- ตลาดโลกปรับตัวดีขึ้น แต่ระหว่างสัปดาห์มีความผันผวนสูงหลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรดีกว่าที่คาด สะท้อนภาคแรงงานที่ยังแข็งแรง ทำให้ตลาดกังวลการลดดอกเบี้ยจะช้าหรือน้อยกว่าที่ประเมิน
- การส่งออกของจีนในปี 2024 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ผลจากผู้นำเข้าสหรัฐฯ เร่งนำเข้าก่อนทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า การส่งออกที่ดีของจีนมาจากการเร่งนำเข้าสินค้าจากจีนของผู้นำเข้า ก่อนที่ทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้า
- ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจจากการที่จีนพึ่งพาการส่งออกมาก แต่การนำเข้าขยายตัวต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหากทรัมป์ตัดสินใจใช้ตัวเลขการค้าที่ไม่สมดุลนี้ เป็นเหตุผลในการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนตามที่หาเสียงไว้
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดโลกปรับตัวดีขึ้น แต่ระหว่างสัปดาห์มีความผันผวนสูง หลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรดีกว่าที่คาด สะท้อนภาคแรงงานที่ยังแข็งแรง ทำให้ตลาดกังวลการลดดอกเบี้ยจะช้าหรือน้อยกว่าที่ประเมิน อย่างไรก็ตาม ตลาดฟื้นตัวได้หลังตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคพื้นฐานสหรัฐ (Core CPI) เดือนธันวาคมต่ำกว่าคาด เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ (PPI) เดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ตลาดกลับมาคาดหวังการลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น สะท้อนผ่านผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวลดลง หนุนหุ้นในกลุ่มสาธารณูปโภคให้ปรับขึ้น 3.4%
นอกจากนั้นกลุ่มธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% จากผลประกอบการ 4Q24 ที่ดีกว่าที่คาด ด้านจีนรายงาน GDP ปี 2024 ที่ 5% ตามเป้าของรัฐบาล เป็นผลจากการออกมาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่การส่งออกของจีนในปี 2024 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ผลจากผู้นำเข้าสหรัฐฯ เร่งนำเข้าก่อนทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี
ด้านตลาดหุ้นไทยอ่อนตัวลง ในประเทศยังขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ การขึ้นเวทีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการสร้างความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของตลาด อย่างไรก็ตาม ด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาตรการระยะสั้นยังเป็นมาตรการเดิม ที่เหลือเป็นมาตรการระยะยาว หรือให้ผลเชิง Sentiment
ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นหลังรัฐบาลไบเดนประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่ภาคการขนส่ง ทั้งบริษัทประกันภัยและเรือบรรทุกน้ำมันมากกว่า 150 ลำ ขณะที่อุปสงค์ได้ปัจจัยหนุนจากสภาพอากาศหนาวเย็นหนุนความต้องการใช้พลังงานในระยะสั้น
เร่งนำเข้าสินค้าจากจีน ก่อนที่ทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้า
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมที่สูงขึ้นนั้นเป็นผลจากปัจจัยต้นทุน (Cost-Push) เป็นหลัก โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านอาหารและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจาก 0.40% (p.p.) เป็น 0.62% (p.p.) จากฐานราคาน้ำมันสำเร็จรูปปี 2023 ที่ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.18 ดอลลาร์ต่อแกลลอนจาก 3.5 ดอลลาร์ในเดือนก่อน ซึ่งเท่ากับราคาล่าสุดที่ 3.18 ดอลลาร์ ทำให้ผลบวกจากปัจจัยฐานสูงช่วงก่อนหน้าหมดไป
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 0.3% ชะลอตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน สอดคล้องกับเงินเฟ้อจากความต้องการใช้ (Demand Side) อันได้แก่ ค่าเช่าและค่าที่อยู่อาศัยที่ชะลอลงชัดเจน ทำให้เราจึงยังคงมองว่า Fed จะยังลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ท่ามกลางตัวเลขตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง
ด้านตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของจีน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า
1. การส่งออกที่ดีมาจากการเร่งนำเข้าสินค้าจากจีนของผู้นำเข้าก่อนที่ทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้า
2. การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานผ่านประเทศที่สามโดยเฉพาะในอาเซียนที่มากขึ้น เช่น ส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปประกอบในเวียดนามก่อนไปสหรัฐฯ
3. ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจจากการที่จีนพึ่งพาการส่งออกมาก แต่การนำเข้าขยายตัวต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหากทรัมป์ตัดสินใจใช้ตัวเลขการค้าที่ไม่สมดุลนี้ เป็นเหตุผลในการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนตามที่หาเสียงไว้
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากรัฐออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยนำค่าซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษี (Easy e-Receipt) และแจกเงินหมื่นเฟส 2 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แนะนำกลุ่มพาณิชย์ (CRC, HMPRO, CPALL และ TNP) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (CBG และ OSP) กลุ่มท่องเที่ยว (MINT และ AOT) รวมทั้งกลุ่มเนื้อสัตว์ (CPF และ BTG)
2. นักลงทุนที่ต้องการหุ้นปันผลสูง ซึ่งคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายที่เหลือจากกำไรปี 2567 คิดเป็น Dividend Yield เกิน 3% เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้แก่พอร์ตลงทุน แนะนำ AP, KTB, BBL และ PTT
3. หุ้น Earnings Play ซึ่งมองว่าราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้น สะท้อนโมเมนตัมกำไร 4Q67 อีกทั้งยังมีศักยภาพการจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เลือก ADVANC, TRUE, AMATA, AWC และ AU
4. Trading Idea: นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจเก็งกำไรในหุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียกระทบอุปทานน้ำมัน เลือก PTTEP
“แม้ช่วงสั้นมอง SET มีแนวโน้มฟื้นตัวในกรอบแคบ โดยมีแนวต้านสำคัญที่บริเวณ 1,400 จุด ทั้งนี้ ปัจจัยภายนอกจากภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มดอกเบี้ยมองว่ามีท่าทีดีขึ้น รวมถึงผลประกอบการ 4Q67 ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มออกมาแข็งแกร่ง และท่าทีของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยังทำให้ตลาดคลายกังวลได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายในประเทศ (นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ) ยังมีแนวโน้มเปราะบางจากการขาดความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ทำให้ตลาดหุ้นไทยอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าตลาดหุ้นในต่างประเทศ อีกทั้งกระแสเงินของนักลงทุนต่างชาติยังไม่มีสัญญาณกลับมาซื้อหุ้นไทยอย่างมีนัยสำคัญ” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม ติดตามการประกาศแผนการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ
2. การประชุม World Economic Forum ระหว่างวันที่ 20-24 มกราคม ติดตามประเด็นทางเศรษฐกิจ
3. การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม ตลาดคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 BPS มาอยู่ที่ระดับ 0.50% (เราคาดว่ายังคงอัตราดอกเบี้ย)
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AMATA - Backlog สูง หนุนกำไรเติบโตดี
แนะนำ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในไทย ซึ่งมีลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 1,000 ราย โดยมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมในไทย 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ระยอง และในเวียดนาม 1 แห่ง คือนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว
- 4Q24 คาดว่ากำไรเติบโตทั้ง YoY และ QoQ แรงหนุนจากยอดโอนที่ดินยังโตสดใส หลังสิ้น 3Q24 มี Backlog 1.94 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แบ่งเป็นจากไทย 90% และเวียดนาม 10% ซึ่ง Backlog จากไทยจะบันทึกรายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2024-2025 ขณะที่ Backlog จากเวียดนามคาดว่าจะบันทึกปลายปี 2025 - ต้นปี 2026
- มองว่ามีโอกาสได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยจากสงครามการค้าและ Valuation ยังน่าสนใจ โดยราคาหุ้น AMATA ซื้อขายที่ PER 2025F ที่ 10.3 เท่า คิดเป็น -1S.D. จาก PER เฉลี่ย 10 ปี ซึ่งมองว่ายังไม่ได้สะท้อนกำไรที่จะเติบโตแข็งแกร่ง โดยปี 2024 คาดว่ากำไรปกติจะเติบโต 27%YoY และโตต่อ 16.5%YoY ในปี 2025 สู่ระดับ 3,024 ล้านบาท (บนสมมติฐานไม่มีกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์)
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 34.10 บาท อิงวิธี PER 13.4 เท่า และคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.83 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 3.1%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ตัวเลข CPI สหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมออกมาต่ำกว่าคาด ประกอบกับ Fed Beige Book และงบธนาคารใหญ่สะท้อนได้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงดูดี โดยเราประเมินว่าสถานการณ์นี้เอื้อต่อการลดดอกเบี้ยของ Fed เป็นผลทำให้ภาพรวมตลาดคลายความกังวล ซึ่งหากว่าภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มดี รวมถึงตัวเงินเฟ้อไม่ปรับขึ้น เราคาดว่าตลาดและหุ้นสหรัฐฯ จะยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่ระยะสั้นยังมีความผันผวนได้จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
- Fed Beige Book สะท้อนได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มดีและเติบโตโดย
1. มีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่
2. ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงหลังผลเลือกตั้ง
3. ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อ
4. มีความกังวลว่านโยบายของทรัมป์อาจกระทบการเติบโต
5. GAP ระหว่างตัวชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณแคบลง
- ด้านงบกลุ่มธนาคารใหญ่ JPM, GS, C, WFC, BAC และ MS ออกมาดีกว่าคาด และมีกำไรเติบโตเด่นหนุนจากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนอย่าง IB, Wealth, Trading ซึ่งในภาพรวมออกมาดีกว่ากลุ่มธนาคารเล็กทุกมิติหลังกลุ่มธนาคารเล็กมีแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผลกระทบจากตลาดอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อที่ชะลอตัว รวมถึง NII ที่มีแนวโน้มลดลงและมี Efficiency Tier 1 - Ratio น้อยกว่าธนาคารใหญ่
ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มดีสะท้อนผ่าน Beige Book และงบกลุ่มธนาคารใหญ่ ประกอบกับตัวเลขเงินเฟ้อไม่ปรับขึ้น ทำให้เราประเมินว่าสถานการณ์นี้เอื้อต่อการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งเป็นผลทำให้ภาพรวมตลาดคลายความกังวลและราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ โดยหากว่า
1. ภาพยังเป็นในทิศทางนี้ต่อเนื่อง เราคาดว่าตลาดและหุ้นสหรัฐฯ จะยังคงปรับตัวขึ้นต่อ
2. ระยะสั้นตลาดยังมีความผันผวนได้จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความคาดหวังของนักลงทุน
3. ในกลุ่มธนาคารเรายังคงชอบและแนะนำให้อยู่ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มเติบโตจากธุรกิจในตลาดทุน รวมถึงมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงอย่าง BAC, GS และ MS
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่องมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ เช่น ข้อพิพาทบนช่องแคบไต้หวัน ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แม้ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่ากลุ่มฮูตีอาจประกาศยุติการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดง หลังอิสราเอลและกลุ่มฮามาสได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา ก็ตาม
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
โอกาสที่ UST Yield Curve จะเพิ่มความชัน โดยที่ Yield ตัวยาวเพิ่มขึ้นยังมีอยู่ แม้ว่า Fed จะยังลดดอกเบี้ยต่อในปีนี้ แต่แนวนโยบายของทรัมป์อาจจำกัดการลดลงของ Yield ตัวสั้น ขณะที่ Yield ตัวยาวมีโอกาสเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นและเงินเฟ้อที่ยังหนืด แม้ว่า Fed มีแนวโน้มจะยุติการลดขนาดงบดุลในปีนี้ก็ตาม ทั้งนี้ Bond อายุ 2-4 ปีมีความเสี่ยง Duration ไม่มากนัก และมี Coupon มากพอ จึงทำให้น่าสนใจลงทุนและคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่คาดไว้มาก
US Treasury & IG
UST Yield มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความกังวลในตลาดว่า Fed อาจชะลอการลดดอกเบี้ยในปี 2568 ประกอบกับความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการคลังในสหรัฐฯ ที่มากขึ้นจากการผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ แม้ล่าสุดมีหนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการ Fed กล่าวว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องก็ตาม
แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG Bond โดยเน้นลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปีที่ให้ Yield เฉลี่ยยังสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ย ‘ระยะยาว’ ของ Fed ที่ 3% เพื่อเป็นการ Lock Coupon
High Yield Bond
US HY ยังมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวกตาม
1. Default Rate ของหุ้นกู้ HY อยู่ที่เพียง 1.47% ซึ่งต่ำกว่าของ Leveraged Loan ที่ 4.49%
2. สัดส่วนระหว่างผู้ออกหุ้นกู้ Rising Stars ยังมีแนวโน้มมากกว่า Fallen Angels ซึ่งสอดคล้องกับโมเมนตัมเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่ยังดี และ Credit Spread ที่มีแนวโน้มทรงตัว
3. ประเด็น Maturity Wall ของ US HY ที่ยังไม่ได้น่ากังวลนัก โดยที่ยอดครบกำหนดในปี 2568 อยู่ที่เพียง 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ด้วย US HY Spread ที่ค่อนข้างแคบมาก และ UST Yield ตัวยาวที่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงทำให้ Upside ของ US HY อาจจำกัด
สินทรัพย์ผสม กึ่งหนี้กึ่งทุน และ REITs
REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจาก
1. ปัจจัยพื้นฐานที่ดี ตามภาพรวมตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้ง Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 94% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง
2. ผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง
3. งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต
4. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
อย่างไรก็ตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1 ครั้งในปีนี้ เป็นปัจจัยกดดัน US REITs ในระยะสั้น
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
หุ้นไทย
ดัชนีฯ ได้ปัจจัยหนุนระยะยาวจาก
1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ เช่น โครงการ Entertainment Complex
2. แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใน 1H25 อีก 25 BPS
3. กำไรของ บจ. มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และทยอยปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นดัชนีฯ เผชิญแรงกดดันจากแรงขายกองทุนรวม LTF ที่ครบกำหนดในปี 2568 ซึ่งมีแนวโน้มขายออกมามากในเดือนมกราคม นักลงทุนรอติดตามผลประกอบการหุ้นในกลุ่มธนาคารใน 4Q24 และตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนว่าจะยังดีต่อได้หรือไม่
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนระยะสั้น หลัง Fed ส่งสัญญาณชะลอการปรับลดดอกเบี้ย ส่งผลต่อ 10Y UST Yield ปรับเพิ่มขึ้นและเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เป็น Soft Landing และแนวโน้ม EPS ที่ขยายตัวได้ดีจากกระแส AI และนโยบายกระตุ้นของทรัมป์
หุ้นยุโรป ได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ย แต่ยังเผชิญแรงนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และเสถียรภาพทางการเมืองในฝรั่งเศสและเยอรมนีลดลง
หุ้นญี่ปุ่น ได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนค่าและการปฏิรูปบรรษัทภิบาลของตลาดฯ อย่างไรก็ตาม เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลลบต่อหุ้นส่งออกและดัชนีฯ
หุ้นสหรัฐฯ
ความคาดหวังเชิงบวกของตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีอยู่ หลังยอดค้าปลีกซึ่งไม่รวมหมวดที่ผันผวนในเดือนธันวาคมยังดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและสูงกว่าที่ตลาดคาด ด้าน Consensus คาดว่า S&P 500 EPS Growth ใน 4Q24 จะ +9.5%YoY ส่วนการที่คณะทำงานของทรัมป์เตรียมเข้ามาบริหารประเทศได้เพิ่มความหวังในตลาดเกี่ยวกับการผ่อนคลายกฎระเบียบ และการลดภาษีเงินได้ในสหรัฐฯ ที่ส่งผลบวกต่อ EPS เพิ่มเติมจากผลบวกของการลงทุน AI ในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เรายังเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่ EPS มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ช่วยลดผลกระทบทางลบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า
หุ้นยุโรป
การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรปสู่ Neutral Rate ที่ 2% มีแนวโน้มสนับสนุนดัชนีหุ้นยุโรปในระยะยาวท่ามกลาง Valuation ของดัชนีที่ถูกกว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ประมาณ 40% ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว มีแนวโน้มส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Consumer
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะของเยอรมนี เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มไม่ชัดเจน จนกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งเยอรมนีในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ประกอบกับประเด็นการปรับเพิ่มนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลังทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง อาจเป็นปัจจัยกดดันดัชนีในระยะสั้น
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียยังเผชิญความท้าทายในปี 2025 จาก
1. 10Y UST Yield ที่ปรับสูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
2. ความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลังการสาบานตนของทรัมป์ต่อเศรษฐกิจ
3. ความไม่แน่นอนด้านนโยบายและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละประเทศ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในภูมิภาค แม้อาจปรับลดขนาดและความเร็วลงตามแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ทั้งนี้ เน้นลงทุนในตลาดฯ ที่มีความยืดหยุ่นและพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก
หุ้นอินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดียเผชิญแรงกดดันระยะสั้นจาก
1. ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ปรับลดคาดการณ์ GDP ใน FY2025 ลงอยู่ที่ 6.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 7.2%
2. 10Y UST Yield ปรับเพิ่มขึ้น และเงินรูปีอ่อนค่า
3. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่ 4Q24 จนถึงปีนี้
4. Valuation ของดัชนีฯ ที่ค่อนข้างแพง
อย่างไรก็ดี เราคาดว่าดัชนีฯ ยังได้รับแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคมที่ปรับลดลงอยู่ในกรอบ ส่งผลให้ RBI ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25 BPS ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์นี้เพื่อกระตุ้นการบริโภค (คิดเป็น 60% ของ GDP)
นอกจากนี้เศรษฐกิจอินเดียยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจำกัดจากนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีระยะยาว
หุ้นอินโดนีเซีย
ตลาดหุ้นอินโดนีเซียได้รับปัจจัยหนุนจาก
1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี และ FDI ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ ปราโบโว ซูเบียนโต ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการบริโภคและก่อให้เกิดการจ้างงาน
3. ภาคการบริโภคที่ได้ปัจจัยหนุนจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับตัวขึ้น 6.5% ในปี 2025 และแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมของ BI ในปี 2025 อีกราว 50 BPS มาที่ 5.25% หลังเพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย 25 BPS เพื่อกระตุ้นการบริโภคที่อ่อนแอ
4. มาตรการควบคุมการผลิตแร่นิกเกิลจะช่วยหนุนราคานิกเกิล ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก
5. Valuation ของดัชนีฯ ที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน เป็นปัจจัยกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นจีน
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการทยอยออกมาตรการทางการเงิน การคลัง ภาคอสังหา และตลาดทุน ของทางการจีน โดยล่าสุดจีนวางแผนเพิ่มรายชื่อประเทศที่พลเมืองสามารถเดินทางเข้าจีนโดยไม่ต้องขอวีซ่า เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาให้ฟื้นตัว แม้ข้อพิพาทกับสหรัฐฯ จะยังดำเนินต่อ ก็ตาม โดยล่าสุดสหรัฐฯ สั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากบริษัทจีนเพิ่มอีก 37 แห่ง เนื่องจาก พบว่ามีการบังคับใช้แรงงานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน
สินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาวเนื่องจาก
1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครน
2. ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่สูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง สนับสนุนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ
3. ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง จากนโยบายการกีดกันทางการค้า
4. Fund Flow ของ ETF ที่กลับมาซื้อสุทธิใน 2H24 ราว 113 ตัน อย่างไรก็ตาม US Bond Yield ที่ปรับขึ้นจากความกังวลว่า Fed จะชะลอการลดดอกเบี้ยในปีนี้ กดดันราคาทองคำในระยะสั้น
ภาพ: Mongkol Chuewong / Getty Images