories